'ประธานกมธ.ดิจิทัลฯ' เตรียมดัน พ.ร.บ. สตาร์ทอัพไทย แก้ปัญหาเข้าถึงแหล่งทุน

'ประธานกมธ.ดิจิทัลฯ' เตรียมดัน พ.ร.บ. สตาร์ทอัพไทย แก้ปัญหาเข้าถึงแหล่งทุน

“ประธานกมธ.ดิจิทัลฯ” เตรียมดัน พ.ร.บ. สตาร์ทอัพไทย แก้ปัญหาเข้าถึงแหล่งเงินทุนยาก หวังตอบโจทย์ธุรกิจใหม่ ดันไทยติดตลาดโลก

 เมื่อวันที่ 17 ก.พ.น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ สส.กทม.พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)การสื่อสารโทรคมนาคมและดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ประชุมพิจารณาเรื่องความสามารถของประชาชนในการเข้าถึงกองทุนดิจิทัล เนื่องจากที่ผ่านมาประชาชนที่ต้องการริเริ่มทำธุรกิจขนาดเล็ก หรือ สตาร์ทอัพ ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ กมธ.ฯ ได้เล็งเห็นความสำคัญของธุรกิจสตาร์ทอัพ ซึ่งเป็นธุรกิจรูปแบบใหม่ที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ในการตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาที่ถูกมองข้าม จึงได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนร่วมประชุมเพื่อหาทางแนวทางในการพัฒนาธุรกิจสตาร์ทอัพร่วมกัน
      ด้านนายแซม ตันสกุล อุปนายกสมาคมไทยผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน ได้ให้ข้อมูลกับ กมธ.ฯว่า สถานการณ์สตาร์ทอัพในไทยขณะนี้ อยู่ในลำดับที่ 53 ของโลก และลำดับที่ 11 ของเอเชียแปซิฟิค การลงทุนเติบโตขึ้นเล็กน้อย แต่ยังขาดการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากภาครัฐ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ เช่น สิงคโปร์ ซึ่งรัฐบาลจะร่วมลงทุนกับเอกชน มีหลักสูตรขับเคลื่อนธุรกิจสตาร์ทอัพในแต่ละด้านชัดเจน แต่ผู้ประกอบการของไทยอยู่ในลักษณะลองผิดลองถูก ไม่มีผู้ให้คำแนะนำในการลงทุนทำธุรกิจ ทำให้ไทยขาดบุคลากรที่มีความชำนาญด้านนี้ 
   

  ขณะที่ นายยุทธนา ศรีสวัสดิ์ นายกสมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาสตาร์ทอัพไทยเสียโอกาสในการแข่งขันมาก การขาดสภาพคล่องในเงินทุน การขาดบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ และตลาดไทยที่ขาดการยอมรับภายในโดยทั่วไป และกฎหมายที่เป็นอุปสรรคในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ยังไม่ได้รับการปรับปรุง

น.ส.ธีรรัตน์ กล่าวว่า จากการรับฟังรายงานพบว่า กฎเกณฑ์ที่ถูกกำหนดไว้ของกองทุนดิจิทัลที่มีอยู่ในปัจจุบันเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ประชาชนที่ต้องการรับการสนับสนุนเพื่อดำเนินธุรกิจสตาร์ทอัพ ไม่สามารถเข้าถึงกองทุนต่างๆ ได้ เช่น การขอเข้ารับทุนต้องเป็นประโยชน์เพื่อส่วนรวม ต้องไม่แสวงหาผลกำไร ต้องไม่ทำลายการแข่งขัน ด้วยวัตถุประสงค์ที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพ  ไม่สามารถตอบโจทย์ รองรับธุรกิจรูปแบบใหม่นี้ได้ จึงอาจมีความจำเป็นที่ต้องมีกองทุนเพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนนักธุรกิจสตาร์ทอัพโดยเฉพาะ ทางกมธ.ฯจึง เห็นสมควรเร่งให้มีกฎหมาย พ.ร.บ.สตาร์ทอัพแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบธุรกิจรูปแบบใหม่ มุ่งสร้างแบรนด์เมดอินไทยแลนด์ ติดตลาดในเวทีโลกต่อไป