'สมศักดิ์' เผย เคาะแล้ว คนดีศรีจังหวัด-คนดีศรีกรุงเทพฯ

'สมศักดิ์' เผย เคาะแล้ว คนดีศรีจังหวัด-คนดีศรีกรุงเทพฯ

“สมศักดิ์” เผย คณะกรรมการคุณธรรมแห่งชาติ เลือกคนดีศรีจังหวัด-คนดีศรีกรุงเทพฯแล้ว แนะ ปลูกฝังคำว่าพอเพียง ตั้งแต่เด็กเล็ก-เยาวชน เพื่อให้ตระหนักถึง”วินัย-สุจริต-กตัญญู” พร้อมยกคำสอน ร.9 ขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง

วันที่ 16 ธันวาคม 2566 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตนในฐานะประธานกรรมการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ได้ร่วมประชุมคณะกรรมการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ พร้อมด้วย นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม โดยวาระการประชุม มีหลายเรื่องที่น่าสนใจ ทั้งในเรื่องของการคัดเลือกคนดีศรีจังหวัด คนดีศรีกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2566 รวมถึงมติสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ และข้อเสนอเชิงนโยบายด้านการขับเคลื่อนคุณธรรมของภาคีเครือข่ายสมัชชาแห่งชาติ ครั้งที่ 13 นอกจากนี้ ยังมีการพูดคุยถึงแผนดำเนินการของอนุกรรมการระดับนโยบาย ภายใต้การส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติประจำปีงบประมาณ 2567

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ตนมองว่า ที่ทุกฝ่ายควรให้ความสำคัญคือ หัวข้อของการชี้วัดภายใต้แผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติระยะที่ 2 โดยในส่วนนี้มี 9 ตัวชี้วัด แต่ที่ตนอยากหยิบยกขึ้นมาและมีการให้ความสำคัญคือ ดัชนีคุณธรรม 5 ประการ “พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา กตัญญู” ซึ่งตัวชี้วัดนี้ เมื่อปี 2565 มีคะแนนอยู่ที่ 4.56 แต่พอมาในปี 2566 มีการขยับขึ้นเป็น 4.74 โดยคะแนนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.94 ตนจึงอยากให้มีการปลูกฝัง เพราะคำว่าพอเพียงนั้น มีความหมายการมีวินัย เป็นการฝึกตน สุจริต เป็นสิ่งที่ดี จิตอาสา คือน้ำใจไมตรี และกตัญญู เป็นเรื่องที่สมควรที่จะปลูกฝังให้เยาวชน ตั้งแต่วัยเยาว์ จนถึงอุดมศึกษา เพื่อให้เยาวชนมีความรู้ และตระหนักถึงคำว่า วินัย สุจริต และกตัญญู

“ในส่วนตัวที่ 2 เป็นเรื่องของหน่วยงานภาครัฐ น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาใช้ในการบริหารงาน โดยมี ITA คือ องค์กรความโปร่งใสของภาครัฐ ซึ่งในปีที่ผ่านมา จากหน่วยงาน 833 แห่ง ได้คะแนน 87.57 คะแนน แต่ประจำปี 2566 มีการขยับขึ้นเป็น 90.19 คิดเป็นร้อยละ 2.6 ที่มีการขยับขึ้น โดยเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่ผมอยากให้ทุกหน่วยงานของรัฐ ให้ค่าให้ความสำคัญ กับหลักปรัชญานี้ เพราะเป็นสิ่งที่มีคุณประโยชน์ในการทำงานที่ดี ตามพระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร “คำว่าพอเพียงความหมายอีกอย่างหนึ่ง มีความหมายกว้างออกไปอีก ไม่ได้หมายถึงการมีพอสำหรับใช้เองเท่านั้น แต่มีความหมายว่า พอมีพอกิน พอมีพอกินนี้ก็แปลว่า เศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง” พระราชดำรัช เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 14 ธันวาคม 2541 “ รองนายกรัฐมนตรี กล่าว