‘กราดยิง’ เป็น ‘พฤติกรรมเลียนแบบ’ ส่วนหนึ่งเห็นคนร้ายเป็น ‘ฮีโร่’ อยากทำตาม

‘กราดยิง’ เป็น ‘พฤติกรรมเลียนแบบ’ ส่วนหนึ่งเห็นคนร้ายเป็น ‘ฮีโร่’ อยากทำตาม

งานวิจัยหลายชิ้นระบุ “พฤติกรรมเลียนแบบ” ส่งผลให้เกิด “เหตุกราดยิง” คนร้ายยกย่องผู้ก่อเหตุคนก่อนเป็น “ไอดอล” จนอยากทำตาม ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ “สื่อมวลชน” ให้ข้อมูลผู้ก่อเหตุมากเกินไป ผู้เชี่ยวชาญแนะ สามารถตัดวงจรการเลียนแบบได้ด้วยการไม่ให้ค่า ไม่พูดชื่อ

(บทความนี้มีเนื้อการใช้ความรุนแรงเกี่ยวกับการกราดยิงและการใช้อาวุธปืน)

จากเหตุการณ์การกราดยิงที่สยามพารากอนเมื่อวันที่ 3 ต.ค.2566 จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 คน และบาดเจ็บหลายราย นำมาสู่คำถามและถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ดังกล่าวในหลายแง่มุม แม้ “ยังไม่มีข้อสรุปถึงแรงจูงใจ” แต่ในงานวิจัยพบว่า สาเหตุส่วนหนึ่งในหลายๆ เหตุการณ์กราดยิง มาจาก “พฤติกรรมเลียนแบบ” (Copycat หรือ Contagion Effect) โดย “กรุงเทพธุรกิจ” จะชวนทำความเข้าใจเกี่ยวกับทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ “Contagion Effect” หมายถึง การแพร่กระจายของปรากฏการณ์ต่าง ๆ หรือส่งผลกระทบต่อกันเป็นทอด ๆ ซึ่งใช้ได้กับวิกฤติการณ์ทางการเงิน ปรากฏการณ์ทางสังคม การส่งต่อทางอารมณ์ หรือแม้กระทั่งการก่อเหตุกราดยิง

 

  • เลียนแบบผู้ก่อเหตุคนก่อนหน้า

พฤติกรรมเลียนแบบ (Imitation) สามารถเกิดขึ้นได้ เมื่อผู้ก่อเหตุที่มีสภาพจิตใจที่ไม่มั่นคง หรืออาจมีความแปรปรวนทางด้านจิตใจเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อได้รับชมข่าวเหตุสะเทือนขวัญ และรู้สึกว่าคนร้ายที่เคยก่อเหตุก่อนหน้ามีลักษณะบางอย่างที่คล้ายกับตน ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยทางเพศ อายุ ปัญหาภายในจิตใจ และอื่น ๆ ทำให้ผู้ก่อเหตุมองคนพวกนั้นว่าเป็น “ฮีโร่” และได้รับแรงบันดาลใจ (โดยไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม) ให้กระทำในลักษณะเดียวกัน เพราะมองว่าเขาจะได้รับความสนใจจากสังคม ผ่านการนำเสนอข้อมูลของสื่อ ที่ระบุทั้งภาพใบหน้าและชื่อของฆาตกร ตลอดจนวิธีที่ฆาตกรใช้ รวมถึงการถูกพูดถึงในสังคมผ่านโซเชียลมีเดียต่าง ๆ 

ยิ่งสื่อนำเสนอรายละเอียดของเหตุการณ์กราดยิงมากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้เกิดการกราดยิงตามมาได้มากขึ้นเท่านั้น และหากยังคงให้ความสำคัญกับตัวผู้ก่อเหตุมากกว่า เหยื่อเหตุการณ์เหล่านี้ก็จะเกิดขึ้นซ้ำไปซ้ำมาได้เรื่อย ๆ 

จากข้อมูลของ Mother Jones เว็บไซต์ข่าวของสหรัฐ ระบุว่า เฉพาะในปีนี้ เกิดเหตุกราดยิงในสหรัฐไปแล้ว 10 ครั้ง (ข้อมูลถึงวันที่ 3 ต.ค. 2566) โดยเหตุกราดยิง 2 ครั้งล่าสุด เกิดห่างกันเพียงแค่ 3 วัน คือเมื่อวันที่ 23 ส.ค. ที่แคลิฟอร์เนีย และ 26 ส.ค. ที่ฟลอริดา ทั้งสองเหตุการณ์ก่อเหตุโดยชายผิวขาวเช่นเดียวกัน และมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ที่ละ 3 ราย

แม้ว่า 2 เหตุการณ์ล่าสุดจะไม่ได้มีความเชื่อมโยงกัน แต่สำหรับเหตุการณ์การสังหารหมู่ที่โรงเรียนมัธยมโคลัมไบน์ เมื่อปี 1999 ได้กลายเป็นเหตุการณ์ต้นแบบที่ทำให้เกิดการก่อเหตุเลียนแบบมากกว่า 40 ครั้งทั่วโลก เพราะเป็นเหตุการณ์การกราดยิงในโรงเรียนที่มีผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บมากที่สุด (ในขณะนั้น) และผู้ก่อเหตุยุคหลังต่างยกให้เหตุการณ์นี้เป็นแรงบันดาลใจและอยากทำให้ได้เช่นนั้น ไม่ว่าจะเป็นผู้ก่อเหตุยิงกันในโรงเรียนประถมแซนดีฮุก เมื่อปี 2012 ซึ่งเป็นการกราดยิงในโรงเรียนที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด แม้แต่เยาวชนที่ก่อเหตุที่สยามพารากอน ก็แต่งกายคล้ายคนร้ายในคดีดังกล่าวด้วยเช่นกัน จนเกิดคำศัพท์ที่เรียกว่า “Columbine Effect” 

ขณะที่เหตุกราดยิงซูเปอร์มาร์เก็ตในเมืองบัฟฟาโลในปี 2022 เกิดขึ้นเพราะการเหยียดสีผิว เหยื่อในเหตุการณ์ครั้งนี้เกือบทั้งหมดเป็นคนผิวสี จนทำให้ FBI ออกโรงเตือนว่าอาจเกิดเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันขึ้นอีก เนื่องจากผู้ก่อเหตุที่บัฟฟาโลก็ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเหตุการณ์สังหารหมู่ที่เกิดขึ้นก่อนหน้าเช่นกัน

  • สื่อมีผลต่อการเลียนแบบ

นักวิจัยหลายคนทำการศึกษาถึง “พฤติกรรมเลียนแบบ” ในหมู่ผู้ก่อเหตุกราดยิง ตัวอย่างเช่น งานวิจัยในปี 2015 ของ เชอร์รี ทาวเวอร์ส นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล พบว่า การสังหารหมู่โดยอาวุธปืนมีสาเหตุมาจากเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงก่อนหน้านี้ ขณะเดียวกันก็จะส่งผลให้เกิดการเหตุการณ์ซ้ำในช่วง 13 วัน และเพิ่มโอกาสการเกิดเหตุโดยเฉลี่ย 0.2-0.3 ครั้ง

สอดคล้องกับความถี่ในการเกิดเหตุสังหารหมู่ที่จะเกิดขึ้นประมาณทุกสองสัปดาห์ในสหรัฐ ส่วนเหตุกราดยิงในโรงเรียนเกิดขึ้นโดยเฉลี่ยทุกเดือน 

รวมทั้งพบว่าในรัฐที่สามารถให้ครอบครองอาวุธปืนเสรีมีโอกาสเกิดการสังหารหมู่ด้วยอาวุธปืน การยิงในโรงเรียน และการยิงสังหารหมู่มากกว่าในรัฐอื่น ๆ

ขณะที่ การศึกษาปี 2022 ของ ไมเคิล เจ็ตเทอร์ จากมหาวิทยาลัยเวสเทิร์นออสเตรเลีย และ เจย์ เค. วอล์คเกอร์ จากมหาวิทยาลัยโอลด์ โดมิเนียน พบว่าการรายงานข่าวเกี่ยวกับเหตุกราดยิง จะทำให้เกิดเหตุกราดยิงซ้ำภายในหนึ่งเดือนหลังจากนั้น ขณะเดียวกันหากสื่อไม่ให้พื้นที่กับข่าวการกราดยิง หันไปนำเสนอเรื่องอื่นแทน จะทำให้เกิดเหตุการณ์กราดยิงลดน้อยลงด้วยเช่นกัน

ส่วนงานวิจัยของเจมส์ อลัน ฟ็อกซ์ และคณะ ในปี 2021 ได้จัดรูปแบบการเหตุการณ์กราดยิงใหม่ โดยแบ่งแยกเหตุการณ์กราดยิงในพื้นที่สาธารณะที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก เช่น เหตุการณ์ที่โรงเรียนประถมแซนดีฮุก และเวอร์จิเนียเทค ออกจากเหตุการณ์กราดยิงที่เกิดจากกลุ่มมาเฟีย ขบวนการค้ายาเสพติด หรือการบุกรุกและความรุนแรงในครอบครัว พบว่า สื่อมักนำเสนอเหตุการณ์กราดยิงในพื้นที่สาธารณะมากกว่ากรณีความขัดแย้งในครอบครัวซึ่งมักเกิดขึ้นในพื้นที่ส่วนตัว โดยในนำเสนออย่างมากในช่วงวันแรก ๆ ที่เกิดเหตุการณ์ 

อีกทั้งยังพบว่าแรงจูงใจของผู้ก่อเกิดเหตุของการกราดยิงแต่ละประเภทมีความใกล้เคียงกัน รวมถึงอาจจะมีปัจจัยภายนอก เช่น สภาพเศรษฐกิจ ที่อาจส่งผลต่อเหตุกราดยิง ด้วยเช่นกัน

 

  • อย่าให้ความสำคัญกับผู้ก่อเหตุ เพื่อตัดวงจรการเลียนแบบ

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเกิดเหตุการณ์กราดยิงแทบทุกปี ตั้งแต่เหตุโจรกรรมร้านทองในจังหวัดลพบุรี เหตุกราดยิงที่จังหวัดนครราชสีมา การสังหารหมู่ที่จังหวัดหนองบัวลำภู และเหตุกราดยิงที่สยามพารากอน ทำให้หลายภาคส่วนออกมารณรงค์เรียกร้องไม่ให้เปิดเผยชื่อและหน้าตาของผู้ก่อเหตุ รวมถึงข้อมูลที่ไม่จำเป็น เช่นแคมเปญ Don't Name Them และ No Notoriety 

พร้อมยกคำพูดของจาซินดา อาร์เดิร์น ที่กล่าวหลังเหตุกราดยิงมัสยิดในไครสต์เชิร์ช สมัยที่ยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแห่งนิวซีแลนด์ว่า 

“ขอวิงวอนทุกท่าน ให้พูดชื่อของผู้จากไปมากกว่าชื่อของคนที่เอาชีวิตพวกเขา เขาเป็นผู้ก่อการร้าย เขาเป็นอาชญากร เขาต้องการชื่อเสียง แต่พวกเราชาวนิวซีแลนด์ จะไม่ให้อะไรกับเขาเลย แม้กระทั่งเอ่ยชื่อของเขา”

 

ขณะที่คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊กขอความร่วมมือสื่อมวลชนเกี่ยวกับการเผยแพร่ข้อมูล เพื่อตัดวงจรการลอกเลียนแบบเหตุความรุนแรง และเพื่อลดผลกระทบทางจิตใจต่อผู้เกี่ยวข้องและสังคมโดยรวม โดยมีแนวทางปฏิบัติดังนี้

ควรปฏิบัติ

  • ไม่เอ่ยชื่อ ไม่ให้ตัวตนคนร้าย
  • นำเสนอเรื่องราวของผู้ประสบเหตุแทน เพื่อสร้างตัวแบบทางบวกว่าคนเหล่านี้ผ่าน เรื่องราวเลวร้ายร่วมกันมาได้อย่างไร
  • เล่าเรื่องราวของผู้ที่แจ้งเหตุก่อนผู้ที่ตัดสินใจเข้าไปช่วยเหลือคนอื่น
  • อัปเดตเหตุการณ์ตามจริง ตรงไปตรงมา ไม่เร้าอารมณ์
  • เน้นเรื่องการป้องกันและการเยียวยา

 

ไม่ควรปฏิบัติ

  • การเปิดเผยชื่อ ภาพ เครื่องแบบ อาวุธ เรื่องราวส่วนตัว ประวัติ และแรงจูงใจ ในการก่อเหตุของผู้กระทำผิด
  • การสื่อความในลักษณะที่ทำให้ เรื่องราวเลวร้ายร่วมกันมาได้
  • ผู้ก่อเหตุดูเท่ ดูเก่ง เช่น ใช้คำ บรรยายพฤติกรรมของผู้ก่อเหตุว่า "อุกอาจ" (อาจจะดูเท่ในสายตาของผู้ที่นิยมความรุนแรง)
  • การรายงานเน้นจำนวนผู้เสียชีวิต/ผู้บาดเจ็บเปรียบเทียบว่าครั้งนี้เสียชีวิต/บาดเจ็บกี่คน มากกว่าหรือน้อยกว่าครั้งก่อนเท่าไร

ที่มา: CBS News, Phys.orgThe GuardianThe Trace