‘วันแม่แห่งชาติ’ ส่องสัญลักษณ์-ความหมาย 'ดอกมะลิ' เพลง 'ค่าน้ำนม-อิ่มอุ่น'

‘วันแม่แห่งชาติ’ ส่องสัญลักษณ์-ความหมาย 'ดอกมะลิ' เพลง 'ค่าน้ำนม-อิ่มอุ่น'

12 สิงหาคม “วันแม่แห่งชาติ” ชวนเปิดความหมาย ทำไม “ดอกมะลิ” เป็นดอกไม้ประจำวันแม่ พร้อมเปิดเรื่องราวหลังบทเพลงวันแม่ เช่น “ค่าน้ำนม” และ “อิ่มอุ่น” 

12 ส.ค. “วันแม่แห่งชาติ” สัญลักษณ์หนึ่งที่คนนึกถึงคงจะหนีไม่พ้น “ดอกมะลิ” ดอกไม้สีขาวกลิ่น และบทเพลงคลาสสิกที่อยู่คู่กับวันแม่มาช้านานอย่าง “ค่าน้ำนม” และ “อิ่มอุ่น” ซึ่งอันที่จริงแล้วสัญลักษณ์แต่ละอย่างมีที่มาและความหมายซ่อนเอาไว้อยู่

 

  • “ดอกมะลิ” สัญลักษณ์ “วันแม่”

พวงมาลัย” และ “ดอกไม้” เป็นหนึ่งใน “ของขวัญวันแม่” ที่คนนิยมมอบให้แม่มากที่สุด โดยเฉพาะ “ดอกมะลิ” เนื่องจากคนไทยถือว่าดอกมะลิเป็นดอกไม้มงคล ด้วยลักษณะของดอกมะลิที่มีสีขาวบริสุทธิ์ ส่งกลิ่นหอมไปไกล หอมได้นาน แถมออกดอกได้ตลอดทั้งปี เปรียบได้กับความรักอันบริสุทธิ์ของแม่ที่มีต่อลูกไม่มีวันเสื่อมคลาย 

นอกจากนี้คนไทยยังนิยมนำดอกมะลิมาร้อยมาลัยบูชาพระ ทำให้ดอกมะลิจึงเปรียบเสมือนการบูชาแม่ผู้มีพระคุณของลูกทุกคน จนกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งวันแม่แห่งชาติของไทยนั่นเอง 

ปี 2519 คณะกรรมการอำนวยการสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์เห็นว่าควรกำหนดวันแม่ให้แน่นอนโดยให้ถือว่า วันเสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง วันที่ 12 ส.ค. เป็น “วันแม่แห่งชาติ” และ กำหนดให้ “ดอกมะลิ” เป็นดอกไม้สัญลักษณ์ของวันแม่ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน

จึงไม่แปลกใจที่ “พวงมาลัยดอกมะลิ” จะติดท็อปลิสต์สิ่งที่คนส่วนใหญ่มอบให้แม่ในทุก ๆ ปี แต่นอกจากพวงมาลัยดอกมะลิแล้ว สำหรับใครที่ยังนึกไม่ออกว่า “ของขวัญวันแม่” ปีนี้ จะให้อะไรดีนั้น เมื่อย้อนไปดูผลสำรวจโดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เกี่ยวกับของขวัญวันแม่ในปี 2565 พบว่า คนไทยส่วนใหญ่นิยมมอบ “เงินสด” หรือ “ทองคำ” เพื่อเป็นการตอบแทนพระคุณของคุณแม่ ตามมาติด ๆ ด้วย พวงมาลัยดอกมะลิ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของวันแม่ 

  • เพลงฮิตวันแม่

นอกจาก “ดอกมะลิ” จะเป็นสัญลักษณ์ของวันแม่แล้ว ในช่วงวันแม่ตามห้างร้านสถานที่สาธารณะต่าง ๆ จะเปิดเพลงความหมายดี ๆ เกี่ยวกับแม่ ทำให้ผู้ฟังซาบซึ้ง อบอุ่นหัวใจไปกับความไพเราะและเนื้อหาที่กินใจ 

แต่ละบทเพลงก็เป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงสายสัมพันธ์ความรักของแม่ที่มีต่อลูกในหลากหลายรูปแบบ หลากอารมณ์ หลากความรู้สึกที่แตกต่างกันออกไป เพลงวันแม่ที่พวกเรามักจะคุ้นหูมีด้วยกันหลายเพลงเช่น 

เพลง “ค่าน้ำนม” ถือเป็นเพลงที่อยู่คู่มากับวันแม่แห่งชาติมาอย่างยาวนาน แต่งโดยครูไพบูลย์ บุตรขัน นักแต่งเพลงเจ้าของฉายา “อัจฉริยะนักแต่งเพลงอันดับหนึ่งของไทย” เพลงนี้ขับร้องและบันทึกเสียงครั้งแรกโดย ชาญ เย็นแข และมีคัฟเวอร์ออกมาอีกหลากหลายเวอร์ชัน โดยเพลงนี้ครูไพบูลย์ แต่งให้แก่ นางพร้อม ประณีต  แม่ของตน ที่คอยดูแลเขาตลอด แม้ว่าครูไพบูลย์จะเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อน จนถูกคนรังเกียจจากบุคคลทั่วไปก็ตาม

เพลง “ใครหนอ” เป็นอีกหนึ่งเพลงที่อยู่มาอย่างยาวนาน ขับร้องโดย “สวลี ผกาพันธุ์” และได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ถูกนำมาร้องใหม่หลากหลายเวอร์ชัน มักถูกให้เด็กร้องในการแสดงของโรงเรียน เนื่องจากร้องตามได้ง่ายและมีเนื้อหาน่ารัก จนหลายครอบครัวใช้เป็นเพลงกล่อมลูก

สำหรับ “อิ่มอุ่น” เพลงอบอุ่นของ “ศุ บุญเลี้ยง” เกิดขึ้นจากความต้องการของอาจารย์หัวหน้าพยาบาลโรงพยาบาลศิริราช ที่อยากได้เพลงประกอบโครงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ดังนั้นอิ่มอุ่นจึงหมายถึง ลูกอิ่มเพราะได้ดื่มนมจากอกแม่ และ อุ่นจากการโอบอุ้มของแม่

เพลง “แม่” ของเสก โลโซ เป็นเพลงที่แตกต่างจากเพลงแม่อื่น เพราะเล่าความรู้สึกของคิดถึงแม่ของลูกที่ต้องเข้ามาทำงานในเมือง เพื่อหาเงินเลี้ยงชีพตามลำพัง อยากสัมผัสอ้อมกอดและได้รับความรักของแม่ จึงทำให้เพลงนี้ได้รับความนิยมจากเหล่าชาวร็อกและวัยทำงานที่มาหารายได้ต่างบ้านต่างเมือง

ส่วนเพลง “เรียงความเรื่องแม่” เป็นเพลงเล่าถึงความรู้สึกของเด็กกำพร้าที่ไม่เคยเห็นหน้าแม่มาก่อนเมื่อพวกเขาจำเป็นต้องเขียนเรียงความเรื่องแม่ พวกเขาไม่รู้ว่าจะเขียนอะไร เพราะไม่ได้รับความรักจากแม่เลย แต่ถึงจะเป็นเช่นนั้น พวกเขาก็ยังรักแม่และอยากเจอแม่สักครั้งในชีวิต โดยได้เด็ก ๆ จากสถานสงเคราะห์มาร่วมขับร้อง เพลงนี้จึงมีทั้งความเศร้า สะเทือนใจ และความไร้เดียงสาในเวลาเดียวกัน

แต่ไม่ว่าลูกจะซื้ออะไรให้แม่ พาไปทำกิจกรรมอะไรร่วมกัน หรือแม่แต่ร้องเพลงให้แม่ฟัง แม่ยอมดีใจและเป็นของขวัญล้ำค่าของแม่เสมอ