ผบ.ทร.ร่วมงานรำลึก 130 ปี วิกฤตการณ์ ร.ศ.112

ผบ.ทร.ร่วมงานรำลึก 130 ปี วิกฤตการณ์ ร.ศ.112

"กองทัพเรือ" จัดกิจกรรมรำลึก 130 ปี วิกฤตการณ์ ร.ศ.112 โดยมี ผบ.ทร. ร่วมงานตั้งแต่เช้าถึงเย็น ย้ำเตือน ไทย ถูกคุกคามอำนาจตะวันตก

13 ก.ค. 2566 เวลา 10.00 น. พลเรือเอก เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือเป็นประธานงานวันรำลึกวิกฤตการณ์ ร.ศ.112 ประจำปี 2566 ณ อุทยานประวัติศาสตร์ทหารเรือ ป้อมพระจุลจอมเกล้า ตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์  จังหวัดสมุทรปราการ โดยพิธีในภาคเช้าประกอบด้วย พิธีวางพานพุ่ม ถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พิธีวางพวงมาลาบริเวณด้านบนปืนเสือหมอบ พิธียิงปืนเสือหมอบ พิธีสดุดีวีรชนในเหตุการณ์ ร.ศ.112 พิธีสงฆ์ ส่วนพิธีในภาคบ่ายประกอบด้วย การเสวนาทางวิชาการ หัวข้อ “130 ปี วิกฤตการณ์ร.ศ.112” โดยมี Stig Vagt – Andersen นายสมชาย  ชัยประดิษฐรักษ์ นายสงวน  รัถการโกวิท และ ดร.อมร  วาณิชวิวัฒน์ ดำเนินการอภิปราย กิจกรรมชมปืนเสือหมอบ และพิธีรำลึก 
130 ปี วิกฤตการณ์

ผบ.ทร.ร่วมงานรำลึก 130 ปี วิกฤตการณ์ ร.ศ.112

วิกฤตการณ์ ร.ศ.112 เป็นเหตุการณ์สำคัญที่คนไทยพึงเรียนรู้ เพื่อเตือนใจลูกหลานไทยตระหนักว่าครั้งหนึ่งผืนแผ่นดินไทยได้ประสบกับภัยสงคราม นับตั้งแต่รัชกาลที่ 4 จวบจนต้นรัชกาลที่ 5 ประเทศไทยต้องประสบกับภัยคุกคามจากชาติมหาอำนาจตะวันตกเป็นเวลาหลายสิบปี โดยเฉพาะกับประเทศฝรั่งเศส อย่างไรก็ตาม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงคาดการณ์ล่วงหน้าได้เป็นอย่างดี จึงทรงเร่งรัดให้เตรียมการรักษาพระนครอย่างเร่งด่วน เช่น การสร้างป้อมที่ตำบลแหลมฟ้าผ่า เพื่อเป็นด่านแรกที่จะยับยั้งข้าศึกที่จะเข้ามาทางปากแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งนี้พระองค์ได้พระราชทานเงินจำนวน 10,000 ชั่ง (800,000 บาท) สำหรับสร้างป้อมแห่งใหม่

ผบ.ทร.ร่วมงานรำลึก 130 ปี วิกฤตการณ์ ร.ศ.112

ต่อมาป้อมปืนแห่งใหม่ของสยามได้สร้างเรียบร้อยในต้นปี พ.ศ.2436 (ร.ศ.112) พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินด้วยเรือพระที่นั่งมหาจักรี เพื่อทอดพระเนตรป้อม ในวันที่ 10 เมษายน 2436 และได้ทรงพระราชทานนามป้อมปืนแห่งนี้ว่า “ป้อมพระจุลจอมเกล้า” ปืนดังกล่าวนี้ คราวจะยิงต้องใช้แรงน้ำมันอัดยกปืนให้โผล่พื้นหลุม และเมื่อยิงกระสุนพ้นลำกล้อง ปืนจะลดตัวลงมาอยู่ในหลุมตามเดิม คนไทยจึงเรียกว่า “ปืนเสือหมอบ”

หลังจากนั้น เหตุการณ์ก็เป็นไปดังที่พระองค์ทรงคาดไว้ทุกประการ กล่าวคือ เมื่อไทยไม่ยอมยกดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงตามที่ฝรั่งเศสเรียกร้อง ในวันที่ 13 กรกฎาคม ร.ศ. 112 ฝรั่งเศสจึงนำเรือรบสองลำ ชื่อเรือโกแมต และเรือแองคองสตังค์ มุ่งหน้าเข้ามาที่กรุงเทพพระมหานคร ด้วยเหตุนี้จึงเกิดการต่อสู้ระหว่างไทยและฝรั่งเศสที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ด้วยกำลังแสนยานุภาพของสองประเทศที่แตกต่างกันอย่างมาก ทำให้เรือรบฝรั่งเศสทั้ง 2 ลำ คือเรือโกแมตและเรือแองคองสตังค์สามารถผ่านป้อมผีเสื้อสมุทรเข้ามาได้จนถึงกรุงเทพฯ จอดเทียบท่าอยู่หน้าสถานกงสุลฝรั่งเศส

 

แม้ว่าฝ่ายไทยจะด้อยแสนยานุภาพกว่าฝรั่งเศสด้วยประการทั้งปวง ทว่าจิตใจและความหาญกล้าของทหารไทยนั้นมิได้ย่นย่อเกรงกลัวข้าศึกแต่ประการใด วิกฤตการณ์ ร.ศ.112 ครั้งนั้น ได้นำมาสู่สถานการณ์ที่ฝรั่งเศสเรียกร้องผลประโยชน์ และการครอบครองดินแดนไทยยืดเยื้ออยู่นานกว่า 10 ปี ไทยต้องยอมสูญเสียดินแดนเป็นจำนวน ถึง 1 ใน 3 ของพื้นที่ทั้งหมดให้ฝรั่งเศส เพื่อรักษาผืนแผ่นดินส่วนใหญ่ และเอกราชไว้ ในปัจจุบัน ป้อมพระจุลจอมเกล้า ได้เป็นอนุสรณ์รำลึกถึงวีรชนผู้ที่เสียสละชีพในเหตุการณ์ ร.ศ. 112 และเป็นสถานที่สำหรับศึกษาด้านประวัติศาสตร์ เช่น พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  พิพิธภัณฑ์ป้อมพระจุลจอมเกล้า ป้อมปืนเสือหมอบ พิพิธภัณฑ์เรือหลวงแม่กลอง ลานจัดแสดงอาวุธกลางแจ้ง และ เส้นทางชมป่าชายเลนอันร่มรื่นและแวดล้อมด้วยสัตว์ประจำถิ่นนานาชนิด 

ผบ.ทร.ร่วมงานรำลึก 130 ปี วิกฤตการณ์ ร.ศ.112