เอกชน จี้เร่งตั้งรัฐบาล แก้ปัญหาต้นทุนการผลิตพุ่ง วอนชะลอขึ้นค่าแรง

เอกชน จี้เร่งตั้งรัฐบาลใหม่ หวังแก้ไขปัญหาต้นทุนการผลิต ชะลอขึ้นค่าแรง แนะปรับขึ้นตามทักษะฝีมือแรงงาน พร้อมช่วยอุดหนุนปัจจัยสำคัญต่อการผลิต ส่งเสริมผู้ผลิตภายในประเทศให้อยู่รอดได้ รวมถึงการควบคุมสินค้านำเข้า และหาตลาดใหม่ช่วยกระจายสินค้าส่งออก

เมื่อวันที่ 28 พ.ค.66 เวลา 14.00 น. นายจิรทัศน์ แจ่มไพบูลย์ ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.ฉะเชิงเทรา ได้กล่าวถึงสถานการณ์การเมืองที่ส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรม ที่กำลังจะได้รับผลกระทบจากนโยบายหาเสียงช่วงเลือกตั้ง ทั้งที่มีปัจจัยด้านพลังงานที่ได้รับผลกระทบโดยตรงมาก่อนหน้าแล้ว เช่น ผลกระทบจากนโยบายเรื่องค่าแรงงาน หากมีการปรับขึ้นอัตราค่าแรงงานตามที่หลายพรรคการเมืองได้เคยหาเสียงไว้ว่า

ภาคอุตสาหกรรมกำลังประสบปัญหาด้านต้นทุนการผลิตที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมานานแล้วนับตั้งแต่เกิดโรคโควิด 19 ระบาด รวมถึงต้นทุนค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น ขณะที่ปัจจุบันหลังการเลือกตั้งที่แต่ละพรรคการเมืองได้หาเสียงเอาไว้ว่าจะปรับขึ้นค่าแรงงานอีก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตเป็นอย่างมาก หากมีการปรับขึ้นในทันที ผลกระทบก็จะเกิดขึ้นต่อภาคเอกชนในทันทีเช่นเดียวกัน
 

นอกจากนี้ยังจะส่งผลทำให้ภาคการลงทุนจากต่างประเทศชะลอตัวด้วย จากเดิมที่หลายประเทศกำลังจะเตรียมการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ในอัตราค่าแรงงานปัจจุบันที่เขายังพอรับได้ แต่หากมีการปรับขึ้นค่าแรงอย่างเร่งด่วนหรือปรับพรวดเดียวในทันที จะทำให้เกิดปัญหาตามมามากมาย และทำให้การลงทุนชะงักงัน

ขณะเดียวกันหากมีการปรับขึ้นค่าแรงตามที่ได้หาเสียงไว้ จะทำให้มีแรงงานต่างชาติหลั่งไหลเข้ามาทั้งถูกต้องตามกฎหมายและไม่ถูกต้องจำนวนมาก ที่จะเข้ามาแย่งงานคนไทยทำโดยที่แรงงานเหล่านี้จะได้อานิสงค์ตามไปด้วย ทำให้ผู้ประกอบจะต้องจ่ายค่าแรงที่สูงขึ้นตามไปด้วย จึงเป็นการทำให้ต้นทุนพุ่งสูงขึ้นรอบด้าน การปรับขึ้นค่าแรงจึงควรมีเงื่อนไขบางอย่าง เช่น การปรับขึ้นตามความสามารถและการหารือตกลงกันระหว่างนายจ้างลูกจ้างและภาครัฐ ว่าจุดเหมาะสมนั้นควรอยู่ที่อัตราเท่าใดจึงจะสามารถเดินกันต่อไปได้

การปรับขึ้นจึงควรมีเงื่อนไขระหว่างแรงงานไทยซึ่งเป็นเจ้าของแผ่นดิน กับแรงงานต่างชาติที่เข้ามานั้น จึงน่าจะมีเงื่อนไขที่แตกต่างกัน อีกทั้งการเข้ามาของแรงงานต่างด้าวจำนวนมากนั้น ยังเป็นภาระของประเทยไทยที่จะต้องดูแลพวกเขาด้วย ทั้งทางด้านสาธารณสุข การเจ็บป่วย การคลอดบุตรในประเทศเรา ที่เราจะต้องให้ทั้งการศึกษาและการเลี้ยงดู ทุกสิ่งทุกอย่างก็จะมาเป็นภาระของบ้านเราโดยที่ประเทศของพวกเขานั้นไม่ได้มาแบกภาระในเรื่องพวกนี้ด้วย ทั้งหมดจึงเป็นภาระของคนไทยที่ใช้เงินภาษีของคนไทย
 

ส่วนด้านปัจจัยการผลิตที่เป็นภาระของผู้ประกอบการ และกลายเป็นต้นทุนที่สูงมากอยู่ในขณะนี้ คือ ค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้น ขณะที่ประเทศอื่นรัฐบาลเขาช่วยอุดหนุน เช่น เวียดนาม ที่ตรึงอัตราค่าไฟฟ้าไว้ที่ 2.66 บาทต่อหน่วย ในขณะที่เอกชนไทยต้องแบกภาระค่าไฟฟ้าที่หน่วยละ 5 บาทกว่า โดยที่สินค้าส่งไปขายในตลาดเดียวกัน สินค้าชนิดเดียวกันแต่ต้นทุนต่างกันมาก โดยของเขาต่ำกว่าเราจึงทำให้ผู้ประกอบการเราปรับตัวลำบาก และจะทำให้อุตสาหกรรมหลายอย่างหนีไปหาต้นทุนที่ต่ำกว่า หากเราจะรักษาความเข้มแข็งของเราไว้ ต้องดูในเรื่องค่าไฟฟ้าเป็นเรื่องหลักสำคัญ เพื่อลดต้นทุนให้สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้

สำหรับ จ.ฉะเชิงเทรา ปัจจุบันนี้มีโรงงานอุตสาหกรรมอยู่ในพื้นที่มากกว่า 2 พันแห่ง และมีจีดีพีเป็นลำดับต้นๆ ของประเทศ ทางสภาอุตสาหกรรม จ.ฉะเชิงเทรา จึงได้พยายามที่จะพัฒนาในทุกด้านเพื่อให้อุตสาหกรรมภายใน จ.ฉะเชิงเทรา เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรืออุตสาหกรรมสีเขียว ที่จะสามารถอยู่กับชุมชนได้อย่างยั่งยืน จึงอยากฝากให้รัฐบาลชุดใหม่ เร่งเข้ามาแก้ไขปัญหาในเรื่องของค่าไฟฟ้า ซึ่งเป็นต้นทุนหลักที่สูงขึ้นมาก และเข้ามาดูในเรื่องค่าแรงงานที่พอสมเหตุสมผล จึงควรพัฒนาแรงงานให้มีทักษะมีฝีมือ และดูในเรื่องของการตลาด

เนื่องจากการตลาดของประเทศเรานั้นมีจำกัด เมื่อยุโรปหรือสหรัฐอเมริกามีปัญหา ก็จะทำให้ออเดอร์เราลดลง จึงอยากให้รัฐบาลที่กำลังจะเข้ามาช่วยไปหาดูตลาดใหม่ๆ เพื่อให้สามารถระบายสินค้าออกไปได้ และขอให้เข้ามาดูสินค้าที่เราผลิตเองได้ในประเทศ ให้มีโอกาสทางการตลาดหรือเงื่อนไขที่เป็นแต้มต่อให้ดีกว่าสินค้าที่นำเข้ามาแข่งขัน หากไม่มีการควบคุมสินค้านำเข้าที่ผู้ผลิตมีกำลังที่แตกต่างกัน เช่น สินค้าจากจีน ที่เขามีตลาดที่ใหญ่สินค้าที่เขานำเข้ามาจึงมีต้นทุนต่ำกว่า รัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาจึงต้องมาช่วยดูให้สินค้าเหล่านั้นใช้วัสดุที่ผลิตได้ในประเทศ เพื่อให้อุตสาหกรรมในประเทศของเราอยู่รอดได้ นายจิรทัศน์ กล่าว