รู้แล้ว เสือโคร่งบนสันเขื่อนศรีนครินทร์ มาจากไหน

รู้แล้ว เสือโคร่งบนสันเขื่อนศรีนครินทร์ มาจากไหน

รู้แล้ว เสือโคร่งบนสันเขื่อนศรีนครินทร์ มาจากไหน ลักษณะของเสือโคร่ง และเสือโคร่งอาศัยอยู่ที่ไหน ไขความรู้ความจริงจากข่าว

กรณี เสือโคร่งบนสันเขื่อนศรีนครินทร์ หลังเทศบาลตำบลเอราวัณ กาญจนบุรี โพสต์เฟซบุ๊กเตือนพบเสือโคร่งขนาดใหญ่ โดยระบุว่าเมื่อเวลาประมาณ 02.00 น. นายเชาวลิต อุตขุจันทร์ และนายพิชิต โมกขกุล ออกตรวจพื้นที่รอบเขื่อนได้พบเสือโคร่ง บริเวณทางลงสันเขื่อนศรีนครินทร์ฝั่งซ้าย อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี วิ่งหนีลงบันไดลิงฝั่งโรงไฟฟ้า ฝากทุกท่านระมัดระวังด้วย

วันที่ 22 มกราคม 2566 นายไพฑูรย์ อินทรบุตร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ กล่าวว่า ทางเขตฯ ได้ประสานไปทางองค์กรแพนเทอร่า ( THAILAND) ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานวิจัยเกี่ยวกับ เสือโคร่ง ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์บริเวณนี้ เพื่อตรวจสอบเสือตัวดังกล่าวจาก ลายของเสือ เพื่อจำแนกว่าเป็นเสือตัวไหนอย่างไรที่เคยพบหรือไม่ในกล้องดักถ่ายสัตว์ป่า โดยองค์กรแพนเทอร่า (PANTHERA THAILAND) แจ้งว่าเสือตัวดังกล่าวนี้ เป็นเสือโคร่งที่เคยพบว่าติดกล้องดักถ่ายสัตว์ป่าของคณะวิจัยฯ ในพื้นที่ป่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ โดยถ่ายติดเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา

รู้แล้ว เสือโคร่งบนสันเขื่อนศรีนครินทร์ มาจากไหน

เป็นเสือโคร่งเพศผู้ ซึ่งจากการตรวจสอบ ลายของเสือแล้วไม่พบว่ามีข้อมูลจากฐานข้อมูลของเสือตัวนี้จากแหล่งอื่นแต่อย่างใด จึงตั้งชื่อให้เป็น SLT002M ซึ่งการตรวจพบเสือโคร่งของคณะนักวิจัยฯ นั้น จะมีการจำแนกลายของเสือจากข้อมูลของฐานข้อมูลที่มีอยู่ของสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ เป็นพื้นฐาน และบางครั้งพบว่าการเคลื่อนตัวของเสือที่เข้ามาในพื้นที่เขตฯสลักพระ บางตัวพบว่าเคลื่อนย้ายมาจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก เป็นต้น และถ้าหากตัวที่พบในกล้องไม่พบว่าเคยมีข้อมูลที่อื่นก็จะตั้งชื่อตามพื้นที่ที่ตรวจพบครั้งแรก และการที่พบเสือมาที่สันเขื่อนศรีนครินทร์ช่วงตี 2 อาจเพราะปลอดคนและเป็นเส้นทางที่เชื่อมกับป่าเอราวัณ สลักพระได้ง่าย

รู้แล้ว เสือโคร่งบนสันเขื่อนศรีนครินทร์ มาจากไหน

เสือโคร่งอาศัยอยู่ที่ไหน

สำรวจวิจัยเสือโคร่งในประเทศไทยด้วยกล้องดักถ่ายตั้งแต่ปี 2553 – 2563 พบเสือโคร่งในป่าธรรมชาติ 130 – 160 ตัว หากประเมินเฉพาะในพื้นที่กลุ่มป่าตะวันตกในระยะเวลา 10 ปี พบว่าประชากรเสือโคร่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 42 ตัว เป็น 79 ตัว ถือว่าเป็นแหล่งสำคัญของโลกที่มีการอนุรักษ์ถิ่นที่อยู่ในธรรมชาติจนประชากรเสือเพิ่มขึ้น

โดยประเทศที่มีเสือโคร่งในป่าธรรมชาติทั้ง 13 ประเทศได้ให้ปฏิญญาในการอนุรักษ์เสือโคร่งและมีแผนฟื้นฟูตามศักยภาพของพื้นที่ที่รองรับได้ โดยมีเป้าหมายว่าจะต้องเพิ่มจำนวนประชากรเสือโคร่งให้มากขึ้นเป็นสองเท่าตัว นับเป็นความหวังของการอนุรักษ์เสือโคร่งในระดับโลก

ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาการกระจายตัวของเสือโคร่งจากฐานข้อมูลวิทยาศาสตร์ที่เก็บลักษณะลวดลายของเสือโคร่งแต่ละตัว พบว่าเสือโคร่งมีการกระจายตัวออกไปทั่วพื้นที่ป่าตะวันตก จากห้วยขาแข้งไปยังพื้นที่ป่าใกล้เคียง เช่น อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ และอุทยานแห่งชาติคลองลาน ต่อเนื่องถึงอุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้าทางตอนเหนือ และขยายการกระจายตัวลงมาถึงเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระทางตอนใต้ (มูลนิธิสืบนาคะเสถียร


ลักษณะของเสือโคร่ง

เสือโคร่ง (Panthera tigris) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม อยู่ในอันดับสัตว์กินเนื้อ (Carnivora) ในวงศ์ Felidae เสือโคร่งจัดเป็นเสือชนิดที่ใหญ่ที่สุด และเป็นสัตว์กินเนื้อที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในไทยอีกด้วย

เสือโคร่งมีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศคือ เป็นผู้ล่าอันดับสูงสุดของระบบนิเวศ และเป็นหนึ่งใน Keystone species ที่คอยควบคุมประชากรสัตว์กินพืช (Herbivore) ไม่ให้ประชากรของสัตว์กินพืชที่เป็นเหยื่อมีมากเกินไป รวมถึงสัตว์ผู้ล่าขนาดกลางและขนาดเล็ก เพื่อรักษาสมดุลในระบบนิเวศป่า การมีอยู่ของเสือโคร่งจึงถือเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าและระบบนิเวศได้เป็นอย่างดี

และช่วงครึ่งทศวรรษที่ผ่านมา เสือโคร่งในผืนป่าของไทยมีจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการทำงานอย่างหนักของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ที่นำเอาระบบการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart patrol) เข้ามาใช้ โดยพบเสือโคร่งมากที่สุดในบริเวณผืนป่าตะวันตก ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง จึงเป็นแหล่งอนุรักษ์เสือโคร่งที่สำคัญของประเทศไทย

ถ้ารวมผืนป่าตลอดแนวด้านตะวันตกของไทยเข้ากับป่าตามแนวชายแดนของพม่า จะทำให้พื้นที่นี้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของเสือโคร่งมากเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากอินเดีย

ถึงแม้ว่าในไทยแนวโน้มของประชากรเสือโคร่งจะเพิ่มมากขึ้น แต่ปัจจุบันเสือโคร่งอินโดจีน (Panthera tigris corbetti) ยังอยู่ในสถานะภาพใกล้สูญพันธุ์ (Endangered) ของ IUCN รวมถึงอนุสัญญา CITES กำหนดให้เสือโคร่งอยู่ในบัญชีที่ 1 คือห้ามทำการค้าโดยเด็ดขาด ซึ่งภัยคุกคามที่สำคัญของเสือโคร่ง ล้วนเกิดจากน้ำมือมนุษย์ทั้งสิ้น ทั้งการทำลายหรือเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าที่เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของเสือโคร่ง การล่าเพื่อการค้า การซื้อขายครอบครอง รวมถึงการล่าสัตว์ป่าที่เป็นเหยื่อของเสือโคร่งอีกด้วย

วันที่ 29 กรกฎาคมของทุกๆ ปี จึงกำหนดให้เป็น ‘วันอนุรักษ์เสือโคร่งโลก’ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของเสือในระบบนิเวศ และสร้างความตะหนักถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรเสือโคร่งและถิ่นที่อยู่อาศัย โดยวันอนุรักษ์เสือโคร่งถูกกำหนดขึ้นจากการประชุมว่าด้วยเรื่องเสือโคร่ง (Tiger Summit) ในปี พ.ศ. 2553 ณ เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (มูลนิธิสืบนาคะเสถียร)

รู้แล้ว เสือโคร่งบนสันเขื่อนศรีนครินทร์ มาจากไหน

cr. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช