โปรดเกล้าฯ พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมาน-อุ้มหาย มีผลหลังประกาศในราชกิจจาฯ 120 วัน

โปรดเกล้าฯ พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมาน-อุ้มหาย มีผลหลังประกาศในราชกิจจาฯ 120 วัน

ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมาน-อุ้มหาย เตรียมมีผลหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา 120 วัน มุ่งคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมาย

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระบรมราชโองการ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ไว้ ณ วันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2565 เป็นปีที่ 7 ในรัชกาลปัจจุบัน โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ โดยขอยกเนื้อหามาบางส่วน ดังนี้


พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ร.บ.นี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 26 ประกอบกับมาตรา 32 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้ โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

เหตุผลและความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตาม พ.ร.บ.นี้ เพื่อให้ความคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายซึ่งกระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อป้องกัน ปราบปราม และเยียวยาผู้เสียหายจากการกระทำในลักษณะดังกล่าว ซึ่งการตรา พ.ร.บ.นี้ สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พ.ร.บ.นี้ เรียกว่า “พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565”

มาตรา 2 พ.ร.บ.นี้ ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 120 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3 ในพระราชบัญญัตินี้

“ผู้เสียหาย” หมายความว่า บุคคลซึ่งได้รับความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย หรือจิตใจ จากการทรมาน การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือการกระทำให้บุคคลสูญหาย และให้หมายความรวมถึงสามี ภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้ซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยา
ซึ่งมิได้จดทะเบียนสมรส ผู้อุปการะและผู้อยู่ในอุปการะของผู้ถูกกระทำให้สูญหาย

“เจ้าหน้าที่ของรัฐ” หมายความว่า บุคคลซึ่งใช้อำนาจรัฐหรือได้รับมอบอำนาจ หรือได้รับการแต่งตั้ง อนุญาต สนับสนุน หรือยอมรับโดยตรงหรือโดยปริยาย จากผู้มีอำนาจรัฐให้ดำเนินการตามกฎหมาย

“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย

“ควบคุมตัว” หมายความว่า การจับ คุมตัว ขัง กักตัว กักขัง หรือกระทำด้วยประการอื่นใดในทำนองเดียวกันอันเป็นการจำกัดเสรีภาพในร่างกายของบุคคล
 

มาตรา 4 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมรักษาการตาม พ.ร.บ.นี้

ขณะที่ในหมวด 1 บททั่วไป มีการระบุว่า

มาตรา 5 ผู้ใดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นเกิดความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานอย่างร้ายแรงแก่ร่างกายหรือจิตใจ เพื่อวัตถุประสงค์อย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

(1) ให้ได้มาซึ่งข้อมูลหรือคำรับสารภาพจากผู้ถูกกระทำหรือบุคคลที่สาม
(2) ลงโทษผู้ถูกกระทำเพราะเหตุอันเกิดจากการกระทำหรือสงสัยว่ากระทำของผู้นั้นหรือบุคคลที่สาม
(3) ข่มขู่หรือขู่เข็ญผู้ถูกกระทำหรือบุคคลที่สาม
(4) เลือกปฏิบัติไม่ว่ารูปแบบใด
ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกระทำทรมาน

มาตรา 6 ผู้ใดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐลงโทษหรือกระทำด้วยประการใดที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อันเป็นเหตุให้ผู้อื่นถูกลดทอนคุณค่าหรือละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานความเป็นมนุษย์ หรือเกิดความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานแก่ร่างกายหรือจิตใจที่มิใช่การกระทำความผิดตามมาตรา 5 ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

การกระทำตามวรรคหนึ่ง ไม่รวมถึงอันตรายอันเป็นผลปกติหรือสืบเนื่องจากการลงโทษทั้งปวงที่ชอบด้วยกฎหมาย

มาตรา 7 ผู้ใดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐควบคุมตัว หรือลักพาบุคคลใด โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิเสธว่ามิได้กระทำการดังกล่าว หรือปกปิดชะตากรรมหรือสถานที่ปรากฏตัวของบุคคลนั้นซึ่งส่งผลให้บุคคลนั้นไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกระทำให้บุคคลสูญหาย
การกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งให้ถือเป็นความผิดต่อเนื่องจนกว่าจะทราบชะตากรรมของบุคคลนั้น

มาตรา 8 ผู้ใดกระทำความผิดฐานกระทำทรมานตามมาตรา 5 ความผิดฐานกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามมาตรา 6 หรือความผิดฐานกระทำให้บุคคลสูญหายตามมาตรา 7 นอกราชอาณาจักร ต้องรับโทษในราชอาณาจักรตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.นี้ โดยให้นำความในมาตรา 10 แห่งประมวลกฎหมายอาญา มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม

มาตรา 9 การกระทำความผิดฐานกระทำทรมานตามมาตรา 5 และการกระทำความผิดฐานกระทำให้บุคคลสูญหายตามมาตรา 7 มิให้ถือว่าเป็นความผิดที่มีลักษณะทางการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน และความผิดทางการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา

มาตรา 10 ในคดีความผิดฐานกระทำให้บุคคลสูญหายตามมาตรา 7 ให้ดำเนินการสืบสวนจนกว่าจะพบบุคคลซึ่งถูกกระทำให้สูญหายหรือปรากฏหลักฐานอันน่าเชื่อว่าบุคคลนั้นถึงแก่ความตายและทราบรายละเอียดของการกระทำความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด

มาตรา 11 ในคดีความผิดฐานกระทำทรมานตามมาตรา 5 หรือความผิดฐานกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามมาตรา 6 ซึ่งผู้เสียหายไม่อยู่ในฐานะที่จะร้องทุกข์หรือกล่าวโทษด้วยตนเองได้ หรือความผิดฐานกระทำให้บุคคลสูญหายตามมาตรา 7 ให้สามี ภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้ซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยาซึ่งมิได้จดทะเบียนสมรส ผู้อุปการะ และผู้อยู่ในอุปการะของผู้ถูกกระทำทรมาน ผู้ถูกกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือผู้ถูกกระทำให้สูญหายตาม พ.ร.บ.นี้ แล้วแต่กรณี เป็นผู้เสียหาย
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาด้วย

มาตรา 12 พฤติการณ์พิเศษใดๆ ไม่ว่าจะเป็นภาวะสงครามหรือภัยคุกคามที่จะเกิดสงคราม ความไม่มั่นคงทางการเมืองภายในประเทศ หรือสถานการณ์ฉุกเฉินสาธารณะอื่นใด ไม่อาจนำมาอ้างเพื่อให้การกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.นี้เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย

มาตรา 13 ห้ามมิให้หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐขับไล่ ส่งกลับ หรือส่งบุคคลเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปยังอีกรัฐหนึ่ง หากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลนั้นจะไปตกอยู่ในอันตรายที่จะถูกกระทำทรมาน ถูกกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือถูกกระทำให้สูญหาย

สำหรับหมวด 5 มีการระบุถึง บทกำหนดโทษ ดังนี้

มาตรา 35 ผู้กระทำความผิดฐานกระทำทรมานตามมาตรา 5 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5-15 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000-300,000 บาท

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำรับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 10-25 ปี และปรับตั้งแต่ 200,000-500,000 บาท

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 15-30 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 300,000-1,000,000 บาท

มาตรา 36 ผู้กระทำความผิดฐานกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามมาตรา 6 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 37 ผู้กระทำความผิดฐานกระทำให้บุคคลสูญหายตามมาตรา 7 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5-15 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000-300,000 บาท

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำรับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 10-25 ปี และปรับตั้งแต่ 200,000-500,000 บาท

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 15-30 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 300,000-1,000,000 บาท

มาตร 38 ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 35 หรือมาตรา 36 เป็นการกระทำแก่บุคคลอายุไม่เกิน 18 ปี หญิงมีครรภ์ ผู้พิการทางร่างกายหรือจิตใจ หรือผู้ซึ่งพึ่งตนเองมิได้เพราะอายุหรือความป่วยเจ็บ ผู้กระทำต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นกึ่งหนึ่ง

ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 37 เป็นการกระทำแก่บุคคลตามวรรคหนึ่ง ผู้กระทำต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นกึ่งหนึ่ง

มาตรา 39 ผู้ใดสมคบเพื่อกระทำความผิดตามมาตรา 35 มาตรา 36 มาตรา 37 หรือมาตรา 38 ต้องระวางโทษ 1 ใน 3 ของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

ถ้าได้มีการกระทำความผิดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันตามวรรคหนึ่ง ผู้สมคบกันนั้นต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

ในกรณีที่ความผิดได้กระทำถึงขั้นลงมือกระทำความผิด แต่เนื่องจากการเข้าขัดขวางของผู้สมคบทำให้การกระทำนั้นกระทำไปไม่ตลอดหรือกระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล ศาลจะลงโทษผู้สมคบที่กระทำการขัดขวางนั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดเพียงใดก็ได้

มาตรา 40 ผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดตามมาตรา 35 มาตรา 36 มาตรา 37 หรือมาตรา 38 ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการในความผิดนั้น

มาตรา 41 ถ้าผู้กระทำความผิดตามมาตรา 37 มาตรา 38 วรรคสอง มาตรา 39 หรือมาตรา 40 ช่วยให้มีการคันพบผู้ถูกกระทำให้สูญหายก่อนศาลชั้นต้นพิพากษา โดยผู้นั้นมิได้รับอันตรายสาหัสหรือตกอยู่ในภาวะอันใกล้จะเป็นอันตรายต่อชีวิต หรือให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์ในการดำเนินคดี ศาลจะลงโทษผู้กระทำความผิดน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดเพียงใดก็ได้

มาตรา 42 ผู้บังคับบัญชาผู้ใดทราบว่าผู้ใต้บังคับบัญชาซึ่งอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของตนจะกระทำหรือได้กระทำความผิดตามมาตรา 35 มาตรา 36 มาตรา 37 หรือมาตรา 38 และไม่ดำเนินการที่จำเป็นและเหมาะสม เพื่อป้องกันหรือระงับการกระทำความผิด หรือไม่ดำเนินการหรือส่งเรื่องให้ดำเนินการสอบสวนและดำเนินคดีตามกฎหมาย ต้องระวางโทษกึ่งหนึ่งของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

ผู้บังคับบัญชาตามวรรคหนึ่งจะต้องเป็นผู้ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบและมีอำนาจควบคุมการกระทำซึ่งเกี่ยวข้องกับความผิดฐานกระทำทรมาน ความผิดฐานกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือความผิดฐานกระทำให้บุคคลสูญหาย

นอกจากนี้ ในบทเฉพาะกาล มาตรา 43 ระบุด้วยว่า ให้นำความในมาตรา 10 มาใช้บังคับแก่การกระทำให้บุคคลสูญหายก่อนวันที่ พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับโดยอนุโลม

ในช่วงท้ายประกาศ มีการระบุเหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ คือ โดยที่การทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายซึ่งกระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงที่ไม่อาจกระทำได้ไม่ว่าในสถานการณ์ใดๆ ดังนั้น เพื่อยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย สมควรกำหนดฐานความผิด มาตรการป้องกันและปราบปราม และมาตรการเยียวยาผู้เสียหาย ตลอดจนมาตรการอื่นที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ จึงจำเป็นต้องตรา พ.ร.บ.นี้

ติดตามรายละเอียดฉบับเต็ม >> พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565