บทบาท ‘กรรมการ’ ที่เปลี่ยนไป | พสุ เดชะรินทร์

บทบาท ‘กรรมการ’ ที่เปลี่ยนไป | พสุ เดชะรินทร์

ในอดีตเมื่อเอ่ยถึงภาพของคณะกรรมการบริษัท ก็จะนึกถึงผู้ที่มีมากด้วยประสบการณ์และอายุ มาประชุมร่วมกันเดือนหรือไตรมาสละครั้ง รับฟังและอนุมัติในวาระต่างๆ ตามที่ผู้บริหารได้เสนอมา

จากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ทำให้ภาพของผู้ที่ทำหน้าที่เป็นกรรมการบริษัทได้เปลี่ยนไป จากการเป็นเพียงผู้รับฟัง ให้ความเห็น และอนุมัติตามที่ผู้บริหารเสนอ

กลายเป็นผู้ที่ต้องเป็นหูเป็นตา เป็นผู้ที่มองไปในอนาคต มองเห็นทั้งโอกาสและความเสี่ยงของบริษัท มองเรื่องราวต่างๆ ด้วยมุมมองที่หลากหลาย และร่วมกับผู้บริหารในการกำหนดกลยุทธ์และทิศทางของบริษัท ในปัจจุบันเมื่อมีเรื่องราวไม่ดีเกิดขึ้น ภาระก็จะไม่ได้ตกอยู่กับผู้บริหารเท่านั้น คณะกรรมการบริษัทก็ต้องร่วมรับผิดชอบด้วย 

ตัวอย่างเช่น กรณีของบริษัทโบอิ้ง เมื่อเกิดสถานการณ์จากเครื่อง 737 Max นอกจากซีอีโอแล้ว คณะกรรมการบริษัทก็ถูกเรียกร้องให้ลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบด้วย ส่วนกรณีของ ExxonMobil ที่กลุ่มผู้ถือหุ้นส่วนน้อยสามารถแย่งที่นั่งในบอร์ดมาได้ 2 ที่นั่ง เนื่องจากต้องการจะเห็นบริษัทมุ่งเน้นและให้ความสำคัญกับเรื่องของสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

เมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมาทาง EY รายงานผลการศึกษาเรื่อง Board Priorities หรือสิ่งที่คณะกรรมการในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิคต้องให้ความสำคัญ อันดับแรกคือ เรื่องของสถานการณ์เงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ตามมาด้วยเรื่องของความเสี่ยงทางด้าน Geo-politics หรือภูมิรัฐศาสตร์ ตามด้วยเรื่องของ ESG, Digital Transformation, Cyber Security, Talent 

รายงานดังกล่าวระบุด้วยว่า ถึงแม้ประเด็นข้างต้นจะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ก็เป็นประเด็นร้อนแรงที่ส่งผลต่อการดำเนินงานของบริษัทในภูมิภาคนี้ และเป็นสิ่งที่คณะกรรมการและผู้บริหารจะต้องให้ความสนใจ

จะเห็นว่า ประเด็นสำคัญที่คณะกรรมการจะต้องให้ความสนใจและเข้าไปร่วมตัดสินใจนั้น แทบไม่แตกต่างจากสิ่งที่ซีอีโอและผู้บริหารจะต้องดูแล ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า เมื่อบุคคลที่จะมาเป็นกรรมการบริษัทนั้นได้รับความคาดหวังว่าจะต้องดูแล ตัดสินใจ และรับผิดชอบในเรื่องราวต่างๆ มากขึ้น บุคคลที่ควรจะมาเป็นกรรมการนั้นควรจะมีคุณสมบัติอย่างไร?

บทความใน Harvard Business Review ที่ชื่อว่า Are you ready to serve on a board? ที่ได้ศึกษาและพบว่ากรรมการบริษัทที่ประสบความสำเร็จนั้น จะมีพื้นฐานความรู้และทักษะที่สำคัญอยู่ 5 ประการด้วยกัน ได้แก่

1. การเงิน ซึ่งไม่ได้หมายความกรรมการจะต้องเป็นอดีต CFO หรือ อดีตผู้สอบบัญชี แต่จะต้องเข้าใจต่อความหายของตัวเลขทางการเงินที่สำคัญของบริษัท และผลกระทบของตัวเลขทางการเงินต่อการดำเนินงานของบริษัท

2. กลยุทธ์ กรรมการควรสามารถคิดในเชิงกลยุทธ์ว่าการเปลี่ยนแปลง และแนวโน้มของปัจจัยต่างๆ จะส่งผลต่อบริษัทอย่างไร ผลกระทบจากการดำเนินงานที่สำคัญของคู่แข่งและการเปลี่ยนแปลงในตัวลูกค้า การมองภาพไปในอนาคต และมองเห็นว่ากลยุทธ์ของบริษัทจะส่งผลต่อตัวเลขทางการเงินของบริษัทอย่างไร

3. การบริหารความสัมพันธ์ กรรมการก็จะต้องสามารถสร้างความสัมพันธ์ในการทำงานร่วมกันที่ดีทั้งระหว่างกรรมการ กับผู้บริหาร กับผู้ถือหุ้น และกับบุคคลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทักษะการสื่อสารในห้องประชุมกลายเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะเรื่องของการพูดให้บุคคลอื่นเข้าใจ แต่ต้องรู้จักที่จะฟังด้วย และเมื่อฟังแล้วจะต้องสามารถจับประเด็น และคิดตาม (หรือปรับเปลี่ยนความคิด) ได้อย่างรวดเร็ว

4. ความเข้าใจต่อบทบาทของตนเอง ทั้งบทบาทของความเป็นกรรมการที่แตกต่างจากผู้บริหาร และเข้าใจในบทบาทของตนเองด้วยว่าตนเองได้รับการเลือกเข้ามาร่วมเป็นกรรมการเพราะสาเหตุใด และบุคคลอื่นมีความคาดหวังต่อตนเองอย่างไร ควรจะต้องทบทวนเสมอว่าได้สร้างหรือเพิ่มคุณค่าใดให้กับคณะกรรมการและบริษัทบ้าง

5. การสร้างวัฒนธรรมที่ดี มีส่วนร่วมในการสร้างวัฒนธรรมในห้องประชุมคณะกรรมการบริษัท (Boardroom Culture) ที่ดี ทั้งการแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ การรับฟังความเห็นที่แตกต่างจากผู้อื่น หรือ การมุ่งเน้นไปที่ประโยชน์ของบริษัท เป็นต้น

จะเห็นว่าปัจจุบัน บทบาท ความคาดหวัง และความรับผิดชอบของกรรมการบริษัทได้เปลี่ยนไปจากในอดีต ดังนั้น สำคัญสุดคือผู้ที่เป็นกรรมการนั้นจะต้องไม่หยุดที่จะเรียนรู้และพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา

คอลัมน์ มองมุมใหม่ 
รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
[email protected]