Forex 3D แชร์ลูกโซ่ในยุค New Normal | ว่องวิช ขวัญพัทลุง

Forex 3D แชร์ลูกโซ่ในยุค New Normal | ว่องวิช ขวัญพัทลุง

การหลอกลวงให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ของผู้อื่นโดยทุจริต อันถือว่าเป็นความผิดฐานฉ้อโกงนั้น เป็นความผิดที่สังคมโลกและไทยรู้จักมาช้านาน คำถามผ่านกาลเวลาก็คือ ทำไมการกระทำความผิดดังกล่าวถึงไม่เคยหมดไปจากสังคม?

จาก “พอนซี” สู่คำนิยาม “แชร์ลูกโซ่” สู่ “แม่ชม้อย” ผ่าน “แมดอฟฟ์” จนกระทั่ง “Forex3d” อะไรคือปัจจัยที่บ่มปัญหานี้ไว้กับสังคมและไม่มีทีท่าว่าจะหมดไป

FOREX ย่อมาจาก Foreign Exchange Market เป็นการแลกเปลี่ยนอัตราสกุลเงินระหว่างประเทศ โดยยึดตามอัตราขึ้นลงตามความต้องการซื้อ ขาย ของสกุลเงิน ไม่มีหยุดทำการ จึงเป็นตลาดที่มีมูลค่ามากกว่าตลาดหุ้นทั่วโลกรวมกัน และการเข้าเป็นผู้ร่วมเทรดก็ไม่จำกัดแค่นักลงทุนเพื่อเก็งกำไร แต่หมายรวมถึงนักท่องเที่ยวที่เดินทางข้ามประเทศด้วยเช่นกัน คนส่วนใหญ่ของโลกจึงเป็นหน่วยหนึ่งของฟอเร็กซ์ ตลาดการเทรดนี้จึงดึงดูดกลุ่มคนมาเก็งกำไรตามเทรนของยุค

การเทรดสามารถทำได้สองแบบคือ เทรดเอง หรือเทรดผ่านโบรกเกอร์ แต่ทั้งนี้ไทยไม่มีกฎหมายการจดทะเบียนเป็นโบรกเกอร์ฟอเร็กซ์ ฉะนั้น การให้บริการรับ-ส่งเงินให้คนไปลงทุนฟอเร็กซ์ บนเว็บไซต์ทั้งในและต่างประเทศ จึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน ส่วนคนที่โฆษณาหรือชวนให้คนอื่นเข้ามาลงทุนฟอเร็กซ์โดยที่ไม่ได้รับอนุญาตก็มีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนด้วย

Forex3D คือ แชร์ลูกโซ่รูปแบบหนึ่งที่นำชื่อของฟอเร็กซ์มากล่าวอ้าง เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือเท่านั้น เงินที่ได้มาก็นำไปใช้ในวัตถุประสงค์อย่างอื่น ไม่ได้เอาไปเก็งกำไรผ่านการเทรดสกุลเงิน อีกทั้งยังโฆษณาการันตีกำไรที่มากเกินกว่าการเทรดฟอเร็กซ์โดยทั่วไป ด้วยผลกำไรเดือนละ 15 เปอร์เซ็นต์ และจะมากยิ่งขึ้นแปรผันตามการลงทุน ซึ่งปกตินักเทรดฟอเร็กซ์จะได้กำไรประมาณ 7-8 เปอร์เซ็นต์ต่อปีเท่านั้น จึงเป็นการหลอกลวงเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์จากประชาชน มีความผิดตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527

ต่างประเทศเรียกหลักการนี้ว่า “Ponzi Scheme” ตามชื่อของพอนซีผู้ที่คิด ในปี 920 ซึ่งใช้การฉ้อโกงนี้กับ “International Reply Coupon” คูปองที่ใช้จ่ายแทนแสตมป์ โดยใช้ความต่างจากราคาระหว่างประเทศ ให้คำมั่นว่าจะสร้างผลตอบแทนให้ผู้ลงทุน 50 เปอร์เซ็นต์ภายใน 45 วัน และ 100 เปอร์เซ็นต์ภายใน 3 เดือน จนบริษัทของเขามีเงินหมุนเวียนกว่า 250 ล้านดอลลาร์ ในเวลาเพียง 9 เดือน

แต่เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐเข้าตรวจสอบบัญชีพบว่า พอนซีไม่ได้นำเงินไปลงทุนในบริษัทของตนเลย จึงถือเป็นต้นกำเนิดของ “แชร์ลูกโซ่” และสืบทอดมาจนทุกวันนี้ ต่างแค่ Product ที่อิงตามกระแสความนิยมของโลก ณ ขณะนั้น มาเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความโลภจากการลงทุนที่เกินจริง

คดีแชร์ลูกโซ่ คดีแรกในไทย เกิดในปี 2520 คือ “คดีแม่ชม้อย (นางชม้อย ทิพย์โส)” ที่อ้างว่าตนเองเปิดบริษัทค้าน้ำมัน โดยใช้ความน่าเชื่อถือจากการเป็นพนักงานองค์การเชื้อเพลิงของตน การันตีกำไรร้อยละ 6.5 ต่อเดือน เป็นผลตอบแทนที่จะได้รับ และใช้ระบบ “ลูกโซ่” ที่นำเงินจากผู้ร่วมลงทุนรายใหม่ มาจัดสรรคิวแบ่งจ่ายให้ผู้ลงทุนรายเก่าในลักษณะหมุนเวียนกันโดยไม่มีการลงทุนจริงๆ แต่อย่างใด คดีดังกล่าวมีความเสียหายรวม 4,822 ล้านบาท เช่นเดียวกับรูปแบบของ “ชาร์ล พอนซี

คำถามที่ตามมาคือ อะไรคือปัจจัยที่ทำให้อาชญากรรมรูปแบบนี้ยังคงอยู่มาถึงปัจจุบันและพบมากขึ้นในทุกๆ มิติของสังคม ปัจจัยที่ไม่สามารถปฏิเสธได้คือ “กระบวนการยุติธรรม” เมื่อพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องพบว่าในคดีแม่ชม้อย ไทยเพิ่งประกาศใช้ พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 ทำให้จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.ก.ดังกล่าว จำคุก 36,410 ปี และความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา จำคุก 117,595 ปี รวมจำคุก 154,005 ปี

ทั้งนี้ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 (2) กำหนดให้ลงโทษรวมกันทุกกระทงแล้วไม่เกิน 20 ปี ศาลจึงพิพากษาจำคุกจำเลย 20 ปี และให้คืนเงิน 510,584,645 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี แต่เนื่องจากจำเลยเป็นนักโทษชั้นดีในระหว่างรับโทษ จึงได้รับพระราชทานอภัยโทษ ทำให้รับโทษจำคุกอยู่แค่เพียง 7 ปีก็พ้นโทษ

ในคดี "ซินแสโชกุน" ก็เช่นกัน ศาลตัดสินให้จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 3, 14 (1) ฐานร่วมกันนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ประกอบกับความผิดฐานร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ซึ่งเป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท จึงให้ลงโทษบทหนักสุด ตาม พ.ร.บ.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กระทงละ 5 ปี โดยกระทำผิดรวม 871 กระทง รวมจำคุก 4,355 ปี และปรับทั้งสิ้น 435,520,000 บาท ส่วนโทษจำคุกให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 (2) จำคุกจำเลยสูงสุด 20 ปี

เมื่อเราเปรียบเทียบทั้งสองคดีจะเห็นผลที่ไม่แตกต่างกัน แม้ปัจจุบัน “พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 (เพิ่มเติม พ.ศ.2560)” มาใช้ให้เท่าทันการกระทำความผิดที่ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ในการสร้างความเสียหาย แต่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงกรอบอันเป็นบทลงโทษของการกระทำความผิดหลายกรรมที่บัญญัติไว้ในกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) ยิ่งกว่านั้นเมื่อเทียบกับการกระทำความผิดของ “เบอร์นาร์ด แอล. แมดอฟฟ์” อันเป็นคดีฉ้อโกงแบบเดียวกัน ในปี 2551 ศาลสหรัฐได้ตัดสินจำคุก 150 ปี โดยไม่ยอมให้มีการร้องบรรเทาโทษ รวมถึงบังคับให้คืนทรัพย์และค่าปรับเป็นจำนวน 2 เท่าของกำไรที่ได้หรือการสูญเสียที่เกิดขึ้นจากความผิด

จากกรณีศึกษาจะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนในการคุ้มครองประชาชนด้วยกระบวนการยุติธรรมทางกฎหมายของแต่ละรัฐบนพื้นฐานความผิดเดียวกัน ในไทยปรากฏเพียง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ได้รับเงินที่ถูกฉ้อโกงคืน ทั้งยังใช้ระยะเวลาในการติดตามของกระบวนการที่เนิ่นช้า ไม่สอดคล้องกับค่าของเงินที่เฟ้อขึ้นตามกาลเวลา 

แม้ ณ ปัจจุบันประเทศไทยจะบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ ปปง.เข้าตรวจสอบยึดอายัดทรัพย์สินโดยไม่มีอายุความ ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง แตกต่างจากการบังคับโดยกฎหมายในคดีของแมดอฟฟ์ อย่างชัดเจน

เมื่อโลกเข้าสู่การใช้ชีวิตแบบ New Normal ที่การทำธุรกรรมการลงทุนสามารถทำได้โดยไม่คำนึงถึงเวลาหรือสถานที่ อัตราความเสี่ยงที่อาชญากรรมประเภทนี้จะเกิดขึ้นในไทยย่อมแปรผันตรงไปตามกระบวนการยุติธรรมที่ยังไม่รัดกุมเพียงพอหรือทันท่วงที

ทั้งนี้ ขบวนการหรือผู้กระทำความผิดอาจจะเป็นการกระทำความผิดภายนอกประเทศ เช่นนี้เมื่อความเสียหายเกิดขึ้นแล้วกระบวนการยุติธรรมจะดำเนินการอย่างไร เช่นนี้ ปัจจัยทางกระบวนการยุติธรรมตามที่กล่าวมาจึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ต้องตระหนักกับโลกในยุคปัจจุบัน

สุดท้ายรัฐต้องตอบให้ได้ว่า "รัฐได้สร้างกระบวนการทางกฎหมายให้สังคมเพียงพอต่อการใช้ชีวิตแบบ New Normal แล้วหรือไม่" มิฉะนั้น อาชญากรรมรูปแบบเก่าก็จะมาในมุกใหม่ๆ ที่ไม่จบสิ้น