“อผศ.”ถกคณะทำงานสมาพันธ์ทหารผ่านศึกอาเซียน

“อผศ.”ถกคณะทำงานสมาพันธ์ทหารผ่านศึกอาเซียน

“อผศ.”ประชุมคณะทำงานสมาพันธ์ทหารผ่านศึกอาเซียน มีมติเป็นเอกฉันท์ให้องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเกี่ยวข้องในห้วงเดือนธ.ค.2565

การประชุมสมาพันธ์ทหารผ่านศึกอาเซียน ได้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และจะนำญัตติของการประชุมไปรับรองในการประชุมคณะกรรมการบริหารสมาพันธ์ทหารผ่านศึกอาเซียน ครั้งที่ 34 และการประชุมสมัชชาสมาพันธ์ทหารผ่านศึกอาเซียน ครั้งที่ 21 ที่มีกำหนดจัดขึ้นในห้วงเดือนธันวาคม 2565 ต่อไป

สมาพันธ์ทหารผ่านศึกอาเซียน (Veterans Confederation 
of ASEAN Countries: VECONAC) ก่อตั้งขึ้นในปี 2523 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระชับสัมพันธ์อันดีต่อกันในกลุ่มประเทศอาเซียน และแลกเปลี่ยนข่าวสารและความคิดเห็นร่วมกัน อีกทั้งให้การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในด้านการให้การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกและเหยื่อสงคราม ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีด้านสุขภาพและสังคม ตลอดจนเพื่อส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจอันดี เกิดความสงบสุข และความเจริญรุ่งเรืองแก่ภูมิภาคแห่งนี้ 

ปัจจุบันสมาพันธ์ฯ มีประเทศภาคีสมาชิกทั้งสิ้น 10 ประเทศ ได้แก่ ประเทศบรูไนดารุสซาลาม, ราชอาณาจักรกัมพูชา, สาธารณรัฐอินโดนีเซีย, สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว, สหพันธรัฐมาเลเซีย, สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์, สาธารณรัฐฟิลิปปินส์, สาธารณรัฐสิงคโปร์, ประเทศไทย และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

สำหรับองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก เข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกสมาพันธ์ฯ เมื่อปี 2523 ในฐานะประเทศร่วมก่อตั้งสมาพันธ์ฯ โดยมีผู้อำนวยการองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานสมาพันธ์ฯ ประจำประเทศไทย จึงมีภาระผูกพันในการเข้าร่วมการประชุมของสมาพันธ์ฯ เป็นประจำทุกปี

เนื่องจากในปี 2564 ยังมีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) อย่างต่อเนื่อง สมาคมทหารผ่านศึกแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (Veterans Association of Vietnam: VAVN) ในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุมของสมาพันธ์ฯ ประจำปี 2564 ได้กำหนดจัดการประชุมคณะกรรมการบริหารสมาพันธ์ทหารผ่านศึกอาเซียน ครั้งที่ 33 และการประชุมสมัชชาสมาพันธ์ทหารผ่านศึกอาเซียน ครั้งที่ 20 ในรูปแบบการประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.2564  ตั้งแต่เวลา 08.30-17.30  น. 

โดย พล.อ.สัณทัศน์ นันทิภาคย์หิรัญ ผู้อำนวยการองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (ผอ.อผศ.)  เป็นหัวหน้าคณะ นำผู้แทนองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก รวม 4 ท่าน เข้าร่วมการประชุม ณ ห้องชาตินักรบ อาคาร 2 ชั้นที่ 2 องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก มีวัตถุประสงค์เพื่อหารือหัวข้อญัตติที่ได้หารือเมื่อการประชุมคณะทำงานของสมาพันธ์ฯ เมื่อวันที่ 21 ต.ค.2563  ในรูปแบบประชุมทางไกล และการรับรองญัตติใหม่ 10 ญัตติ เพื่อลงมติเห็นชอบในการประชุมคณะกรรมการบริหารสมาพันธ์ฯ ครั้งที่ 33 และรับรองญัตติในการประชุมสมัชชาสมาพันธ์ฯ ครั้งที่ 20
 

โดยในการประชุมสมัชชาสมาพันธ์ฯ ครั้งที่ 20 มีมติอย่างเป็นเอกฉันท์ให้องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะทำงานสมาพันธ์ฯ, การประชุมคณะกรรมการบริหารสมาพันธ์ฯ ครั้งที่ 34 และการประชุมสมัชชาสมาพันธ์ฯ ครั้งที่ 21 ประจำปี 2565 ณ ประเทศไทย ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการบริหารสมาพันธ์ฯ ครั้งที่ 34 และการประชุมสมัชชาสมาพันธ์ฯ ครั้งที่ 21 กำหนดจัดขึ้นในห้วงเดือนธ.ค.2565 ณ กรุงเทพมหานคร 

โดยเรียนเชิญผู้เข้าร่วมประชุมจากภาคีสมาชิกสมาพันธ์ฯ ทั้ง 9 ประเทศ เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว กิจกรรมในการประชุม อาทิ การมอบตำแหน่งประธานกิตติมศักดิ์สมาพันธ์ฯ ให้แก่อดีตประธานสมาพันธ์ฯ ที่เคยทำคุณประโยชน์ให้กับสมาพันธ์ฯ อย่างต่อเนื่อง แม้สิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่งแล้ว และการมอบเหรียญเกียรติคุณสมาพันธ์ฯ ให้แก่อดีตเลขาธิการสมาพันธ์ฯ 
ที่เคยทำคุณประโยชน์ด้านงานเลขาธิการสมาพันธ์ฯ ตลอดห้วงการดำรงตำแหน่งที่ผ่านมา 

ทั้งนี้ มีการลงนามในแถลงการณ์ร่วม เพื่อรับรองญัตติในที่ประชุมสมัชชาสมาพันธ์ฯ จากนั้น เป็นพิธีส่งมอบตำแหน่งประธานสมาพันธ์ฯ ให้แก่ สหพันธ์ทหารผ่านศึกแห่งสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ เพื่อดำรงตำแหน่งประธานสมาพันธ์ฯ และเจ้าภาพจัดการประชุมสมาพันธ์ฯ ประจำปี 2566 ต่อไป

สำหรับการเข้าร่วมการประชุมของสมาพันธ์ฯ ทำให้องค์การฯ ได้รับทราบข้อมูลที่สำคัญ และเป็นประโยชน์ของหน่วยงานทหารผ่านศึกในภูมิภาคอาเซียน ด้านการสงเคราะห์และเชิดชูเกียรติทหารผ่านศึก ซึ่งสามารถนำแนวทางมาพัฒนาการสงเคราะห์ทหารผ่านศึกของประเทศไทยให้ทัดเทียมประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียนต่อไป พร้อมทั้งเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างหน่วยงานทหารผ่านศึกในภูมิภาคอาเซียน ถึงแม้จะอยู่ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) แต่ภาคีสมาชิกสมาพันธ์ฯ ทั้ง 10 ประเทศ ยังคงมีความมุ่งมั่นและตั้งใจ เพื่อให้ภาคีสมาชิกสมาพันธ์ฯ ได้รับประโยชน์ร่วมกัน รวมถึงผลักดันให้สมาพันธ์ฯ เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่มีบทบาทและส่วนร่วมในประชาคมอาเซียนต่อไป