เมื่อปลดล็อก“กัญชาเสรี"แล้วเกิดภาวะสุญญากาศทางนโยบาย ใครจะรับผิดชอบ?

เมื่อปลดล็อก“กัญชาเสรี"แล้วเกิดภาวะสุญญากาศทางนโยบาย ใครจะรับผิดชอบ?

"เครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติด”ออกมาแสดงห่วงใยปัญหาที่จะตามมาจากนโยบายกัญชาเสรี หากไม่มีมาตรการควบคุมการใช้"กัญชา"ไทยอาจเป็น“ประเทศที่กัญชาเสรีที่สุดในโลก”ก็เป็นได้  

การปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติดตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ในขณะที่ประเทศไทยยังไม่มีพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. ... ไว้บังคับใช้ 

ล่าสุดทางคณะแพทย์ นักวิจัย และนักวิชาการ ด้านยาเสพติด เยาวชน และสุขภาพจิตระดับประเทศ 21 คน ในฐานะ “เครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติด”อันประกอบด้วย

 

-นพ.ชาตรี บานชื่น อดีตกรรมการแพทยสภา อดีตอธิบดีกรมสุขภาพจิต และ อดีตอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

-ดร.วิโรจน์ สุ่มใหญ่ ที่ปรึกษาคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศ สหประชาชาติ

-ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก

-ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล นักวิทยาศาสตร์ Centre for Addiction and Mental Health, Canada

-รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) กุมารแพทย์ผู้เชียวชาญด้านการแพทย์วัยรุ่น และ ผู้จัดการโครงการต้นทุนชีวิต ประเทศไทย ฯลฯ 

 

รวบรวมความเห็นนโยบายกัญชาเสรีไว้ดังนี้

1. ประเทศไทยอาจเกิดภาวะ นโยบายกัญชาเสรี ตกอยู่ใน“ภาวะสุญญากาศทางนโยบาย”

หากไม่มีการชะลอการบังคับใช้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 และไม่มีมาตรการควบคุมการใช้กัญชาในทางที่ผิดที่เพียงพอ เช่น “มาตรการห้ามสูบช่อดอก” หรือ “มาตรการห้ามเด็กและเยาวชนสูบช่อดอก” วันที่ 9 มิถุนายน 2565 นี้

2.มาตรดูแลการสูบกัญชาเพื่อความบันเทิงมีไหม

นโยบายกัญชาเสรี คือ การที่ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย จะสามารถนำช่อดอกมาสูบได้โดย ไม่ผิดกฎหมายยาเสพติดใดๆ เนื่องจากทุกส่วนของพืชกัญชาไม่เป็นยาเสพติด ถ้าไม่นำมาสกัด 

หลังจากที่ประกาศฯฉบับดังกล่าวข้างต้นมีผลบังคับใช้ ผลที่ตามมา คือ แม้กระทรวงสาธารณสุขจะรณรงค์ว่าไม่ได้ต้องการให้ใช้กัญชาเพื่อนันทนาการ แต่ก็จะไม่สามารถดำเนินการใด ๆ กับคนที่สูบช่อดอกกัญชาได้ เพราะกัญชาไม่ใช่ยาเสพติดแล้ว 

ขณะนี้ประเทศไทยได้ก้าวเลย “นโยบายกัญชาทางการแพทย์” ไปแล้ว เพราะประเทศที่ใช้นโยบายกัญชาทางการแพทย์ จะเน้นให้ใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์เท่านั้น จะไม่อนุญาตให้ใช้เพื่อความบันเทิง เพราะจะทำให้เกิดอาการเมาและเกิดการเสพติดได้ในที่สุด

3. มีกฎหมายควบคุมการใช้กัญชาในที่ผิดหรือยัง

“ภาวะสุญญากาศทางนโยบาย” คือ การที่ไม่มีเครื่องมือทางกฎหมายมาควบคุมการใช้กัญชาในทางที่ผิดอย่างเพียงพอ เนื่องจากพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. … ยังไม่ผ่านการพิจารณาของสภาทั้งสองสภา ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขประชาสัมพันธ์มาตรการ 2 มาตรการ ซึ่งจะไม่ได้ผลในการควบคุมการใช้กัญชาในทางที่ผิดเลย คือ

(1) การออกคำแนะนำของคณะกรรมการสาธารณสุข 

เรื่อง แนวทางควบคุมเหตุรำคาญจากการกระทำให้เกิดกลิ่นหรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด มาตรการนี้กระทำได้แค่เพียงระงับการสูบนั้นๆไม่ให้ส่งกลิ่นหรือควันรำคาญผู้อื่นเท่านั้น แต่จะไม่สามารถห้ามไม่ให้เด็กและเยาวชนสูบช่อดอกกัญชาได้เลย

(2) การประชาสัมพันธ์ให้ผู้ปลูกกัญชาในครัวเรือนมา“จดแจ้ง” ผ่านแอปพลิเคชั่น “ปลูกกัญ” 

จริง ๆ แล้วนโยบายนี้ทำได้เพียงการ “ขอความร่วมมือ” เพราะจะ “บังคับให้จดแจ้ง” ได้ต่อเมื่อพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. … ผ่านการตราเป็นกฎหมายแล้วเท่านั้น 

ดังนั้นขณะนี้หากผู้กรอกข้อมูลให้ข้อมูลเท็จ หรือให้ข้อมูลแล้วไม่ปฏิบัติตามนั้น เช่น จดแจ้งว่าปลูกเพื่อใช้รักษาโรคตนเอง แต่จริง ๆ นำช่อดอกไปสูบเพื่อความบันเทิง หรือนำไปใส่อาหารขายก็ไม่สามารถเอาผิดได้

ดังนั้นจึงเรียกได้ว่าเกิด “ภาวะสุญญากาศทางนโยบาย” คือ ไม่มีมาตรการควบคุมการใช้กัญชาในทางที่ผิดที่เพียงพอใด ๆ และต่อไปไทยอาจเป็น “ประเทศที่กัญชาเสรีที่สุดในโลก” ก็เป็นได้

เพราะแม้แต่ประเทศที่อนุญาตให้สูบกัญชาเพื่อความบันเทิงได้อย่างถูกกฎหมาย ยกตัวอย่างอุรุกวัย และแคนาดา ก็ยังมีมาตรการควบคุมเข้มข้น เช่น  รัฐผูกขาดการค้าส่งแต่เพียงผู้เดียว ห้ามปลูกเกินหกต้นสำหรับอุรุกวัย และห้ามปลูกเกินสี่ต้นสำหรับแคนาดา ห้ามพกพาต้นกัญชาที่มีช่อดอกเกินหนึ่งต้นไปในที่สาธารณะ 

ผลิตภัณฑ์กัญชาต้องบรรจุในบรรจุภัณฑ์ตามแบบที่กำหนดและต้องมีข้อความคำเตือน ห้ามโฆษณา ต้องจำหน่ายผลิตภัณฑ์กัญชาเฉพาะในร้านที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์กัญชาโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นร้านที่ห้ามเด็กและเยาวชนเข้าไป และมีมาตรการภาษีกัญชา เป็นต้น

4. ผลที่จะตามมาระยะสั้นและระยะยาว 

จะมีคนไทยปลูกกัญชาตามบ้านเรือนจำนวนมาก และไม่จำกัดจำนวน จะมีคนปลูกเชิงพาณิชย์จำนวนมาก เพราะไม่ต้องขออนุญาต จะมีช่อดอกกัญชาให้เด็ดจากหลังบ้าน หรือ นำดอกกัญชาไปให้กัน หรือแม้แต่ปีนเข้าไปขโมยดอกกัญชาในบ้านคนอื่นเพื่อนำมาสูบ

โดยเด็ก เยาวชน และผู้ใหญ่ จะมีการแอบนำกัญชาไปใส่อาหารและเครื่องดื่มขายโดยไม่บอก ทั้งในตลาดและในโรงเรียนจะมีการขายดอกกัญชากันมากมาย เพราะกระทรวงสาธารณสุขไม่สามารถควบคุมได้ตามที่กล่าวอ้าง ว่าจะใช้กฎระเบียบเกี่ยวกับยา อาหาร และสมุนไพรมาควบคุม กรณีผู้ขายได้ขายช่อดอกตรง ๆ โดยอ้างว่าไม่ได้ขายเป็นยา หรืออาหาร หรือสมุนไพร

และผลที่ตามมาระยะยาวจะเป็นดังเช่นในประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดา คือ มีการใช้และเสพติดกัญชามากขึ้นในกลุ่มเยาวชนและในผู้ใหญ่ มีอุบัติเหตุจากการเมากัญชาแล้วขับมากขึ้น หรือต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจากการใช้กัญชามากขึ้น เป็นต้น

5. ใครต้องรับผิดชอบกับผลกระทบเหล่านี้ 

หากเร่งรีบปลดกัญชาจากการเป็นยาเสพติด โดยไม่มีมาตรการควบคุมการใช้กัญชาในทางที่ผิดอย่างเพียงพอ หน่วยงานไหนจะผิดชอบ...สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือกระทรวงสาธารณสุข หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ฯลฯ