โรงไฟฟ้าขยะ กทม.ส่งกลิ่นเน่ากระทบคนกรุง โจทย์ข้อใหญ่รอ "ชัชชาติ"

โรงไฟฟ้าขยะ กทม.ส่งกลิ่นเน่ากระทบคนกรุง โจทย์ข้อใหญ่รอ "ชัชชาติ"

โรงไฟฟ้าขยะ กทม.ส่งกลิ่นเน่า กระทบความเดือดร้อนคนกรุงเทพฯ เปิดโจทย์ข้อใหญ่รอ "ชัชชาติ" ว่ามี่ผู้ว่าฯกทม. เข้ามาแก้ไข

"สิ่งที่ผมอยากเห็นคือกรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน" 

สโลแกนหลักจากนโยบายที่หาเสียงไว้ 214 ข้อของ "ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" ว่าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) คนที่ 17 กำลังได้รับแสงสปอร์ตไลท์จับจ้อง ภายหลังได้รับเลือกตั้งเป็น "ผู้ว่าฯ กทม." ด้วยคะแนนถล่มทลาย 1,386,215 เสียง

นโยบาย 214 ข้อของ "ชัชชาติ" นั้น ถูกแบ่งจัดหมวดเป็น "กรุงเทพฯ 9 ดี" หรือ นโยบาย 9 มิติ ประกอบด้วย ปลอดภัยดีสุขภาพดี สร้างสรรค์ดี สิ่งแวดล้อมดี บริหารจัดการดี เรียนดี โครงสร้างดี เศรษฐกิจดี และเดินทางดี

หากเจาะรายละเอียดไปที่นโยบาย "สิ่งแวดล้อมดี" ถูกจัดหมวด "เชื่อมโยง" กับนโยบาย "สุขภาพดี-บริหารจัดการดี-โครงสร้างดี-ปลอดภัยดี-เดินทางดี" โดยแยกย่อยอีกทั้งหมด 34 หัวข้อ อาทิ ตรวจสอบคุณภาพอากาศเชิงรุกในโรงงานสร้างต้นแบบการแยกขยะ ต่อยอดให้การแยกขยะระดับเขตสมบูรณ์ครบวงจร สภาพแวดล้อมเมืองดี จุดทิ้งขยะถูกสุขอนามัยไม่มีขยะตกค้าง หรือรถขยะไซส์เล็ก เข้าใจเมือง เข้าถึงบ้าน 

ปัญหาเรื่อง "สิ่งแวดล้อม" สอดคล้องกับข้อมูลการใช้ Social Listening โดย บริษัท เรียล สมาร์ท จำกัด รายงานข้อมูลผ่านโครงการ “ชีพจรเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. 65” พบว่า จากผลสำรวจเสียงสะท้อนจากบทสนทนาในโลกออนไลน์ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.-7 เม.ย.2565 ก่อนถึงวันเลือกตั้งเพียง 1 เดือน คนส่วนใหญ่ยังพูดถึงปัญหาที่อยากให้ "ผู้ว่าฯ กทม." แก้ไขมากถึง 185,398 ข้อความ โดยเฉพาะปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีเรื่องปัญหาขยะถูกพูดถึงเป็นอันดับต้นๆ 

โรงไฟฟ้าขยะ กทม.ส่งกลิ่นเน่ากระทบคนกรุง โจทย์ข้อใหญ่รอ \"ชัชชาติ\"

จากปัญหาขยะในกรุงเทพฯ ทำให้ที่ผ่านมาหน่วยงาน กทม.กำลังลดการฝังกลบขยะลงจาก 80% เหลือ 30% เนื่องจากปัจจุบันพื้นที่ฝังกลบหายาก และต้องการลดผลกระทบกับชุมชน โดย "ชาตรี วัฒนเขจร" รองปลัด กทม.ระบุถึงแนวทางกำจัดขยะโดยใช้เทคโนโลยีเตาเผาผลิตไฟฟ้า เพื่อกำจัดขยะให้หมดรวดเร็ว และมีไฟฟ้าเป็นเข้าระบบ ซึ่ง กทม.ได้นำร่องที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม กำจัดขยะได้ประมาณ 500 ตันต่อวัน ผลิตไฟฟ้าได้ 10 เมกะวัตต์ จากนั้นได้ขยายโครงการนำขยะผลิตไฟฟ้าที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช และสายไหม

ทว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมในกรุงเทพฯ ในเรื่องขยะส่งกลิ่นเหม็น กำลังเป็นปัญหาใกล้ตัวคนกรุง ขีดเส้นใต้ไปที่ปัญหา "ขยะ" ส่งกลิ่นเหม็นจากวัตถุดิบที่เป็นขยะชุมชน จากกระบวนการขนส่ง และจุดขนถ่ายวัตถุดิบ โดยเฉพาะรอบบริเวณศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช 86 เขตประเวศ

ล่าสุดเดือน เม.ย.2565 กรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) ได้สั่งหยุดประกอบกิจการโรงงาน กทม. 3 แห่งซึ่งดำเนินกิจการในพื้นที่เดียวกันรวม 20 ไร่ย่านอ่อนนุช ประกอบด้วย โรงงานเชื้อเพลิงแข็งจากขยะชุมชน โรงงานผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำหมักขยะมูลฝอย และโรงงานผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพ 

ปัญหาในพื้นที่นี้กระทบไปถึงชาวชุมชนประมาณ 35 หมู่บ้านในรัศมีกว่า 5 กิโลเมตรใกล้โรงไฟฟ้าขยะชุมชน ซึ่งที่ผ่านมาประชาชนในพื้นที่เคยร้องเรียนไปที่กรมควบคุมมลพิษ และสื่อมวลชน ถึงปัญหากลิ่นขยะเน่าเหม็นจากโรงงานกำจัดขยะมูลฝอยชุมชนที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2563 ถึงแม้ กทม.จะระบุว่า เป็นโรงงานขยะแบบปิด ใช้เทคโนโลยีจากเยอรมนี แต่กลับมีกลิ่นที่รุนแรงเกิดขึ้นตลอด 24 ชั่วโมง กระทบกับคุณภาพชีวิตผู้อยู่อาศัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็กและผู้สูงอายุ 

โรงไฟฟ้าขยะ กทม.ส่งกลิ่นเน่ากระทบคนกรุง โจทย์ข้อใหญ่รอ \"ชัชชาติ\"

สำหรับปัญหาขยะส่งกลิ่นเหม็นรอบบริเวณศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช 86 "ชัชชาติ" ได้ระบุไว้ช่วงหาเสียงว่า เป็นเรื่องที่ กทม.ต้องดูแลเร่งด่วนไม่ให้ประชาชนในชุมชนโดยรอบโรงงานกำจัดขยะ ได้รับผลกระทบด้านสุขภาพอนามัย และเกิดเป็นความขัดแย้งระหว่างชุมชนโดยรอบ 

นโยบายเรื่อง "ขยะ" ซึ่งบรรจุไว้ในนโยบาย "สิ่งแวดล้อมดี" นั้น "ชัชชาติ" มองว่า ขยะคือทรัพย์สินที่เมืองต้องหาแนวทางนำมากลับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและทำให้เกิดรายได้ โดยสามารถทำควบคู่กับการส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมจัดการขยะตั้งแต่ "ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ" หากทำได้คนกรุงเทพฯ จะได้ประโยชน์ 2 ระยะ

1.ระยะสั้น ทำให้สภาพแวดล้อมเมืองดีขึ้น การจัดเก็บขยะทำได้สะดวกรวดเร็วจากการแยกประเภท ลดผลกระทบต่อประชาชน ทั้งในด้านสุขอนามัยเรื่องกลิ่น และการจราจรติดขัด จากรถขยะเข้าจัดเก็บในชุมชน ซอยเล็ก และข้างถนน

2.ระยะยาว ทำให้งบประมาณจากภาษีประชาชนที่ใช้ในการจัดเก็บขยะและการจัดการปลายทางมีจำนวนเงินน้อยลงสามารถเปลี่ยนไปใช้พัฒนาคุณภาพชีวิตด้านอื่นของคนกรุงเทพฯ เช่น พัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ เพิ่มสวัสดิการการรักษาและเพิ่มทุนการศึกษาหรือจัดซื้ออุปกรณ์ทันสมัย

นอกจากนี้ในนโยบายย่อย "สิ่งแวดล้อมดี" ยังมีหัวข้อ "มุ่งเน้นแยกขยะต้นทางและขยะเปียกจากองค์กรแบบมุ่งเป้า" นำร่องการคัดแยกประเภทขยะอย่างจริงจังในหน่วยงานองค์กร ทั้งขยะอินทรีย์ ขยะเศษอาหาร หรือขยะรีไซเคิล โดยจะเริ่มจากหน่วยงานสังกัด กทม. สำนักงานเขต ศูนย์บริการสาธารณสุข และโรงเรียน และสถานที่หรือองค์กรที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจและผู้ใช้งานจำนวนมาก ตั้งแต่พื้นที่ตลาดภายใต้สำนักงานตลาด 

ขณะเดียวกัน กทม.จะร่วมมือกับพื้นที่เอกชน และห้างสรรพสินค้า คอมมิวนิตี้มอลล์ ศูนย์อาหาร โดยเฉพาะประเด็นการ "แยกขยะ" จะมีการพิจารณา "ลดค่าเก็บขยะ" หรือ "ยกเลิกการเก็บค่าขยะ" ด้วย

ทั้งหมดเป็นเป็นทั้ง "โจทย์หิน-โจทย์ใหญ่" ของ "ชัชชาติ"ต่อการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมด้าน กับเดิมพันคนภาพชีวิตคนกรุงเทพฯ ที่ได้รับผลกระทบต่อปัญหาขยะของ กทม.จะแก้ปัญหาให้หมดไปตามนโยบายที่หาเสียงไว้หรือไม่.

โรงไฟฟ้าขยะ กทม.ส่งกลิ่นเน่ากระทบคนกรุง โจทย์ข้อใหญ่รอ \"ชัชชาติ\"