ลุ่มน้ำปากพนัง เกิดความอุดมสมบูรณ์ ด้วยโครงการพระราชดำริ

ลุ่มน้ำปากพนัง เกิดความอุดมสมบูรณ์ ด้วยโครงการพระราชดำริ

สร้างความอุดมสมบูรณ์สู่ลุ่มน้ำปากพนัง ด้วยโครงการพระราชดำริ ดำเนินการในการพัฒนาแหล่งน้ำและพัฒนาอาชีพ

จากปัญหาภัยธรรมชาติ และความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติอันเนื่องจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างผิดวิธี ทำให้พื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังต้องเผชิญกับปัญหาอุทกภัย การขาดแคลนน้ำจืด รวมถึงการรุกตัวของน้ำทะเลที่เข้าไปในแม่น้ำปากพนังจนเกิดน้ำเค็มตามมา และเกิดปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำเค็ม น้ำเปรี้ยว  ส่งผลกระทบต่อวิถีการดำรงชีวิตของประชาชนในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงพระราชทานพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาถึง 13 ครั้ง เพื่อแก้ไขปัญหาให้ราษฎรสามารถประกอบอาชีพได้อย่างสมบูรณ์เฉกเช่นแต่ก่อน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้น้อมนำแนวพระราชดำริมาดำเนินการในการพัฒนาแหล่งน้ำและพัฒนาอาชีพ

โดยมีสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ทำหน้าที่เป็นแกนกลางในการประสานงาน พิจารณางบประมาณ เริ่มจากการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำใส ฝายคลองไม้เสียบ จนมาถึงโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยก่อสร้างประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิในการทำหน้าที่แบ่งแยกน้ำจืดน้ำเค็ม โดยปิดกั้นน้ำเค็มไม่ให้รุกเข้าไปในลำน้ำ และกักเก็บน้ำจืดไว้ใช้ในการดำรงชีพ

 

โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังฯ นอกจากจะทำหน้าที่ในการพัฒนาแหล่งน้ำแล้ว ยังดำเนินการด้านการพัฒนาอาชีพและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมควบคู่กันเพื่อให้เกิดความสมดุล โดยมีศูนย์อำนวยการและประสานการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทำหน้าที่บริหารงานนำแนวทางแบบอย่างของศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริมาใช้ในการบริหารราชการ รวมทั้งยังเป็นศูนย์สาขาของศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ซึ่งมีกรมชลประทานเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงาน ส่งเสริมอาชีพให้แก่ประชาชน ทั้งด้านประมง ปศุสัตว์ พืช และการพัฒนาดิน นอกจากนี้ยังส่งเสริมการแปรรูปโดยใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น การทำปลากระบอกร้า ซึ่งเป็นที่นิยมบริโภคด้วยรสชาติของเนื้อปลาที่มีความนุ่มเหนียวมีไขมันแทรก เนื่องจากเป็นปลาอาศัยอยู่ระหว่างน้ำจืดกับน้ำเค็ม 

นายสมพงศ์ เจตนารมย์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจแปรรูปปลากระบอกร้า และเป็นศูนย์เรียนรู้การแปรรูปกระบอกร้าปากพนัง เล่าว่า เป็นการนำภูมิปัญญามาแปรรูปปลากระบอกร้า หรือ ปลากระบอกเค็ม มาสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน จนจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปปลากระบอกร้าปากพนัง และเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับผู้สนใจทั่วไปในปัจจุบัน

ลุ่มน้ำปากพนัง เกิดความอุดมสมบูรณ์ ด้วยโครงการพระราชดำริ

“ปลาธรรมชาติที่นี่กินแพลงก์ตอนเป็นอาหาร ซึ่งอุดมสมบูรณ์ในปากน้ำแม่น้ำปากพนัง ก่อนออกสู่ทะเลอ่าวไทย จึงมีรสชาติอร่อย หวานมัน เหมาะแก่การนำมาแปรรูปเป็นปลากระบอกร้า โดยมีศูนย์อำนวยการและประสานการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังฯ มาให้คำแนะนำและเป็นพี่เลี้ยงซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงาน กปร. ในการส่งเสริมอาชีพ ส่วนผลผลิตที่ได้จะนำไปขายในตลาดร้อยปีปากพนัง และทางออนไลน์ ตั้งแต่ในหลวงรัชกาลที่ 9 มาสร้างประตูกั้นน้ำฯ ให้ รู้สึกภาคภูมิใจมาก ทำให้การประกอบอาชีพดีขึ้น และธรรมชาติมีความสมบูรณ์กลับมาพลิกฟื้นคืนเหมือนในอดีต และมีการต่อยอดจากในหลวงรัชกาลที่ 10 ที่ทรงสืบทอดโครงการจากในหลวงรัชกาลที่ 9 ก็ทำให้ชาวบ้านมีอาชีพที่มั่นคงและยั่งยืนขึ้น” นายสมพงศ์ เจตนารมย์ กล่าว

และนอกจากส่งเสริมการเลี้ยงปลาชนิดต่าง ๆ แล้วที่นี่ยังส่งเสริมการเลี้ยงปูขาว หรือ ปูเนื้อ เป็นที่นิยมบริโภคกันแต่มีราคาค่อนข้างสูงจึงได้นำปูขาวมาทดลองเลี้ยง และนำไปส่งเสริมให้ชาวบ้านผู้สนใจที่อยู่ในพื้นที่ชลประทานน้ำเค็มเลี้ยงเป็นอาชีพ 

นายณัฎฐชัย นาคเกษม เกษตรกรและสมาชิกแปลงใหญ่การเลี้ยงปูขาว เล่าว่า ศูนย์อำนวยการและประสานการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังฯ ได้ถ่ายทอดความรู้ในการการอนุบาลลูกปู การขุนปูเป็นปูไข่ และปูเนื้อ ซึ่งตนเลี้ยงในรูปแบบคอนโด นอกจากนี้ยังผลิตปุ๋ยอินทรีย์ และน้ำหมักเพื่อใช้เองในแปลงเพาะปลูก และบ่อเลี้ยงปู สามารถลดค่าใช้จ่ายในการดูแล ปูขาวเมื่อเลี้ยงครบ 4 เดือน ก็สามารถขายได้ โดยตัวผู้จะขายเป็นปูเนื้อในราคากิโลกรัมละ 500-600 บาท ต่อมาในปี 2561 ได้มีการรวมกลุ่มเป็นแปลงใหญ่ปูขาว ชีวิตดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก พร้อมกับกล่าวถึงความรู้สึกที่มีต่อในหลวงรัชกาลที่ 9 ว่า
“พระองค์ทรงเล็งเห็นว่าตรงนี้ขาดแคลนระบบน้ำ คำว่าขอบพระคุณคงน้อยไปสำหรับพระองค์ ท่านมีพระมหากรุณาธิคุณยิ่งใหญ่แก่พวกเรา และในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงมาสานต่อก็ถือว่าดีมาก ทำให้การประกอบอาชีพเดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง” นายณัฎฐชัย นาคเกษม กล่าว
  
ขณะที่ด้านพืชผลก็ได้รับประโยชน์เช่นกัน สามารถเพาะปลูกพืชได้อย่างหลากหลาย รวมถึงพืชที่เป็นเอกลักษณ์จำเพาะของพื้นที่อย่างส้มโอทับทิมสยาม 

นางอัมพร สวัสดิ์สุข หัวหน้าศูนย์เรียนรู้สวนส้มโอทับทิมสยาม ตำบลคลองน้อย เปิดเผยว่าในปี 2539 ได้มีโครงการไร่นาสวนผสมของในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานที่ดินทำกินคนละ 3 ไร่ ก็แบ่งทำนา และปลูกส้มโอทับทิมสยาม ซึ่งส้มโอที่นี่มีรสชาติหวานนุ่ม เนื้อสีแดงทับทิม ผิวผลนิ่มดั่งกำมะหยี่ เป็นที่ต้องการของตลาดมาก และมีที่เดียวในประเทศไทย

“ส้มโอทับทิมสยามได้รับการรับรองให้เป็นแหล่งปลูกพืช GAP ได้ใช้สัญลักษณ์ Q ในผลผลิต เป็นสินค้า OTOP ระดับ 5 ดาว และได้ขอขึ้นทะเบียนจดลิขสิทธิ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ในนามส้มโอทับทิมสยามปากพนัง เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการผลิตพืชที่มีลักษณะจำเพาะ ปัจจุบันมีคนเดินทางเข้ามาเรียนรู้ และนำพันธุ์ส้มโอไปปลูกในพื้นที่ของตนเองมากขึ้น” นางอัมพร สวัสดิ์สุข กล่าว

ทั้งปวงล้วนเป็นคุณอนันต์ที่ประชาชนชาวลุ่มน้ำปากพนังได้รับพระมหากรุณาธิคุณในครั้งนั้นอันนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรือง ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ พื้นที่ที่เคยเป็นอู่ข้าว อู่น้ำ ได้กลับคืนมาอีกครั้ง ท่ามกลางวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย หากแต่สิ่งที่พระราชทานไว้นั้นยังคงตราตรึงในหัวใจคนไทยตลอดกาล