เปิดแผนจัดลุ่มน้ำยม ป้องสุโขทัย เพิ่มน้ำใช้ให้ปชช.

เปิดแผนจัดลุ่มน้ำยม ป้องสุโขทัย เพิ่มน้ำใช้ให้ปชช.

กรมชลฯเปิดแผน เพิ่มประสิทธิภาพบริหารลุ่มน้ำยม ป้องสุโขทัย เพิ่มน้ำใช้ให้ประชาชน

โครงการเพิ่มศักยภาพลุ่มน้ำยม ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการกำลังเดินหน้าไปได้ด้วยดี ทั้งตอนบน ตอนกลางและตอนล่าง โดยเฉพาะการเพิ่มศักยภาพในการระบายน้ำป้องอุทกภัยในลุ่มน้ำยม ขณะเดียวกัน ได้มีการวางพื้นที่เป็นแก้มลิงในลุ่มน้ำยมตอนล่างเพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งได้อย่างน้อย  160  ล้านลบ.ม.    

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า โครงการปรับปรุงคลองยม-น่าน จังหวัดสุโขทัย  วงเงิน 2,875 ล้านบาทโครงการ 5  ปี( 2563-67)  ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณให้กรมชลฯดำเนินการปัจจุบันคืบหน้าไปมาก เป้าหมายเพื่อตัดยอดน้ำจากแม่น้ำยมสายหลักที่ไหลผ่านเมืองศรีสัชนาลัย ก่อนที่จะเข้าเมืองสุโขทัยออกไปยังลำน้ำสาขา  เนื่องแม่น้ำยมที่สถานี Y 4ที่ผ่านเมืองสุโขทัยระบายน้ำได้ไม่เกิน 550 ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)ต่อวินาที    ขณะที่ช่วงน้ำหลากมีปริมาณน้ำท่าสูงสุดถึง3,800 ลบ.ม.ต่อวินาที ทำให้กลายเป็นพื้นที่ท่วมซ้ำซาก  การเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำจะเป็นการป้องกันอุทกภัยในพื้นที่เศรษฐกิจสุโขทัยและพื้นที่ลุ่มต่ำริมสองฝั่งแม่น้ำยมตอนล่าง พิษณุโลก พิจิตร   สุโขทัย  ซึ่งในพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนล่างจะมีการทำแก้มลิงเพื่อเพิ่มน้ำต้นทุนในฤดูแล้งได้อีกประมาณ 160 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มพื้นที่ชลประทานประมาณ 100,000 ไร่  เกษตรกรได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 40,000 ครัวเรือน

ทั้งนี้ ลุ่มน้ำยมมีพื้นที่ลุ่มน้ำกว่า 23,600 ตารางกิโลเมตร ความยาวรวม 735 กิโลเมตร มีปริมาณฝนเฉลี่ยรายปี 1,143 มิลลิเมตร ปริมาณน้ำท่ารายปีเฉลี่ย 6,715 ล้านลบ.ม. โดยปริมาณน้ำสูงสุดอยู่ในช่วงเดือน ส.ค.-ต.ค.ของทุกปี  ทั้งนี้กรมชลประทานได้วางแนวทางการพัฒนาลุ่มน้ำยม ทั้งตอนบน ตอนกลาง และตอนล่างเพื่อให้สามารถช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ได้อย่างครอบคลุม    เนื่องจากในลุ่มน้ำไม่มีแหล่งน้ำขนาดใหญ่จำต้องมีการปรับปรุงระบบบริหารทั้งหมดให้ระบายน้ำได้และกักเก็บน้ำได้เช่นการสร้างอาคารบังคับน้ำในแม่น้ำยมเป็นช่วงๆแบบขั้นบันได เพื่อกักเก็บน้ำให้เกษตรกรได้ใช้ให้ได้มากที่สุด

“ในการลงพื้นที่ของพลเอก ประวิตร  วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี จังหวัดพิษณุโลก อุตรดิตถ์ และพิจิตร เมื่อวันที่ 4  เม.ย.2565 ที่ผ่านมา ได้ให้นโยบายกับกรมชลฯไว้ว่า ให้วางแผนการบริหารน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภคให้เพียงพอตลอดทั้งปี พร้อมประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัดสอดคล้องกับนโยบายของรัฐเพื่อสงวนน้ำสำหรับสนับสนุนทุกกิจกรรมของประชาชน  ทั้งนี้โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารน้ำลุ่มน้ำยม มีทั้งการขุดขยายคลอง ปรับปรุงประตูระบายน้ำ(ปตร.) ปรับปรุงฝาย   ซึ่งจุดที่มีนัยสำคัญของโครงการเช่น การปรับปรุงฝายแม่ยม  ให้มีความสูงเพิ่มขึ้น  1 เมตร ด้วยการเสริมฝายยาง การปรับปรุงคลองผันน้ำยม-น่าน จากเดิมสามารถระบายน้ำได้ 100 ลบ.ม./วินาที เป็น 300 ลบ.ม./วินาที และการเพิ่มประสิทธิภาพ  ปตร.หกบาทที่จากเดิมระบายน้ำได้ 250 ลบ.ม.ต่อวินาที เพิ่มเป็น 500  ลบ.ม.ต่อวินาที  เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดกรมจะเร่งรัดติดตามงานเพื่อให้เสร็จตามแผนงานโครงการ”

เปิดแผนจัดลุ่มน้ำยม ป้องสุโขทัย เพิ่มน้ำใช้ให้ปชช.

สำหรับโครงการลุ่มน้ำยมตอนบน มีแผนพัฒนาแหล่งน้ำ ด้วยการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จำนวน 22 โครงการ ความจุรวม 301 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้างจำนวน 4 โครงการ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยรู จ.พะเยา อ่างเก็บน้ำน้ำปี้ จ.พะเยา อ่างเก็บน้ำแม่คำมี จ.แพร่ อ่างเก็บน้ำแม่แคม จ.แพร่

ขณะที่ลุ่มน้ำยมตอนกลาง มีแผนการพัฒนาแหล่งน้ำ ด้วยการปรับปรุงลำน้ำที่ตื้นเขิน กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดกลางจำนวน 6 โครงการ ความจุรวม 37 ล้าน ลบ.ม. อาทิ อ่างเก็บน้ำห้วยไร่ จ.สุโขทัย อ่างเก็บน้ำแม่สำ จ.สุโขทัย

นอกจากนั้นลุ่มน้ำยมตอนล่าง กรมชลประทานได้วางแผนพัฒนาพื้นที่แก้มลิง 118 แห่ง ความจุรวม 160 ล้านลบ.ม. ก่อสร้าง ปตร.และฝายตามลำน้ำยม 6 แห่ง ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้าง 4 แห่ง ได้แก่ ปตร.ท่านางงาม จ.พิษณุโลก สามารถทดน้ำและกักเก็บน้ำได้ 7.6  ล้านลบ.ม.  ปตร.ท่าแห  ทดน้ำและกักเก็บน้ำได้12.6 ล้านลบ.ม. ปตร.วังจิก ทดน้ำและกักน้ำได้ 4 ล้านลบ.ม. และ ปตร.โพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร ทดน้ำและกักเก็บน้ำได้ 3.15 ล้านลบ.ม.