"ราคาน้ำมันดีเซล" แพง เรือประมงพาณิชย์แบกไม่ไหวหยุดหาปลา ทยอยจอดต่อเนื่อง

"ราคาน้ำมันดีเซล" พุ่งลิตรละ 32 บาท เรือประมงพาณิชย์แบกภาระไม่ไหวทยอยกลับฝั่งเข้าจอดต่อเนื่อง ลูกจ้างผวาตกงาน เชื่อกระทบเป็นลูกโซ่แน่

วันที่ 3 พฤษภาคม 2565 "เรือประมงพาณิชย์" ในจังหวัดตรังทยอยจอดต่อเนื่อง หลัง "ราคาน้ำมันดีเซล" พุ่งลิตรละ 32 บาท กระทบ "เรือประมง" จำนวนมากแบกภาระสู้ "ราคาน้ำมันแพง" ไม่ไหว ล่าสุดมีเรือจอดเทียบท่าแล้วกว่า 50% ขณะที่ "ลูกจ้าง" เป็นห่วงนายจ้าง-กลัวตกงานไม่มีรายได้ ทั้งนี้ยังกระทบเป็นลูกโซ่ แม่ค้าคนกลางรับซื้ออาหารทะเลส่งขายก็เดือดร้อนหนักเช่นกัน เนื่องจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น

 

 

ปัญหาราคาน้ำมันแพง ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อประชาชนในทุกกลุ่มอาชีพ โดยเฉพาะธุรกิจประมง และธุรกิจต่อเนื่องจากภาคการประมง ทำให้ได้รับความเดือดร้อนหนักหลัง "ราคาน้ำมันดีเซล" พุ่งลิตรละ 32 บาท ล่าสุดพบว่า "เรือประมง" ทยอยกลับเข้าฝั่งเพิ่มอย่างต่อเนื่อง เพราะสู้ราคาน้ำมันไม่ไหว ซึ่งเรือแต่ละลำในการออกเรือแต่ละครั้งต้องจ่ายค่าน้ำมันสูงนับแสนบาท ไม่นับรวมค่าจ้างแรงงานและค่าใช้จ่ายอื่นๆ

 

ที่แพปลายิมเซีย เขตเทศบาลเมืองกันตัง นายสุบิน เกตุรัตน์ เจ้าของเรือประมงพาณิชย์ ประเภทเรืออวนล้อมจับ กล่าวถึงปัญหา "ราคาน้ำมันแพง" ว่า ขณะนี้เรือประมงพาณิชย์ทุกลำเดือดร้อนหนักในการออกทะเลแต่ละครั้ง เพราะต้องใช้น้ำมันเยอะมาก ขณะที่ออกทะเลไปแล้วไม่รู้จะได้ปลากลับมาหรือไม่ หรือได้มาปริมาณเท่าไหร่ คุ้มค่ากับต้นทุนหรือไม่ ซึ่งเรื่องของกินเราหลีกได้ จะไม่กินก็ได้ แต่น้ำมันต้องใช้ มันหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

เมื่อรัฐบาลช่วยไม่ได้ ก็ไม่รู้จะต้องทำยังไงในเมื่อต้นทุนมาสูง โดยเรือของตนเองเป็นเรือประมงขนาดใหญ่อวนล้อมจับมีทั้งหมด 4 ลำ และมีเรือปั่นไฟ 13 ลำ แต่ละครั้งที่ออกเรือจะมีเรือใหญ่ 1 ลำ พร้อมเรือปั่นไฟ 3 ลำ ใช้น้ำมันไปแล้ว 25,000 ลิตร คิดเป็นเงิน 7 แสนกว่าบาท เฉพาะแค่ค่าน้ำมันยังไม่รวมค่าน้ำแข็ง ค่าเสบียงอาหาร และค่าคนงาน โดยลูกน้องต้องใช้ลำละไม่ต่ำกว่า 30 คน จะต้องจ่ายค่าจ้างก่อนออกเรือ ไม่เช่นนั้นลูกน้องก็ไม่ออกเรือ บางครั้งทราบว่าออกไปก็ขาดทุน แต่จำเป็นต้องออก เพราะถ้าไม่ออกก็ต้องจ่ายเงินคนงาน แต่ถ้าลองเสี่ยงออก อย่างน้อยจ่ายค่าจ้างคนงาน แต่ก็ได้กลับมาบ้าง ขาดทุนไม่มาก

 

 

นายสุบิน เกตุรัตน์ เจ้าของเรือประมงพาณิชย์ กล่าวต่ออีกว่า ทั้งนี้ในการออกเรือละชุดจะต้องมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้าน จึงจะพออยู่ได้ แต่ขณะนี้สถานการณ์สัตว์น้ำในทะเล ปลาก็หายากมากขึ้น โดยไม่ทราบสาเหตุ โดยเรือประมงพาณิชย์ใช้เครื่องมือทำประมงที่ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดทุกอย่าง

 

น้ำมันเขียวในทะเลแตกต่างจากน้ำมันบนฝั่งไม่เกินลิตรละ 1 บาทเท่านั้น ขณะนี้น้ำมันบนฝั่งราคาลิตร 32 บาท ทุกวันนี้แต่ละครั้งที่จะออกเรือพะวงว่าจะมีปลาเข้าฝั่งหรือไม่ จะมีเงินซื้อน้ำมันเติมต่อหรือไม่ จึงต้องประหยัดทุกวิธี และกำชับลูกน้องให้ขับเบาๆ เพื่อประหยัดน้ำมัน แต่ละเดือนต้นทุนสูงมาก รวมทั้งการบำรุงซ่อมแซม ต้องใช้ไม้ดีๆ เครื่องมือดีๆ ถึงจะอยู่ต่อได้

 

บางครั้งโดนกระแสคลื่นลมก็กระทบหนักก็ต้องเน้นใช้เครื่องมือดีๆ บางครั้งไม่ได้ออกเรือ แต่ลูกน้องก็ต้องกินต้องจ่ายต้องใช้เงินแล้ว ถ้าเรือประมงจอดก็ขาดทุน ต้องจ้างคนเฝ้าจ้างคนดูแล แต่ทั้งนี้ ของตนเองกลับเข้าจะฝั่งจะจอดอีก 1 ชุด ภาพรวมเรือจอดกันเป็นจำนวนมากประมาณ 50% ในส่วนของราคาสัตว์น้ำก็ไม่ค่อยจะดี พ่อค้าแม่ค้านำไปขายที่ตลาดสดก็ขายยาก เพราะประชาชนไม่มีกำลังซื้อ

 

ทางด้านลูกจ้าง และเป็นแม่ค้ารับซื้อปลาไปส่งขายที่จังหวัดปัตตานีด้วย เผยว่า รู้สึกเป็นห่วงนายจ้าง เพราะต้นทุนน้ำมันแพงมาก ออกเรือแต่ละครั้งต้องเสี่ยง หากได้ปลาน้อยก็ขาดทุน และหากเรือจอดพวกตนกลัวตกงานจะลำบาก เพราะครอบครัวทำอาชีพนี้กันทั้งนั้น และค่าครองชีพสูง ส่วนตัวรับปลาไปส่งขายที่จังหวัดปัตตานีเดือนละ 4-5 เที่ยว แต่ตอนนี้ก็จะกลายเป็นว่าไม่มีรายได้ที่จะนำปลาไปส่ง เพราะหากได้ปลาน้อยก็ไม่ไป

 

ซึ่งหากเรือจอดทั้งหมดในวันข้างหน้าคนจะตกงานกันเยอะ เพราะธุรกิจประมงเป็นหัวใจของคนอำเภอกันตัง คนงานที่มารับจ้างคัดไซส์ปลาก็มารับจ้างเป็นรายวัน หากเรือออกหาปลามาได้ก็ทำให้เรามีรายได้ แต่หากเรือไม่ได้ออกแล้วก็ไม่มีรายได้เลย ก็คงต้องอาศัยกันประหยัดกันต่อไป ถ้าราคาน้ำมันไม่มีการปรับขึ้นของทุกอย่าง