เมื่อ"กัญชา"ถูกปลดล็อคเต็มร้อย รัฐมีมาตรการดูแลผลกระทบเชิงลบหรือยัง

เมื่อ"กัญชา"ถูกปลดล็อคเต็มร้อย รัฐมีมาตรการดูแลผลกระทบเชิงลบหรือยัง

หลังปลดล็อค"กัญชา"มีผลบังคับใช้ ทุกกลุ่มจะเข้าถึงกัญชาง่ายขึ้น แล้วมาตรการป้องกันไม่ให้มีการใช้เพื่อสันทนาการจะทำได้แค่ไหน มีหน่วยงานเฉพาะดูแลเรื่องนี้หรือยัง

หลังจากกระทรวงสาธารณสุข ประกาศปลดล็อคกัญชา และเมื่อใดที่มีผลบังคับใช้ นอกจากแง่ดี ยังมีแง่ที่เป็นโทษด้วย

ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) เชิญผู้รู้หลายฝ่ายมาร่วมแสดงความคิดเห็น ส่วนใหญ่มองว่า ถ้าการปลดล็อคกัญชามีผลบังคับใช้ หลายฝ่ายเสนอว่า ควรมีระบบตรวจสอบ ติดตามผลกระทบหลังการใช้ 

และควรตั้งกองทุนดึงเงินนายทุนสายเขียวเข้าสมทบ แก้ปัญหาผลกระทบจากกัญชาระยะยาว ตามโมเดลกองทุนเหล้า บุหรี่

 

“ในกัญชาจะมีสาร THC ที่มีฤทธิ์มึนเมาทำให้เกิดการเสพติดได้ หากมีการใช้เป็นระยะเวลานานก็จะเพิ่มโอกาสมีอาการของโรคจิต เพิ่มโอกาสมีภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล และลดความสามารถของสมองในการรู้คิด ลดความฉลาดทางสติปัญญา (IQ) ลง

ยิ่งใช้ประจำก็ยิ่งมีโอกาสมากขึ้น โดยเฉพาะคนอายุน้อย วัยรุ่นจะเห็นผลลบ หรือผลร้ายชัดเจนมากกว่าผู้ใหญ่” ผศ.นพ.ธีรยุทธ รุ่งนิรันดร ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในงานเสวนาวิชาการ เรื่อง “ทางป้องกันเมื่อกัญชาอาจมีผลทางจิต
 

กลุ่มไหนที่ไม่ควรใช้กัญชา

เนื่องจากสมองของวัยรุ่นยังไม่โตเต็มที่จึงเปราะบางต่อสารเสพติด ดังนั้นผู้กำหนดนโยบายควรพูดให้ชัดเจนว่ากลุ่มประชากรกลุ่มไหนที่ไม่ควรใช้กัญชา ยกตัวอย่างกลุ่มคนที่มีโรคทางจิต ผู้ป่วย หญิงตั้งครรภ์ กลุ่มเปราะบางทั้งหลาย เป็นต้น 
ด้าน นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์  อดีตนายกสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย กลาวว่า ถ้าประเทศไทยเปลี่ยนนโยบายแบบสุดขั้ว จากพืชกัญชา ยาเสพติดมาเป็นพืชที่ถูกกฎหมาย ต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นและมีวิธีการป้องกันที่เพียงพอ เช่น กรณีที่ระบุว่าไม่สนับสนุนให้ใช้เพื่อสันทนาการ จึงต้องถามต่อว่า เมื่อเข้าถึงง่ายเช่นนี้ แล้วมีมาตรการป้องกัน ไม่ให้มีการใช้เพื่อสันทนาการอย่างไร 
“ตอนนี้พูดถึงเรื่องทางเทคนิคเกินไปว่า THC ต้องไม่เกิน 0.2% หรืออื่นๆ แต่ในทางปฏิบัติการใช้สารเสพติดมีกระบวนการทางสังคมอีกเยอะ ยกตัวอย่างประเทศแคนาดาที่จับตามห่วงโซ่ เช่น โฆษณา ปลูก โยกย้ายเสี่ยงนำไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม ดังนั้นเราต้องวิเคราะห์ปัญหาให้แตก และทำกฎหมายให้ครอบคลุม”

มีหน่วยงานเฉพาะดูแลเรื่องกัญชาหรือยัง

นอกจากนี้ คุณหมอยงยุทธยังมองว่า ควรมีการตั้งกองทุนลดผลกระทบจากกัญชา อยู่ภายใต้พ.ร.บ.กัญชา กัญชง โดยเอาเงินจากผู้ที่ได้รับกำไรจากกัญชามาใส่กองทุน มีการบริหารกองทุนที่มีธรรมาภิบาล โปร่งใส ไม่เช่นนั้นก็จะมีแต่คนได้กำไรจากกัญชา

แต่ไม่มีใครรับผิดชอบผลกระทบที่เกิดขึ้น แล้วมาเบียดบังงบประมาณปกติมาใช้ก็ไม่แฟร์ เช่นเดียวกับกองทุน สสส.ที่ดูแลเรื่องเหล้า บุหรี่อยู่ ขณะที่กัญชาเองก็มีผลกระทบเช่นเดียวกัน ต่อไปหากขับรถเกิดอุบัติเหตุ อาจจะต้องมีการตรวจกัญชาในเลือดด้วย เป็นต้น  
ขณะที่ ผศ.ดร.ธานี วรภัทร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงมาตรการทางกฎหมายในการพัฒนาผลิตภัณฑ์กัญชาเพื่อการบริโภคอย่างปลอดภัย ว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เป็นการปลดล็อกกัญชาจากการเป็นยาเสพติด

ซึ่งจะมีผลบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา 120 วัน จากนี้จะทำให้มีผลิตภัณฑ์จากกัญชาออกมาจำนวนมาก 
“ปัจจุบันมีคนมาขอขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์จากกัญชามากขึ้น จึงต้องเตรียมพร้อมรองรับ โดยมีหน่วยงานเฉพาะกัญชา แต่อยู่ภายใต้การกำกับของอย. ซึ่งหน่วยงานดังกล่าวจะไม่ทำแค่การออกใบอนุญาตอย่างเดียว

แต่ต้องมีกระบวนการเฝ้าระวัง และติดตามผลภายหลังการบริโภค รับเรื่องร้องเรียนต่างๆ เช่นเดียวกับหลายๆ ประเทศมีการอนุญาตให้ใช้กัญชาจะมีหน่วยงานติดตามย้อนกลับด้วย ในส่วนของไทยยังต้องดูว่าร่างพ.ร.บ. กัญชา กัญชง พ.ศ...ที่เสนอต่อรัฐสภานั้น กำหนดเรื่องนี้ไว้หรือไม่”.