สายฉอดต้องรู้! แค่ไหนเข้าข่าย "หมิ่นประมาท"

สายฉอดต้องรู้! แค่ไหนเข้าข่าย "หมิ่นประมาท"

อ่านระหว่างบรรทัดกฎหมายหมิ่นประมาท ที่ชาวโซเชียล สายโพสต์ สายคอมเมนต์ ไม่ควรมองข้าม เผลอโพสต์ออกไประวังจะมีความผิดตามกฎหมาย

ในยุคโซเชียลแทบเรียกได้ว่าเป็นช่องทางหลักของการสื่อสาร ทุกคนมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็นผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ในพื้นที่ของตนเองและพื้นที่ของบุคคลอื่น แต่รู้หรือไม่ว่าบางถ้อยคำที่เราพิมพ์ทั้งโพสต์ หรือคอมเมนต์ไปโดยที่อาจจะพิมพ์ขำๆ สนุกๆ พูดลอยๆ อาจจะนำมาซึ่งสิ่งที่เรียกว่า “หมิ่นประมาท” แบบไม่รู้ตัว

สิ่งที่ต้องคำนึงตลอดเวลาในการแสดงความคิดเห็นคือ แม้เราจะมีสิทธิในการพูด ก็ต้องไม่พูด เขียน หรือโพสต์สิ่งที่จะทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ได้รับผลกระทบ หรือทำให้ผู้อื่นได้รับการเกลียดชังจากคนอื่นๆ เพราะสิ่งเหล่านั้นอาจจะเข้าข่ายผิด “กฎหมายหมิ่นประมาท” ผู้อื่นอีกด้วย

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนทำความรู้จักกับกฎหมายที่เกี่ยวกับการหมิ่นประมาทให้มากขึ้น

  • กฎหมายหมิ่นประมาท มีกี่รูปแบบ?

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐาน หมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อธิบายเพิ่มเติมสำหรับ มาตรา 326 จากตัวบทกฎหมาย จะมี 3 ตัวละคร ประกอบด้วย

1. ผู้ใด = ผู้กระทำ

หมายถึง บุคคลซึ่งเป็นคนส่งข้อมูลไปยังบุคคลที่สาม ซึ่งจะเป็นบุคคลหรือนิติบุคคลก็ได้ 

2. ผู้อื่น = ผู้เสียหาย

หมายถึง ผู้ถูกกล่าวถึงในการส่งข้อมูล หรือถูกใส่ความจากผู้กระทำ โดยในการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทครั้งหนึ่งนั้น อาจจะมีคนเดียวหรือหลายคนก็ได้

3. บุคคลที่สาม

หมายถึง บุคคลที่ได้เป็นผู้ได้รับข้อมูลที่เป็นการใส่ความจากผู้กระทำ ซึ่งบุคคลที่สามนี้ จะต้องไม่ใช่ผู้เสียหายหรือผู้กระทำเสียเอง

อีกหนึ่งมาตราคือ มาตรา 327 ผู้ใดใส่ความผู้ตายต่อบุคคลที่สาม และการใส่ความนั้นน่าจะเป็นเหตุให้บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้ตายเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษดังบัญญัติไว้ในมาตรา 326 นั้น

อธิบายเพิ่มเติมสำหรับ มาตรา 327 ความผิดฐานหมิ่นประมาทนี้จะต้องเกิดขึ้นหลังจากผู้ถูกใส่ความถึงแก่ความตายไปแล้ว ซึ่งปกติแล้ว คนที่ตายย่อมไม่มีการเสียชื่อเสียง เพราะว่าสิ้นสภาพบุคคลไปแล้ว ดังนั้นผู้ตายจึงไม่มีสภาพบุคคลและไม่ถือว่าเป็นผู้เสียหาย 

แต่ถ้าหากการว่ากล่าวผู้ตายนั้น ได้ส่งผลกระทบต่อบิดามารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้ตาย เช่น A พูดกับ B ว่า C ไม่คืนเงิน โกงเงิน A ไป แต่ C เสียชีวิตไปแล้ว ทำให้ครอบครัวของ C โดนมองจากคนอื่นว่าเป็นคนขี้โกง ได้รับการเกลียดชัง ดูหมิ่น ก็เข้าข่าย มาตรา 327 ได้ 

  • หมิ่นประมาทข้อไหนที่ชาวโซเชียลสุ่มเสี่ยงที่สุด?

มาตรา 328 ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท

ตัวบทกฎหมายในมาตรา 328 หมายถึงกรณีที่ผู้กระทำมีเจตนาจะส่งข้อมูลให้บุคคลจำนวนมาก ด้วยวิธีการต่างๆ ที่ทำให้บุคคลอื่นสามารถพบเห็นข้อความได้ในวงกว้าง ค่อนข้างครอบคลุมทุกพื้นที่สื่อ ไม่ว่าเพลง รูปภาพ งานภาพวาด ภาพยนตร์ งานศิลปะ การปราศรัย โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ วิทยุ แปะป้ายประกาศ ทำคลิปวิดีโอลงยูทูบ พอดแคสต์ รวมไปถึงการโพสต์เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ ฯลฯ

นอกจากนี้ หากมีเจตนาโพสต์ข้อความว่าร้ายผู้อื่นในสื่อออนไลน์ประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกรณีการเขียนคอมเมนต์ การเขียนข้อความใดๆ เพื่อว่าร้ายผู้อื่น นับเป็นการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท

สายฉอดต้องรู้! แค่ไหนเข้าข่าย \"หมิ่นประมาท\"

  • คอมเมนต์โดยสุจริตแต่อีกฝ่ายไม่พอใจ หมิ่นประมาทไหม?

บ่อยครั้ง เรามักจะเห็นคอมเมนต์ที่หลากหลาย มีทั้งที่ดีและไม่ดี มีทั้งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ แต่บ่อยครั้งก็มีการคอมเมนต์ ที่ติชมด้วยความสุจริตใจ แต่ก็ทำให้อีกฝั่งไม่พอใจ จนเกิดการฟ้องร้องหมิ่นประมาทกันในที่สุด หากเป็นในกรณีนี้ก็มีกฎหมายอาญาคุ้มครองเช่นกัน คือ

มาตรา 329 ผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต

(1) เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม

(2) ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่

(3) ติชม ด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ หรือ

(4) ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลหรือในการประชุม

ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

 

มาตรา 330 ในกรณีหมิ่นประมาท ถ้าผู้ถูกหาว่ากระทำความผิดพิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ห้ามไม่ให้พิสูจน์ ถ้าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว และการพิสูจน์จะไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน

 

  • คำด่า คำหยาบ นับเป็นหมิ่นประมาทไหม?

คำที่หมิ่นประมาทนั้น ไม่จำเป็นต้องใช้คำที่ก้าวร้าวหยาบคาย แม้เป็นคำพูดสุภาพก็อาจจะเป็นหมิ่นประมาทได้ เช่น มาสายเป็นประจำ, รับเงินเขามาแล้วไม่ทำงาน, ผ่านผู้ชายมาหลายคน, ขี้โกง

เช่นเดียวกัน ถ้าเป็นข้อความที่รุนแรงขึ้น เป็นคำหยาบคายก็อาจจะไม่เป็นการหมิ่นประมาทแต่เป็นแค่เพียงดูหมิ่นก็ได้ เช่น ไอ้เหี้* ไอ้สั** ไอ้ชาติห** อีเว* อีคว**

 

  • ไม่ระบุชื่อ ไม่ได้บอกว่าใคร ก็อาจหมิ่นประมาท?

สิ่งที่สำคัญของ คดีหมิ่นประมาท คือ ต้องเป็นการใส่ความผู้อื่นโดยยืนยันข้อเท็จจริง ทำให้บุคคลทั่วไปที่อ่านข้อความรู้ได้แน่นอนว่าเป็นใคร หรือหมายถึงใครโดยเฉพาะเจาะจง แต่หากไม่มีการระบุชื่อ แต่บริบทสามารถบ่งบอกได้ว่าคือใคร สามารถฟ้องได้ แต่ต้องไปพิสูจน์ในชั้นศาลว่า ข้อความ หรือการพูดดังกล่าวพูดถึงใคร หรือในกรณีที่โพสต์ข้อความ แต่อ่านแล้วไม่รู้ว่าเป็นใคร ต้องไปสืบหาเพิ่มเองถึงรู้ อาจไม่นับว่าเป็นการหมิ่นประมาท

 

  • ความผิดหมิ่นประมาท สามารถยอมความได้ไหม?

สมมติว่า A ฟ้อง B หลังจากที่ทนายความของ A ได้ยื่นฟ้องต่อศาล และศาลได้รับฟ้องแล้ว A คิดได้ว่าไม่ต้องการเสียเวลา และค่าใช้จ่ายในการฟ้อง หรือดำเนินคดีต่อไป จึงขอถอนฟ้องจากศาล

ตามมาตรา 333 ความผิดในหมวดนี้เป็นความผิดอันยอมความได้ ถ้าผู้เสียหายในความผิดฐานหมิ่นประมาทตายเสียก่อนร้องทุกข์ ให้บิดามารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้เสียหายร้องทุกข์ได้ และให้ถือว่าเป็นผู้เสียหาย

กล่าวคือ คดีที่ยอมความได้เป็นคดีผู้เสียหายแต่เพียงผู้เดียวจะริเริ่มดำเนินคดีได้ บุคคลอื่น หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่รัฐก็จะริเริ่มดำเนินคดีแทนผู้เสียหายไม่ได้ หากเริ่มดำเนินคดีไปแล้ว ผู้เสียหายก็สามารถยุติกระบวนการดำเนินคดีเมื่อใดก็ได้ ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา

สิ่งสำคัญคือ คดีที่จะยอมความได้กฎหมายต้องระบุไว้ชัดเจน หากไม่ได้ระบุ แสดงว่าคดีนั้นยอมความไม่ได้ เมื่อ A ที่อยู่ในฐานะของผู้เสียหายและโจทก์ดำเนินคดี และต้องการถอนฟ้องก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาก็สามารถทำได้

ในกรณีที่ผู้เสียหายที่เป็นโจทก์เสียชีวิตก่อน บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตร สามารถกระทำตามกระบวนการทางกฎหมายได้

 

  • ถ้าศาลตัดสินให้ผู้ถูกกล่าวหาพ้นผิด สามารถฟ้องกลับได้หรือไม่?

กรณีนี้ ผู้ถูกกล่าวหาที่ศาลพิพากษาให้พ้นผิดแล้ว จะสามารถดำเนินการฟ้องกลับได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะ 5 ละเมิด มาตรา 420 ซึ่งระบุไว้ว่า

มาตรา 420 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

สมมติว่า A ฟ้องหมิ่นประมาท B จากข้อความที่ B โพสต์ผ่านทวิตเตอร์ว่า “แอคนั้นเลิกไล่ฟ้องคนอื่น เพราะแปลข่าวไม่หมดสักทีได้มั้ย” แต่ศาลยกฟ้องโดยให้เหตุผลว่า สิ่งที่ B โพสต์นั้นเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ทำให้ B เสียเงิน และเสียเวลาทำงานเพราะต้องมาขึ้นศาล B จึงอยากฟ้องค่าเสียเวลาจาก A ก็สามารถทำได้ โดยประเมินจากค่าจ้างรายวัน หรือค่าน้ำมัน ค่ารถระหว่างที่ต้องมาศาลก็ได้

 

อ้างอิง:

https://bit.ly/37PkAjt

https://bit.ly/3vipTB4

https://srisunglaw.com/หมิ่นประมาท-ต่อสู้-คดีหมิ่นประมาท/

https://www.blockdit.com/posts/5ce7f8464d137c1ec3659192

https://www.blockdit.com/posts/5e92bef4a36e2e0cbb5188fd

https://www.prachachat.net/general/news-721225