ไหว้เจ้าแม่กวนอิม แขวนโคมขอพรวันเที่ยวรับตรุษจีน วิหารอี่ทงเทียนไท้

ไหว้เจ้าแม่กวนอิม แขวนโคมขอพรวันเที่ยวรับตรุษจีน วิหารอี่ทงเทียนไท้

ไหว้เจ้าแม่กวนอิม วิหารอี่ทงเทียนไท้ กบินทร์บุรี วิหารองค์พระโพธิสัตว์กวนอิมหยกขาว สร้างจากพลังความศรัทธาและดำริของ บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ เปิดสถาปัตยกรรมและสัญลักษณ์ความศักดิ์สิทธิ์ ของไหว้ วิธีขอพรเจ้าแม่กวนอิม

ตรุษจีน ปี 2567 หรือวันขึ้นปีใหม่ตามปีปฏิทินจีนปีนี้ตรงกับ วันเสาร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ เป็น วันเที่ยว หรือที่ภาษาจีนเรียกว่า “วันชิวอิก” เป็นวันที่ 1 เดือน 1 ตามปฏิทินจีน เป็นวันแรกของฤดูใบไม้ผลิ 

โดยก่อนหน้านี้ วันที่ 8 ก.พ. เป็น “วันจ่าย” คือไปซื้อของมาเตรียมไหว้ทั้งของคาวหวานและผลไม้ โดยจะเลือกของกินที่มีความเป็นมงคล ของกินสำหรับการทำเมนูโปรดของบรรพบุรุษที่ล่วงลับ และวันที่ 9 ก.พ. เป็น “วันไหว้” ไหว้บรรพบุรุษในช่วงกลางวัน เพื่อแสดงถึงความกตัญญู และช่วงกลางคืนไหว้เทพเจ้าไฉ่ซิงเอี้ย เพื่อขอพรให้ชีวิตรุ่งเรือง 

เมื่อถึง “วันเที่ยว” หรือวันขึ้นปีใหม่จีน นอกจากเดินทางไปเยี่ยมญาติผู้ใหญ่และขอพรด้วยการนำ ส้ม 4 ผล ไปอวยพรและรับซองอั่งเปาจากญาติผู้ใหญ่แล้ว 

ยังเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของชาวไทยเชื้อสายจีนที่มักจะนิยมเดินทางไป สักการะ ขอพร พระหรือเทพเจ้าตามวัดหรือศาลเจ้า เพื่อให้ชีวิตเจริญรุ่งเรืองรับ ตรุษจีน วันปีใหม่ของชาวจีน 

เจ้าแม่กวนอิมหยกขาว วิหารอี่ทงเทียนไท้

เจ้าแม่กวนอิม เป็นหนึ่งในเทพเจ้าที่เป็นที่เคารพนับถือของคนไทย คนจีน และคนไทยเชื้อสายจีน เป็นพระโพธิสัตว์ตามคติความเชื่อของพุทธศาสนานิกายมหายาน เป็นองค์เดียวกันกับพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์

องค์พระโพธิสัตว์กวนอิม มีต้นกำเนิดมาจากพระสูตรมหายานในอินเดีย ตำนานความเชื่อของชาวจีนเชื่อกันว่า พระโพธิสัตว์กวนอิม เดิมเป็นเทพธิดาที่ต้องการช่วยปลดเปลื้องทุกข์ภัยแก่มวลมนุษย์ในชาติสุดท้าย จึงจุติลงมายังโลกมนุษย์ในนามของ เจ้าหญิงเมี่ยวซ่าน ทรงเป็นพุทธมามกะที่รู้แจ้งในหลักธรรมอย่างลึกซึ้ง 

ต่อมามีความขัดแย้งกับพระบิดาจนถึงกับถูกสั่งประหารชีวิต แต่มีเทวดามาช่วยไว้ และเจ้าหญิงเมี่ยวซ่านได้บำเพ็ญเพียรจนบรรลุมรรคผลสำเร็จธรรมในที่สุด

วิหารอี่ทงเทียนไท้

วิหารอี่ทงเทียนไท้ กบินทร์บุรี

วิหารอี่ทงเทียนไท้ เป็นที่ประดิษฐานองค์พระโพธิสัตว์กวนอิมหยกขาว หรือ เจ้าแม่กวนอิม ซึ่งทำจาก “หยกขาว” วิหารแห่งนี้เกิดขึ้นจากพลังแห่งความศรัทธา ความเสียสละ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เวลาอันยาวนานในการสั่งสมทรัพย์ทางโลกและทางธรรม การทำงานอันไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยและเต็มเปี่ยมด้วยความเชื่อว่าจะทำได้สำเร็จของ บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์

เพื่อให้สังคมและชุมชนได้มีศูนย์รวมจิตใจ เป็นที่พึ่งพาทางใจในวันที่ชีวิตประสบความทุกข์ และเป็นที่เผื่อแผ่เอื้อเฟื้อเมื่อชีวิตมีความสุขล้นมากพอที่จะแบ่งปันให้กับผู้อื่นรอบกาย

ตัววิหารเริ่มงานก่อสร้างเมื่อปีพ.ศ.2558 ถือฤกษ์ทำพิธีเสาเข็มต้นแรกวันที่ 14 ก.ค. และได้ดำเนินการก่อสร้างเรื่อยมา

กระทั่งสร้างสำเร็จประกอบพิธีสมโภชใหญ่วิหารตามหลักศาสนา เปิดมณฑลพิธี อัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พิธีไหว้เทพ 24 ธรรมบาล พิธีเบิกเนตร พิธีบูชาดาวอายุวัฒนชันษา พิธีถวายข้าวพระพุทธและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พิธีทิ้งกระจาดแจกทาน โดยคณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย ครบถ้วนเป็นเวลา 2 วันคือ 24-25 ธ.ค.2566

วิหารอี่ทงเทียนไท้ สัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ในงานสถาปัตยกรรม

จุดเริ่มต้นในการออกแบบวิหารให้เหมาะสมกับการเป็นสถานที่ประดิษฐาน องค์พระโพธิสัตว์กวนอิมหยกขาว ได้รับแรงบันดาลใจเชิงสถาปัตยกรรมจาก “หอบูชาฟ้าเทียนถัน” ในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ที่มีการวางผังอาคารแบบวงกลมและมีการซ้อนชั้นหลังคา 3 ชั้น

ไหว้เจ้าแม่กวนอิม แขวนโคมขอพรวันเที่ยวรับตรุษจีน วิหารอี่ทงเทียนไท้ ภาพเปรียบเทียบอัตราส่วน 'หอบูชาฟ้าเทียนถัน' ในกรุงปักกิ่ง กับวิหารอี่ทงเทียนไท้

ท่านประธานบุณยสิทธิ์ ได้ให้แนวทางกับนักออกแบบโดยขอให้อาคารวิหาร “อี่ทงเทียนไท้” มีสัดส่วนใกล้เคียงราว 1 ใน 2 ส่วนของหอบูชาฟ้าเทียนถัน

ขณะที่อาณาบริเวณรอบวิหารอี่ทงเทียนไท้ ขอให้มีสัดส่วนใกล้เคียงราว 1 ใน 4 ของอาณาบริเวณของหอบูชาฟ้าเทียนถัน

การวางผังวิหารแบบวงกลม เป็นผลมาจากอิทธิพลการวางผังของ “คติภูมิจักรวาล” โดยมีวิหารเป็นดังเขาพระสุเมรุ เมื่อมองจากภายในวิหารจะเห็นเสาทั้งหมดจำนวน 24 ต้นรายล้อม โดยเป็นเสาชั้นในและชั้นนอก ชั้นละ 12 ต้น มีนัยหมายถึงปีนักษัตรทั้ง 12 ราศี

ผนังและคานภายนอก ตกแต่งด้วยภาพเขียนสีจิตรกรรมแบบจีน ประกอบด้วยสัญลักษณ์มงคล อาทิ ลายเมฆ ดอกบัว และมังกร

ภายในโถงประธานของวิหารพระโพธิสัตว์กวนอิม อี่ทงเทียนไท้

ภายในโถงประธานของวิหารพระโพธิสัตว์กวนอิม อี่ทงเทียนไท้ ประดับจิตรกรรมฝาผนังเป็นเรื่องราว 11 ตำนานจากหลายสิบตำนานของพระโพธิสัตว์กวนอิม

บนฝ้าเพดานเป็นรูปเขียน “มันดาลา” สัญลักษณ์แห่งมณฑลศักดิ์สิทธิ์แห่งการตรัสรู้ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตามคติพุทธวัชรยาน

ราวกันตกระเบียงของวิหารอี่ทงเทียนไท้

ปูนปั้นลวดลายมังกรขนาบอักษรมงคลจีน
 

อีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญของวิหารแห่งนี้คือ ราวกันตกระเบียง มีความหมายเชิงสัญลักษณ์แห่งความศักดิ์สิทธิ์ โดยราวระเบียงกันตกทั้ง 3 ชั้น ได้รับการออกแบบให้เหมือน “วงกระเพื่อมของน้ำ” เปรียบได้กับภูมิจักรวาลในไตรภูมิกถา มีทางเข้าออกเชื่อมกันในแต่ละชั้น ชั้นละ 4 ด้าน เช่นเดียวกับหลักปฏิบัติ 4 ประการใน พรหมวิหาร 4 คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

“แผงราวกันตกระเบียง” ทั้งสามชั้นประดับปูนปั้นลวดลายมังกรขนาบ 2 ข้าง ตรงกลางเป็นอักษรภาษาจีนความหมายมงคล แต่ละชั้นมีตัวอักษรต่างกัน อักษรของราวระเบียงชั้นล่างสุดหมายถึง “ความบริสุทธิ์” อักษรของราวระเบียงชั้นที่สองหมายถึง “ความเจริญ” และอักษรชั้นบนสุดหมายถึง “ความสุข”

ปูนปั้นลวดลายมังกรขนาบอักษรมงคลจีน สัญลักษณ์แสดงถึงผู้ปกป้องคุณงามความดี เป็นมงคลยิ่งแก่ผู้มาสักการะ

กระเบื้องหลังคาโซลาร์เซลล์ทรงกาบกล้วย วิหารอี่ทงเทียนไท้

หลังคาวิหารแห่งนี้ นอกจากกระเบื้องหลังคาเซรามิกที่ผลิตโดยผู้เชี่ยวชาญด้วยนวัตกรรมการผลิตร่วมสมัยและส่วนผสมนำเข้าจากเยอรมนี เพื่อให้ได้เซรามิกเนื้อเนียน ทนทาน สีชัดเจน และสวยได้นานหลายสิบปี

หลังคาอีกส่วนสั่งผลิตพิเศษ เป็น กระเบื้องหลังคาโซลาร์เซลล์ทรงกาบกล้วย เลียนแบบกระเบื้องหลังคาจีน วัสดุปิดผิวเป็นกระจกเทมเปอร์ ด้านในเป็นโซลาร์เซลล์ชนิดฟิล์มบาง เทคโนโลยีใหม่ที่ทำให้ได้รูปทรงของโซลาร์เซลล์แผ่นแบน

วิหารพระโพธิสัตว์กวนอิม อี่ทงเทียนไท้ เป็นวิหารแรกที่นำกระเบื้องโซลาร์เซลล์ชนิดฟิล์มบางมาใช้เป็นวัสดุมุงหลังคาหลัก โดยใช้เป็นจำนวน 2,782 แผ่น ผลิตและเก็บไฟฟ้าไว้ในแบตเตอรี่ที่ห้องควบคุมใต้ดิน ใช้เป็นพลังงานสำหรับไฟฟ้าแสงสว่างบนยอดหลังคาและผืนหลังคายามค่ำ

องค์ประกอบต่างๆ ของวิหารพระโพธิสัตว์กวนอิมหยกขาวแห่งนี้ ล้วนผ่านกระบวนการคิดและวางแผนอย่างถี่ถ้วน เพื่อแฝงความหมายลึกซึ้งไว้ให้ผู้มาสักการะได้สัมผัสถึง

ไม่ว่าจะเป็นสัญลักษณ์เชิงภูมิจักรวาล องค์ประกอบและ “สัญญะของทิเบต” ที่เป็นส่วนผสมของพุทธวัชรยาน และ พุทธมหายาน รวมทั้งสัญลักษณ์สิ่งมงคลต่างๆ ของจีน ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญในงานสถาปัตยกรรมเชิงวัฒนธรรมของจีน

 

เจ้าแม่กวนอิม วิหารอี่ทงเทียนไท้

เจ้าแม่กวนอิมหยกขวา หน้าวิหารอี่ทงเทียนไท้ขณะกำลังก่อสร้าง 30 ส.ค.2566

 

เจ้าแม่กวนอิมที่วิหารแห่งนี้แกะสลักจาก “หยกขาวชิ้นเดียว” ที่ได้มาจากเหมืองในป่าลึกของเมือง “นับปีตรู” ประเทศเมียนมาร์ บริจาคโดย อุทิศ ชัยลือกิจ

เดือนมีนาคม 2557 ประธานเครือสหพัฒน์ได้จัดส่งหยกขาวชิ้นนี้ไปยังกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เพื่อให้ช่างซึ่งมีฝีมือด้านการแกะรูปสลักองค์เจ้าแม่กวนอิมโดยเฉพาะแกะสลักเป็นองค์พระโพธิสัตว์กวนอิม และได้รับการเคลื่อนย้ายคืนกลับมาถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2557

ระหว่างรอการก่อสร้างวิหารอี่ทงเทียนไท้ ได้เชิญองค์พระโพธิสัตว์กวนอิมหยกขาวไปประดิษฐาน ณ พรหมสถาน สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ กบินทร์บุรี ก่อนเชิญเข้าประดิษฐานภายในวิหารเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2566

ฐานปูนปั้นลวดลายพญามังกรเวียนว่ายกลางมหาสมุทร

เจ้าแม่กวนอิม หรือ องค์พระโพธิสัตว์กวนอิมหยกขาวองค์นี้มีความสูง 2.62 เมตร หนัก 2.8 ตัน ประทับยืนบนฐานดอกบัวบาน สูง 0.45 เมตร หนัก 0.78 ตัน 

ฐานดอกบัวบาน วางอยู่บนประติมากรรมแกะสลักเป็นลวดลายพญามังกรเวียนว่ายกลางมหาสมุทร ซึ่งฐานมังกรนี้มีความสูง 1.02 เมตร หนัก 4.95 ตัน และมีฐานแปดเหลี่ยม สูง 0.91 เมตร หนัก 5.9 ตัน รองรับประติมากรรมมังกรไว้อีกชั้นหนึ่ง

ช่างฝีมือชาวจีนแกะสลักองค์เจ้าแม่กวนอิมในวิหารอี่ทงเทียนไท้ แสดงมุทราปางประทานพร และมีแจกันประทานน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ไว้คอยชะล้างขจัดปัดเป่าทุกข์โศกโรคภัยให้กับผู้กราบไหว้ขอพร และยังเป็นเสมือนน้ำทิพย์ชโลมกายใจให้สะอาดบริสุทธิ์ ชุ่มฉ่ำด้วยน้ำพระทัยแห่งความเมตตา

พญามังกร(ที่แบกฐานดอกบัว)เปรียบได้กับความมั่งคั่ง ร่ำรวย สายน้ำเปรียบได้กับความลื่นไหล ราบรื่น สำเร็จ ดังนั้นผู้ซึ่งไปกราบไหว้บูชาอธิษฐานแล้ว อย่าลืมลูบพญามังกรด้วย เพื่อให้ได้ทั้งสมปรารถนาและร่ำรวย

 

ชุดเสริมเฮงขอพรตรุษจีน 2567 "วิหารอี่ทงเทียนไท้"

พระโพธิสัตว์กวนอิม ณ วิหารอี่ทงเทียนไท้

ในช่วงการเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีน 2567 วิหารอี่ทงเทียนไท้ จัดงาน “แขวนโคม ขอพร ปีมังกร สุขสันต์” ด้วยการประดับโคมไฟโดยรอบวิหาร 

ผู้เยี่ยมชมวิหารและสักการะ พระโพธิสัตว์กวนอิม สามารถเช่า ชุดบูชาชุดเสริมเฮง ที่ทางวิหารจัดเตรียมไว้ ซึ่งประกอบด้วย ส้ม 5 ผล สร้อยมุก(จำลอง) ดอกไม้ธูปเทียน โคม (สำหรับเขียนคำขอพร) ราคาชุดละ 299 บาท 

เมื่อกราบสักการะเสร็จแล้ว ให้เขียนคำขอพรบนโคม จากนั้นนำโคมไปแขวนยังที่ที่จัดเตรียมไว้ รวมถึงกิจกรรมถ่ายรูป เช็คอิน รับฟรีของที่ระลึกจากทางวิหาร สามารถเข้าร่วมงานได้ตั้งแต่ วันนี้ถึงวันที่ 3 มีนาคม 2567 วิหารเปิดให้บริการระหว่างเวลา 07.00 - 19.00 น.

เฉพาะวันชิวอิก หรือ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 18.00 น. วิหารจัดกิจกรรมสวดมนต์นั่งสมาธิภาวนา และ วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 09.00 น. มีพิธีไหว้รับเทพเจ้าเดินทางกลับจากสวรรค์

 

วิหารอี่ทงเทียนไท้ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี

 

ของไหว้ วิธีไหว้ เจ้าแม่กวนอิม วิหารอี่ทงเทียนไท้

ของไหว้บูชาพระโพธิสัตว์กวนอิม

  1. น้ำสะอาด จัดเตรียมใสภาชนะที่ใหม่และสะอาด
  2. ดอกบัวสีชมพู/สีขาว หรือดอกมะลิ
  3. ผลไม้
  4. ธูป 5 ดอก

วีธีขอพรองค์พระโพธิสัตว์กวนอิม

  1. ขอพรเกี่ยวกับเรื่อง โชคลาภ ให้อธิษฐานและสัมผัสที่ตัวพญามังกร
  2. ขอพรเกี่ยวกับเรื่อง หน้าที่การงานและครอบครัวให้มั่นคง ให้สัมผัสที่ฐานดอกบัว
  3. ขอพรเรื่อง สุขภาพ ให้อธิษฐานว่าท่านได้เทน้ำมนต์ลงจากคนโท(แจกัน)มาสู่ร่างกายของเรา 

การเดินทางไปสักการะขอพร เจ้าแม่กวนอิมวิหารอี่ทงเทียนไท้ ด้านหน้าสวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์กบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี

  • เส้นทางนครนายก ทางถนนหมายเลข 33 เมื่อเข้าเขตกบินทร์บุรี วิหารจะอยู่ทางซ้ายมือ
  • เส้นฉะเชิงเทรา จากถนนหมายเลข 304 เลี้ยวซ้ายที่แยกตัดถนนหมายเลข 33 ชิดซ้ายก่อนถึงแยกเพื่อมุ่งหน้าไปยังปราจีนบุรี  วิหารตั้งอยู่ด้านหน้าสวนอุตสาหกรรมฯ ทางขวามือริมถนนใหญ่ มองเห็นได้อย่างชัดเจน

credit photo: มูลนิธิ ดร.เทียม โชควัฒนา