นลินี ชวน Bollywood มาถ่ายทำภาพยนตร์ในไทย ดัน Soft Power ด้านอาหาร-ท่องเที่ยว

นลินี ชวน Bollywood มาถ่ายทำภาพยนตร์ในไทย ดัน Soft Power ด้านอาหาร-ท่องเที่ยว

นลินี กระทบไหล่ อาเลีย บาตต์ นางเอกดัง “คังคุไบ” ชวนมาถ่ายภาพยนตร์ในไทยเพิ่มขึ้น ผลักดัน Soft Power ด้านอาหารและสถานที่ท่องเที่ยวไทย ปลื้มนายกสมาคมผู้ผลิตภาพยนตร์อินเดียพร้อมสนับสนุนการถ่ายทำภาพยนตร์ Bollywood ในไทยเพิ่มเติม

เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2567 นางนลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย เปิดเผยว่าตนได้พบกับคุณ Alia Bhatt (อาเลีย บาตต์) นักแสดงชาวอินเดีย ผู้รับบท “คังคุไบ” จากภาพยนตร์ฮิตเรื่อง Gangubai Kathaiwadi (หญิงแกร่งแห่งมุมไบ) โดยตนได้เชิญชวนให้คุณอาเลีย บาตต์ มาถ่ายภาพยนตร์ในไทยเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการมีนางเอกดังระดับโลกอย่างคุณอาเลีย บาตต์มาถ่ายทำภาพยนตร์ในไทยนั้นจะเป็นการเสริมสร้าง Soft Power ให้แก่ประเทศไทย

โดยทุกอย่างที่คุณอาเลียทำ อาหารที่รับประทาน สถานที่ที่ไปจะเป็นกระแสและจะได้รับความนิยมจากฐานผู้สนับสนุนจากทั้งในอินเดียและประเทศอื่นๆ ในชั่วข้ามคืน นางนลินีฯ ยังได้ให้ข้อมูลว่า คุณอาเลีย บาตต์ นิยมเดินทางมาไทย โดยก่อนการหารือนั้นคุณอาเลีย บาตต์ก็เพิ่งเดินทางกลับจากจังหวัดภูเก็ต นอกจากนี้ ยังชื่นชอบอาหารไทยเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นส้มตำ ผัดไท และที่สำคัญคือน้ำมะพร้าวซึ่งเป็นสิ่งแรกที่ต้องทานเมื่อเดินทางถึงไทย 

นางนลินี เปิดเผยเพิ่มเติมว่าตนยังได้มีโอกาสหารือและชักชวนให้คุณ Sajid Nadiadwala เจ้าของบริษัทภาพยนตร์ชั้นนำของอินเดีย Nadiadwala Grandson Entertainment ซึ่งผลิตภาพยนตร์ไปแล้วกว่า 200 เรื่อง และมีภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง เช่น Kick หรือ Highway และยังเป็นประธานสภาผู้ผลิตภาพยนตร์และโทรทัศน์อินเดีย 11 สมัย โดยมีบริษัทผู้ผลิตในเครือราว 400 บริษัท สนับสนุนการถ่ายทำภาพยนตร์ Bollywood ในไทยเพิ่มเติม

โดยชูจุดเด่นด้าน Soft Power ไทย ทั้งในแง่ของผู้คน วัฒนธรรม อาหาร และสถานที่ท่องเที่ยว โดยคุณ Sajid ยืนยันว่าผู้ผลิตภาพยนตร์อินเดียนิยมที่จะใช้ไทยเป็นสถานที่ถ่ายทำ รวมถึงชื่นชมความสามารถด้านการแสดงของนักแสดงไทย โดยเฉพาะบทการต่อสู่และศิลปะแม่ไม้มวยไทย นอกจากนี้ ตนยังได้หารือถึงแนวการสนับสนุนการถ่ายทำภาพยนตร์ของทางประเทศอื่น ๆ เช่น สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย หรือสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ทั้งในรูปแบบการคืนเงินและการสนับสนุนด้านโลจิสติกส์ต่าง ๆ เพื่อนำไปปรับปรุงแนวทางการสนับสนุนและดึงดูดการถ่ายทำภาพยนตร์ของต่างชาติในไทยต่อไป   

"การถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทยจะเป็นโอกาสสำคัญในการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของไทยไปสู่สังคมโลก รวมทั้งยังจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ดึงเงินเข้าประเทศ รวมถึงก่อให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่อีกด้วย" นางนลินี กล่าวทิ้งท้าย