เคยไปหรือยัง...หอสมุดเนียลสัน เฮส์(Neilson Hays) อายุ 100 ปี ย่านบางรัก

เคยไปหรือยัง...หอสมุดเนียลสัน เฮส์(Neilson Hays) อายุ 100 ปี ย่านบางรัก

ปัจจุบันหอสมุดเนียลสัน เฮส์ มีอายุกว่า 100 ปี สถาปัตยกรรมนีโอคลาสสิค สมัยร.5 ภายในมีหนังสือภาษาอังกฤษจากทั่วโลกกว่า 20,000 เล่ม เล่มที่เขียนโดยจอห์น เบาว์ริง ก็เก็บรักษาไว้ที่นี่

หากใครที่ไม่เคยเดินเฉียดเข้าไปในหอสมุดเนียลสัน เฮส์ (Neilson Hays) ย่านบางรัก ซึ่งบางคนเรียกว่าหอสมุดแห่งรักเนียลสัน เฮล์ สไตล์นีโอคลาสสิค สมัยรัชกาลที่ 5 จึงอยากแนะนำให้ลองไปสัมผัสสักครั้ง

ทำไมถึงแนะนำสถานที่แห่งนี้ ด้วยวันเวลาและเรื่องราวที่ผ่านมากว่า 100 ปี ความร่มรื่นของต้นไม้ สถาปัตยกรรมที่งดงาม ทำให้หอสมุดแห่งนี้มีคุณค่าทั้งเรื่องการอนุรักษ์และการใช้งานในปัจจุบัน

นอกจากเป็นหอสมุดแล้ว ปัจจุบันเปิดให้บุคคลภายนอกสามารถเข้ามาจัดกิจกรรมภายในหอสมุด ทั้งงานเปิดตัวสินค้าใหม่ งานแต่งงาน งานบรรเลงดนตรีคลาสสิค

เคยไปหรือยัง...หอสมุดเนียลสัน เฮส์(Neilson Hays) อายุ 100 ปี ย่านบางรัก

และทุกวันเสาร์เช้าทางหอสมุดเนียลสัน เฮส์ จะมีกิจกรรมเปิดโอกาสให้เด็กเล็กที่สนใจเข้ามาฟังนิทานภาษาอังกฤษผ่านการเล่าเรื่องโดยอาสาสมัครของหอสมุด ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเจตนารมณ์ที่สืบต่อมาตั้งแต่สมัยแรกก่อตั้งที่ตั้งใจว่าจะให้เป็น “หอสมุดสาธารณประโยชน์ของชุมชน”

ประวัติหอสมุดแห่งรัก

ประวัติเรื่องราวหอสมุดเนียลสัน เฮส์ จะหาอ่านที่ไหนก็ได้ แต่การออกไปสัมผัสกลิ่นหนังสือภายในห้องสมุด หรือพื้นไม้ภายในตัวอาคารต้องเดินเข้าไปเอง 

หอสมุดเนียลสัน มีจุดเริ่มต้นมาจาก สมาคมหอสมุด ที่จดทะเบียนเมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2412 โดยสมาชิกสมาคมสตรีชาวต่างชาติที่อาศัยในกรุงเทพฯ (The Ladies’ Bazaar Association) ซึ่งนำรายได้จากการขายของของสมาคมสตรีมาจัดตั้งสมาคมหอสมุดสตรีกรุงเทพ (The Bangkok Ladies' Library Association) เพื่อให้บริการแก่ชาวต่างชาติผู้อาศัยในกรุงเทพฯ

เคยไปหรือยัง...หอสมุดเนียลสัน เฮส์(Neilson Hays) อายุ 100 ปี ย่านบางรัก

โดยมีข้อบังคับว่าการบริหารงานต้องประกอบด้วยกรรมการสมาคมที่เป็นสตรีจำนวนไม่เกิน 12 คน และนายกสมาคมคนแรก คือ ซาราห์ บรัคลีย์ แบรดลีย์ (Sarah Blachley Bradley) ภรรยาของหมอแดน บีช แบรดลีย์ (Dr.Dan Beech Bradley) หรือตามที่คนไทยนิยมเรียกว่าหมอบรัดลีย์

แรกเริ่มก่อตั้งหอสมุดเปิดให้บริการสัปดาห์ละครั้ง พนักงานส่วนใหญ่เป็นอาสาสมัคร หากต่อมาในปี พ.ศ. 2440 ได้ขยายเวลาทำการเป็นทุกวัน (ยกเว้นวันอาทิตย์) ทั้งจัดจ้างบรรณารักษ์มาดูแลความเรียบร้อย

สถานที่จัดตั้งหอสมุด แต่เดิมอยู่ในบ้านส่วนตัวไม่เสียค่าเช่า ต่อมาเปลี่ยนชื่อจาก สมาคมหอสมุดสตรีกรุงเทพ เป็น สมาคมหอสมุดกรุงเทพ (The Bangkok Library Association) เมื่อปี พ.ศ. 2454 และจัดสร้างอาคารหอสมุดโดยซื้อที่ดินใกล้กับถนนสุรวงศ์เมื่อปี พ.ศ.2457

เคยไปหรือยัง...หอสมุดเนียลสัน เฮส์(Neilson Hays) อายุ 100 ปี ย่านบางรัก ภายในหอสมุดเคยจัดแสดงดนตรีคลาสสิค

หอสมุดแห่งรัก

หอสมุดเนียลสัน เฮส์ มาจากชื่อของนางเจนนี เนียลสัน เฮส์ (Jennie Neilson Hays) ชาวเดนมาร์ก ภรรยาของ ดร.โทมัส เฮย์เวิร์ด เฮส์ (Dr Thomas Heyward Hays) ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทหารเรือกรุงเทพฯ และอาจารย์สอนวิชาแพทย์คนแรกของโรงพยาบาลศิริราชในยุคนั้น

เนียลสัน เฮส์ เข้ามาทำงานให้กับสมาคมหอสมุด ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2438 ตลอดเวลาเธออุทิศตัวและเวลาเพื่อทำกิจกรรมต่างๆให้หอสมุดสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ เธอทำงานให้กับหอสมุดเป็นเวลา 25 ปี ก่อนเสียชีวิตด้วยโรคอหิวาตกโรคในเดือนเมษายน พ.ศ. 2463

ด้วยเหตุนึ้ ดร.เฮส์ จึงสร้างหอสมุดแห่งใหม่ เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแห่งความรักของเขากับภรรยา รวมถึงให้เกียรติการอุทิศตนของภรรยาในการทำงานกับสมาคมหอสมุดฯ

เคยไปหรือยัง...หอสมุดเนียลสัน เฮส์(Neilson Hays) อายุ 100 ปี ย่านบางรัก

เคยไปหรือยัง...หอสมุดเนียลสัน เฮส์(Neilson Hays) อายุ 100 ปี ย่านบางรัก นอกจากความรักที่ดร.เฮล์มีต่อภรรยา เขายังเข้าใจคุณค่าของงานหอสมุดที่ภรรยาทุ่มเท จึงเป็นที่มาของอาคารหอสมุดแห่งใหม่ในสมัยนั้นสร้างบนพื้นที่ใกล้กับหอสมุดเก่าแถวถนนสุรวงศ์ โดยว่าจ้าง มารีโอ ตามัญโญ สถาปนิกคนสำคัญในยุคนั้นออกแบบอาคารถาวร เพื่อเก็บรักษาหนังสือและเป็นที่ทำการ

ต่อมาสมาคมหอสมุดกรุงเทพ จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “หอสมุดเนียลสัน เฮส์” พร้อมกับอาคารใหม่ที่สร้างเสร็จ เริ่มเปิดทำการในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2465

หอสมุดเนียลสัน เฮส์ ที่สร้างขึ้นใหม่นี้ได้รับความนิยมอย่างมากเป็นระยะเวลาหลายปี กระทั่งช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พบว่าหนังสือส่วนใหญ่ถูกขโมยหายไป แต่ต่อมาได้รับการส่งคืนเป็นบางส่วนจากประเทศญี่ปุ่น

เคยไปหรือยัง...หอสมุดเนียลสัน เฮส์(Neilson Hays) อายุ 100 ปี ย่านบางรัก และเมื่อ ดร.เฮส์ เสียชีวิตก็ได้ทำพินัยกรรมส่งมอบสิทธิ์ในคอลเลกชั่นหนังสืออ่านเล่นส่วนตัวทั้งหมดให้กับหอสมุดเนียลสัน เฮส์ และบริจาคตำราการแพทย์ให้ห้องสมุดคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ปัจจุบันหอสมุดเนียลสัน เฮส์ มีหนังสือภาษาอังกฤษมาจากทั่วทุกมุมโลกประมาณ 20,000 เล่ม จำแนกแบ่งเป็น Fiction, Non-Fiction, Rare, Young Adult, Children มีตั้งแต่เล่มที่อัปเดตล่าสุดไปจนถึงเล่นเก่าแก่ที่มีอายุมากถึงหลายร้อยปี อาทิ หนังสือที่ถูกเขียนโดยจอห์น เบาว์ริง

ในวันที่ 4 - 5 พฤศจิกายน 2566 จะจัดเทศกาลวรรณกรรมนานาชาติ ที่หอสมุดเนียลสัน เฮส์ Neilson Hays Bangkok Literature Festival 2023 (BLF2023) ภายในงานเป็นการระดมนักคิด นักเขียน นักประพันธ์แถวหน้าของวงการวรรณกรรมทั่วโลกกว่า 50 คน

.......

  • ห้องสมุดเนียลสัน เฮส์ ตั้งอยู่ที่ 195 ถนนสุรวงศ์ แขวงสุริยวงศ์ เขตบางรัก กรุงเทพฯ 10500
  • เปิดทำการ วันอังคาร-วันอาทิตย์ เวลา 09.30 น. – 17.00 น.
  • เข้าชมภายในห้องสมุดฯ จะมีค่าบำรุงห้องสมุด 100 บาทต่อคน ในกรณีที่ไม่ใช่สมาชิกของห้องสมุดฯ แต่สามารถเข้าชมบริเวณโดยรอบห้องสมุดฯ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
  • ส่วน NHL Garden Cafe เปิดวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.00-18.00 น.