‘BCG Economy Model’ สร้างเม็ดเงินได้จริงไหม? ต้นแบบ ‘ชุมชนบ้านแหลม’ มีคำตอบ

‘BCG Economy Model’ สร้างเม็ดเงินได้จริงไหม? ต้นแบบ ‘ชุมชนบ้านแหลม’ มีคำตอบ

“การท่องเที่ยว” สร้างรายได้ให้ประเทศไทยมากเป็นอันดับต้นๆรวมถึง กระจายเม็ดเงินลงสู่ชุมชน โดยเฉพาะหลังไทยฟื้นตัวจากโควิด-19 มีหนึ่งชุมชนต้นแบบการท่องเที่ยวที่น่าจับตามองก็คือ “ชุมชนบ้านแหลม”

Key Points:

  • ปัจจุบันประเทศไทยกำลังค่อยๆ ฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19 โดยสินค้าและบริการที่สร้างรายได้หลักเข้าประเทศได้เสมอมาก็คือ “การท่องเที่ยว”
  • หนึ่งในรูปแบบการท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมในยุคนี้ ก็คือ “การท่องเที่ยววิถีชุมชน” เพราะนักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสบรรยากาศของชุมชนอย่างแท้จริง ผ่านการร่วมกิจกรรมกับคนท้องถิ่น
  • “ชุมชนบ้านแหลม” จ.สุพรรณบุรี ถือเป็นต้นแบบการท่องเที่ยวแบบ “BCG Economy Model” ที่เน้นการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน รักษ์โลก และให้นักท่องเที่ยวได้ใกล้ชิดกับชุมชนมากที่สุด

ปฏิเสธไม่ได้ว่า “การท่องเที่ยว” คือสินค้าและบริการที่เป็นรายได้หลักของประเทศไทย นอกจากนี้ยังเป็นการกระจายรายได้ไปยังหลายภาคส่วน โดยเฉพาะในระดับ “ชุมชน” ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีหลายแห่งที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 แต่เมื่อไทยกลับมาเปิดประเทศอีกครั้ง การท่องเที่ยวก็เริ่มกลับมาฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

ประเทศไทยถือเป็นประเทศพหุวัฒนธรรม ที่มีแหล่งท่องเที่ยวหลากหลาย จึงเป็นจุดหมายสำคัญของนักท่องเที่ยวทั่วโลกซึ่งรูปแบบการท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในยุคนี้คงหนีไม่พ้น การท่องเที่ยวชุมชน โดยเฉพาะการพักโฮมสเตย์และรับประทานอาหารท้องถิ่น นอกจากจะได้สัมผัสวัฒนธรรมไทยที่สวยงามแล้ว ยังได้มีโอกาสเรียนรู้วิถีชุมชนผ่านการทำกิจกรรมท้องถิ่น และซื้อสินค้าจากชุมชนโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง จึงสามารถกระจายรายได้ลงสู่ชุมชนได้โดยตรง ทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น

หนึ่งในเส้นทางท่องเที่ยวชุมชนที่น่าจับตามองไม่แพ้แหล่งท่องเที่ยวอื่นในขณะนี้ ก็คือ “ชุมชนบ้านแหลม” จ.สุพรรณบุรี ที่มีกิจกรรมหลากหลายให้ผู้มาเยือนเลือกทำ รวมถึงยังเป็นต้นแบบการท่องเที่ยวแบบ “BCG Economy Model” อีกด้วย

‘BCG Economy Model’ สร้างเม็ดเงินได้จริงไหม? ต้นแบบ ‘ชุมชนบ้านแหลม’ มีคำตอบ

  • “BCG Economy Model” คืออะไร สำคัญต่อการท่องเที่ยวอย่างไร

อย่างที่บอกไปว่า ชุมชนบ้านแหลม ต.บ้านแหลม อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี เป็นชุมชนที่เป็นต้นแบบ BCG Economy Model และได้รับการรับรองจาก “การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย” ในเรื่องมาตรฐานการท่องเที่ยว

แต่บางคนอาจยังไม่รู้ว่า ชุมชนต้นแบบ BCG Economy Model คืออะไร? ขออธิบายคร่าวๆ ให้ฟังว่า โมเดลเศรษฐกิจ BCG หรือ โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (BCG Economy Model) เป็นเศรษฐกิจทฤษฎีใหม่ที่ผสมผสานการพัฒนา 3 ด้านหลัก ดังนี้

1. เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy)

เป็นการนำความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาพัฒนาต่อยอดจากฐานความเข้มแข็งเดิมของไทย ในด้านทรัพยากรชีวภาพ และผลผลิตทางการเกษตร เพื่อเพิ่มมูลค่าให้สินค้า

2. เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

เป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่าที่สุด เน้นไปที่การลดปริมาณของเสียให้น้อยลงหรือเท่ากับศูนย์ (Zero Waste)

3. เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)

เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจไปพร้อมการพัฒนาสังคมและรักษาสิ่งแวดล้อม เน้นการอนุรักษ์ ฟื้นฟูแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม

โดยทั้ง 3 จุดประสงค์นั้นก็เพื่อการบูรณาการให้เกิดการพัฒนาประเทศในด้านสังคม เศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม และบรรลุเป้าหมาย “การพัฒนาที่ยั่งยืน” หรือ Sustainable Development Goals–SDGs ขององค์การสหประชาชาติ (UN)

  • พักโฮมสเตย์ นั่งเรือล่องแม่น้ำ ชิมอาหารท้องถิ่น ที่ “ชุมชนบ้านแหลม”

เมื่อชุมชนบ้านแหลมตัดสินใจนำ BCG Economy Model เข้ามาพัฒนาชุมชน สิ่งที่จะต้องทำต่อไปก็คือการออกแบบ “สินค้าและบริการท่องเที่ยว” ที่จะนำเสนอประสบการณ์การท่องเที่ยววิถีท้องถิ่นในพื้นที่แห่งนี้ให้ได้มากที่สุด หลังจากผ่านกระบวนการทำงานหลายขั้นตอน ในที่สุดก็ได้ออกมาเป็น “เส้นทางนำเที่ยวชุมชนบ้านแหลม” ที่พร้อมเสิร์ฟความประทับใจให้แก่นักท่องเที่ยว

‘BCG Economy Model’ สร้างเม็ดเงินได้จริงไหม? ต้นแบบ ‘ชุมชนบ้านแหลม’ มีคำตอบ เริ่มตั้งแต่การเดินเที่ยวสัมผัสวิถีชุมชนและธรรมชาติริมน้ำ ต่อด้วยการทำกิจกรรมกับชาวบ้านที่มีให้เลือกหลากหลายโปรแกรม พร้อมอุดหนุนสินค้าชุมชนมากมายในราคาสบายกระเป๋า โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์จาก “ผักตบชวา

สิ่งที่ทำให้นักท่องเที่ยวประทับใจและรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนนั้น ก็คือ การมอบ “เข็มกลัดผักตบชวา” ให้นักท่องเที่ยวนำมาติดเสื้อ เป็นสัญลักษณ์ว่าเป็นแขกของชุมชน และมอบ “ดอกไม้แทนใจชุมชน” ที่ประกอบด้วย มะกรูด ใบเตย มะม่วงหาวมะนาวโห่ และสมุนไพรต่างๆ ซึ่งมีประโยชน์ในการใช้ดับกลิ่น ก่อนจะร้องเพลงฉ่อยและแนะนำตัวเองให้ผู้มาเยือนได้รู้จัก

สำหรับชุมชนบ้านแหลมนั้นไม่ได้เปิดให้เข้ามาท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีส่วนที่เป็นโฮมสเตย์ให้นักท่องเที่ยวพักผ่อนได้อีกด้วย โดยสามารถเลือกรูปแบบของที่พักได้ ไม่ว่าจะเป็น เรือนไทยหมู่ เรือนไทยเดี่ยว หรือห้องพักและบ้านพักริมน้ำ ซึ่งโฮมสเตย์ทุกรูปแบบได้รับการรับรองมาตรฐานจาก “อาเซียนโฮมสเตย์” เป็นเครื่องหมายการันตีคุณภาพ

ส่วนกิจกรรมที่เป็นไฮไลต์ของชุมชนบ้านแหลมก็คือ ล่องเรือพลังงานไฟฟ้า ตาม “เส้นทางเสด็จประพาสต้น” ครั้งแรก ร.ศ. 123 ของในหลวงรัชกาลที่ 5 พร้อมเยี่ยมชมพื้นที่ในตำนาน “นิราศสุพรรณ” ของสุนทรภู่ ตลอดสองข้างทางแม่น้ำสุพรรณ ทั้งยังได้สัมผัสกับวิถีไทยและสายน้ำ ด้วยการแวะไปไหว้พระวัดป่าพฤกษ์ ก่อนจะนั่งกระเช้าข้ามไปให้อาหารปลาหน้าวัดเจ้าขาว

ในระหว่างการล่องเรือ นักท่องเที่ยวจะได้ลิ้มรสอาหารจากฝีมือของชาวบ้านในชุด “สำรับโบราณคาวหวาน” โดยมีเมนูขึ้นชื่อได้แก่ น้ำพริกสามสหาย (ประกอบด้วย น้ำพริกบางปลาม้า น้ำพริกไปนา และน้ำพริกปลาม้า) ต้มโคล้งปลาม้า ยำไข่เค็มสมุนไพร และปลาแดงทอดกระเทียม เป็นต้น (รายการอาหารอาจเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล)

‘BCG Economy Model’ สร้างเม็ดเงินได้จริงไหม? ต้นแบบ ‘ชุมชนบ้านแหลม’ มีคำตอบ หลังท่องเที่ยวและรับประทานอาหารแล้ว สิ่งที่พลาดไม่ได้ก็คือ การร่วมกิจกรรมกับชุมชน เพราะนอกจากจะได้ผลิตภัณฑ์สวยๆ กลับบ้านไปแล้ว ยังเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชนอีกด้วย

สำหรับกิจกรรมนั้นมีให้เลือกมากมายตามความสนใจ แต่จำเป็นต้องจองล่วงหน้าเพื่อให้ชาวบ้านได้เตรียมวัตถุดิบและนัดหมายวิทยากรไว้ล่วงหน้า โดยสามารถเข้าร่วมได้มากกว่าหนึ่งกิจกรรม ตัวอย่างกิจกรรมที่ได้รับความนิยมได้แก่

- ปั้นธูปสมุนไพรตามสีประจำวันเกิด

- ทำอาหารและขนมร่วมกับชาวบ้านตามเมนูที่สนใจ เช่น ตำน้ำพริกไปนา ปั้นไข่เค็มสมุนไพร ขนมดอกโสน ขนมสัมปันนี เป็นต้น

- สานปลาตะเพียน ทำกระดาษสา ทำจานใส่อาหารรีไซเคิล จากผักตบชวา

- ทำหลอดดูดน้ำจากต้นอ้อ

สังเกตได้ว่ากิจกรรมส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การรักษาสิ่งแวดล้อมและลดขยะในชุมชน เช่น การแปรรูปผักตบชวาที่มีอยู่เป็นจำนวนมากมาใช้ประโยชน์ การนำต้นอ้อมาทำเป็นหลอดดูดน้ำเพื่อลดปัญหาขยะจากพลาสติก

  • เสียงจากชุมชน เมื่อได้เป็นต้นแบบการท่องเที่ยว BCG

จากหลากหลายกิจกรรมดังกล่าวข้างต้น มีหนึ่งกิจกรรมที่ได้รับความนิยมและได้รักษาสิ่งแวดล้อมไปในตัวก็คือ การแปรรูป “ผักตบชวา” ให้กลายเป็นสิ่งของเครื่องใช้ และส่งไปขายยังนอกชุมชน รวมถึงได้รับความสนใจจากหน่วยงานภายนอกเข้ามาศึกษาดูงานอยู่บ่อยๆ

สุภาพรรณ พิกุลขาว วิทยากรสอนทำกิจกรรมรักษ์โลกจากผักตบชวา เล่าว่า เริ่มแปรรูปผักตบชวามาประมาณ 3 ปีแล้ว คนที่เข้ามาชมและร่วมกิจกรรมมีหลายกลุ่ม แต่ส่วนใหญ่จะเป็นนักเรียน นักศึกษา และหน่วยงานภาครัฐที่เข้ามาเพื่อเรียนรู้ รวมถึงรัฐวิสาหกิจชุมชนจากที่อื่น ที่นอกจากจะเข้ามาศึกษาในพื้นที่บ้านแหลมแล้ว ยังนำความรู้และผลิตภัณฑ์ชุมชนของพวกเขามาแบ่งปันด้วย

“เรามองว่าการนำผักตบชวาที่หลายคนคิดว่าเป็นของไร้ค่ามาแปรรูปนั้น สามารถใช้ประโยชน์ได้เยอะ เมื่อก่อนเวลาขายของก็ต้องใช้พลาสติกกันกระแทก เลยลองเอาผักตบชวามาหั่น ตากแดด และใช้เป็นวัสดุกันกระแทกแทน ก็เห็นว่าใช้ได้จริง ลูกค้าก็ยืนยันว่าสินค้าที่ส่งไปไม่ได้รับความเสียหาย แถมเปิดมาแล้วยังมีกลิ่นหอม” สุภาพรรณกล่าว

‘BCG Economy Model’ สร้างเม็ดเงินได้จริงไหม? ต้นแบบ ‘ชุมชนบ้านแหลม’ มีคำตอบ

สุภาพรรณ พิกุลขาว วิทยากรสอนทำกิจกรรมรักษ์โลกจากผักตบชวา

นอกจากนี้ “ผักตบชวา” ยังกลายเป็นรายได้สำคัญของชุมชนอีกด้วย เพราะเริ่มมีลูกค้าประจำมาสั่งซื้อซ้ำมากขึ้น นอกจากการกันกระแทกแล้ว ยังนำไปรองกรงสัตว์เลี้ยงได้ด้วย

ไม่ใช่แค่สร้างรายได้แต่ยังลดพลาสติกและขยะในชุมชนไปได้มาก เพราะมีการพัฒนาผักตบชวามาเป็นกระดาษ ไปจนถึงจานใส่อาหารแบบใช้แล้วทิ้ง และเป็นปุ๋ยใส่ต้นไม้แทนปุ๋ยเคมี

‘BCG Economy Model’ สร้างเม็ดเงินได้จริงไหม? ต้นแบบ ‘ชุมชนบ้านแหลม’ มีคำตอบ ทางด้าน โสภณ พันธุ ผู้ร่วมก่อตั้งการท่องเที่ยวชุมชนแบบ BCG และมัคคุเทศก์ชุมชน กล่าวว่าตั้งแต่ “ชุมชนบ้านแหลม” กลายเป็นชุมชนต้นแบบ BCG ทำให้นักท่องเที่ยวมีความมั่นใจในการมาเยี่ยมเยียนมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะได้รับการโปรโมตจากภาครัฐ เคยได้รับรางวัลกินรีสาขาการท่องเที่ยวไทยมาแล้ว 3 ปีซ้อน

“ชุมชนเราเป็นมากกว่าการท่องเที่ยวในชุมชน แต่เป็นการท่องเที่ยวโดยชุมชน ในประเทศไทยมีชุมชนมากกว่า 80,000 ชุมชน แต่ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จทุกชุมชน เลยอยากให้เข้ามาลองสัมผัสชุมชนบ้านแหลม และที่สำคัญเรามีมัคคุเทศก์ชุมชนที่พร้อมให้การต้อนรับ” โสภณระบุ

‘BCG Economy Model’ สร้างเม็ดเงินได้จริงไหม? ต้นแบบ ‘ชุมชนบ้านแหลม’ มีคำตอบ

โสภณ พันธุ ผู้ร่วมก่อตั้งการท่องเที่ยวชุมชนแบบ BCG และมัคคุเทศก์ชุมชน

สิ่งที่ได้รับจากการเป็นชุมชนต้นแบบก็คือ ทำให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในชุมชนของตน รวมไปถึงชุมชนใกล้เคียง เนื่องจากมีการนำความรู้มาแลกเปลี่ยนกันอยู่บ่อยครั้ง ทำให้ผลิตภัณฑ์และกิจกรรมสำหรับนักท่องเที่ยวในชุมชนมีความหลากหลายมากขึ้น ส่งผลให้มีต้นทุนมาดูแลคนในชุมชนต่อไป

ชุมชนบ้านแหลมไม่ใช่พื้นที่เดียวที่เป็นชุมชนต้นแบบ BCG แต่ในประเทศไทยยังมีชุมชนที่เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้เข้าไปท่องเที่ยวแบบมีส่วนร่วมกับชุมชนอีกหลายแห่ง นอกจากจะได้รับความสนุกเพลิดเพลินแล้วยังช่วยให้ชาวบ้านมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอีกด้วย

สำหรับใครที่สนใจเดินทางไปเยี่ยมชมชุมชนบ้านแหลมสามารถเข้าไปจองโปรแกรมการท่องเที่ยวล่วงหน้าได้ที่ ชุมชนบ้านแหลมสุพรรณ ซึ่งไม่ว่าจะเที่ยวคนเดียว เที่ยวเป็นคู่ เที่ยวเป็นครอบครัว หรือจัดสัมมนาก็สามารถติดต่อขอจัดโปรแกรมท่องเที่ยวได้ผ่านคนในชุมชนโดยตรง

อ้างอิงข้อมูล : ชุมชนบ้านแหลมสุพรรณ และ TCBE