ชม 2 ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ส่งท้ายเดือน ส.ค. 'ดาวเสาร์ใกล้โลก - ซูเปอร์บลูมูน'

ชม 2 ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ส่งท้ายเดือน ส.ค. 'ดาวเสาร์ใกล้โลก - ซูเปอร์บลูมูน'

สดร. ชวนดู 2 ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ส่งท้ายเดือนสิงหาคม 'ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี' และ 'ซูเปอร์บลูมูน' ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ชวนติดตาม 2 ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ ส่งท้ายเดือนสิงหาคม 'ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี' 27 สิงหาคมนี้ และ 'ซูเปอร์บลูมูน' ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี ในคืน 30 สิงหาคมถึงเช้า 31 สิงหาคม 2566 หากฟ้าใส ไร้ฝน ดูได้ด้วยตาเปล่าทุกภูมิภาคทั่วประเทศ 

 

 

เตรียมจัดสังเกตการณ์ 4 จุดหลักที่ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร เชียงใหม่ หอดูดาวภูมิภาค โคราช ฉะเชิงเทรา และสงขลา เวลา 18:00 - 22:00 น. เข้าร่วมฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย หรือรับชมถ่ายทอดสดปรากฏการณ์ผ่านทางเฟซบุ๊กสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ 

ปรากฏการณ์ 'ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี' ในวันอาทิตย์ที่ 27 สิงหาคม 2566 เป็นปรากฏการณ์ที่ดาวเสาร์โคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ (Saturn Opposition) หมายถึง ดวงอาทิตย์ โลก และดาวเสาร์ เรียงตัวอยู่ในแนวเดียวกันโดยมีโลกอยู่ตรงกลาง ส่งผลให้ดาวเสาร์มีระยะใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี ห่างประมาณ 1,310 ล้านกิโลเมตร ในวันดังกล่าว หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าจะมองเห็นดาวเสาร์ปรากฏสว่างอยู่ทางทิศตะวันออก สังเกตได้ยาวนานตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้า หากฟ้าใสไร้ฝน ดูได้ชัดเจนด้วยตาเปล่า 

 

เมื่อมองผ่านกล้องโทรทรรศน์ที่มีกำลังขยาย 30 เท่าขึ้นไป จะเห็นวงแหวนที่โดดเด่น ชัดเจน และหากใช้กำลังขยายตั้งแต่ 100 เท่าขึ้นไปจะมองเห็นแนวช่องว่างภายในวงแหวน นั่นคือ ช่องว่างแคสสินี ที่แบ่งระหว่างวงแหวนชั้น A และชั้น B รวมถึงสามารถสังเกตเห็นดวงจันทร์ของดาวเสาร์ได้ 

 

 

อีกหนึ่งปรากฏการณ์ คือ 'ซูเปอร์บลูมูน'(Super Full Moon) ในคืนวันที่ 30 สิงหาคม ถึงเช้าวันที่ 31 สิงหาคม 2566 ชม 2 ปรากฏการณ์ของดวงจันทร์ ได้แก่ ซูเปอร์ฟูลมูน หรือ ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี มีระยะห่างจากโลกประมาณ 357,334 กิโลเมตร และในคืนดังกล่าวยังเป็นดวงจันทร์เต็มดวงครั้งที่สองของเดือน หรือ บลูมูน (Blue Moon) จึงเรียกปรากฏการณ์ในครั้งนี้ว่า 'ซูเปอร์บลูมูน' (Super Blue Moon) ปกติแล้วในหนึ่งเดือนจะเกิดดวงจันทร์เต็มดวงเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ไม่บ่อยนักที่จะเกิดขึ้น 2 ครั้ง 

 

ในคืนดังกล่าวดวงจันทร์เต็มดวงจะมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย หากเปรียบเทียบกับดวงจันทร์เต็มดวงช่วงเวลาปกติ จะมีขนาดใหญ่กว่าประมาณ 7% และความสว่างเพิ่มขึ้นประมาณ 15% เวลาที่เหมาะสมในการสังเกตปรากฏการณ์เกี่ยวกับดวงจันทร์ในครั้งนี้ คือช่วงเย็นวันที่ 30 สิงหาคม 2566 ตั้งแต่เวลาประมาณ 18:09 น. เป็นต้นไป จนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 31 สิงหาคม 2566 ดูได้ด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันออก นอกจากนี้ยังมีดาวเสาร์ปรากฏสว่างเคียงข้างดวงจันทร์อีกด้วย 

 

สดร.​ เตรียมจัดสังเกตการณ์ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์สำคัญ 'ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี' ในคืนวันที่ 27 สิงหาคม 2566 และ 'ซูเปอร์บลูมูน' ในคืนวันที่ 30 สิงหาคม 2566 ตั้งแต่เวลา 18:00 - 22:00 น. ณ จุดสังเกตการณ์หลักทั้ง 4 แห่งของ สดร. ได้แก่ 

 

  • อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ โทร 084-0882261
  • หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา โทร 086-4291489
  • หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา : โทร 084-0882264
  • หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา : โทร 095-1450411

 

หรือรับชม LIVE ปรากฏการณ์ ได้ทางเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

 

ชม 2 ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ส่งท้ายเดือน ส.ค. \'ดาวเสาร์ใกล้โลก - ซูเปอร์บลูมูน\'