‘เที่ยวหน้าฝน’ ที่ ภูจันแดง...แห่งศรีเมืองใหม่

‘เที่ยวหน้าฝน’ ที่ ภูจันแดง...แห่งศรีเมืองใหม่

‘เที่ยวหน้าฝน’ ที่ ‘ภูจันแดง’ ‘อำเภอศรีเมืองใหม่’ จังหวัดอุบลราชธานี หนึ่งใน ‘แหล่งท่องเที่ยว’ ทาง ‘ภาคอีสาน’ หินทราย เสาเฉลียง ทางน้ำไหล สามารถสืบย้อนไปในอดีตได้เป็นล้านๆปี ก่อนยุคไดโนเสาร์สูญพันธุ์ด้วยซ้ำ

พอฤดูฝนมาเยือน ในหัวก็มีรายชื่อ แหล่งท่องเที่ยวทาง ภาคอีสาน ขึ้นมาเป็นร้อยๆแห่งให้เลือกเดินทางว่าจะไปไหนดี   ซึ่งอันที่จริงแล้ว   พอเข้าหน้าฝนอย่างนี้ ไม่ว่าจะเป็นที่ไหนในภาคอีสานก็ล้วนแล้วแต่น่าไปเยือนด้วยกันทั้งหมด    

ฤดูฝน เพียงแค่ 3-4 เดือนนี้  จะเป็นช่วงเวลาทองของ ‘การท่องเที่ยวธรรมชาติทางอีสาน’  พื้นดินทาง ‘ภาคอีสาน’ จะชุ่มฉ่ำ ดอกไม้บานอย่างสวยงาม  น้ำตก ที่เคยแห้งผากก็กลับมามีชีวิตชีวา ไหลโครมครามกันอีกครั้ง เรียกว่ามองไปทางไหนก็ดูดีไปหมด  ช่วงโอกาสทองเช่านี้ ผมจึงไม่พลาดที่จะชวนไปอีสานอีกครั้ง และครั้งนี้มีเป้าหมายปลายทางที่ ‘อำเภอศรีเมืองใหม่’  จังหวัดอุบลราชธานี  ปลายทางครั้งนี้คือ ภูจันแดง

              ถ้าดูแผนที่แบบสามมิติ ในกูเกิลเอิร์ท แล้วไปที่อุบล  ท่านผู้อ่านจะเห็นว่าอุบลฯนั้นจะมีภูมิประเทศที่เป็นภูเขาอยู่ทางด้านที่ติดกับทางลาวและกัมพูชา   ที่เราเรียกว่าป่าอีสานใต้ กับทางตะวันออก ในเขตอุทยานฯผาแต้ม  ที่มี แม่น้ำโขงกั้น แล้วป่าเขาจะไปหนาแน่นในเขตลาว   

แล้วถ้าดูป่าทางผาแต้มดีๆ จะเห็นว่าผืนป่าเขาในเขตย่านนี้   จะเป็นลานหินสลับกับแนวป่าประปราย   ลักษณะป่าลานหินแบบนี้มีกระจายเข้าไปถึงเขต อำเภอศรีเมืองใหม่ ด้วย  ซึ่งภูจันแดงเองก็อยู่ในชายป่าในภูเขาลักษณะแบบนี้คือลานหินปะปนกับป่าแบบโปร่งๆ

‘เที่ยวหน้าฝน’ ที่ ‘ภูจันแดงอำเภอศรีเมืองใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี  ป่าโปร่งแห่งนี้มี

หินทราย ทางด้านนี้เป็นหินทรายในกลุ่มหินโคราช  หมวดหินภูพาน   แต่หน่วยหินไหนนี่ผมไม่ขอยืนยัน   หินย่านนี้จะมีอายุราว 120 ล้านปีมาแล้ว  ลักษณะที่ชัดเจนของหินทรายทางนี้คือ มีเนื้อแข็ง มีเม็ดกรวดทรายปะปนเห็นอย่างเด่นชัด

นอกจากทรายเม็ดหยาบ บางทีเห็นเป็นหินกรวดปะปนอยู่อย่างชัดเจน ซึ่งจะเหมือนกับหินทางผาแต้มด้านบนหน้าผา    หินทรายแบบนี้  เดินป่าแล้วจะกินพื้นรองเท้า พื้นรองเท้าจะสึกไว เพราะมันแข็ง กรวดที่ปะปนก็คม   ซึ่งจะต่างจากหินทรายแถวภูทอก ภูวัว ภูลังกา ซึ่งจะเป็นคนละหมวดกัน(น่าจะเป็นหมวดภูทอก  ถ้าผิดต้องขออภัย) ลักษณะหินก็ต่างกัน

              แต่ไม่ว่าจะเป็นหินทรายหมวดไหน ก็ล้วนแต่มาเกิดบนพื้นผิวโลก    ถูกน้ำพัดพามาแล้ว  เกิดการสะสมตัว ทับถมกันเป็นเวลานาน   จนต่อมาเกิดการเปลี่ยนแปลงของแผ่นเปลือกโลก เกิดการยกตัวขึ้นมาเป็นภูเขา   เกิดรอบแตกในเนื้อหิน แล้วก็ถูกน้ำกัดเซาะตามร่องแตกก่อน  ถูกลมช่วยกัดกร่อน

แล้วแผ่นเปลือกโลกก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงเพียงครั้งเดียว บรรดาเม็ดดิน เม็ดทรายที่ถูกกัดกร่อน ก็จะถูกน้ำพัดพา ก็ไหลไปรวมกันในร่อง ตรงนั้นก็จะเป็นดินที่ต้นไม้พอจะขึ้นได้บ้าง   ภูเขาทางด้านนี้จึงเป็นลานหินสลับต้นไม้ประปรายอย่างที่บอก

‘เที่ยวหน้าฝน’ ที่ ภูจันแดง...แห่งศรีเมืองใหม่ วิหารสำหรับประกอบพิธีทางสงฆ์

ตัว ภูจันแดง นั้นอยู่ใน ป่าสงวนภูหล่น ในเขต อำเภอศรีเมืองใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี แล้วลองว่าถ้าเป็น หินทราย หมวดหินภูพาน    ก็ไม่พ้นที่จะเห็นบรรดาเสาเฉลียงอยู่ในพื้นที่ ซึ่งที่ภูจันแดงนี้จะเป็นทั้งลานหินกว้าง เป็นหน้าผาขนาดเล็ก ที่ไม่สูงมากนัก   

‘เที่ยวหน้าฝน’ ที่ ภูจันแดง...แห่งศรีเมืองใหม่ เนินผาหินในบริเวณภูจันแดง

มีเสาเฉลียง   มีรอยเฉียงระดับ  ซึ่งเจ้ารอยเฉียงระดับนี้ ก็จะบ่งบอกทิศทางที่น้ำไหล   ในครั้งที่ยังเริ่มสะสมตัวกัน   ทิศทางน้ำจะปรากฏ   รวมทั้งขนาดของทราย ของกรวด ที่สะสมในแนวรอยเฉียงระดับก็จะบอกว่าน้ำที่ไหลนั้นไหลแรง หรือไหลเอ่ยๆ

‘เที่ยวหน้าฝน’ ที่ ภูจันแดง...แห่งศรีเมืองใหม่ เสาเฉลียงยอดภูจันแดง ปรากฏรอยเฉียงระดับชัดเจน 

ที่ว่ามาทั้งหมดนี้ เราสามารถสืบย้อนไปในอดีตได้เป็นล้านๆปี   แต่สิ่งที่เราเห็นในปัจจุบัน  อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงมาบ้างแล้ว  เพราะตลอดเวลา 120 ล้านปีที่ล่วงมานี่  มันก่อนไดโนเสาร์สูญพันธุ์อีกนะ  นานมาก ดังนั้นในช่วงเวลา120 ล้านปีนี้ เราไม่รู้เลยว่าเกิดอะรขึ้นกับโลกเราอีกบ้าง

              ความสวยงามของ ภูจันแดง จึงเป็นปรากฏการณ์ ‘หินทราย’ ในรูปแบบต่างๆ ทั้งที่ปรากฏบนลานหิน  ทั้งที่เป็นเสา หรือเป็นรูปร่างต่างๆ  รวมทั้งมีเส้นทางเดินป่าเล็กๆ  ไม่ไกลนัก ไปยังกลุ่มเสาเฉลียงในป่า ที่อยู่บนเนินเขาสูงสุดของภูจันแดง   และเป็นย่านที่มีต้นไม้หนาแน่น  

‘เที่ยวหน้าฝน’ ที่ ภูจันแดง...แห่งศรีเมืองใหม่ ร่องรอยของธารน้ำไหลบนลานหินทราย

ซึ่งเสาเฉลียงที่นี่ดูไปคล้ายถ้วยรางวัลที่ดีไซน์รูปร่างแบบสมัยใหม่   ในกลุ่มเสาเฉลียงภูจันแดงนี้ จะมีเพิงถ้ำ ที่ครูบาอาจารย์สายวิปัสสนา ท่านเคยมาปฏิบัติธรรมอยู่ที่นี่   พื้นที่นี้ จึงเงียบสงบ  การรบกวนจากภายนอกแทบไม่มี  ทำเลแบบนี้ จึงเหมาะควรกับการปฏิบัติธรรม และคนที่รักสงบจริงๆ

‘เที่ยวหน้าฝน’ ที่ ภูจันแดง...แห่งศรีเมืองใหม่ รูปปั้นครูบาอาจารย์ในเพิงถ้ำบนยอดภูจันแดง(ขออภัยไม่ทราบชื่อท่าน)

‘เที่ยวหน้าฝน’ ที่ ภูจันแดง...แห่งศรีเมืองใหม่ เจดีย์เก็บอัฐิของครูบาอาจารย์บนยอดภูจันแดง

              ปัจจุบันนี้ ภูจันแดง เป็นวัดที่ พระอาจารย์สีทน  กมโล (พระครูกมล ภาวนาราม)   ซึ่งท่านเป็นอดีตเจ้าอาวาส วัดภูหล่น ตำบลสงยาง อำเภอศรีเมืองใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งไม่ห่างจากวัดภูจันแดงนี้เท่าไหร่  แรกเริ่มท่านให้ฝ่ายปกครองคณะสงฆ์ อำเภอศรีเมืองใหม่ ตั้งขึ้นเป็นที่พักสงฆ์ไว้ในปี พ.ศ. 2538   

‘เที่ยวหน้าฝน’ ที่ ภูจันแดง...แห่งศรีเมืองใหม่ ภายในวิหารภายในวัด

และตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546   พระครูเศรฐวุฒิ ปิยวัณโณ   ท่านได้มาบูรณะขึ้นอย่างจริงจัง ปี 2556 ได้รับประกาศตั้งวัดขึ้น  ปี พ.ศ. 2557 ได้รับประกาศวิสุงคามสีมา    โดยมีพระอธิการ เศรฐวุฒิ ปิยวัณโณ เป็นเจ้าอาวาส   ซึ่งผมเคยไปเที่ยว   แล้วได้พักแรมในวัดนี้   ก็มีการทำวัตรเย็น วัตรเช้า   ไปพักที่นี่จึงได้ทั้งธรรมชาติและได้เข้าใกล้วัดด้วย

‘เที่ยวหน้าฝน’ ที่ ภูจันแดง...แห่งศรีเมืองใหม่ เกล็ดหินของหินทราย ในเส้นทางเดินไปเสาเฉลียงภูจันแดง

‘เที่ยวหน้าฝน’ ที่ ภูจันแดง...แห่งศรีเมืองใหม่ เสาหินภูจันแดง

              อย่างที่บอกว่า เที่ยวหน้าฝน แทบทุกพื้นที่ทางภาคอีสานจะดูสวยงาม อากาศเย็นสบายยิ่งมาเจอลานหินทราย โล่งๆ โปร่งๆ ลมพัดเอื่อยๆ แบบนี้ ยิ่งน่ามาเยือน มาสัมผัส

‘เที่ยวหน้าฝน’ ที่ ภูจันแดง...แห่งศรีเมืองใหม่ เมื่อมีฝนตก ร่องธารก็จะเป็นธารน้ำตกทันที 

              หน้าฝนมาแล้ว ฤดูกาลที่ดินแดนอีสานสวยที่สุด  ใครที่ยังไม่เคยมาภูจันแดง ก็อยากให้ลองมาสักครั้ง แล้วจะรู้ว่า สิ่งดีๆที่น่าไปเยือนในบ้านเรานั้น ยังมีอีกมากมายจริงๆ