เที่ยวงานเกษตรแฟร์ 2566 แนะนำการเดินทาง รวมจุดจอดรถใกล้ๆมีที่ไหนบ้าง

เที่ยวงานเกษตรแฟร์ 2566 แนะนำการเดินทาง รวมจุดจอดรถใกล้ๆมีที่ไหนบ้าง

เที่ยวงานเกษตรแฟร์ 2566 ระหว่างวันที่ 3-11 กุมภาพันธ์ 2566 รวบรวมข้อมูลแนะนำการเดินทางทั้งรถส่วนตัวจุดจอดรถใกล้เคียงที่สามารถจอดได้ รวมถึงการเดินทางด้วยรถเมล์หรือบริการขนส่งสาธารณะ 

ชวนเที่ยวงานเกษตรแฟร์ 2566 ระหว่างวันที่ 3-11 กุมภาพันธ์ 2566 ทีมข่าวกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รวบรวมข้อมูลแนะนำการเดินทางทั้งรถส่วนตัวจุดจอดรถใกล้เคียงที่สามารถจอดได้ รวมถึงการเดินทางด้วยรถเมล์หรือบริการขนส่งสาธารณะ 

 

สำหรับงาน "เกษตรแฟร์" ประจำปี 2566 ปีนี้จัดขึ้นภายใต้คอนเซ็ปต์ "80 ปี เกษตรนนทรี นำวิถีใหม่ ไทยยั่งยืน" เริ่มตั้งแต่เวลา 10.00 - 22.00 น. ซึ่งภายในงานมีร้านค้าที่เข้าร่วมจัดแสดงเป็นพันๆร้านค้า และแบ่งโซนอย่างชัดเจนเพื่อให้ง่ายต่อการเยี่ยมชม ดังนี้

- โซน A ตลาดนนทรีวิถีเกษตร (ตลาดบก สินค้าบริโภค ,ตลาดน้ำใหญ่ ตลาดโบราณ) 

- โซน B สีสันตะวันฉาย (ร้านค้า SME OTOP วิสาหกิจชุมชน)

- โซน C เทคโนโลยีสร้างสรรค์ (สินค้าเครื่องจักรกลทางการเกษตรและเทคโนโลยีต่างๆ)

- โซน D สราญรมย์ ชมพฤกษา (ต้นไม้ พันธุ์ไม้ และอุปกรณ์ทางการเกษตร)

- โซน E ฟินสุดหยุดไม่ได้ (ร้านคาเฟ่ อุปกรณ์ตกแต่งบ้าน)

- โซน F รังสรรค์ สู่หรรษา (สัตว์เลี้ยงและอุปกรณ์)

- โซน G ครบเครื่องเรื่องอร่อย (สินค้าเกษตรอุปโภค บริโภค)

- โซน H  Inter นานาชาติ งานวิจัย ร้านค้ามูลนิธิราชวงศ์ (นานาชาติ งานวิจัยมก. ร้านค้ามูลนิธิราชวงศ์ )

- โซน J ของดีทั่วไทย ส่งใจถึงมือ (สินค้าจากหน่วยงานภาครัฐ และ แฟรนไซส์)

- โซน K ระดมชิม ระดมช็อป (สินค้าอุปโภค - บริโภค)

- โซน L สร้างสรรค์เรื่องงานดี (หน่วยงานพันธมิตร มก.เพื่อเกษตรกร)

- โซน Food Truck (2จุด)

- โซน สวนสนุก (4 จุด)

- ศูนย์อาหาร 2จุด ได้แก่ แยกโรงเรียนอนุบาลคหกรรมศาสตร์ , สนามอินทรีจันทรสถิตย์ ติดชมรมดนตรีรวมดาว

- ร้านค้านิสิต 2 จุด

- เวทีการแสดงกลางพื้นที่ลานดาว หอประชุมใหญ่

- ร้านอาหารสโมสรนิสิต 12 จุด

 

เที่ยวงานเกษตรแฟร์ 2566 แนะนำการเดินทาง รวมจุดจอดรถใกล้ๆมีที่ไหนบ้าง

ตารางการแสดงเวทีกลาง ณ พื้นที่ลานดาว หอประชุมใหญ่

 

เที่ยวงานเกษตรแฟร์ 2566 แนะนำการเดินทาง รวมจุดจอดรถใกล้ๆมีที่ไหนบ้าง

 

แนะนำการเดินทาง-จุดจอดรถ

- รถส่วนตัว สามารถนำไปจอดตามอาคารจอดรถส่วนกลางภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ตั้งแต่เวลา 06.00-24.00 น. ดังนี้

  • อาคารจอดรถงามวงศ์วาน 1
  • อาคารจอดรถงามวงศ์วาน 2
  • อาคารจอดรถบางเขน
  • อาคารจอดรถวิภาวดีรังสิต

สามารถตรวจสอบแผนที่อาคารจอดรถ และจำนวนพื้นที่ว่างภายในอาคารได้ผ่าน kuparking (คลิกที่นี่)

จุดจอดรถอื่นๆ

ยูเนี่ยนมอลล์ (Union Mall)

  • ชั่วโมงแรกคิดค่าบริการ 10 บาท
  • ชั่วโมงที่ 2-3 คิดค่าบริการ 20 บาท
  • ชั่วโมงที่ 4-5 คิดค่าบริการ 40 บาท
  • ชั่วโมงที่ 6 คิดค่าบริการ 60 บาท
  • ชั่วโมงที่ 7 คิดค่าบริการ 80 บาท
  • ชั่วโมงที่ 8 คิดค่าบริการ 100 บาท
  • หลังเที่ยงคืนเหมาจ่าย 500 บาท

เซ็นทรัลลาดพร้าว 

  • ชั่วโมงแรกจอดฟรี 
  • 3 ชั่วโมงเหมาจ่าย 20 บาท
  • 4 ชั่วโมงเหมาจ่าย 40 บาท
  • 5 ชั่วโมงเป็นต้นไป คิดชั่วโมงละ 50 บาท
  • ชั้น G ให้จอดฟรี 1 ชั่วโมง ชั่วโมงต่อไปคิดชั่วโมงละ 50 บาท

- เดินทางมายังมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ด้วยบริการสาธารณะ

เดินทางโดยรถไฟฟ้าบีทีเอส

  • ลงที่ สถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยใช้ ทางออกที่ 1  

เดินทางโดยรถไฟฟ้าสายสีแดง (บางซื่อ - รังสิต)

  • ลงที่ สถานีบางเขน โดยใช้ทางออกที่ 8 

เดินทางรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ 

  • ลงที่ สถานีบีทีเอสพญาไท แล้วต่อบทเอสมาลงที่ สถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยใช้ทางออกที่ 1

รถเมล์

  • ฝั่งประตูวิภาวดี สาย 134, 510, 206, 29, 52, 69, 187, 191, 504, 555
  • ฝั่งประตูพหลโยธิน สาย 522, 114, 34, 59, 107, 129, 185, 503, 26, 512, 513, 543, 39, 39, 524, 126
  • ฝั่งประตูงามวงศ์วาน สาย 63, 144, 522, 24, 104, 177, 34, 528, 545

แนะนำจุดเช็กอิน ภายในงานเกษตรแฟร์ จำนวน 7 จุด แต่ละจุดจะมีการแสดงโมเดลคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ 3 มิติที่สื่อความหมายต่างๆกัน

จุดที่ 1 สระน้ำหอประชุม โมเดลพญานาคสามมิติ เพื่อสื่อถึง “เกษตรศาสตร์ก้าวสู่โลกอนาคต และความอุดมสมบูรณ์” ซึ่งพญานาคอยู่บนเครื่องหมายทางราชการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ “พระพิรุณทรงนาค” เทพแห่งฝนที่ทรงนำความสมบูรณ์มาให้แก่พืชพรรณธัญญาหาร”

จุดที่ 2 สามบูรพาจารย์ โมเดลหมากรุกสามมิติ เพื่อสื่อถึง กลยุทธ์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในการวางแผนอนาคตของประเทศไทยด้านการเกษตรสมัยใหม่ ผู้เดินหมากตัวแรก คือ สามบูรพาจารย์

จุดที่ 3 The Premium @KU ร้านค้า The Premium @ KU เป็นก้าวแรกในการขับเคลื่อนนโยบายเชิงรุก KUniverse ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ส่งเสริมสนับสนุนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมผ่านสินค้าเกษตรคุณภาพสูงและบริการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทยตาม BCG Model ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการเกษตรและอาหารคุณภาพของภูมิภาคเอเชียและของโลก โดยมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลสมัยใหม่ เช่น เทคโนโลยี XR หรือ Extended Reality ซึ่งเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงที่รวมเทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน (Virtual Reality-VR) ความเป็นจริงเสริม (Augmented Reality–AR) และ มิกซ์เรียลริตี้ (Mixed Reality–MR) เข้าด้วยกัน มาช่วยในการบริหารจัดการร้านค้า เพื่อเพิ่มช่องทางการเข้าถึงเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการให้กับลูกค้าได้อย่างเหนือจินตนาการ

นอกจากนี้ เทคโนโลยีเสมือนจริงบนโลกออนไลน์ ยังสามารถเชื่อมโยงผลิตภัณฑ์ ผลผลิตของชุนชน เกษตรกร Smart farmer, AgriPrenuer และ SME ได้ง่าย มีต้นทุนต่ำ สร้างการกระจายรายได้สู่ชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างชุมชนเข้มแข็งสู่พัฒนาที่ยั่งยืนอีกด้วย

จุดที่ 4 KU Milk  (ตำแหน่งใกล้กับโรงนม KU Milk) ศูนย์ผลิตภัณฑ์นม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก้าวขึ้นสู่ปีที่ 60 วางยุทธศาสตร์การดำเนินงานสำคัญในปี 2565 เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนนโยบายเชิงรุก KUniverse ตั้งเป้าเป็น Holding Company มุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ครอบคลุมผู้บริโภคทุกกลุ่ม ปรับปรุงกระบวนการทางธุรกิจสู่เป้าหมายการเติบโตอย่างยั่งยืน เน้นพัฒนาเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจตาม S-curves BCG Model สอดคล้องวิสัยทัศน์มหาวิทยาลัยแห่งการเรียนรู้วิจัยและสร้างนวัตกรรมระดับโลก

จุดที่ 5 แยกหอหญิง (บริเวณที่จะก่อสร้างคณะแพทยศาสตร์ และ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์)  แสดงโมเดลสามมิติของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่กำลังจะก่อสร้าง จัดตั้งขึ้นเพื่อการเรียนการสอน วิจัย เพื่อการผลิตแพทย์ และให้บริการทางการแพทย์ แก่ประชาชนในบริบทของเวชศาสตร์การเกษตรและชีวนวัตกรรม (Agro-Medicine and Bio-Innovation) และมุ่งหวังเป็นศูนย์กลางการให้บริการทางการแพทย์ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทยอย่างยั่งยืน

จุดที่ 6 บริเวณลานโล่งหน้าอาคารชูชาติ กำภู คณะวิศวกรรมศาสตร์ แสดงประติมากรรมสำหรับแสดงความเป็นจริงเสริมในระหว่างงานเกษตรแฟร์ ในชื่อคอนเซปต์ “Upside-down gateway จุดเชื่อมสู่โลกใหม่” ที่ต้องการสื่อให้เห็นความเจริญรุ่งเรืองในอนาคตบนรากฐานความมั่นคงของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

จุดที่ 7 ลานระเบียง ชั้น 2 อาคารวิฑูรย์ หงส์สุมาลย์ ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ แสดงการตกแต่งไฟสำหรับแสดงความเป็นจริงเสริม ในชื่อคอนเซปต์ “ขึ้นตึกเก่า เห็นโลกใหม่” ที่ต้องการสื่อให้เห็นว่า จากนี้ไป โลกจริงและโลกเสมือนไปด้วยกันได้

 

ข้อมูลประกอบจากเว็บไซต์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์