สำรวจพื้นที่ “สยามสแควร์” โฉมใหม่ปี 2565 มีอะไรน่าสนใจบ้าง?

สำรวจพื้นที่ “สยามสแควร์” โฉมใหม่ปี 2565 มีอะไรน่าสนใจบ้าง?

หลังจากโลกโซเชียลได้แชร์ภาพพื้นที่ “สยามสแควร์” ที่ถูกรีโนเวทใหม่ให้มีความเป็น walking street กลางเมือง แต่หลายคนอาจงงกันบ้างว่า ตรงไหนมีอะไรบ้าง “กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” ชวนไปสำรวจพื้นที่สยามสแควร์โฉมใหม่ปี 2565

หากถามถึงแลนด์มาร์กในกรุงเทพฯ สำหรับวัยรุ่นแล้วคงหนีไม่พ้น “สยามสแควร์” แหล่งช้อปปิ้งสตรีทแนวราบที่ตอบสนองต่อไลฟ์สไตล์ของเหล่าวัยรุ่น ทั้งยังเป็นการรวบรวมแหล่งเรียนรู้ สันทนาการและความบันเทิง ร้านอาหาร และธุรกิจบริการต่างๆ ทำให้พื้นที่ตรงนี้กลายเป็นประสบการณ์และความทรงจำของใครหลายคน 

  รู้จัก "สยามสแควร์" พื้นที่เชิงพาณิชย์ของ "จุฬาฯ"  

สำหรับ “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” เป็นสถานศึกษาที่มีพื้นที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง และมีอาณาเขตกว้างถึง 1,153 ไร่ โดยแบ่งเป็นพื้นที่ตามวัตถุประสงค์ได้ 3 ส่วน คือ ส่วนของสถานศึกษา ส่วนของพื้นที่ปล่อยเช่าให้สถานที่ราชการ และสุดท้าย คือ ส่วนของพื้นที่เชิงพาณิชย์

สยามสแควร์ เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่เชิงพาณิชย์ของจุฬาฯ มีเนื้อที่ไม่ต่ำกว่า 370 ไร่ โดยมีการพัฒนาและบริหารโดย สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ​  (PMCU) โดยย่านช้อปปิ้งสตรีทแนวราบใจกลางกรุงแห่งนี้ ตั้งอยู่เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ มีเนื้อที่ทั้งหมด 63 ไร่ ครอบคลุมตั้งแต่หัวมุมถนนพญาไท จนถึงหัวมุมถนนอังรีดูนังต์ 

ความพิเศษของพื้นที่ตรง คือ สถานที่ไอคอนนิคด้านแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ของใครหลายคน โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น จากการเป็นแหล่งรวมพื้นที่การเรียนรู้ ความบันเทิง ร้านอาหารและ ธุรกิจบริการอื่นๆ จึงกลายเป็นหนึ่งในจุดศูนย์รวมความสร้างสรรค์อันโดดเด่น 

นอกจากการพัฒนาพื้นที่เองของ PMCU แล้ว ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ยังได้มีการเปิดให้เอกชนหลายเจ้าเข้ามาร่วมพัฒนาและบริหารพื้นที่ด้วย เช่น เซ็นทรัลพัฒนา (CPN), ลิโด้ คอนเน็คท์, ทิพย์พัฒน อาเขต และกลุ่มแอคคอร์โฮเทล 

  ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับ “สยามสแควร์โฉมใหม่”  

อย่างไรก็ตาม เมื่อยุคสมัยผ่านไป ความเปลี่ยนแปลงจึงต้องเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองความนิยม เช่นเดียวกับ สำนักงานทรัพย์สิน จุฬาฯ ที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลง โดยในปี 2565 หากใครได้แวะเวียนไปสยามฯ คงได้พบเห็นถึงความแตกต่างที่เกิดขึ้นแล้ว อาทิ ตึกสูงสีส้มอิฐที่ผุดขึ้นตรงข้ามกับเอ็มบีเค ลานกิจกรรมที่เพิ่มขึ้นมา ทัศนียภาพที่สะอาดตาขึ้นจากการนำสายไฟลงใต้ดิน และรายละเอียดอื่นๆ 

จากการรีโนเวทพื้นที่ใหม่ รวมถึงกิจกรรมที่ถูกจัดขึ้น อย่าง การแสดงดนตรี ทำให้เกิดเป็นกระแสในโลกโซเชียล จนใครหลายคนทั้งที่เคยมาแล้วบ้าง หรือยังไม่เคยมา อาจกำลังวางแผนไปใช้เวลาว่างเสาร์-อาทิตย์ที่สยามฯ  “กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” จึงอยากพาทุกคนสำรวจพื้นที่สยามสแควร์โฉมใหม่ว่า ทุกวันนี้เป็นอย่างไร และมีอะไรน่าสนใจบ้าง

  • สยามสแควร์วัน    

สยามสแควร์วัน ศูนย์การค้ารูปแบบช้อปปิ้งสตรีทแนวตั้งสูง 7 ชั้น ที่เชื่อมระหว่างขนส่งสาธารณะอย่าง รถไฟฟ้า BTS และพื้นที่ใจกลางสยามสแควร์ โดยเป็นอาคารที่ถูกวางให้เป็น “Urban Shopping Center” ทำให้มีลักษณะเป็นห้างสรรพสินค้า ขณะเดียวกันก็เป็นพื้นที่เพื่อไลฟ์สไตล์ของคนเมือง ร้านค้าในสยามสแควร์วันจึงอัดแน่นไปด้วยความหลากหลาย ตอบสนองความต้องการทั้งด้านแฟชั่น ความงาม ศิลปะ อาหาร หรือนวัตกรรม เป็นต้น 

ไฮไลท์ที่สำคัญของสยามสแควร์วัน เช่น โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ (KBank Siam Pic-Ganesh) ความร่วมมือระหว่างเวิร์คพอยท์และธนาคารกสิกรไทย ตั้งอยู่บริเวณชั้น 7 โดยเป็นโรงละครที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของกรุงเทพฯ รองจากโรงละครเมืองไทยรัชดาลัยเธียร์เตอร์ ที่ตั้งอยู่ในเอสพลานาด รัชดา

นอกจากนี้ ยังรวบรวม Flagship store ของแบรนด์ดังเอาไว้ อาทิ หมวดแฟชั่นอย่าง Onitsuka Tiger, SKECHERS, Fila, Adidas และ Gentle Woman หรือร้านกาแฟระดับพรีเมียมอย่าง Starbuck ที่เปิดถึง 3 ชั้นในสาขานี้ เป็นต้น  

อย่างไรก็ตาม สยามสแควร์ในปี 2565 ไม่ได้การเปลี่ยนรูปแบบอะไรมากนัก เพียงอาจจะเปลี่ยนร้านค้าภายในบ้าง แต่ยังคงความเป็นศูนย์การค้าแห่งไลฟ์สไตล์ไว้เช่นเดิม 

  • สยามสเคป

สยามสเคป แลนด์มาร์กใหม่แห่งสยามสแควร์ มาพร้อมคอนเซ็ปท์ “การเรียนรู้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด” (Lifelong Learning)  โดยพื้นที่ของอาคารเป็นแบบมิกซ์ยูสสูง 25 ชั้น ประกอบไปด้วย อาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า และพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ ซึ่งคาดว่าในอนาคตศูนย์การเรียนต่างๆ ที่อยู่สยามกิตต์จะถูกย้ายมาอยู่ที่นี่ นอกจากนั้น ยังเป็นพื้นที่จอดรถที่สำคัญหรือ “Parking Node” ตอบสนองต่อการเป็น Walking & Shopping Street ของสยามฯ 

ไฮไลท์ที่สำคัญของสยามสเคป สิ่งแรกคือ การออกแบบตัวอาคารร่วมสมัย สร้างความโดดเด่นในบริเวณนั้น ต่อมาคือ การเป็นพื้นที่การเรียนรู้ อาทิ การเป็นที่ตั้งของ สถาบันการศึกษาวิทยาการหุ่นยนต์ ระดับโลก จากสหรัฐอเมริกา CODING & Robotics สาขาแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือบริเวณชั้น 10 ของอาคารที่เรียกว่า “Sky Scape” พื้นที่รองรับการจัดกิจกรรมแบบเอาท์ดอร์ที่ทันสมัยตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ 

ยังไม่หมดเพียงเท่านั้น บริเวณโถงบันไดเลื่อนชั้น 4-7 ยังถูกตกแต่งด้วยงาน Installation Art โดยเป็นการชิ้นส่วนขนาดเล็กรูปทรงสามเหลี่ยม ผิววัสดุสะท้อนบนพื้นผิวสีดำเงา จำนวน 8803 ชิ้น ในพื้นที่ขนาดความสูงรวม 20 เมตร ซึ่งจากเทคนิคการจัดเรียงจะทำให้ผู้รับชมสามารถรับรู้ถึงความแตกต่างของมิติของภาพ แสงตกกระทบ และสีของวัตถุ ตามระยะและทิศทางการมอง ทั้งหมดนับเป็นความน่าสนของอาคารแห่งนี้

  • สยามกิตต์ 

สยามกิตต์ อาคารบนโครงการพัฒนาพื้นที่ Block L ของสยามฯ  ตั้งอยู่บริเวณสยามสแควร์ซอย 7 ตรงข้ามโรงแรมโนโวเทล สยามสแควร์ ใกล้ทางออกถนนอังรีดูนังต์ หรือหลายคนอาจจะคุ้นเคยกันในการเป็นที่ตั้งของแหล่งเรียนพิเศษ แต่นอกจากนี้ ยังมีธนาคารและร้านค้าอื่นๆ ให้บริการด้วย เช่น ร้านอาหาร หรือร้านค้าอุปกรณ์การเรียน เป็นต้น อีกทั้งบริเวณชั้น 5-10 ยังเป็นจุดจอดรถที่สำคัญ โดยรองรับรถยนต์ของผู้ใช้บริการในอาคารและพื้นที่สยามฯ  ราว 800 คัน 

ความเปลี่ยนแปลงของอาคารแห่งนี้อาจมีไม่เยอะนักเท่ากับพื้นที่อื่นๆ ในสยามฯ อย่างไรก็ตาม พื้นที่แห่งนี้กำลังจะถูกพัฒนาไปเป็นโรงแรงระดับ 3 ดาว ซึ่งคาดว่ามีห้องพักจำนวน 300 ห้อง ทำให้ที่เรียนพิเศษมีแผนถูกย้ายไปอยู่ที่สยามสเครปตามที่กล่าวไปก่อนหน้า 

  • วิทยกิตติ์

อาคารวิทยกิตติ์ ตั้งอยู่บนถนนจุฬาฯ 64  ติดกับคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ โดยฟังก์ชันของอาคารแห่งนี้มีความคล้ายคลึงกับอาคารสยามกิตติ์ โดยมีสถาบันภาษา กวดวิชา และร้านค้าต่างๆ ที่อำนวยความสะดวกคนที่ใช้อาคารนี้ แต่อาจไม่เป็นที่รู้จักมากเท่าสยามกิตติ์  เนื่องจากอาคารแห่งนี้เป็นพื้นที่สำนักงานของทั้งองค์กรในจุฬาฯ และเอกชนที่เข้ามาเช่าพื้นที่ เป็นส่วนใหญ่ 

อย่างไรก็ตาม อาคารแห่งนี้ก็มีไฮไลท์ที่สำคัญอย่าง สถานบันสอนภาษา British Council และศูนย์หนังสือจุฬาฯ สาขาสยามฯ ทำให้มีอีกชื่อว่า ตึกศูนย์หนังสือจุฬาฯ 

  • โรงแรมโนโวเทล 

โรงแรมโนโวเทล หรือ Novotel Bangkok on Siam Square ตั้งอยู่บริเวณหัวมุมที่ตัดกันระหว่างสยามสแควร์ ซอย 6 และซอย 7 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาบนพื้นที่ Block L สยามฯ เช่นเดียวกับสยามกิตติ์ 

ธุรกิจโรงแรมมีหุ้นส่วนเจ้าของคือ จิตติมาศ เกตุวรวิทย์ และเดวิด เซ แต่ได้ให้ Accor Hotels  ซึ่งเป็นหนึ่งในเครือโรงแรมที่ใหญ่ที่สุดในโลก เข้ามาบริหารกิจการโรงแรม มีอายุสัญญาสัมปทานเช่าพื้นที่กับทาง PMCU ในระยะยาวร่วม 20 ปี มูลค่ากว่า 2,778 ล้านบาท โดยสัญญาล่าสุดจะสิ้นสุดในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2577 หรืออีกประมาณ 12 ปีต่อจากนี้

  • เซ็นเตอร์พ้อยท์  

เซ็นเตอร์พ้อยท์ หรือที่เคยเรียกกันอีกชื่อว่า ดิจิทัลเกตเวย์ พื้นที่รูปตัว T ตั้งอยู่ขนาบกับสยามสแควร์วัน เชื่อมระหว่างรถไฟฟ้า BTS สถานีสยาม และพื้นที่ใจกลางสยามฯ โดยทาง PMCU ได้ให้สิทธิ์พัฒนาพื้นที่กับ ทีซีซี แลนด์ แอสเสท เวิร์ด ตั้งแต่ปี 2550

พื้นที่ตรงนี้เป็นแหล่งรวมร้านค้าที่หลายประเภท เช่น ร้านเสื้อผ้า ร้านอาหาร ร้านเครื่องสำอาง ร้านบริการด้านความงาม และอื่นๆ เพื่อดึงดูดกลุ่มเป้าหมายที่เป็นวัยรุ่นและวัยเริ่มทำงาน หรือช่วงอายุ 15-30 ปี โดยทางแอสเสท เวิร์ด พัฒนาและบริหารพื้นที่ให้ผู้ค้ารายอื่นเข้ามาดำเนินการค้า ในพื้นที่เช่าที่มีอยู่ 4,600 ตารางเมตร 

สำหรับร้านค้าที่นับว่าเป็นไฮไลท์ คงต้องยกให้ True Coffee Flagship Store at Center Point of Siam Square คาเฟ่พื้นที่ขนาด 2 ชั้น โดยเป็นร้านรูปแบบใหม่ที่นำนวัตกรรมด้านกาแฟ มาใช้ผสมผสานกับการให้บริการโดยพนักงานและบาริสต้าอย่างลงตัว ในรูปแบบเทคโนโลยีแห่งอนาคต เพื่อสร้างบรรยากาศร้านให้เป็น “Roastery & Bakery Cafe” เต็มรูปแบบ

อย่างไรก็ตาม เซ็นเตอร์พ้อยท์ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรที่เป็นไฮไลท์มาก นับตั้งแต่ถูกรีโนเวทในปี 2558 ด้วยทุนมากกว่า 100 ล้านบาท โดยมีเพียงการเปลี่ยนแปลงของผู้เช่าและการใช้งานของพื้นที่บ้างเท่านั้น

  • ลิโด้ คอนเน็คท์

พื้นที่ ลิโด้ คอนเน็คท์ หรือที่ตั้งเดิมของโรงหนังลิโด โรงหนังสแตนด์อโลนเครือ Apex  แต่เมื่อปี 2561 อายุสัญญาสัมปทานระหว่าง PMCU และ Apex สิ้นสุดลง ทาง PMCU จึงได้มีการให้สิทธิ์สัมปทานพัฒนาและบริหารพื้นที่กับเอกชนรายใหม่ในปี 2562 นั่นก็คือ บริษัท ลิโด้ คอนเน็คท์ จำกัด 

บริษัทดังกล่าว เป็นการร่วมทุนระหว่างค่ายเพลง LOVEiS Ent. ในสัดส่วน 70% และผู้ถือหุ้นรายย่อยอื่นอีกในสัดส่วน 30% โดยสัญญาระหว่าง Lido Connect กับ PMCU นั้นมีระยะเวลาร่วม 5 ปีในเบื้องต้น คาดว่าสัญญาดังกล่าวจะสิ้นสุดลงในช่วงปี 2566 

โรงหนังลิโด ถูกปรับโฉมใหม่กลายเป็น ลิโด้ คอนเน็คท์ (Lido Connect) พื้นที่คอมมูนิตี้สำหรับเรื่องดนตรี ศิลปะ วัฒนธรรม ความคิดสร้างสรรค์ หรือนวัตกรรมต่างๆ หรือที่เรียกว่า Co-Cultural Space ตอบสนองต่อการมาใช้พื้นที่ของสายศิลปะในแขนงต่างๆ 

อย่างไรก็ตาม ทางผู้พัฒนายังคงมีความตั้งใจที่จะเก็บเอกลักษณ์ของโรงหนังลิโดไว้อยู่ โดยการตกแต่งพื้นที่ภายนอกที่ยังคงให้ภาพเดียวกันกับโรงหนังลิโดในปลายยุค 60 สมัยที่ยังเป็นโรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่เพียงโรงเดียว
 

  • พื้นที่ Block A

พื้นที่ Block A หรือพื้นที่โรงหนังสกาลาและบริเวณโดยรอบ ขนาดประมาณ 7 ไร่ 31 ตารางวา ติดกับทางออกฝั่งถนนพญาไท ซึ่งเป็นพื้นที่ล่าสุดที่ทาง PMCU ได้พิจารณาให้สิทธิ์กับเอกชนในการพัฒนาพื้นที่ โดยผู้ได้สิทธิ์คือบริษัท เซ็นทรัล พัฒนา จำกัด (มหาชน) เป็นการได้สิทธิ์สัมปทานเช่าพื้นที่ด้วยระยะเวลา 30 ปี มูลค่ารวมไม่ต่ำกว่า 5,902 ล้านบาท คาดว่าสัญญาดังกล่าวจะสิ้นสุดในช่วงปี 2594 

ปัจจุบัน พื้นที่แห่งนี้กำลังอยู่ในช่วงก่อสร้าง โดยคาดว่าจะมีรูปแบบเป็นอาคารมิกซ์ยูส สูงไม่ต่ำกว่า 20  ชั้น ประกอบด้วยส่วนของโรงแรมระดับ 3-4 ดาว จำนวน 200-300 ห้อง ศูนย์การค้า และสำนักงาน รวมแล้วคาดว่าจะใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จอาคารนี้จะกลายเป็นอีกหนึ่งแลนมาร์กที่สำคัญของสยามฯ 

แม้ว่าจะมีทั้งอาคารที่เปลี่ยนแปลงไปและยังคงเหมือนเดิม อย่างไรก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงที่เป็นไฮไลท์ของสยามฯ คือ การปรับปรุงภูมิทัศน์ครั้งใหญ่ ความรู้สึกของผู้คนที่ได้มีโอกาสเดินสยามสแควร์ซอย 7 หรือซอยตรงกลางใจกลางสยาม ในปีนี้คงต่างจากเมื่อก่อนเป็นไหนๆ  ทั้งการนำสายไฟลงใต้ดิน อาคารหน้าตาทันสมัยที่ผุดขึ้น 

สิ่งที่สำคัญอีกประการ คือ การจัดผังของพื้นที่ใหม่ ที่ทำให้มีพื้นที่สาธารณะ (Public space) มากขึ้น เอื้อต่อการเข้ามาจัดกิจกรรมที่สร้างสรรค์ อาทิ การตั้งวงดนตรี หรือการแสดงโชว์ในรูปแบบอื่นๆ จากผู้คนหลากหลายกลุ่ม ดึงดูดให้ใครหลายคนเข้ามาเสพงานสร้างสรรค์ต่างๆ เสมือนเป็นการพักผ่อนอีกรูปแบบหนึ่ง ทำให้สยามสแควร์โฉมใหม่ในปี 2565 นี้ นอกจากจะมีความสวยงามในแง่ของสถาปัตยกรรมและภูมิทัศน์แลัว ยังกลายเป็นสถานที่ช่วยผ่อนคลายสภาพชีวิตคนเมืองได้ไม่น้อยเลยทีเดียว 

-----------------------------------------------

อ้างอิง

มติชนออนไลน์ , สำนักงานทรัพย์สินจุฬาฯ , Fuse LivingPopTop Koaysomboon , Think of Living