‘เอนก นาวิกมูล’ ครบรอบ 72 ปี ชวนเที่ยว ‘บ้านพิพิธภัณฑ์’ 2

ไม่บ่อยนัก ที่นักเล่าเรื่อง อย่าง ‘เอนก นาวิกมูล’ จะมาเล่าเรื่องชีวิตตัวเองให้ฟัง พร้อมชวนไปงานครบรอบ 72 ปี ที่บ้านพิพิธภัณฑ์ 2 ในวันเสาร์ที่ 15 มี.ค. 68 นี้
วันศิลปินแห่งชาติ ตรงกับวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ร้านหนังสือริมขอบฟ้า จึงได้จัดงาน วรรณศิลป์ 2563 เอนก นาวิกมูล เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2568 เพื่อให้นักเขียนและนักอ่านได้มาพบปะกัน
เอนก นาวิกมูล ได้เป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณกรรม พ.ศ. 2563 มีผลงานตีพิมพ์เป็นรูปเล่มหนังสือมากมาย 200 กว่าเล่ม
เป็นผู้ก่อตั้ง บ้านพิพิธภัณฑ์ 1 (ถนนศาลาธรรมสพน์ ซอยทวีวัฒนา) และ บ้านพิพิธภัณฑ์ 2 (ตลาดงิ้วราย อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม) ด้วยทุนส่วนตัว ไม่มีเงินเดือน หรือได้รับการสนับสนุนใด ๆ จากภาครัฐ
เขากับภรรยาและลูกสาวสองคน ช่วยกันจัดการบ้านพิพิธภัณฑ์ ออกแบบ ทำโปสการ์ดจำหน่าย เพื่อเก็บรักษาของเก่าล้ำค่าไว้ให้คนรุ่นหลังได้มาชม
"เดี๋ยวนี้คนไม่ค่อยนึกถึงส่วนรวม เราต้องการคนทำงานเพื่อส่วนรวม" เขาเคยพูดไว้
- โลกในอดีตช่างสวยงาม
เสวนาในวันนี้เริ่มต้นขึ้นด้วยประโยคที่ว่า... ผมเกิดที่ อ.ระโนด จ.สงขลา พ.ศ. 2496 เป็นบ้านไม้ ที่บ้านขายหนังสือ และเครื่องใช้ไม้สอย เสื้อผ้า มันก็คือสรรพสินค้านั่นล่ะ
"ทำให้เราคุ้นเคยกับสิ่งพวกนี้มาตั้งแต่เด็ก พ่อผมชอบเก็บของด้วย ก็ยิ่งสนุกใหญ่เลย ผมชอบอ่านหนังสือ โดยอัตโนมัติ ทั้งปกแข็ง ปกอ่อน การ์ตูน หนังสือวัดเกาะ หนังสือนิยาย แล้วตามฝาผนังบ้านก็มีกรอบรูปถ่ายเก่า ๆ แขวนอยู่ ทำให้เราสนใจเรื่องภาพเก่า"
Cr. Kanok Shokjaratkul
บ้านของเอนก นาวิกมูล ที่ขายหนังสือ เครื่องใช้ เสื้อผ้า
ศิลปินแห่งชาติ เล่าเรื่องสลับกับการฉายภาพขึ้นจอให้ผู้ร่วมงานได้รับชม พร้อมกับอธิบายที่มาของแต่ละภาพ
"นี่คือภาพ ที่ว่าการอำเภอระโนด คนระโนดร่วมมือร่วมใจกันช่วยกันสร้างใหม่ขึ้นมา เพราะอาคารไม้หลังเก่าร้อยกว่าปี มันทรุดโทรมแล้ว รู้สึกภูมิใจมากที่เราสร้างที่ว่าการอำเภอกันมาได้ ตอนนี้ก็ยังอยู่
นี่คือภาพที่ผมชอบ เวลาหน้าน้ำ น้ำท่วมโดยธรรมชาติ เรียกว่าน้ำพลัด บ้านผมชอบลงเรือไปกินกลางทุ่ง ทำให้ผมสนใจเรื่อง เที่ยวทุ่ง เพราะได้ไปเที่ยวแบบนี้กับผู้ใหญ่
นี่คือหนังสือเล่มสำคัญที่ผมสนใจ หนังสือวัดเกาะ ที่บ้านผมมีเต็มตู้เลย เพราะสั่งมาขาย รูปนี้เป็นภาพ เพลงขอทาน เรื่องลักษณวงศ์เล่มสอง หาเล่มหนึ่งไม่ได้ เขาใช้กระดาษสีมาพิมพ์ปกให้มันเกิดสีสัน
นี่คือหนังสือ ผีอีนาก เล่มสาม เขียนไว้ว่า "เรื่องลึกลับ น่าหวาดเสียวมาก ควรซื้อควรอ่าน แต่อย่ายืมเขาอ่าน น่ารังเกียจ ซื้อเอาเองดีกว่า ราคาเล่มละสิบสตางค์"
ผมชอบสำนวนนี้มาก ตีกันว่าให้ซื้อหน่อย อย่าไปยืมเขาอ่าน ไม่งั้นคนพิมพ์อุตส่าห์พิมพ์แทบตายก็ไม่ได้ตังค์ ในยุคนั้นคนมักจะนึกว่าหนังสือมีไว้แจก เพราะมิชชันนารีพิมพ์หนังสือไว้แจก แล้วหนังสืองานศพก็แจกกัน
Cr. Kanok Shokjaratkul
สมุทรโฆษคำฉันท์ ปี 2511 ผมอ่านตั้งแต่เด็ก มีเรื่อง ช้างแกลบ ช้างค่อม อ่านแล้วชอบมาก วิทยุเอาไปแปลงเป็นบทสนทนาวิทยุ เล่าเรื่องช้างที่มีขนาดเล็กผิดปกติ อยู่ทางเหนือทะเลสาบสงขลา แล้วก็ถูกฆ่าตายหมด สูญพันธุ์ไปเลย
ผมเขียนเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2522 จนป่านนี้ยังพูดถึงอยู่ เราขาดแคลนนักโบราณคดี ขุดไดโนเสาร์มาได้เยอะแยะ แต่ไม่มีใครขุด ช้างแคระ เลย ซึ่งต้องมานั่งชำระกัน ก็ฝากไว้ด้วย"
ศิลปินแห่งชาติ ให้ข้อคิดต่อว่า การสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ล้วนมาจากสิ่งที่มีอยู่
"เป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะเก่งกาจขึ้นมา เราต้องอาศัยคนเก่า ๆ ทำอะไรให้เราดูทั้งนั้น
หนังสือเล่มนี้ชื่อภาษาภิรมย์ ครูเหมเวชกรเขียนภาพประกอบ พอตกเย็นเพื่อนเตะฟุตบอล ผมชอบไปอ่านหนังสือที่ห้องสมุด ก่อนกลับบ้าน ได้ซึมซับเรื่องเก่าไว้เยอะ
คนมักรื้อบ้านเก่าออกเป็นบ้านตึก เราจะอนุรักษ์ไว้อย่างไรได้ ที่จริง เทศบาลหรือส่วนกลางต้องช่วยรักษาบ้านเก่า ๆ ไว้ด้วยเป็นตัวอย่าง เป็นนโยบายสำคัญที่รัฐบาลต้องสนใจ"
สิ่งที่สำคัญมากสำหรับการเก็บข้อมูลหรือเก็บเรื่องราว คือ การถ่ายรูป เขาว่าไว้อย่างนั้น
เรือจากระโนดที่วิ่งไปสงขลา
"ถ้าไม่ถ่ายรูป เราก็ไม่สามารถสื่อสารให้ชัดเจนได้ ว่าหน้าตาบ้านที่นั่นเป็นยังไง เรือด่วนที่วิ่งจากระโนดไปสงขลาหน้าตายังไง นี่ผมถ่ายไว้ตั้งแต่ปี 2520 เรือเริ่มหมดแล้ว ขึ้นเรือตอนหนึ่งทุ่มไปถึงสงขลาตีห้า"
มีความฝันก็ไม่ได้สานต่อ เพราะหลงใหลไล่ตามของเก่าที่มีมากมายหลายประเภท
"ชีวิตวัยเด็กสนุกดี ได้เห็นสิ่งที่ไม่ได้เห็นแล้วในปัจจุบัน พ่อผมชอบประดิษฐ์ เก็บฟิล์มหนังไว้ แล้วเอากระบอกไฟฉายมาสวมเลนส์เข้าไป มีกล่องไม้น้ำมันตราสามทหาร แล้วก็ฉายภาพ ทำให้เราสนใจเรื่องภาพเก่า ทำสมุดภาพ เอาภาพที่ชอบมากมาจากหนังสือวิทยาศาสตร์ เช่น ภาพไดโนเสาร์ มาตัดแปะลงไป
Cr. Kanok Shokjaratkul
ผมอยากเป็นนักเขียนมาตั้งแต่เด็ก ตอน ป. 3-4 สมัยนั้นนักเรียนทุกคนอ่านหนังสือชัยพฤกษ์กันเยอะ ผมส่งเรื่องสั้นไปประกวดได้ที่หนึ่ง
ช่วงเรียนมัธยม หนังสือสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ หรือ ชาวกรุง มีข้อเขียนของอาจารย์ น. ณ ปากน้ำ เราก็ไปซื้อหนังสือของท่านมาอ่าน แล้วก็ประทับใจศิลปวัฒนธรรมต่าง ๆ
พบว่า จิตรกรรมฝาผนัง ถูกรื้อทำลายไปเยอะ ก็อยากมาเห็น เป็นห่วงมาก พอขึ้นมาเรียนที่กรุงเทพ ก็มาถ่ายเก็บไว้บ้าง
ก็อาศัยหนังสืออาจารย์ น. ณ ปากน้ำ ออกสำรวจปี 2515 ถ่ายรูปด้วยกล้องโกดักยุค 2497 ใช้ฟิล์ม 120 นี่คือภาพแรกในชีวิต มี 12 รูป ภาพงานเข้าพรรษา สมัยนั้นมีช้างด้วย
ภาพถ่ายภาพแรกที่ เอนก นาวิกมูล ถ่าย
นี่เป็นจดหมายของอาจารย์ น. ณ ปากน้ำ เป็นสิ่งมีค่าสำหรับผม ผมเขียนไป อาจารย์ก็ตอบมา เป็นที่ระลึก
ในที่สุดผมก็ได้ไปเจออาจารย์ น. ณ ปากน้ำ ตัวจริง ที่ศูนย์สังคีตศิลป์ ตอนนั้นผมเป็นลูกจ้างพิเศษ แล้วได้ไปช่วยที่เมืองโบราณ ติดตามอาจารย์ไปสำรวจ ไปสัมภาษณ์นายหนังตะลุง
สมัยก่อนคนไม่สนใจศิลปินพื้นบ้านมากนัก หนังตะลุงมีบทกลอนไหว้ครู ผมก็อยากรู้ว่าครูในบทกลอนมีประวัติยังไง ปี 2517-18 ก็ลงไปเช็คดู แถบสทิงพระ ก็ได้ประวัติมาเยอะ
การออกชื่อครูที่เป็นคนจริง ๆ แทนที่จะไหว้แต่พระอิศวร พระฤษี หรือพ่อแม่ ก็ใส่ชื่อครูเข้าไปด้วย ผมก็ตามรอยชื่อครู จนได้รู้จักครูที่ตัดหนังตะลุงเก่า ไอ้เท่ง นี่ ครูจ้วน ครูขุด เป็นคนตัดขึ้นมา ในยุครัชกาลที่ 4-5-6
ฝ่ายแม่เพลงพ่อเพลงก็ล้มหายตายจากไปเยอะ ผมก็อยากจะรู้ประวัติ ด้วยความเป็นห่วง ก็ออกไปสัมภาษณ์ ยายทองอยู่ แล้วไปเจอ เพลงขอทาน มันร้องยังไงแน่ ตีโทน กรับ ฆ้อง ฉิ่ง ไปด้วยหลายอย่าง เราได้พบคนที่ร้องเพลงขอทานที่ดีที่สุด ป้าสำอางค์ เวลาเข้าคู่กับหวังเต๊ะ ก็สนุก แล้วก็มาเจอ ยายทองหล่อ ยายทองอยู่"
สมัยก่อนการบันทึกภาพ เสียง และข้อมูลก็ไม่สะดวกสบาย แสดงว่าคนทำต้องมีใจรักจริง ๆ
"การเก็บข้อมูลสมัยก่อน ใช้พิมพ์ดีดเท่านั้น พิมพ์ลงบัตรกระดาษแข็ง เอามาลำดับเวลา แล้วพิมพ์ลงกระดาษ A4 พอมีคอมพิวเตอร์ก็เอามาพิมพ์อีกครั้ง ยุ่งยากมาก ตอนนี้ก็ยังทำไม่เสร็จ
ที่สำคัญ เวลาทำอะไร ต้องจด อย่าคิดว่าจำได้ ถ้าเราไม่จด ป่านนี้ก็ยังหาไม่เจอ เพราะว่ามันจำไม่ได้ ต้องจดลงสมุด หรือเป็นภาพ ก็ต้องสเก็ตช์ไว้คร่าว ๆ เพื่อให้จำได้"
ปัจจุบัน ไม่ค่อยมีของเก่าให้คนรุ่นหลังได้เห็นแล้ว คนรุ่นใหม่ ไม่เห็นค่าของเก่า
"เวลาไปสำรวจวัดต่าง ๆ เดี๋ยวนี้วัดเปลี่ยนไปเยอะ เจ้าอาวาสไม่เข้าใจเรื่องสุนทรีย์ เรื่องการออกแบบบริเวณภูมิทัศน์ ที่ยังทำกันอยู่คือ รื้อของเก่าแล้วก็สร้างของใหม่ ไม่เลิก ไม่หยุด พูดยังไงก็ไม่เข้าใจกัน อย่างวัดกัลยาณฯ ก็เป็นปัญหาอยู่ แต่ก็ไม่มีใครสนใจ
ภูเขาทองสมัยก่อนมีคนลือว่าบันไดชันมาก มีคนตกลงมาตาย เราก็นึกภาพไม่ออก แล้วก็มาเจอรูปนี้ เห็นบันไดชัดเจนเลย อยู่ทางทิศใต้ ถนนบำรุงเมือง
วัดอินทรวิหาร บางขุนพรหม เราแทบไม่มีภาพถ่ายโบสถ์เก่าให้ดูเลย ในนี้มีภาพสำคัญสมเด็จพระพุฒิจารย์โตให้วาดรูปท่านไว้ เต็มฝาผนังทุกฝาผนัง ก็ถูกลบไปแล้ววาดใหม่
ที่ยังคาใจคือ บอกว่ามีแบบร่างลงสมุดข่อยก่อนที่จะมาวาด เราต้องไปทำเรื่องนี้ ไปถ่ายภาพสมุดข่อยภาพร่างต้นแบบ หน้าตาเป็นยังไง ก็เลยคาราคาซังว่าร่างเมื่อไร ที่มาวาดใหม่มันสู้ไม่ได้อยู่แล้ว
วัดท่าข้าม ศาลาการเปรียญทรุดโทรม ข้างในมีจิตรกรรมฝาผนังที่สวยมาก มีชาวนา ทศชาติ นรก วาดสวยมาก ไม่รู้ฝีมือใคร
นี่คือภาพ ประตูสามยอด หน้าตาเป็นอย่างนี้ ทางซ้ายรถราง ตรงกลางรถยนต์ ขวามือรถลาก
จบการเสวนา ด้วยการชวนไปเที่ยวชม บ้านพิพิธภัณฑ์ 2 ที่งิ้วราย ในวันเสาร์ที่ 15 มีนาคม 2568 เวลา 15.00 เป็นต้นไป เป็นงาน ครบรอบ 72 ปี เอนก นาวิกมูล มีหนังสือออกใหม่ 4 เล่ม เพื่อช่วยบ้านพิพิธภัณฑ์ มีงานเสวนา มีอวดของจากนักสะสม มีบรรเลงดนตรีในสวน มีออกร้านขายของมือหนึ่งมือสอง
Cr. Kanok Shokjaratkul
สิ่งที่ได้รับจากการเสวนาในครั้งนี้ เราพบว่า ชีวิตวัยเด็ก เป็นช่วงชีวิตที่สำคัญที่สุดของคนคนหนึ่ง มันคือสิ่งที่หล่อหลอมให้เกิดมาเป็นคนอย่างไร
ครอบครัว สังคม สิ่งแวดล้อม ล้วนมีผล ก่อให้เกิดความคิด ทัศนคติต่าง ๆ ที่เราจะมีต่อโลก มีความฝัน มีเป้าหมาย และเลือกทางเดินชีวิตของเราต่อไปในอนาคต