เปิดประวัติ 'ตระกูลชินวัตร' ฉบับไป่ตู้ สารานุกรมจีน

เปิดประวัติ 'ตระกูลชินวัตร' ฉบับไป่ตู้ สารานุกรมจีน

ประวัติตระกูลชินวัตร ในสารานุกรมภาษาจีนออนไลน์ ไป่ตู้ไป่เคอ baike.baidu.com แสดงข้อมูลต้นตระกูลของ 'ทักษิณ ชินวัตร' ตั้งแต่รุ่นปู่ ทวด ที่เป็นคนจีนจากมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งต่อมาได้อพยพย้ายถิ่นมาอยู่เมืองไทย

KEY

POINTS

  • สารานุกรมจีนออนไลน์ไป่ตู้ (baike.baidu.com) แสดงข้อมูลต้นกำเนิดตระกูลชินวัตร ครอบครัวนักการเมืองไทยไว้อย่างน่าสนใจ พบว่ามีบรรพบุรุษมาจากหมู่บ้านชาวแคะ เมืองเหมยโจว มณฑลกวางตุ้ง
  • ปู่ทวดของทักษิณ ชินวัตร มีนามว่า ชิวจี้ฉิน 丘志勤 เดินทางมาเมืองไทยจากท่าเรือซัวเถา ไปยังเมืองจันทบุรี ภาคตะวันออกของสยาม ต่อมารุ่นปู่ของทักษิณ (เชียง ชินวัตร) ทำธุรกิจที่เชียงใหม่ และเป็นนายอากร (ภาษี) ให้กับรัฐบาล
  • ตามกฎหมายไทย ชาวจีนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย สามารถเปลี่ยนนามสกุลเป็นภาษาไทยได้ หลังจากผ่านไป 3 ชั่วอายุคน ตระกูลชิวจึงเลือกนามสกุลไทยว่า "ชินาว่า (ชินาวา)" ซึ่งแปลว่า "ทำความดีตามกฎเกณฑ์"

สารานุกรมภาษาจีนออนไลน์ไป่ตู้ไป่เคอ baike.baidu.com มีหมวดเรื่องราวว่าด้วยตระกูลชินวัตร ครอบครัวนักการเมืองและอดีตนายกรัฐมนตรีไทยที่น่าสนใจ เนื่องจากได้นำเสนอเนื้อหาการสืบค้นประวัติความเป็นมาของต้นตระกูล อันมีบรรพบุรุษได้เดินทางมาจากหมู่บ้านชาวแคะ ชื่อว่าหมู่บ้านถ่าเซี่ย 塔下村  เป็นบ้านในสังกัดเมืองผู่ไจ๋ อำเภอเฟิ่งชุน เมืองเหมยโจว มณฑลกวางตุ้ง ภายใต้การรวบรวมจากชาวจีน

เรื่องราวดังกล่าวเพิ่งมีการสืบค้นกันหลังจากที่อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เดินทางไปเยือนจีนอย่างเป็นทางการ ตามคำเชิญของอดีตนายกรัฐมนตรีเหวินเจียเป่า เมื่อปี 2548 ในครั้งนั้นได้เดินทางไปยังหมู่บ้านเหมยเจียว เมืองเหมยโจว เพื่อพบปะญาติฝ่ายมารดา และปรารภว่าเสียดายที่ไม่ได้พบรากเหง้าบรรพบุรุษฝ่ายบิดาที่ยังเป็นปริศนาอยู่ 

ทำให้เกิดการค้นคว้าเรื่องราวของตระกูลชิว (แซ่คู)  เป็นเอกสารชื่อว่า “รายงานการสอบสวนประวัติครอบครัวของนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร แห่งประเทศไทย” 泰国他信总理家世调查报告 ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ "เดือนเกิดของชาวจีนโพ้นทะเลเหม่ยโจว" ฉบับที่ 4 ปี 2548

เนื้อหาของรายงานเล่าถึงบรรพชนตระกูลชิว จากหมู่บ้านถ่าเซี่ย อำเภอเฟิ่งชุน โดยสรุปดังนี้ 

ปฐมบทต้นตระกูลชินวัตร 'ชิวจี้ฉิน' ปู่ทวดของทักษิณ 

เริ่มต้นจากปู่ทวดของอดีตนายกรัฐมนตรีไทย มีนามว่า ชิวจี้ฉิน 丘志勤  และนางหลิว มีบุตรสามคน หนึ่งในนั้นคือ 丘春盛 ชิวชุนเซิง (สำเนียงกวางตุ้ง-คูชุ่นเส็ง)  ครอบครัวนี้เดินทางไปประเทศสยามตอนที่ชิวชุนเซิงอายุ 12 ปี จากท่าเรือซัวเถา ไปยังเมืองจันทบุรี ภาคตะวันออกของประเทศสยาม แต่ต่อมาครอบครัวประสบปัญหา ชิวจี้ฉิน และครอบครัวเดินทางไปกลับประเทศจีน ทิ้งให้ชิวชุนเซิงผู้เป็นบุตรอยู่ในประเทศไทยต่อ ทำงานภายใต้การปกครองของบ้านตระกูลหวง นามว่า หวงซื่อหลุน 黄子伦 เรื่องราวส่วนนี้เป็นข้อมูลใหม่ที่เพิ่มเติมมาจากประวัติที่ปรากฏในไทยแต่เดิม

ต่อมา คูชุ่นเส็งหรือชิวชุนเซิง ก็ได้แต่งงานกับ 娘通里 เนียงถ่งลี แล้วให้กำเนิดบุตรสองคน หนึ่งในนั้นคือ ปู่ของทักษิณ ชินวัตร นามว่า ชิงอาเชิง 邱阿昌 (ชื่อไทย เชียง ชินวัตร) ต่อมาย้ายไปทำธุรกิจที่เมืองเชียงใหม่ เป็นนายอากร (ภาษี) ให้กับรัฐบาล ต่อมาเขาเริ่มดำเนินธุรกิจผ้าไหมไทย โดยมียอดขายในประเทศ และส่งออก รวมถึงการผลิต และการขายแบบครบวงจร

บุญเลิศ 奔历 บิดาของทักษิณ ทำธุรกิจโรงภาพยนตร์ 3 โรง และเป็นนักการเมือง และเคยเป็นผู้แทนราษฎรสองสมัย นอกจากนี้ ไป่ตู้ให้ข้อมูลภรรยาของบุญเลิศไว้ว่าชื่อ 黄金里 หวงจินลี่ (ชื่อไทย นางยินดี ชินวัตร) พี่น้องตระกูลชินวัตร เคยเดินทางไปยังหมู่บ้านตระกูลหวง สายมารดามาก่อนแล้ว  

ข้อมูลการค้นคว้าของจีน ที่ปรากฏผ่านไป่ตู้ ทำให้เรื่องราวความเป็นมาของตระกูลชินวัตร ชัดเจนขึ้น จากประวัติเดิมที่ตั้งต้นจากแค่ คูชุ่นเส็ง ผู้เป็นทวด (พ่อของปู่เชียง) ชาวจีนฮากกา ที่ได้เดินทางมาถึงจันทบุรี และอพยพมาอยู่เชียงใหม่ โดยไม่ทราบด้วยซ้ำว่า บ้านเกิดเดิมที่เมืองจีนอยู่ที่ใดกันแน่ 

เปิดประวัติ \'ตระกูลชินวัตร\' ฉบับไป่ตู้ สารานุกรมจีน

ทักษิณ ชินวัตร คนไทยเชื้อสายจีนผสมผสาน ทั้งแต้จิ๋วและฮากกา

ด้วยข้อมูลใหม่ที่เพิ่มขึ้นทำให้ทราบว่า ต้นตระกูลชินวัตรที่เดินทางมาก่อนคือ ปู่ทวด ชิวจี้ฉิน 丘志勤  ที่มาพร้อมกับครอบครัว และได้เดินทางกลับบ้านเกิดไปก่อน และเรื่องราวความเป็นมาของ คูชุ่นเส็ง (ทวด) ในยุคแรกที่จันทบุรีนั้นอาศัยกับตระกูลชาวจีนที่ช่วยดูแล ก็คือ ตระกูลหวง และยังสามารถสืบหาร่องรอยญาติพี่น้องที่สืบสายจากชิวจี้ฉินที่ประเทศจีนได้

สารานุกรมไป่ตู้ ยังให้ข้อมูลว่า ชื่อจีนของ ทักษิณ ชินวัตร คือ 丘达新  (ชิวต้าซิน)  เขาได้เคยกล่าวไว้ในการให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน ว่าเขาเป็นทั้งชาวแต้จิ๋ว และชาวฮากกา เนื่องจากบ้านบรรพบุรุษของพ่อของเขาอยู่ในเขต เฟิ่งชุน และมารดาของเขาเป็น ชาวฮากกาจาก ซงโข่ว เขต เหมยเซี่ยน เมืองเหมยโจว

ในครั้งนั้นเขายืนยันว่าครอบครัวที่ไทยพูดสำเนียงฮากกา เวลากินข้าวออกเสียง “ชิดฟ่าน” แทนที่จะเป็น ฉือฟ่าน อันเป็นสำเนียงจีนกลาง “吃饭”叫 “食饭”  ไป่ตู้ บรรยายว่า “ตามความทรงจำของทักษิณ ในช่วงสงครามโลก ครั้งที่สอง แม่ของเขากลับไปยังบ้านเกิดที่เฟิงชุน มณฑลกวางตุ้ง ซึ่งเธออาศัยอยู่ที่บ้านบรรพบุรุษของเธอเป็นเวลาสองปี แล้วย้ายไปฮ่องกงเป็นเวลาสองปีก่อนที่จะกลับมาประเทศไทย เมื่อเธออายุสิบขวบก็สามารถพูดภาษาจีนแคะ จีนกลาง และกวางตุ้งได้คล่อง”

ครั้งหนึ่งทักษิณเคยเข้าร่วม การประชุมใหญ่สามัญประจำปีของ สมาคมเฟิงซุ่น ในประเทศไทย เมื่อพูดคุยกับผู้คนเขาเล่าว่า “เมื่อเขายังเด็ก แม่ของเขาเคยสอนให้เขาร้องเพลงกล่อมเด็กที่แพร่หลาย เป็นภาษาฮากกา ชื่อเพลงว่า แสงจันทร์ 月光光” 

ตระกูลชินวัตร ตระกูลใหญ่ที่อยู่ในไทยมานาน 3 ชั่วอายุคน

สำหรับ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีอีกคนจากตระกูลนี้ ไป่ตู้ให้ข้อมูลว่ามีชื่อจีนเรียกว่า 丘英乐 ชิวหยิงเล่อ เธอและทักษิณ ชินวัตร ผู้เป็นพี่ชาย เคยกลับไปเยี่ยมถิ่นบรรพบุรุษพร้อมกันสองครั้ง คือ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2557 เดินทางไปพร้อมกับทักษิณ เพื่อกลับไปยังบ้านบรรพบุรุษของพวกเขาในเมืองเหมยโจว และในวันที่ 5 มกราคม 2562 เดินทางกลับไปยังบ้านบรรพบุรุษของตนที่ เฟิงซุ่น เหมยโจว อีกครั้งเพื่อเยี่ยมญาติ และสักการะบรรพบุรุษของพวกเขา 

ไป่ตู้กล่าวถึงนายกรัฐมนตรีจากตระกูลชินวัตร คนปัจจุบัน คือ แพทองธาร ชินวัตร ว่า มีเชื้อสายจากฮากกา ตระกูลชินวัตร เดิมเป็นชาวฮากกาแซ่คิว จากกวางตุ้ง ประเทศจีน และอพยพมาอยู่ที่เชียงใหม่ ประเทศไทย ในคริสต์ศตวรรษที่19

ตามกฎหมายไทย ชาวจีนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยสามารถเปลี่ยนนามสกุลเป็นภาษาไทยได้หลังจากผ่านไป 3 ชั่วอายุคน ดังนั้น ตระกูลชิวจึงเลือกนามสกุลไทยว่า "ชินาว่า (แปลว่า ชินาวา)" ซึ่งแปลว่า "ทำความดีตามกฎเกณฑ์"  และได้บรรยายเรื่องราวประวัติความเป็นมาที่ค่อนข้างละเอียด มีบทหนึ่งที่กล่าวถึงการเข้าเรียนมหาวิทยาลัยผ่านทาง “ประตูหลัง” 大学“走后门”  ด้วยวิธีการพิเศษจนถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อมวลชน

หมายเหตุ:

1) แซ่ ชิว เป็นภาษาจีนกลาง แต่ในสำเนียงใต้ออกเสียงว่า คู ประวัติตระกูลชินวัตร ที่แพร่หลายแต่เดิมจึงเรียกชื่อ คูชุ่นเส็ง 
2) นามสกุลชินวัตร ที่เปลี่ยนเป็นไทยเมื่อ พ.ศ.2482 น่าจะมาจาก อักษร ช. และ ว. อันเป็นแซ่เดิมนั่นเอง
3) บทความนี้ประมวลจากบทความภาษาจีนต้นทางโดยใช้กูเกิลทรานสเลทช่วยแปล อาจมีข้อบกพร่องจากขั้นตอนการแปลที่ไม่ครบถ้วน ขอให้สอบทานจากอ้างอิงด้านล่าง

อ้างอิง : baidu1, baidu2, baidu3, baidu4  


..........................................

เขียนโดย บัณรส บัวคลี่ คอลัมน์จุดประกายความคิด กรุงเทพธุรกิจ 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์