รักเพื่อน เตือนกัน ไม่สูบ 'บุหรี่ไฟฟ้า'

รักเพื่อน เตือนกัน ไม่สูบ 'บุหรี่ไฟฟ้า'

"บุหรี่ไฟฟ้า" เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ไม่ลดลง อีกทั้ง WHO พบเด็ก 13-15 ปี ติดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าถึง 37 ล้านคนทั่วโลก เพื่อไม่ให้มีนักสูบหน้าใหม่เพิ่มขึ้น จึงจัดกิจกรรม รักเพื่อน เตือนกัน ไม่สูบ "บุหรี่ไฟฟ้า" เป็นการเตือนเยาวชนให้กล้าปฏิเสธ และรับรู้ถึงอันตรายต่อสุขภาพ

นับวันจะพบผลวิจัยจากนานาประเทศ และในประเทศหลายต่อหลายชิ้นที่ชี้ชัดว่า "บุหรี่ไฟฟ้า" กำลังเป็นผู้ร้ายหน้าใหม่ ที่เผลอๆ อาจจะกลายเป็น "ตัวร้าย" อย่างเช่น "บุหรี่มวน" ทำให้ทุกคนจำเป็นที่จะต้องหมั่นศึกษาถึงพิษภัย และไล่ตามรู้ทันเล่ห์เหลี่ยมบุหรี่ไฟฟ้าอย่างไม่ลดละ โดยจากผลสำรวจการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบในเยาวชนไทย ปี 2565 พบเด็กและเยาวชนไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มเป็น 17.6% จากเดิมอยู่ที่ 3.3% ในปี 2558 เพิ่มขึ้น 5.3 เท่า ทั้งนี้ หากเด็กที่ไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อน เริ่มสูบบุหรี่จะมีแนวโน้มสูบบุหรี่ธรรมดาเพิ่มขึ้น 5 เท่า

ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนถึงอีกประเด็นชวนวิตกของวันนี้ นั่นคือไม่เพียงเฉพาะปัญหาพิษภัยบุหรี่ ที่ในอนาคตอาจพบว่ามีข้อเท็จจริงแฝงเร้นอีกมาก หากแต่การบุกรุกเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายของบุหรี่ไฟฟ้าเองก็เป็นสิ่งที่น่ากังวลเช่นเดียวกัน กับการพุ่งเป้าสู่กลุ่มนักสูบหน้าใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชน 

อีกหนึ่งกิจกรรมเพื่อสร้างการตระหนักที่เกิดขึ้นใน วันงดสูบบุหรี่โลก 2567 โดยความร่วมมือของทันตแพทย์สมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดขึ้นภายใต้โครงการเครือข่ายทันตบุคลากรต้านภัยยาสูบ ที่มีหมุดหมายเพื่อกระตุ้นเตือนเยาวชนให้กล้าปฏิเสธบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าเมื่อถูกชักชวน

รักเพื่อน เตือนกัน ไม่สูบ \'บุหรี่ไฟฟ้า\'

ยิ่งสูบ ยิ่งไม่ฟัน (FUN)

หากกล่าวถึงภัยสุขภาพ หลายคนอาจไม่คาดคิด ถึงพิษภัยสุขภาพจากบุหรี่ไฟฟ้า ที่เข้าไปทำลายปอดและระบบทางเดินหายใจ รวมถึง "นิโคติน" ทุกชนิด เป็นสารเสพติดที่มีผลต่อทั่วร่างกายโดยเฉพาะสมอง หัวใจ และหลอดเลือด รวมถึงมีความสัมพันธ์กับการเกิดภาวะโรคซึมเศร้า จากการศึกษาระยะยาวยังพบว่า ผู้สูบบุหรี่จะมีการสูญเสียฟันถึง 2 เท่าของผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ และผู้ได้รับควันบุหรี่มือสองมีการสูญเสียฟันมากกว่าผู้ไม่สูบบุหรี่

ทพ.อดิเรก ศรีวัฒนาวงษา นายกทันตแพทย์สมาคมแห่งประเทศไทยฯ ในฐานะผู้จัดการโครงการเครือข่ายทันตบุคลากรต้านภัยยาสูบ สนับสนุนโดย สสส. ให้ข้อมูลว่า สำหรับข้อมูลทางทันตแพทยศาสตร์พบว่า ไอระเหยจากบุหรี่ไฟฟ้าส่งผลให้เสียสมดุลของจุลินทรีย์ในช่องปาก เพิ่มจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคในช่องปาก เพิ่มโรคปริทันต์ หรือโรคเหงือกอักเสบ ส่งผลต่อการยึดติดของรากฟันเทียม การใส่ฟันปลอมถอดได้ และการจัดฟัน อีกทั้งยังพบว่าเชื้อก่อให้เกิดโรคฟันผุ Streptococcus mutans เพิ่มขึ้น พบความสัมพันธ์ระหว่างการสูบบุหรี่ไฟฟ้ากับการมีเลือดออกเวลาแปรงฟัน และพบรอยโรคในช่องปาก เช่น เพดานปากอักเสบ ลิ้นเป็นฝ้า และการอักเสบบริเวณมุมปาก

หวั่นเด็กเข้าถึงง่าย แต่ภัยสูง

ทพ.อดิเรก กล่าวเพิ่มอีกว่า ยังแสดงความกังวลไปยังนักสูบหน้าใหม่ ที่หลายวิจัยพบว่า เริ่มมีอายุเฉลี่ยน้อยลงไปเรื่อยๆ จากการสำรวจพบเด็กในกรุงเทพฯ เคยสูบบุหรี่ หรือบุหรี่ไฟฟ้าถึง 9% สอดคล้องกับข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่พบอายุเฉลี่ยของผู้เริ่มสูบบุหรี่ อายุ 13-15 ปี ติดบุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้าถึง 37 ล้านคนทั่วโลก และที่น่ากังวลคือเด็กและเยาวชนเป็นกลุ่มวัยที่มีอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงมากกว่าวัยอื่นๆ

รักเพื่อน เตือนกัน ไม่สูบ \'บุหรี่ไฟฟ้า\'

"ขณะนี้เด็กและเยาวชนไทยเข้าถึง บุหรี่ และ บุหรี่ไฟฟ้า ได้ง่าย โดยเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้าที่ระบาดในเด็กระดับประถมศึกษา เนื่องจากออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีสีสันสวยงาม มีการแต่งกลิ่นดึงดูดใจ เพื่อร่วมรณรงค์เนื่องในโอกาส วันงดสูบบุหรี่โลก 2567 ภายใต้คำขวัญ ร่วมปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า วิชาชีพทันตแพทย์ และภาคีเครือข่าย จึงขอให้รัฐบาลได้คำนึงถึงโทษของบุหรี่ไฟฟ้าต่อสุขภาพของเด็กและเยาวชน โดยคงกฎหมายห้ามการนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าและจัดจำหน่าย เช่นเดียวกับ สิงคโปร์ ไต้หวัน และฮ่องกง ต่อไป" ทพ.อดิเรก กล่าว

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า บุหรี่ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อสุขภาพช่องปากและฟัน แต่ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ และหลอดเลือด 2-4 เท่า เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอด 25 เท่า แต่ละปีมีประชากรโลกเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ประมาณ 8 ล้านคน แต่ที่น่าห่วงคือ การแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า ที่กำลังเป็นกระแสนิยมมากขึ้นในเด็กและเยาวชน จะสังเกตพบว่าสถิติผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากสามปีที่แล้วที่อยู่ 3.3% เป็น 17% นอกจากนี้ประมาณ 3 เท่าของเด็กที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า ก็หันไปสูบบุหรี่มวนด้วย ซึ่งแนวโน้มเริ่มมากกว่าเด็กที่เริ่มต้นจากการสูบบุหรี่มวนเลย

นพ.พงศ์เทพ กล่าวด้วยความหนักใจ พร้อมวิเคราะห์ให้เห็นภาพอีกว่า หากอัตราเร่งยังมีคงมีแนวโน้มแบบนี้ ในอนาคตเด็ก และผู้หญิงไทย จะหันมาสบบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น โดยที่ผ่านมา สสส. สนับสนุนกลไกเครือข่ายควบคุมยาสูบทุกภาคส่วน ขับเคลื่อนทางนโยบาย/มาตรการควบคุมยาสูบ หนุนเสริมระบบ/กลไกการสร้างเสริมสุขภาพ สร้างกระแสทางสังคมและความรอบรู้ด้านการควบคุมยาสูบและบุหรี่ไฟฟ้า หนึ่งในนั้นคือ การสนับสนุนการดำเนินงานของเครือข่ายทันตบุคลากรต้านภัยยาสูบ ช่วยให้ผู้ป่วยเลิกบุหรี่และป้องกันนักสูบหน้าใหม่มาตั้งแต่ปี 2548 พบว่าประสบความสำเร็จ ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการช่วยเลิกบุหรี่ ตลอดจนพัฒนารูปแบบการป้องกันนักสูบหน้าใหม่ในกลุ่มเยาวชนอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับภารกิจของ สสส. ที่ต้องการผลักดัน กระตุ้น สนับสนุน และร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในการสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพโดยรวมที่ดี ลดอัตราการเจ็บป่วย และเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

สานพลังร่วมต้านภัยบุหรี่ 

ดร.ธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า สพฐ. ร่วมมือกับเครือข่ายทันตบุคลากรต้านภัยยาสูบ โดยมีภารกิจสำคัญในการป้องกัน ควบคุม และแก้ไขปัญหาพร้อมทั้งค้นหานวัตกรรมการใหม่ๆ เพื่อสนับสนุนองค์ความรู้และสร้างค่านิยม ทัศนคติที่ถูกต้องของผลิตภัณฑ์ยาสูบ ตลอดจนส่งเสริมให้สถานศึกษาในสังกัดทุกระดับนำมาตรการในการป้องกันและควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษา ไปดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่องตลอดไป 

"ในส่วนสพฐ. ทำงานกับทีมคณะทันตแพทย์ชุดนี้มาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดในช่วงหลังปิดเทอมที่ผ่านมามีการดำเนินลงไปสื่อสารให้ความรู้ รณรงค์ กับเด็กและครอบครัว ให้ความรู้เกี่ยวกับภัยบุหรี่ พร้อมทั้งมีการป้องกันบุหรี่ไฟฟ้า ส่วนการดำเนินการเฝ้าระวังประสานกับกรมคุ้มครองผู้บริโภคให้ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย นอกจากนี้ในระดับพื้นที่มีการดำเนินการร่วมกัน ทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน  ปลัดอำเภอ และครู ดูแลตรวจตราปกป้องเด็กของเรา ทั้งมิติความรู้และการวางแนวป้องกัน" ดร.ธีร์ กล่าว

ทั้งนี้ ด้วยความตระหนักถึงประเด็นดังกล่าว อีกหนึ่งกิจกรรมรณรงค์ วันงดสูบบุหรี่โลก ปีนี้ ทางทันตแพทยสมาคมฯ ยังได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดการประกวดโครงงานดีเด่น เรื่องกิจกรรมเสริมหลักสูตรทักษะการปฏิเสธบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าของนักเรียนประถมศึกษา และมัธยมศึกษา มีผู้ได้รับรางวัล 13 รางวัล จากผลงานทั้งหมด 80 โรงเรียน และการประกวดวาดภาพระบายสี และจัดทำคลิปวิดีโอ TikTok ในหัวข้อ "รักเพื่อน เตือนกัน ไม่สูบ" มีผู้ได้รับรางวัลประเภทละ 15 รางวัล

"รักเพื่อน เตือนกัน ไม่สูบ"

โตโร่ นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนพาน อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย เป็นอีกหนึ่งใน 15 เยาวชนที่กำลังกลายเป็นว่าที่ TikToker คนใหม่ เป็นหนึ่งในเยาวชนผู้ได้รับคัดเลือก และได้รับรางวัลการจัดทำคลิปวิดีโอ TikTok ในหัวข้อ "รักเพื่อน เตือนกัน ไม่สูบ" โตโร่เผยความรู้สึกว่า การได้รับรางวัลครั้งนี้เป็นเหมือนสิ่งที่การันตีเจตนารมณ์ของตนเองในการอยากชักชวนให้เพื่อนเยาวชนรอบตัวให้ห่างไกลจากพิษภัยของบุรี่

"นอกจากทำให้เราได้ประสบการณ์ใหม่ๆ ผมมองว่า ผมมาไกลจากบ้านเยอะเลย ทั้งที่ผมเข้าร่วมโครงการนี้เป็นปีแรก แต่ก็ภูมิใจที่ได้รับรางวัล" โตโร่ กล่าว

โตโร่ กล่าวเพิ่มอีกว่า ในพาร์ทท่อน Rap ที่เขาใส่ไว้ในคลิปวิดีโอนี้ เป็นไรม์ที่เขากับเพื่อนช่วยกันแต่งขึ้นโดยหยิบยกข้อมูลเกี่ยวกับพิษภัยบุหรี่มาถ่ายทอด ส่วนหนี่งจากประสบการณ์ใกล้ตัว อีกส่วนจากความรู้ที่ได้รับจากโรงเรียน และมีครูเข้ามาช่วยขัดเกลาและช่วยตัดต่อด้วย เพราะนี่เป็นการแต่ง Rap ครั้งแรกของผม

ปรางทิพย์ ธรรมสอน ครูประจำชั้นมัธยมที่ 2 ถือเป็นอีกหนึ่งผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของโตโร่ครั้งนี้ เล่าอย่างภาคภูมิใจว่า เหตุผลที่สนใจเพราะรู้สึกว่าเป็นสถานการณ์ใกล้ตัวมากๆ ในฐานะครูเอง เธอค่อนข้างมีความเป็นห่วงใย เพราะในรั้วโรงเรียนนอกจากเป็นคนเสพ ปัจจุบันยังมีนักเรียนบางรายเป็นคนขายด้วย

"กิจกรรมนี้ เรามองว่าช่วยให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์ และก็ใช้เวลาว่างเป็นประโยชน์ เพราะเขาต้องหาข้อมูลก่อน เขาก็จะได้ศึกษาหมดเลยทั้งกฎหมาย ความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับภัยของบุหรี่ ทีนี้มาคิดว่าทำแบบไหนดีให้น่าสนใจ ที่ผ่านมาเคยทำแบบเป็นการพูด การแสดงบทบาทสมมติ แต่ปีนี้มองว่ากระแสการ Rap มาแรง ก็เลยลองเอามาแต่ง การ Rap เรามองว่ามันช่วยให้จำง่ายด้วย แต่ที่จริงยังมีแต่งเพลงด้วย คือเราอยากทำให้แปลกจากแบบเดิมๆ" ปรางทิพย์ กล่าว

รักเพื่อน เตือนกัน ไม่สูบ \'บุหรี่ไฟฟ้า\'

สำหรับ "โตโร่" แม้มีวัยเพียง 13 ปี แต่เมื่อถามว่า ตัวเขาเองเคยลองบุหรี่ไฟฟ้าหรือไม่ โตโร่กลับปฏิเสธแข็งขันว่าไม่คิดจะลอง พร้อมเอ่ยว่า มองว่ามันไม่ได้เท่ แต่โตโร่ยอมรับว่าในโรงเรียน และในแวดวงเพื่อนสนิทหลายคนเคยที่จะชักชวนเขาให้ทดลองบ่อยครั้ง และเป็นเรื่องจริงที่ว่าเยาวชนรุ่นใหม่ยุคนี้หันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น แม้ว่าที่โรงเรียนเขาเองจะห้ามสูบ และจะออกกฎเข้มข้นอย่างไร แต่ก็ยังมีคนแอบสูบไม่น้อย ทั้งที่โรงเรียนอยู่ห่างไกลจากเมืองค่อนข้างมากหลายร้อยกิโลเมตร แต่กลับหาบุหรี่ไฟฟ้าได้ไม่ยากเลย

โตโร่ กล่าวเพิ่มว่า มีเพื่อนชวนให้ลองเยอะ ชอบมาพูดว่า ลองสักครั้งสิ แต่เราจะย้อนกลับเพื่อนเสมอว่า เลิกได้แล้วมันไม่ดีรู้ไหม ซึ่งเหตุผลหนึ่งที่ไม่คิดจะริลองการสูบเหมือนคนอื่น เกิดจากการได้รับทราบถึงพิษภัยสุขภาพจากบุหรี่ที่โรงเรียนสอนเสมอ รวมถึงครูที่มักจัดกิจกรรมรณรงค์ต่อเนื่อง อย่างที่โรงเรียนจะมีคนมาแนะนำอบรม เช่น พี่ๆ ตำรวจจะมาสอนว่าบุหรี่ไม่ดีต่อสุขภาพอย่างไร เป็นอันตรายต่อปอดหรือตับแค่ไหน ยิ่งทำให้เราไม่สนใจอยากลอง

"โตโร่" ไม่เพียงที่จะปฏิเสธเท่านั้น เขายังทำหน้าที่เป็นเหมือนยุวมิตรน้อยๆ ที่คอยชักจูงให้เพื่อนๆ เลิกสูบ ด้วยการบอกกล่าวพูดจาภาษาวัยรุ่นกับเพื่อนๆ ไม่ได้ใช้วาจาบังคับ หรือว่ากล่าวติเตียนใดๆ ทำให้เพื่อนเริ่มรับฟังสิ่งที่โตโร่ชี้ชวนไม่น้อย ซึ่งสิ่งที่โตโร่ดีใจคือ เพื่อนบางคนก็รับฟัง และก็มีการเปลี่ยนแปลงดีขึ้น

โตโร่ เล่าถึง Feedback จากเพื่อนๆ ที่ได้ชม และได้ฟัง Rap คลิปนี้ว่า ส่วนมากก็เอา Rap ไปร้องเล่นกันจนติดหู มีเพื่อนที่อยู่ผาแดง ซึ่งเขาเป็นชุมชนชาติพันธุ์เองก็ชอบเอาไปร้องให้น้องๆ ในชุมชนฟัง คนที่แต่งเป็นชาติพันธุ์ครูก็มาช่วยแต่งเสริม ผมยอมรับว่าการเข้าร่วมโครงการนี้ทำให้ได้ประสบการณ์ใหม่ ซึ่งปีหน้าก็อยากมาทำอีก

รักเพื่อน เตือนกัน ไม่สูบ \'บุหรี่ไฟฟ้า\'