เปิดพื้นที่ 'ปิดเทอมสร้างสรรค์' เติมทุนทักษะชีวิต และการเรียนรู้ไม่สิ้นสุด

เปิดพื้นที่ 'ปิดเทอมสร้างสรรค์' เติมทุนทักษะชีวิต และการเรียนรู้ไม่สิ้นสุด

ปิดเทอมนี้ ผู้ใหญ่ชวนเด็ก เด็กชวนพ่อแม่ มาร่วมกันเติมทุนทักษะชีวิต กับพื้นที่ "ปิดเทอมสร้างสรรค์ ระดมกิจกรรมต้อนรับปิดเทอม 2567" เสริมทักษะ เพิ่มโอกาสการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน ให้ใช้เวลาว่างในวันหยุดให้เกิดประโยชน์ตลอดทั้งสามเดือน

เมื่อพูดถึง "วัยทอง" คนส่วนใหญ่นึกถึง แต่ช่วงชีวิตสูงวัย แต่ในความเป็นจริงแล้ว "วัยทอง" สำหรับทุกคนอาจหมายถึง "วัยเด็ก" ที่ได้ใช้ชีวิตและมีประสบการณ์ที่มีความสุข สนุกสนาน และกลายเป็นความทรงจำที่มีค่า สำหรับหล่อเลี้ยงจิตใจและพลังชีวิต ในยามที่ต้องเผชิญกับทุกสิ่งในช่วงที่เติบโต เช่นเดียวกับ "โศภิษฐ์สกร โชติธนฤทธิ์" หรือซอฟ ครีเอเตอร์สาวเจ้าของ Softpomz Chanel กว่าจะเป็นยูทูบเบอร์ขวัญใจเด็กและวัยรุ่น ที่มีผู้ติดตามถึง 3.4 ล้านนั้น ต้นทุนสำคัญของ "ซอฟ" มาจากวัยทองของตนเอง ที่หล่อหลอมจนทำให้ผันตัวมาเป็นอินฟลูเอนเซอร์ ที่มีแง่มุมเปี่ยมความหวังและมักมอบพลังบวกให้กับผู้อื่นผ่านคอนเทนต์ที่ตนเองนำเสนออย่างสม่ำเสมอ 

วัยทองของ "ซอฟ"

โศภิษฐ์สกร โชติธนฤทธิ์ กล่าวว่า ความจริงแล้ว ทุกคนต่างมีวัยเด็กเป็นวัยทองแห่งชีวิต ที่จะกลายเป็นทุนที่ต่อยอดอนาคตในโลกผู้ใหญ่ได้มากมายอย่างคาดไม่ถึง ซึ่งวัยทองของซอฟเกิดขึ้นทุกช่วง ปิดเทอม เสมอ ด้วยความเป็นคนชอบอยากรู้ชอบลอง ทำให้มักมีกิจกรรมหลากหลายให้ทดลองทำหลากหลายในช่วงปิดเทอม ซึ่งซอฟก็ได้นำประสบการณ์ที่ได้มาใช้กับการสร้างสรรค์งานคอนเทนต์และสื่อสารไปยังกลุ่มแฟนคลับ

เปิดพื้นที่ \'ปิดเทอมสร้างสรรค์\' เติมทุนทักษะชีวิต และการเรียนรู้ไม่สิ้นสุด

ตอนเด็กเป็นคนชอบวาดรูป ถึงวาดไม่สวยก็วาด ซอฟถ่ายทอดประสบการณ์วัยเด็กของตนเองส่วนหนึ่งให้ทุกคนฟัง ในวันจัดงาน Kick off ปิดเทอมสร้างสรรค์ ระดมกิจกรรมต้อนรับปิดเทอม 2567 งานที่เกิดจากความร่วมมือของอุทยานการเรียนรู้ (TK Park) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย ระดมกำลังกันมาเปิดตัว และเตรียมคิกออฟเปิดพื้นที่กว่า 1,000 แห่งทั่วไทย เพื่อให้เด็ก-เยาวชนเข้าถึงกิจกรรมสร้างสรรค์ยาวตลอดทั้งสามเดือน

โศภิษฐ์สกร กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่สำคัญพ่อแม่ให้กำลังใจตลอด ดังนั้นในวัยเด็กการหาตัวเองผ่านกิจกรรมทุกปิดเทอมมันเกิดจากตัวคนเดียวไม่ได้ แต่ยังมีพ่อแม่ที่สนับสนุน ซึ่งจากกิจกรรมในช่วงเวลาปิดเทอม กลายเป็นการสั่งสมความสามารถ ความสนใจและเป้าหมายชีวิตในวันนี้ ยอมรับว่ามีหลายสกิลที่ไม่ถูกสอนในโรงเรียน แต่เกิดจากสารพันกิจกรรมที่ไม่เคยรั้งรอที่จะทดลองทำ

"เคยมีนะ กิจกรรมที่ทำแล้วรู้สึกแย่ เช่น อยากลองประกวด แล้วก็เจอสถานการณ์ที่ทำให้ตัวเองรู้สึกแย่ แรกๆ เคยคิดว่าแข่งไม่ชนะจะแข่งไปทำไม กว่าจะค้นพบว่าจริงๆ แล้ว แม้ว่าจะรู้สึกผิดหวังหรือแย่ในวันนั้น แต่พอโตมาจะเริ่มเข้าใจว่าบางอย่างในวันนั้นแหละเป็นส่วนที่ทำให้เราเติบโตโศภิษฐ์สกร กล่าว

โศภิษฐ์สกร กล่าวเพิ่มอีกว่า ทุกคนสามารถสนุกกับทุกเรื่องที่เจอ ไม่อยากให้เปรียบเทียบกับเพื่อน ให้คิดสิ่งที่ตนเองอยากทำ แต่ถ้านึกไม่ออกก็มองหาสิ่งรอบตัวได้ หรือในอินเทอร์เน็ตอย่างเว็บไซต์ ปิดเทอมสร้างสรรค์

สกิลที่ไม่ถูกสอนในโรงเรียน

เพราะวิชาชีวิตต้องควบคู่ไปกับวิชาการ แล้วที่สำคัญ "ความสุข" เป็นพื้นฐานสำคัญของการมีจิตใจที่เข้มแข็งในวัยเด็กและผู้ใหญ่

ณัฐยา บุญภักดี ผู้อํานวยการสํานักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว (สํานัก 4) สสส. กล่าวว่า  ปิดเทอม ที่ยาวนานที่สุดในรอบปีของเด็ก ซึ่งมีโอกาสมากที่เด็กจะสูญเสียโอกาสในการเรียนรู้ช่วงเวลานี้ การสร้างช่วงเวลาที่ดีให้แก่วัยเด็กเป็นวัคซีนใจที่ดี เป็นต้นทุนชีวิตที่จะพัฒนาต่อยอดเป็นคนที่ศักยภาพให้กับสังคมต่อไปในอนาคตได้ หลังจากทำมาหลายปี ก็เกิดความเชื่อมโยงหลายเครือข่าย พยายามผลักดันให้เกิดแหล่งเรียนรู้ หรือพื้นที่สร้างสรรค์ที่อยู่ใกล้บ้านน้องๆ เยาวชนทุกคน ซึ่งแม้ขณะนี้ เครือข่ายปิดเทอมฯมีครบทุกจังหวัดทั่วไทยทั่วประเทศ และยังมีกิจกรรมหลากหลายมากๆ ทั้งเรื่องศิลปะ กีฬา สิ่งแวดล้อม อาชีพต่างๆ มีเรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่น ไปจนถึงเกมสันทนาการอย่างบอร์ดเกม เป็นต้น แต่เรายังอยากให้กระจายครบทั่วทุกชุมชน จึงอยากจับทุกคนมาร่วมกันทำพื้นที่สร้างสรรค์

เปิดพื้นที่ \'ปิดเทอมสร้างสรรค์\' เติมทุนทักษะชีวิต และการเรียนรู้ไม่สิ้นสุด

ปิดเทอมสร้างสรรค์.com เติมการเรียนรู้ไม่สิ้นสุด

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า แต่ละปีเด็กมีวันว่างรวมปิดเทอมกว่า 150 วัน สสส. จึงสานพลังภาคีเครือข่ายทั้ง 4 ภูมิภาค โดยมี 4 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ อุตรดิตถ์ นครราชสีมา ยะลา และกรุงเทพฯ พร้อมหน่วยจัดการ ประสานงานและขับเคลื่อนกิจกรรมในอีก 25 จังหวัด รวมถึงภาคีภาครัฐ เอกชน ประชาสังคมกว่า 500 องค์กร ที่มีแหล่งเรียนรู้รวมกว่า 1,000 แห่งทั่วประเทศ

ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวเพิ่มอีกว่า แพลตฟอร์ม ปิดเทอมสร้างสรรค์.com ทำหน้าที่เชื่อมองค์กรและเด็กๆ มาเจอกันแล้ว จับคู่กันตามความสนใจ เพื่อให้วันว่างสร้างโอกาสมหาศาลที่เด็กจะได้เรียนรู้อย่างอิสระ สร้างสรรค์ สร้างฝัน สร้างทักษะชีวิต หาอาชีพเสริมสร้างรายได้ ซึ่งสำคัญไม่แพ้การเรียนในระบบการศึกษา และยังลดปัญหาเด็กติดหน้าจอมือถือ ลดความเสี่ยงที่จะไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด หรืออันตรายอื่นๆ

"ปีนี้ สสส. และภาคีเครือข่าย เพิ่มความพิเศษให้กับโครงการปิดเทอมสร้างสรรค์ด้วยการกำหนดแนวคิด ปิดเทอมสร้างสรรค์ กิจกรรมฉ่ำเว่อ แน่นอนว่าเป้าหมายแรกคือ การเปิดพื้นที่กิจกรรมในแหล่งเรียนรู้ ในชุมชนให้เด็กๆ เข้าถึงพื้นที่กิจกรรมที่ปลอดภัยได้ภายใน 15 นาที เป็นธงในการดำเนินงานในแบบเชิงรุก ด้วยจากการสำรวจในปีที่ผ่านๆ มา พบหนึ่งปัญหาที่สำคัญคือ สถานที่จัดงานไกลบ้าน ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายการเดินทาง หรือกรณีเด็กเล็ก ผู้ใหญ่จะต้องพาไป ทำให้เด็กบางกลุ่มเข้าไม่ถึงพื้นที่กิจกรรม การเพิ่มการเข้าถึง ลดอุปสรรคด้านค่าใช้จ่าย สร้างพื้นที่เรียนรู้ในชุมชนต่างๆ ให้เด็กเข้าถึงกิจกรรมสร้างสรรค์ได้มากกว่าปีที่แล้ว" ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว

พื้นที่สร้างสรรค์สำคัญ แต่นักสร้างสรรค์พื้นที่ก็สำคัญ

วัฒนชัย วินิจจะกูล ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาองค์ความรู้ สถาบันอุทยานการเรียนรู้ กล่าวว่า การมีพื้นที่การเรียนรู้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์สำคัญต่อการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรของไทย โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่เป็นอนาคตของชาติ ตนเองรู้สึกดีใจที่สสส. จัดงานนี้ต่อเนื่องเพราะมองความต่อเนื่องเป็นสำคัญ อย่าง TK Park เองจึงพยายามขยายพื้นที่เครือข่ายมากมายในต่างจังหวัด เพื่อให้เยาวชนทั่วประเทศสามารถเรียนรู้ใน TK Park ที่มีทั่วไทย แต่ถามว่าเพียงพอไหม มองว่ายังไม่เพียงพอ แต่ทั้งนี้ต้องเกิดขึ้นจากประชาชนในพื้นที่ที่ต้องการพื้นที่สร้างสรรค์จริงๆ อีกอย่างคือมีพื้นที่อย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีกิจกรรมสนุกด้วย แต่ใครล่ะจะคิดกิจกรรม

ปิดเทอมใหญ่ของเด็กกรุง

ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า จากการสำรวจพบ ปัญหาและความต้องการของเด็กกรุงเทพฯ คือ 1.) การเข้าถึงพื้นที่กิจกรรมสร้างสรรค์ หรือพื้นที่เรียนรู้แบบไม่เสียค่าใช้จ่ายยังมีจำกัด 2.) ความเหลื่อมล้ำ เมื่อพื้นที่เรียนรู้ต้องเสียค่าใช้จ่าย จึงมีบางกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ ซึ่งที่ผ่านมา ปัญหาคือคนดูแลกิจกรรมขาดพื้นที่ ส่วนคนมีพื้นที่แต่ขาดคนสร้างกิจกรรม ดังนั้นทำอย่างไรให้พื้นที่กรุงเทพฯ มีกิจกรรมเพิ่มมากขึ้น

ศานนท์ กล่าวเพิ่มว่า ต้องเริ่มนำจุดแข็งของแต่ละที่มาปรับเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ ภายใต้แนวคิดการทำเป็นสวนพื้นที่สร้างสรรค์ที่มีกิจกรรมหลากหลาย อาทิ มีดนตรีในสวน ธรรมะในสวน งานหนังสือในสวน นอกจากพื้นที่ที่กทม. ดูแลก็ยังมีพื้นที่เอกชนที่สนใจ ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวทางกทม. จะขับเคลื่อนต่อไป โดยหลายสำนักของกทม. อาทิ สำนักการศึกษา สำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว สำนักพัฒนาสังคม ทำกิจกรรมให้เด็กได้ใช้เวลาว่างอย่างสร้างสรรค์ โดยเฉพาะช่วงปิดเทอม อาทิ ร่วมกับภาคเอกชนเปิดให้เด็กและเยาวชนฝึกอาชีพ ศึกษาดูงานในบริษัทตามความสนใจ เพิ่มจำนวนห้องสมุดให้เด็กเข้าถึงโอกาสเรียนรู้มากขึ้น

ผู้สนใจเข้าร่วมได้ที่สวนเบญจกิติ ในเดือนพฤษภาคม 2567 ก่อนเปิดเทอม จะจัดเทศกาลกีฬาให้เด็กและครอบครัวได้ร่วมออกกำลังกายและใช้เวลาอย่างสร้างสรรค์ สร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวและชุมชน นอกจากนี้กทม. ยังหาความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายเพิ่มเติม เพื่อให้มีพื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็ก กทม. มากขึ้นจากปัจจุบัน 200 พื้นที่ เป็น 1,000 พื้นที่

"กทม. เชื่อว่าหากมีพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนได้เข้าร่วม แสดงศักยภาพมากขึ้น เด็กจะไม่เอาเวลาไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด กัญชา บุหรี่ไฟฟ้า หรืออะไรที่ไม่ดี"

มาร่วมกันเติมทุนทักษะชีวิต ซึ่งเกิดจากการที่ได้เล่นหรือทำสิ่งที่ตนเองสนใจ อย่างมีอิสระและสนุก สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตกันดีกว่า

เปิดพื้นที่ \'ปิดเทอมสร้างสรรค์\' เติมทุนทักษะชีวิต และการเรียนรู้ไม่สิ้นสุด