การฉลองปีใหม่ จากครั้งกระโน้น จนถึงครั้งกระนี้

การฉลองปีใหม่ จากครั้งกระโน้น จนถึงครั้งกระนี้

ปีใหม่ไทย กับ ปีใหม่ฝรั่ง มีที่มาที่ไปอย่างไร...ทำไมกำหนดให้วันที่ 1 เมษายน เป็นวันปีใหม่ไทย แทนการนับวันขึ้น 1 ค่ำเดือน 5 ซึ่งแต่ละปีไม่ตรงกับปฎิทินใหม่

เราก็รู้กันทั่วไปอยู่แล้ว ประเทศไทยเพิ่งเปลี่ยนให้นับวันปีใหม่ 1 มกราคม เมื่อพ.ศ. 2484 เป็นต้นมา โดยมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ลงนามโดยคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ รัชกาลที่ 8 เพราะในขณะนั้นทรงพระเยาว์ประทับต่างประเทศ อันการตัดสินใจเปลี่ยนมาจากท่านผู้นำ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นหลัก เหตุผลคือให้เป็นตามนานาอารยประเทศ และเราก็ใช้แบบนี้มาโดยตลอด

การพระราชพิธีต่างๆ การเฉลิมฉลองปีใหม่แบบใหม่ จำลองจากแบบแผนเดิมบ้าง ปรับเปลี่ยนไปบ้าง มีพระราชพิธีสงฆ์ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนมณีมหาปฏิมากร นมัสการสมเด็จพระสังฆราช สรงน้ำพระอัฐิ ฯลฯ ล้วนแต่เป็นพระราชพิธีปีใหม่แต่เดิม ที่เคยปฏิบัติวันปีใหม่ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 (ตรงกับเดือนเมษายน)

การฉลองปีใหม่ จากครั้งกระโน้น จนถึงครั้งกระนี้

ส่งความสุข (ส.ค.ส.)

การเฉลิมฉลองภาครัฐบาลออกจะเอิกเกริกสมเป็นวันปีใหม่แบบแผนใหม่ คือวันปีใหม่ ก็ต้องเฉลิมฉลอง จนเกิดมีเพลงที่โด่งดังติดหูผู้คนเช่น เพลงชโยปีใหม่ ของวงสุนทราภรณ์ ที่ยังใช้อยู่ยาวนานถึงปัจจุบัน ชนิดที่อยู่ในความทรงจำของผู้คนเช่น การส่ง ส.ค.ส. ให้แก่กัน ในยุคโน้นคือหลังสงครามโลก เป็นธรรมเนียมที่ประชาชนต้องขวนขวาย ส่ง ส.ค.ส. หน่วยงานราชการ

และผู้มีชื่อเสียงยศศักดิ์ต้องพิมพ์บัตรอวยพรปีใหม่ เป็นส.ค.ส. เฉพาะตน ขณะที่ชาวบ้านชาวช่องธรรมดาก็มี ส.ค.ส.เช่นกัน เป็นส.ค.ส.ประดิษฐ์เอง

หรือไม่ก็ซื้อแบบสำเร็จรูปที่มีผู้จัดพิมพ์ขาย และมักจะมีการติดกากเพชร วิบๆ วับๆ บนกระดาษ ซึ่งทั้งเพลงเฉลิมฉลอง ทั้งการอวยพรด้วยการ์ด ส.ค.ส. หรือการจับสลากแลกเปลี่ยนของขวัญ การมอบของขวัญ กระเช้า หรือการดื่มกินนั้น เป็นกิจกรรมของตะวันตกที่เรารับเอามาเฉลิมฉลองในวาระนี้

ปี 2484 นอกจากเปลี่ยนวันให้เป็นตามแบบฝรั่ง ยังมีรูปแบบการเฉลิมฉลองแจกการ์ด แลกของขวัญ หรือแม้แต่เพลงปีใหม่ ก็แนวฝรั่งเช่นกัน

หลายท่านอาจจะคิดว่าปี 2484 เป็นหมุดหมายของการเปลี่ยน เพราะตรุษสงกรานต์ปีใหม่ไทยแบบเดิม มีแต่การรดน้ำ ไม่ได้มีแบบแผนอื่น เช่น แลกของขวัญ ปาร์ตี้ ส่งการ์ด ส.ค.ส. อะไรแบบฝรั่งเขา ธรรมเนียมฉลองปีใหม่ฝรั่งที่เพิ่มเติมขึ้นมา มาพร้อมกับ 1 มกราคมแบบฝรั่งหรือไม่ ?!!

การฉลองปีใหม่ จากครั้งกระโน้น จนถึงครั้งกระนี้

เฉลิมฉลองปีใหม่แบบฝรั่ง

ประเด็นที่จะชวนแลกเปลี่ยนในบทความนี้ก็คือ แท้จริงแล้วคนไทยเราก็เฉลิมฉลองปีใหม่แบบฝรั่งมานานก่อนแล้ว ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ก็มีหลักฐานว่าพระองค์ทรงมอบการ์ดอวยพรให้สหายตะวันตก ตั้งแต่ พ.ศ. 2409 เพราะทราบว่า 1 มกราคม ตรงกับปีใหม่ฝรั่ง

ด้วยที่ทรงศึกษาความรู้จากชาติตะวันตกมาแต่ครั้งผนวช ศึกษาระบบปฏิทินเปรียบเทียบ (จึงสามารถระบุวันสุริยุปราคาได้แม่นยำ)

แม้ในตอนนั้นสยามยังไม่ประดิษฐ์ปฏิทินสุริยะคติ ชื่อเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ มีนาคม ก็ยังไม่เกิด แต่ก็ทรงทราบว่า มี January February อยู่แล้ว การ์ด ส.ค.ส. ฉบับแรกเกิดในยุคนั้น

ราขสำนักสยามศึกษาสนใจวัตรประเพณีของฝรั่งตะวันตกมานานแล้ว และพิธีฉลองปีใหม่แบบฝรั่งก็แพร่เข้ามาในราชสำนักก่อน โดยปรับการฉลองแบบฝรั่งเข้ากับตรุษปีใหม่สงกรานต์เปลี่ยนศักราชไทยนั่นเลย

มีหลักฐานที่รัชกาลที่ 5 ทรงบันทึกไว้ เมื่อ เมษายน พ.ศ.2419 (ถ้านับแบบปัจจุบันคือ พ.ศ.2420) เป็นวันพฤหัสบดี ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 อันถือว่าเป็นวันปีใหม่ไทย ว่า...

“เช้าตื่นขึ้นมาส่งก๊าด (การ์ด) กันมามากได้ของปีใหม่ กมลาศเอาเชิงเทียน 2 ขวดหมึก 1 ที่ขีดไฟ 1 ที่เขี่ยบุหรี่ 1 มาให้ พระนายศรีหีบบุหรี่ กรมนเรศขวดเหล้ากับบุหรี่ พระยาภาษหีบใส่กระดาษ เปลี่ยนหีบเครื่องเล่นต่างๆ กาพยรูปกับรูปเขียนและรูปกวาดแล้วไปเลี้ยงพระที่อมรินทร์”

จะเห็นว่าธรรมเนียมการส่งการ์ดอวยพรในปีใหม่ มีแต่ครั้นนั้นแล้ว และมีจำนวนมาก ยังมีบันทึกว่า ครั้นตอนค่ำก็มีงานเลี้ยงปีใหม่ มีการแต่งแฟนซี เป็นชาติภาษาต่างๆ ที่ติดต่อสัมพันธ์ด้วย เช่น เป็นรายายะโฮ เป็นทหารอังกฤษ เป็นทหารฝรั่งเศส เป็นโปลิศ

และมีการจับสลากแลกของขวัญ แจกเงินของชำร่วยให้กับมโหรีที่มาเล่น ยังมีการแสดงมายากล ที่ล้วนแต่เป็นธรรมเนียมแบบฝรั่งในวาระนั้น

การฉลองปีใหม่ จากครั้งกระโน้น จนถึงครั้งกระนี้ บันทึกของราชสำนักในปีถัดๆ มา ก็ยังมีการฉลองปีใหม่แบบฝรั่ง ส่งการ์ดปีใหม่ และงานปาร์ตี้ นอกเหนือจากพระราชพิธีตามแบบแผนธรรมเนียมไทย คือ รู้เขา รู้เรา รับเขา มาใช้กับเรา มานานก่อนแล้ว

ประเทศสยามเปลี่ยนระบบปฏิทินมาเป็นแบบเกรกอเรียนสุริยะคติตามนานาอารยะประเทศเมื่อ พ.ศ. 2432 มีการประดิษฐ์ศัพท์ มกราคม กุมภาพันธ์ ชื่อเดือนที่ลงท้ายด้วย -คม ด้วย -ยน

และให้วันที่ 1 เมษายน เป็นวันปีใหม่ แทนการนับวันขึ้น 1 ค่ำเดือน 5 ซึ่งแต่ละปีจะไม่ตรงกับปฎิทินใหม่

ที่แท้ สยามประเทศเรียนรู้และเปรียบเทียบระบบปฏิทินแบบต่างๆ มาก่อนแล้ว จึงเห็นความจำเป็นต้องเปลี่ยนไปตามโลกข้างมากยึดถือเป็นมาตรฐาน เพราะโลกมันต้องไปมาหาสู่ค้าขายกัน ระบบเดียวกันก็นับและนัดหมายกันง่ายขึ้น

ประเทศญี่ปุ่นในยุคเมจิ เปลี่ยนระบบปฏิทินมาใช้แบบเกรกอเรียนสุริยะคติตามหลังสยาม คือ มาเปลี่ยนเอาเมื่อ ค.ศ.1873 (2436) หลังสยามถึง 4 ปี ในยุคนั้นชาติที่เจริญในย่านเอเซียมีสยามกับญี่ปุ่นนี่ล่ะ ที่คู่กันมา

แต่ญี่ปุ่นกำหนดวันปีใหม่เป็น 1 มกราคม มาตั้งแต่ 1873 คือ เมื่อเปลี่ยนปฏิทินใหม่ก็เปลี่ยนวันปีใหม่สากลทันที ( โดยยังมีความเชื่อเรื่องปีใหม่น้อยแบบญี่ปุ่นดังเดิมดูดวงจันทร์อยู่ ควบคู่กับ)

ขณะที่สยาม มาเปลี่ยนเอาตอน 2484 หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว เหตุผลเรื่องวันปีใหม่ที่ยังไม่เปลี่ยนยุคโน้อาจเพราะปีใหม่เป็นเรื่องของฤกษ์โมงการเคลื่อนของดวงดาว ยังเป็นสิ่งที่สำคัญ การเปลี่ยนศก ยังหมายถึง เวลาตกฟาก ฤกษ์ผานาที และการคำนวณต่างๆ ที่ยังสำคัญอยู่

แต่ถึงเปลี่ยนเร็วเปลี่ยนช้า สยามไทยเรารู้จักเฉลิมฉลองเนื่องด้วยปีใหม่มาก่อนแล้ว ไม่ว่าปีใหม่ไทย หรือ ปีใหม่ฝรั่ง เรื่องการปรับตัวลักษณะนี้เราเก่งมานานแล้ว.