ความรู้เรื่องโกก้าง จากจีนกู้ชาติสู่จีนเทา (และนักขุดทองไทย)

ความรู้เรื่องโกก้าง จากจีนกู้ชาติสู่จีนเทา (และนักขุดทองไทย)

'โกก้าง' คำเรียกขานที่คนท้องถิ่นไตรัฐฉานและชาวพม่า เรียกกลุ่มคนเชื้อสายจีนที่อาศัยบนภูเขาสูงด้านตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐฉาน และนี่คือบทวิเคราะห์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น

ข่าวสารว่าด้วยเขตพิเศษโกก้าง การสู้รบของชนกลุ่มน้อยกับกองทัพพม่า (ต๊ะมะต่อ) ที่มีคนไทยไปทำงานที่นั่นตกค้างอยู่นับร้อย เรียกร้องให้ทางการไทยช่วยเหลือไม่ต่างจากแรงงานในอิสราเอล

ข่าวสารบอกว่า ที่นั่นมีความขัดแย้งสู้รบระหว่างกองทัพพม่า กับ กำลังโกก้าง MNDAA ที่มีพันธมิตรเป็นกองกำลังชนกลุ่มอื่นเช่นกลุ่มตะอาง และกองทัพอาระกันต่อเนื่องมา จนล่าสุดเกือบจะยึดเมืองเลาก์ก่าย Laukkai เมืองหลักของเขตโกก้างได้ ข่าวสารของคนไทยที่อยู่ระหว่างศึกตกค้างอยู่ก็ยิ่งดังขึ้น

ข่าวสารยังบอกว่า เขตเศรษฐกิจเมืองเลาก์ก่ายนั้นคึกคักมีเงินหมุนเวียนสูงเพราะมีกาสิโน มีธุรกิจบริการ และก็มีจีนเทา กิจกรรมของแก๊งมิจฉาชีพชาวจีนไปอาศัยใช้เป็นฐานก่ออาชญากรรมแผ่นดินแม่

ความรู้เรื่องโกก้าง จากจีนกู้ชาติสู่จีนเทา (และนักขุดทองไทย) (กองกำลังโกก้าง MNDAA ภาพ : https://myanmar-now.org/)

 

การวิเคราะห์ชี้ว่า พญามังกรหนุนหลังชนกลุ่มน้อยโกก้าง MNDAA และกองกำลังพันธมิตรไล่ตีทหารพม่า ขนาดมีรูปถ่ายอาวุธยุทโธปกรณ์เมดอินไชน่าประกอบเพื่อยืนยัน ซึ่งก็น่าเชื่อถือไม่น้อย

เพราะกลุ่มโกก้างนั้นมีประวัติศาสตร์เชื่อมโยงกับจีนแนบแน่น แกนนำของ MNDAA คนที่เพิ่งเสียชีวิตไป เผิงเจียเซิ่ง สนับสนุน คอมมิวนิสต์พม่ามีความสัมพันธ์กับคอมมิวนิสต์จีนเคยหลบหนีทหารพม่าข้ามไปเคลื่อนไหวในยูนนานหลังเหตุเนวินปฏิวัติพม่า ขณะเสียชีวิตก็อาศัยที่คุนหมิง

ผู้นำคนปัจจุบัน เผิงต้าซุน บุตรชายของเผิงเจียเซิ่งก็มาจากคุนหมิง นักวิเคราะห์ชี้ว่า การสู้รบใหญ่ครั้งนี้ขนาดไล่ตีกองทัพพม่าออกจากชายแดนจีนได้ คือสงครามตัวแทนที่พญามังกรต้องการกวาดกลางพื้นที่รั้วบ้านที่ก่อความระคายเคือง แน่นอน มันกระทบกับความสัมพันธ์ทางทหารต่อเมียนมาร์

และที่ต้องกล่าวถึงก็คือ คนไทยที่เดินทางไปทำมาหากินยังเขตเศรษฐกิจชายแดนที่นั่น ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า คนไทยบางส่วนที่รู้ข้อมูลมาก่อนว่าเขตโกก้างมีธุรกิจสีเทา มีกาสิโน มีสถานบันเทิงย่านโลกีย์ และกิจกรรมของแก๊งมิจฉาชีพ

บางข่าวระบุด้วยซ้ำว่า มีแก๊งคอลเซ็นเตอร์พูดภาษาไทยต้มตุ๋นคนไทยด้วย ไม่ได้มีแค่มิจฉาชีพจีนเทาต้มตุ๋นจีนด้วยกัน แต่ในจำนวนนั้นก็ต้องยอมรับว่า มีคนไทยที่ถูกหลอกลวง เสนองานชนิดหนึ่งดึงดูดให้ไปแต่เมื่อไปถึงก็ถูกบังคับใช้แรงงานทาส

ในเมื่อเขตโกก้างมีบทบาทสำคัญของความขัดแย้งในเขตเพื่อนบ้านที่เราควรจะรู้ และยังมีกรณีคนไทยตกค้างระหว่างเหตุรบ

บทความนี้ขอเล่าเรื่องราวของโกก้างในมิติประวัติศาสตร์ความเป็นมาในทำนองสารคดีเพื่อให้เข้าใจโกก้างมากขึ้น

ความรู้เรื่องโกก้าง จากจีนกู้ชาติสู่จีนเทา (และนักขุดทองไทย)

ความรู้เรื่องโกก้าง จากจีนกู้ชาติสู่จีนเทา (และนักขุดทองไทย)

 

โกก้างไม่ใช่ชื่อชนเผ่า

โกก้าง เป็นคำเรียกขานที่คนท้องถิ่นไตรัฐฉานและชาวพม่า เรียกกลุ่มคนเชื้อสายจีนที่อาศัยบนภูเขาสูงด้านตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐฉาน เป็นพื้นที่เขตตะวันออกของแม่น้ำสาละวินต่อชายแดนจีน ชาวจีนที่นั่นเป็นจีนภาคกลางหรือฮั่น ที่อพยพภัยการเมืองช่วงเปลี่ยนราชวงศ์หมิง มาเป็นราชวงศ์ชิง นั่นคือตรงกับสมัยปลายอยุธยา

คนจีนที่อพยพมาไม่ได้เรียกตัวเองว่าโกก้าง หากเป็นเจ้าถิ่นต่างหากที่เรียก!

ก็แบบเดียวกับที่คนไท เรียกชาวเวียดนามว่า ญวณ ทั้งที่คนเวียดนามไม่ได้เรียกตัวเองว่าญวน คนจีนที่อพยพมาปักหลักดินแดนแถบนั้นถูกคนไตมาว เจ้าถิ่นเรียกว่าพวก “เก้าก้าง”

เก้าก้างเป็นภาษาไต เก้า คือ จำนวน 9+ ก้าง หมายถึง ผู้นำหมู่บ้าน หรือ นายบ้าน เพราะดินแดนภูเขาตรงนั้นมีเขตชุมชนดั้งเดิม 9 บ้านมารวมกันเป็นเขตเมือง นี่เป็นที่มาของชื่อ โกก้าง เพราะลิ้นพม่าออกเสียงเก้าแบบไทยเป็น “เกากาน” ฝรั่งอังกฤษรับจากพม่าอีกทอด เรียกเป็น Kokang ที่เรารู้จักจากข่าวสารในที่สุด

ขอเลี้ยวเข้าซอยหน่อย คือ ภาษาพม่านี่ เขารับและยืมคำมาจาก มอญ ไต มากเป็นลำดับต้นๆ เพราะเขาผูกพันใกล้ชิดมายาวนาน แต่เมื่อยืมมาใช้ลิ้นพม่าก็ออกเสียงเพี้ยนไปจากของเดิมไปลิบ

อย่างคำไต “ผาสี” ที่หมายถึงฮ่อหรือจีนอิสลามจากยูนนาน พม่า เรียกเป็น “ปันตี” เพราะลิ้นออกเสียงส.เสือไม่ได้ อังกฤษรับไปอีกทอดเขียนเป็น Panthay หมายถึงกลุ่มคนจีนอิสลามในยูนนาน ออกเสียงใหม่ไปคนละความหมายเลย เพราะสันนิษฐานว่า ผาสี นั้นมาจาก ปาร์ซี / เปอร์ซี ที่คนเอเชียกลางเปอร์เซียเรียกตนเอง

ความรู้เรื่องโกก้าง จากจีนกู้ชาติสู่จีนเทา (และนักขุดทองไทย) เจ้าหน้าที่ไทยให้การช่วยเหลือ 41 คนไทยจากเมืองเล่าก์ก่าย ที่จุดผ่านแดนถาวรสะพานมิตรภาพแม่น้ำสายแห่งที่ 1 ไทย-เมียนมา  

 

ชาวเอเชียกลางถูกเจงกิสข่านดึงมากับทัพมองโกล มากันเป็นกองทัพเพราะเมื่อสวามิภักดิ์แล้วก็ต้องส่งทัพร่วมมา ในยุคกุบไลข่าน ส่งขุนศึกชาวเอเชียกลางและกองกำลังอิสลามเปอร์เซียมาปกครองยูนนาน และรุกเข้าพม่า

คนไตรัฐฉาน ที่อยู่เหนือสุดก่อนถึงพม่าจึงได้รู้จักกับ ชาวอิสลามจากยูนนานก่อนใคร จึงเรียก “ผาสี” ต่อมาคนเชื้อสายเอเชียกลางผสมกับคนจีนท้องถิ่นหน้าตาจึงไม่เป็นแขกมาก แต่คนท้องถิ่นรัฐฉานก็ยังเรียกพวกจีนอิสลามว่า ผาสี แบบที่เคยเรียกเมื่อ 800 ปีก่อน

เก้าก้าง ที่คนท้องถิ่นเรียกขานเขตแดนพื้นที่เมืองภูเขา และเรียกกลุ่มชนที่อาศัยที่นั่นไปด้วยว่า พวกเก้าก้าง จึงถูกพม่าและอังกฤษรับไปเพี้ยนไปเป็น Kokang ด้วยเหตุฉะนี้

จีนกู้ชาติคุณชายตระกูลหยาง

ชาวจีนภาคกลางที่อพยพมาอยู่ ณ ดินแดนโกก้างอันไกลโพ้นสุดเขตยูนนานไกลจากลี่เจียง-ต้าลี่ที่ว่าไกลแล้ว ยังไกลออกไปอีก ที่แท้เป็นกลุ่มขุนนางขุนศึกใกล้ชิดราชวงศ์หมิง หัวหน้ากลุ่มตระกูลที่อพยพมาคือ ตระกูลหยาง เป็นแซ่ของขุนศึกมีบทบาทในราชสำนักมายาวนาน พงศาวดารจีนบอกว่าขุนศึกตระกูลหยางรักชาติรักแผ่นดินถนัดเพลงทวนเป็นอาวุธ

ระบบตระกูลแซ่ของจีน คือ หัวหน้ากลุ่มชนเจ้าตระกูลที่บรรดาบ่าวไพร่ในสังกัดแม้จะมีแซ่อื่น ก็จะถูกระบุว่าเป็นคนของบ้านตระกูลหยาง ดังนั้นการอพยพมาของบ้านตระกูลหยางเป็นตระกูลใหญ่

จึงมาพร้อมกับชาวจีนฮั่นแซ่อื่นๆ อีกจำนวนมากสามารถตั้งเป็นชุมชนได้ และแน่นอนกำลังคนขนาดนั้นย่อมมีเศรษฐกิจรายได้คล่องตัว ชาของโกก้างขึ้นชื่อ เป็นใบชายูนนานอีกแขนงที่เป็นที่นิยม ในยุคอังกฤษมีบทบาทฝิ่นยังถูกกฎหมาย ปรากฏดินแดนโกก้างก็เป็นแหล่งผลิตฝิ่นชั้นดี ...โกก้างจึงมั่งคั่งและมีอิทธิพลในย่านถิ่นนั้น

แต่ด้วยในยุคโบราณยังไม่มีการปักปันเขต ดินแดนนี้ยังอยู่ในหุบเขาลี้ลับของยูนนานด้วย และยังมีเขตปกครองท้องถิ่นเมืองไต คนไตรัฐฉานระบุว่า ชุมชนโกก้างตรงนั้นขึ้นกับเมืองแสนหวี ภายใต้ปกครองของเจ้าฟ้าแสนหวี

ขณะที่ประวัติศาสตร์จีนระบุว่า เมืองแสนหวีขึ้นกับยูนนาน /คุนหมิงมาแต่เดิม ชื่อแสนหวี ที่จริงเป็นชื่อจีนเรียก แซนหวี่ หมายถึงตำหน่งขุนนางที่ส่งกล่อมเกลา/ปกครองประชาชนชาวฮวนป่าเถื่อนเขตนี้

เอาเป็นว่า เขตแดนเพิ่งมาแบ่งเอาตอนอังกฤษปกครองพม่าก็ได้ทำสนธิสัญญาปักปันกับจีน แบ่งโกก้างมาอยู่กับรัฐฉาน และให้ใช้ระบบปกครองแบบเจ้าฟ้าเหมือนกับเมืองอื่นๆ ในรัฐฉาน คุณชายตระกูลหยางแห่งเมืองโกก้าง จึงได้ยกฐานะขึ้นเป็นเจ้าฟ้าโกก้าง มีสถานะใหม่บบชาวฉานทั้งๆ ที่ตนเป็นอีกกลุ่มเชื้อชาติ

เจ้าฟ้าโกก้างยังเป็นคนตระกูลหยางซึ่งสืบมาหลายชั่วคน จากกลางอยุธยามาถึงราวสมัยรัชกาลที่ 5 สองร้อยปีขึ้นที่คนจีนภาคกลางหล่อหลอมกลายเป็นโกก้าง

ตระกูลหยางภาคภูมิในเกียรติศักดิ์ศรีของตระกูลขุนศึกที่ภักดีราชวงศ์หมิงชาวฮั่น ขนาดที่มีบันทึกประวัติความเป็นมาของตระกูลหยางในยุคที่อังกฤษปกครอง ขณะที่ลูกหลานตระกูลหยางมีเงินทองศักดิ์ศรีถูกส่งไปเรียนที่อังกฤษใช้ชีวิตหรูหราในย่างกุ้งภายใต้ยุคอังกฤษ

ความเปลี่ยนแปลงเกิดเมื่ออังกฤษให้อิสรภาพพม่า มีประชาธิปไตยอยู่ไม่นานแล้วทหารนายพลเนวินก็ทำปฏิวัติ 2505 ตระกูลหยางกลับมาตั้งกองกำลังกู้ชาติ ไม่ขึ้นกับรัฐบาลย่างกุ้ง

เช่นเดียวกับชนกลุ่มน้อยอื่นๆ มีความผกผันทางการเมือง ตระกูลหยางหลุดจากอำนาจปกครอง เสียให้กับขุนศึกรุ่นหนุ่มเชื้อสายจีนโกก้างนามว่า โลชิงฮัน ประวัติของคนผู้นี้เกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติดเป็นราชายาเสพติดก่อนยุคขุนส่า

ความรู้เรื่องโกก้าง จากจีนกู้ชาติสู่จีนเทา (และนักขุดทองไทย) เผิงเจี่ยเซิ่ง ขุนศึกบ้านตระกูลหยาง 

แต่เมืองโกก้างยังไม่หมดสิ้นประวัติศาสตร์รากที่มาเกี่ยวกับบ้านตระกูลหยาง เพราะต่อมา ขุนศึกในบ้านตระกูลหยาง ชื่อ เผิงเจี่ยเซิ่ง ( ที่ได้กล่าวไปตอนต้นและเพิ่งเสียชีวิต) ก็ได้กลับมายึดอำนาจปกครองเขตโกก้าง สืบต่อจากบ้านตระกูลหยาง

เผิงเจี่ยเซิ่งก่อตั้งกองกำลัง MNDAA และสืบมาจนถึงเผิงต้าซุนผู้ลูกที่ได้นำกองกำลังนี้แบกอาวุธทันสมัยของจีนไปรบทหารต๊ะมะต่อพม่า

มีผู้กล่าวถึงกองกำลังโกก้างในทำนองวาทกรรมประกอบข่าวสารว่า ลูกหลานขุนศึกตระกูลหยาง .. นั่นล่ะใช่ MNDAA เป็นกองกำลังคนเชื้อสายจีนที่มีสายสัมพันธ์สืบยาวนานกับรัฐบาลจีน ตั้งแต่ยุคหมิง มาจนถึงรัฐบาลคอมมิวนิสต์

พม่าและจีนเทา

พม่ากับจีนเป็นเพื่อนบ้านพรมแดนติดกันมีประวัติศาสตร์รบรากันญาติดีกันสลับไปมา ยุคนี้เป็นยุคที่พม่าเล็กกว่าเยอะ แต่ก็ยังพยายามรักษาศักดิ์ศรีชาติยิ่งใหญ่แต่โบราณ กรณีความขัดแย้งชายแดนมีมาตลอด เช่น กองกำลังชนกลุ่มน้อยว้า เปิดให้ทุนจีนมาตัดไม้ข้ามไป ทหารพม่าเคยจับกุมคนจีนและรถบรรทุกจำนวนมากเรือนร้อยกักขังดำเนินคดี แล้วค่อยส่งคืนกลับจีน นั่นเป็นกรณีที่พม่าเห็นว่าตนถูกกระทำ

แต่สำหรับกรณีจีนเทา ที่เขตโกก้างกลับกัน เพราะเป็นเรื่องที่จีนเสียหายจากการเปิดพื้นที่ให้กลุ่มคนไม่ดีไปก่ออาชญากรรมต่อชาวจีน ท่าทีของรัฐบาลปักกิ่งในการต้องรักษาผลประโยชน์และความปลอดภัยของชาวจีนชัดเจนที่สุดเพราะมันเป็นสถานะที่มหาอำนาจต้องคุ้มครองคนของตนได้

เหตุการณ์ที่เกิดในเขตโกก้าง อันเป็นพื้นที่กันชนต่อกับชายแดนจีนแค่เดินข้ามก็ถึง และแคนนอนมากระทบกับคนไทยที่ไปทำงานที่นั่นเป็นเรื่องใกล้ตัวเรามาก.