'รพ.ราชพิพัฒน์' นำร่องช่วยคนจน (เมือง) ได้พิสูจน์ตัวตน เข้าถึงสิทธิสวัสดิการ

'รพ.ราชพิพัฒน์' นำร่องช่วยคนจน (เมือง) ได้พิสูจน์ตัวตน เข้าถึงสิทธิสวัสดิการ

"รพ.ราชพิพัฒน์" นำร่องช่วย "คนจน (เมือง)" ได้พิสูจน์ตัวตน เข้าถึงสิทธิสวัสดิการที่เหมาะสม ครอบคลุมทั้งสุขภาพและสังคม

ปัจจุบันยังมีประชากรจำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน เพียงเพราะปัญหาสถานะทางทะเบียน เช่น ไม่ได้รับแจ้งเกิด เอกสารบุคคลสูญหาย ส่งผลให้ไม่มีเลขบัตรประชาชน 13 หลัก ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานได้ และปัญหาเรื่องสถานะ เป็นต้น ซึ่งการไม่มีสิทธิสถานะทางทะเบียน ย่อมส่งผลต่อการเข้าถึงหลักประกันทางสุขภาพและสิทธิสวัสดิการต่างๆ

ดังนั้น เพื่อช่วยให้ประชากรกลุ่มเปราะบาง เช่น คนไร้บ้าน และกลุ่มคนไร้สิทธิ ได้เข้าถึงบริการสุขภาพอย่างครอบคลุม และพึงได้รับสิทธิที่พวกเขาพึงมี ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องมีหน่วย "พิสูจน์สิทธิ" 

และเมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ และมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย (มพศ.) ได้เปิดตัว หน่วยเก็บสิ่งส่งตรวจสารพันธุกรรม (DNA) เพิ่มการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้กลุ่มคนไทยที่มีปัญหาสิทธิสถานะในพื้นที่ กทม. ภายใต้ชื่อ รพ.ราชพิพัฒน์ 

\'รพ.ราชพิพัฒน์\' นำร่องช่วยคนจน (เมือง) ได้พิสูจน์ตัวตน เข้าถึงสิทธิสวัสดิการ

สำหรับ รพ.ราชพิพัฒน์ สำนักการแพทย์ กทม. จะนำร่องเป็นหน่วยเก็บสิ่งส่งตรวจสารพันธุกรรม (DNA) เพื่อช่วยเหลือคนไทยที่ไม่มีชื่อและรายการบุคคลในทะเบียนบ้าน ซึ่งเป็นหน่วยบริการตรวจสารพันธุกรรมที่สามารถหาความสัมพันธ์ทางสายเลือดได้ และคุ้มครองสิทธิผู้มีสัญชาติไทย แต่ขาดเอกสารยืนยันตัวตน ให้ได้สิทธิสถานะทางกฎหมายคืนมาเพื่อได้รับสวัสดิการครบถ้วน

ดร.พญ.เลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. กล่าวถึงสถานการณ์คนไร้บ้านใน กทม. ว่า ที่ผ่านมา กว่าร้อยละ 30 มีปัญหาตกหล่นทางสิทธิสถานะ เพราะไม่สามารถยืนยันตัวตนได้ 

ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. และรักษาการ ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า การไม่มีสิทธิสถานะทางทะเบียนนั้น ส่งผลต่อการเข้าถึงหลักประกันทางสุขภาพ สิทธิสวัสดิการต่างๆ ที่ควรจะได้รับ ซึ่งยังมีคนประสบปัญหานี้มากกว่า 500,000 คน สสส. จึงร่วมกับภาคีเครือข่าย ผลักดันข้อเสนอนโยบายการเข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพผ่านคณะทำงานขับเคลื่อนประเด็นการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพของคนไทยไร้สิทธิจนถึงปัจจุบัน สนับสนุนให้เกิดกลไกและความร่วมมือพัฒนาสิทธิสถานะและการเข้าถึงระบบหลักประกันทางสุขภาพของคนไทยไร้สิทธิใน 9 จังหวัด ได้แก่ กทม. ปราจีนบุรี ตราด อุบลราชธานี ศรีสะเกษ กาญจนบุรี สงขลา ตาก และสระบุรี ภายใต้ความร่วมมือของภาคประชาสังคม ภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคีเครือข่ายในระดับพื้นที่ ส่งผลให้มีกลุ่มคนไทยไร้สิทธิกว่า 1,346 คน ได้เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สิทธิ เพื่อเข้าถึงบริการระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 

\'รพ.ราชพิพัฒน์\' นำร่องช่วยคนจน (เมือง) ได้พิสูจน์ตัวตน เข้าถึงสิทธิสวัสดิการ

"สสส. สานพลังภาคีฯ พัฒนาต้นแบบและกลไกการทำงาน พร้อมทั้งพัฒนาศักยภาพองค์กรภาคีต่างๆ สร้างรูปธรรมการทำงานทั้งในระดับพื้นที่และนโยบาย นำร่อง 1 จังหวัด 1 โรงพยาบาล ในปี 2564 สู่ 9 จังหวัด 14 โรงพยาบาล ในปี 2566 ในการค้นหา ประสานส่งต่อ ติดตามสิทธิ เพื่อลดเวลาพิสูจน์สิทธิให้เร็วขึ้น หวังว่าการพัฒนาเครือข่ายในระดับพื้นที่ กทม. จะสร้างผลสะท้อน นำไปสู่การขับเคลื่อนเชิงนโยบายให้คนไทยไร้สิทธิได้เข้าถึงสวัสดิการที่เหมาะสมทั้งสุขภาพและสังคม"

ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า รพ.ราชพิพัฒน์ เป็นการเพิ่มความสะดวกให้กับการพิสูจน์ตัวตน โดยเฉพาะประชาชนที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียนในโซนธนบุรี ซึ่งหวังว่าจะช่วยเพิ่มโอกาสให้คนกลุ่มนี้ได้รับการพิสูจน์ตัวตน เพื่อให้ได้รับบัตรประชาชน และสามารถมีสิทธิเข้ารับบริการสุขภาพได้ ซึ่ง กทม. ร่วมดำเนินงานเพื่อพัฒนาการเข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพให้กับคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน โดยบทบาทของการดำเนินงานที่ผ่านมา ได้มีการสำรวจข้อมูลและต้นทุนการใช้บริการสุขภาพของคนกลุ่มนี้ในสถานบริการสังกัดสำนักการแพทย์ และสำนักอนามัย พร้อมสนับสนุนแก้ไขปัญหาเพื่อให้เกิดการเข้าถึงบริการ

"การพิสูจน์ตัวตนต้องดำเนินการตามภูมิลำเนาเดิม แต่ปัจจุบันกรมการปกครองให้ประชาชนสามารถพิสูจน์ตัวตนในพื้นที่ กทม. ผ่านหน่วยตรวจสารพันธุกรรม ที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ทั้งนี้ โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ นำร่องหน่วยเก็บสิ่งส่งตรวจสารพันธุกรรม ให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เป็นแห่งแรกใน กทม. โดยการเดินทางไปที่สถาบันและในรูปแบบการลงพื้นที่ หรือใช้เครือข่ายหน่วยเก็บสิ่งส่งตรวจ ส่งให้สถาบันฯ และตรวจที่โรงพยาบาลรามาธิบดี"

\'รพ.ราชพิพัฒน์\' นำร่องช่วยคนจน (เมือง) ได้พิสูจน์ตัวตน เข้าถึงสิทธิสวัสดิการ

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สิทธิบัตรทอง ถือเป็นกลไกของไทยที่ดูแลประชาชนให้เข้าถึงบริการสุขภาพอย่างครอบคลุมและทั่วถึง แต่มีประชากรจำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถเข้าถึงสิทธินี้ได้ จากปัญหาสถานะทางทะเบียน ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันแก้ปัญหาเพื่อให้ทุกคนได้รับการคุ้มครองสิทธิ ดังนั้นการร่วมมือทั้ง 9 หน่วยงาน ช่วยขับเคลื่อนการดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่ เพื่อแก้ปัญหาสิทธิของคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน 

วรรณา แก้วชาติ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย กล่าวปิดท้ายว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะทำให้กลุ่มผู้มีปัญหาทางทะเบียน เข้าถึงสิทธิการรักษา สามารถยื่นคำร้องขอเพิ่มชื่อ ขอทำบัตรประชาชนด้วยตนเอง เพื่อการเข้าถึงสิทธิสุขภาพอย่างทั่วถึง