ครูกายแก้ว : ความเชื่อ การค้า และ การเมือง

ครูกายแก้ว : ความเชื่อ การค้า และ การเมือง

ปรากฏการณ์'ครูกายแก้ว' ความเชื่อที่มีคำอธิบายในสังคมไทย เมื่อผู้คนขาดความมั่นใจในการดำเนินชีวิต จึงต้องหาสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ และความเชื่อเหล่านี้ ยังมีโยงไปถึงการค้าและการเมือง

1. ความเชื่อ

ปรากฏการณ์ข่าวสาร “ครูกายแก้ว” รูปปั้นอสูรติดปีก ถูกเผยแพร่อย่างรวดเร็ว  สถาปนาให้ผู้คนสนใจทำความรู้จักถึงเรื่องราวความเป็นมาและอิทธิฤทธิ์ของอสูรตนนี้ 

ถามว่ามันแปลกไหม  ?

ตอบว่า ถ้าเข้าใจสังคมพุทธแบบไทยๆ ก็ไม่น่าแปลกอันใด เพราะสังคมพุทธแบบไทยไม่ได้เป็นพุทธแท้ หากหลอมรวมกับลัทธิความเชื่อศาสนาเดิมศาสนาอื่นมาแต่แรก ทั้งผี พราหมณ์ เทพเจ้า บนหิ้งบูชาของแต่ละบ้านสะท้อนความหลอมรวมในด้านลัทธิความเชื่อได้ชัดเจนอยู่แล้ว 

ความเชื่อลัทธิศาสนานั้นเป็นสิทธิที่กฎหมายยอมรับ และมันเป็นกติกาสากลด้วยว่า บุคคลมีเสรีภาพในการนับถือ(หรือไม่นับถือ)ศาสนา คนมีสิทธิ์เชื่อว่าน้ำส้วมที่ซึมจากใต้ดินเป็นน้ำพญานาค เชื่อในลัทธิพระบิดากินฉี่กินอึ หรือถ้าใครจะเอาก้อนขี้หมามาผูกโบว์ใส่พานบูชามันเป็นเรื่องของความเชื่อส่วนบุคคล

เพียงแต่เจ้าความเชื่อดังกล่าวนั้นต้องไม่ไปรบกวนหรือเป็นอันตรายผู้อื่น อย่างโอมชินริเคียว ที่ฆ่าคนบริสุทธิ์นี่เกินไปจากกรอบเสรีภาพบุคคล ก็กลายเป็นความเชื่อนอกกฎหมายทันที

ครูกายแก้ว : ความเชื่อ การค้า และ การเมือง

สำหรับเมืองไทย ความเชื่อว่าด้วยอสูร บรมครูทรงวิทยาคม แบบครูกายแก้ว คือถ้าตั้งรูปให้คนมาไหว้บูชามันก็ยังอยู่ในความคุ้มครองของกฎหมายว่าด้วยเสรีภาพ ไม่ใช่พุทธแล้วทำไม ?  

ทีเขารวมกลุ่มกันทำพิธีไหว้แม่มด คนทรงยังทำได้ มีเหรียญเคารพรูปชูชก ฝ่ายตรงกันข้ามกับพระโพธิสัตว์ด้วยซ้ำไป จนกระทั่งมีไอ้ไข่ นี่ก็ผีชัดๆ ที่เขาบูชากราบไหว้กัน ดังนั้นในมิติของความเชื่อมันก็เชื่อกันได้ .. เชื่อใครเชื่อมัน

แต่อย่างไรก็ตาม การเติบโตของความเชื่อแปลกๆ ส่วนหมู่คณะที่งอกงามขึ้นมาแบบไม่เคยมีในสารบบผีสางเทวดายุคโบราณ มันก็สะท้อนความอ่อนแอของลัทธิความเชื่อศาสนาหลักของสังคมไปพร้อมกัน 

 

คือศาสนาลัทธิเดิมๆ เอาสังคมไม่อยู่แล้วหรือยังไง คนไม่ค่อยเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์แบบเดิม แสวงหาของกราบไหว้ที่แรงกว่า ศักดิ์สิทธิ์กว่า ตอบสนองความเชื่อได้ดีกว่า ประมาณว่า หลวงพ่อทันใจ ทันใจปุ๊บปั๊บกว่า  ไอ้ไข่ถูกแน่ๆ ถูกบ่อยๆ แล้วก็มาถึงครูกายแก้ว ที่เป็นทั้งอสูรบรมครูนำเข้าจากเขมรตนนี้

ศาสนาผี เทวดา อารักษ์ แบบเดิมๆ ที่คนเคยเคารพกราบไหว้ ผีเรือน พระภูมิเจ้าที่ มันหย่อนลงไม่ตอบสนองทันใจ คือยังไหว้อยู่แหละ แต่เมื่อมีอสูรเทวะองค์ใหม่ ผีเด็กมาใหม่ ก็ไปไหว้เพิ่ม ไหว้ทั้งพระ ไหว้ทั้งผี ไหว้ทั้งอสูร เข้าใจคำวิจารณ์ของ ดร.ธงทอง จันทรางศุเลยครับ “ไม่ผิดกฎหมาย แต่สามารถบ่งบอกถึงความไม่มั่นคงทางจิตใจของสมาชิกในสังคมได้ในระดับหนึ่ง”  

แปลอีกที คือ คนสังคมมันว้าเหว่ ขาดความมั่นใจในการดำเนินชีวิต ต้องการอะไรก็ได้ที่มีฤทธิ์ตอบสนองให้ตนได้ อะไรก็ได้ที่เขาว่าศักดิ์สิทธิ์  !

พื้นฐานสังคมเราเป็นเช่นนี้มานาน ไม่ต้องถามที่มาที่ไปหรอก เชื่อก็ไหว้...

น้ำศักดิ์สิทธิ์ วัวสามขา ศาลาร้าง ทางนาคเลื้อย...  มีเรื่อยมา.... สำมะหาอะไรกับรูปปั้นอสูรบรมครูที่มีชั้นเชิงสร้างเรื่องราวที่แยบยลกว่า

ครูกายแก้ว : ความเชื่อ การค้า และ การเมือง

2.การค้ากับความเชื่อ

ความเชื่อเป็นตลาดที่ใหญ่มาก  ใหญ่กว่าวงการพุทธพาณิชย์ เพราะมันกวาดเอาความเชื่อความศักดิ์สิทธิ์ทั้งมวลที่ไม่ใช่แค่พุทธมาประกอบสร้างเป็นวิหารศาลาแท่นบูชารูปเคารพ

แม้กระทั่งเครื่องเซ่นไหว้ก็ตลาดใหญ่นะครับ รูปเคารพทันใจๆ บางแห่งกำหนดไว้เลยว่าต้องใช้ดอกมะลิเท่านั้น เอาล่ะสิ ละแวกจังหวัดนั้นไม่มีแหล่งเสียด้วย ปรากฏคนในเครือข่ายวงการของท่านจัดให้เรียบร้อย ทั้งการสั่งมาล็อตใหญ่ มีร้านค้าผู้ขายดอกมะลิครบวงจร  คนท้องถิ่นอยากขายบ้าง ต้องเข้าหาให้ถูกช่อง

เดี๋ยวนี้วงการเหรียญและรูปเคารพพัฒนาขึ้นเยอะ ทั้งด้านอินบาวด์ เอาท์บาวด์ และออนไลน์ ทัวร์จีนมาเช่าที่วัดสร้างอาคารขายเหรียญของศักดิ์สิทธิ์เอาทัวร์มาลงเองเลยก็มี ส่งออกก็มี รวมถึงการขายออนไลน์ผ่านแอพพลิเคชั่นเขาทำมานานแล้ว

ระหว่างที่เขียนเสิร์ชดูโน่นนี่ ไม่น่าเชื่อ ครูกายแก้วเล็กๆ ไว้ห้อยคอก็มีขายแล้วใน shopee ไวมาก !

เมื่อมีการค้าก็ต้องมีการตลาด ที่แปลว่า ทำให้คนสนใจเรื่องราวของสินค้านั้นๆ และเลือกมาเคารพบูชา ชูชกติดตลาดเร็ว เพราะคนเข้าใจ Story และ Branding สรรพคุณกอบโกยร่ำรวย  

ที่ยากกว่าคือไอ้ไข่ ที่จะต้องสถาปนาสร้างความเรื่องราวของไอ้ไข่เด็กวัดให้ผู้คนรับรู้ที่มาที่ไป ...การ Branding ไอ้ไข่ ที่เป็นเรื่องใหม่ขึ้นมาสดๆ จึงยากกว่าชูชก อันเป็นเรื่องที่คนรู้จักกันดีมาก่อน ในมิติการตลาดต้องยกมือซูฮกให้ผู้อยู่เบื้องหลังความโด่งดังของไอ้ไข่เลยว่าเก่ง

กรณีครูกายแก้ว นี่ชัดเจนครับว่า มีกลไกทางการตลาด มีฝ่ายประชาสัมพันธ์ที่แจกข้อมูลเรื่องราวความเป็นมาให้กับสื่อ สังเกตดีๆ เป็นสื่อใหญ่สื่อหลักระดับชาติแทบทั้งนั้น  คนที่อยู่ในวงการหนังสือพิมพ์มาก่อนดูพาดหัวนี่รู้เลยว่า ข่าวแบบนี้มีพีอาร์เกี่ยวข้อง ไม่ใช่การไปแสวงหาเจาะลึกโดยนักข่าวเอง

รวมทั้งรายการทีวีโชว์ ที่ดันเรื่องราว ขยายกระแสด้วย ...นี่ก็ชัดเจน

ชัดเจนว่ามีกระบวนการ มีขั้นตอน ลอนช์สินค้า และสร้างแบรนด์  ปล่อยเรื่องราวให้คนเข้าใจที่มาที่ไป อ้อ เป็นอสูรด้วย เป็นบรมครูด้วย เฮ้ย เป็นถึงพระอาจารย์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เชียวนา ... ฯลฯ

ภาษาการตลาดเขาเรียก Brand Launch !

3. การเมือง

ศาสนาคู่กับการเมืองมาแต่โบราณ มีการรบราฆ่าฟันเพื่อศาสนาตน ทั้งครูเสด หรือการสถาปนาอิสลามในอินเดีย แม้กระทั่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กว่าที่พุทธเถรวาทจะเป็นศาสนาหลัก ก็ต้องผ่านการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองมาก่อน เพราะศาสนาเดิมละแวกนี้คือ พุทธมหายานและฮินดูพราหมณ์เทวะ

พระเจ้าชัยวรมันที่ 7  ที่ผู้เคารพครูกายแก้วบอกว่า เป็นถึงพระอาจารย์ให้นั้น นับถือพุทธมหายาน พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร พระไภษัชยคุรุ ซึ่งก็ต้องรบรากับญาติพี่น้องและเหล่าพราหมณ์ฝ่ายฮินดู

พอหมดสมัยชัยวรมันที่ 7 กษัตริย์องค์ต่อมาเปลี่ยนกลับไปเป็นเทวะฮินดู สั่งทุบทำลายรูปเคารพฝ่ายพุทธ (เอ่อ แต่ตามประวัติไม่เอ่ยถึงครูกายแก้วนะ หรือนักวิชาการคงยังขุดจารึกไม่พบ)

ปกติแล้วสังคมการเมืองของสยาม/ไทย ไม่เคยมีปัญหากับศาสนิกความเชื่ออื่น เป็นเช่นนี้มานานแต่อยุธยา สุโขทัย เรามีอำมาตย์ผู้คนมาจากหลากหลายศาสนาทั้งแขก ทั้งคริสต์เป็นชุมชนด้วยซ้ำ  

ในทางกลับกัน ชนชั้นบนที่กุมอำนาจในสังคมเสียเองที่แสดงให้เห็นถึงการนับถือข้ามศาสนา ที่ไม่ใช่แค่พุทธ ดังนั้นไทยจึงไม่ได้แยกแปลกแปร่งจากศาสนาความเชื่ออื่น อาจจะมีบ้างก็พวกหัวรุนแรง สุดขั้วที่ประกาศไม่ยอมรับศาสนาอื่น แต่ก็เป็นส่วนน้อย

ครูกายแก้ว : ความเชื่อ การค้า และ การเมือง

แต่มันก็มีกรณีที่ลัทธิศาสนาความเชื่อเป็นปฏิปักษ์กับการเมือง โดยเฉพาะการอ้างเอาศาสนามาปลุกผู้คนให้เป็นปฏิปักษ์กับอำนาจปกครอง

ในอดีตก็เช่น ผีบุญต่างๆ มายุคปัจจุบันใกล้ๆ มีกรณีธรรมกาย ที่แนบแน่นอำนาจทางการเมืองยุครัฐบาลจากการเลือกตั้ง ขนาดที่มีอิทธิพลในกรมกองราชการ กำหนดครูนักเรียนให้ไปเข้าทำกิจกรรม มีนักการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องกับมวลชนผู้สนับสนุนลัทธิ  เมื่อเกิดการเปลี่ยนอำนาจรัฐคณะธรรมกายก็เกิดมีปัญหาขึ้นมาทันที

ถามว่า ครูกายแก้ว อยู่ในจุดใดของการเมือง ?   

ขอแสดงทัศนะเป็นความเห็นส่วนตัวว่า positioning ของรูปเคารพแบบครูกายแก้วน่าจะไม่ทะเลาะเบาะแว้งกับอำนาจการเมืองหรอก แบบเดียวกับไอ้ไข่นั่นล่ะ วันดีคืนดีมีเฮลิคอปเตอร์มาลง คนดังวงการเมือง วงราชการมากัน ยิ่งกระพือให้ไอ้ไข่ศักดิ์สิทธิ์ขึ้นไปอีก

ยกเว้นอย่างเดียว มีนักการเมืองขั้วใดขั้วหนึ่งของความขัดแย้งไปแสดงตัวเป็นผู้อุปถัมภ์ใหญ่สาวกตัวยงของครูกายแก้ว นั่นล่ะการเมืองจะเข้ามาทันที ซึ่งคงไม่มีกรณีอะไรเช่นนั้น การเมืองการปกครองแบบที่ผู้มีอำนาจอยากเห็นคือประชาชนสนใจแต่เรื่องราวของตน หากจะไปไหว้พระไหว้เจ้าเคารพรูปผีรูปอสูรประสาตน ไม่ต้องมาสนใจปัญหาการเมืองยกนิ้วมือต่อต้านรัฐบาล จะสมประโยชน์กว่า ครูกายแก้ว ไม่ใช่ ธรรมกาย ว่างั้น...

เส้นทางของครูกายแก้วจากนี้น่าสนใจยิ่ง เพราะเลือกการเปิดตัวแบบบู้มๆ  Big Launch คนละอย่างกับกระบวนการเปิดแบบน้ำบ่อทรายค่อยๆ ขยายซึมลึกเหมือนรูปเคารพผีไอ้ไข่ คือ ขยายความศักดิ์สิทธิ์ แบบปากต่อปาก

จึงเริ่มมีเรื่องราวที่เป็นปฏิกิริยากับ ครูกายแก้ว เช่นคำวิจารณ์ของ ดร.ธงทอง ดั่งที่ยกมาตอนต้น หรือการที่หน่วยงานพิพิธภัณฑ์ให้ข้อมูลว่าในจารึกไม่มีนะชื่อพระอาจารย์กายแก้วของเจ้าชัยวรมันที่ 7 ในจารึก ดังเร็วก็อาจจะดับเร็วได้ หรือต่อให้ดังนานยังไงก็ต้องมีขาลง จตุคามรามเทพบอกไว้เช่นนั้น ... ก็ต้องรอดูกันไป นี่ก็เป็นปรากฏการณ์สังคมอีกเรื่องหนึ่งฯ                            

.............

เขียนโดย บัณรส บัวคลี่ คอลัมน์จุดประกายความคิด กรุงเทพธุรกิจ