ระยะชัดลึก สู่ ‘การพัฒนาที่ยั่งยืน’ SDGs ด้วยภาพถ่าย

ระยะชัดลึก สู่ ‘การพัฒนาที่ยั่งยืน’ SDGs ด้วยภาพถ่าย

เปิดมุมมองความคิดช่างภาพ ในนิทรรศการภาพถ่าย SDGs l The Depth of Field กระตุ้น 'การพัฒนาที่ยั่งยืน' ในขณะที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังร่วมกันปฏิบัติ

Key Point:

  • การใช้ศิลปะภาพถ่ายมาเป็นเครื่องมือช่วยสื่อสารเรื่องราวต่างๆ
  • การพัฒนาที่ยั่งยืน ในประเทศไทย ไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร
  • เหล่าช่างภาพสามารถช่วยเหลือสังคมด้วยการรวมตัวกันแสดงผลงาน
  • เรียกร้องการพัฒนาที่ยั่งยืนจากทุกภาคส่วนให้ร่วมมือกัน

การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) เป็นสิ่งที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจและช่วยเหลือกัน แต่ในประเทศไทยกลับมีคนพูดถึงน้อยมาก

เหล่าช่างภาพจึงได้รวมตัวกันนำเสนอสิ่งเหล่านี้ผ่านนิทรรศการภาพถ่าย SDGs l The Depth of Field หมุดหมายการพัฒนาในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน ณ มิวเซียมสยาม เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2566

การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นคำศัพท์ที่เกิดขึ้นในปี 1992 ในการประชุม Earth Summit ที่เมืองริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล

จากวิสัยทัศน์ ถูกเปลี่ยนเป็นพันธสัญญาใหม่ในชื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) มีทั้งหมด 17 เป้าหมาย รวมถึงรูปแบบการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน (SDG 12)

ระยะชัดลึก สู่ ‘การพัฒนาที่ยั่งยืน’ SDGs ด้วยภาพถ่าย Cr. Bangkok Tribune

ในประเทศไทย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า แผนงานการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืนได้รับการจัดทำขึ้นในปี พ.ศ. 2560 จะดำเนินการไปจนถึงปี พ.ศ. 2580 ควบคู่ไปกับมาตรการอื่น ๆ

มูลนิธิบูรณะนิเวศ รายงานว่า มีอย่างน้อย 25 พื้นที่มีของเสียอันตรายและมลพิษจากอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องยาวนานและขาดการแก้ไขอย่างจริงจัง

ระยะชัดลึก สู่ ‘การพัฒนาที่ยั่งยืน’ SDGs ด้วยภาพถ่าย Cr. Bangkok Tribune

  • เปิดพื้นที่การเรียนรู้ในรูปแบบใหม่

สุขุมาล ผดุงศิลป์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ กล่าวว่า มิวเซียมสยาม ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ พัฒนาศักยภาพคนไทยให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น

"เราได้เปิดพื้นที่ให้กับนิทรรศการนี้ เพื่อเรียนรู้ความยั่งยืนผ่านภาพถ่าย สอดคล้องกับพิพิธภัณฑ์สากล ที่เน้นเรื่องความยั่งยืนและสุขภาวะ เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับความยั่งยืนผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เช่นงานในวันนี้

นิทรรศการงานมีกำหนดเปิดปิด แต่สิ่งที่จะไม่จบคือ คนที่ได้มาเห็นภาพในนิทรรศการ ได้ประโยชน์ ได้เรียนรู้ ได้คิดตาม ก็จะเข้าใจเนื้อหาของ SDG ได้ง่ายผ่านศิลปะภาพถ่าย ภาพ ๆ เดียวอาจตั้งคำถามให้เขาคิดว่าทำไม"

ระยะชัดลึก สู่ ‘การพัฒนาที่ยั่งยืน’ SDGs ด้วยภาพถ่าย Cr. Kanok Shokjaratkul

  • ช่างภาพคือผู้ส่งสาร

จิระนันท์ พิตรปรีชา กวีซีไรต์ ที่ปรึกษา สำนักข่าว Bangkok Tribune และมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ผู้ร่วมก่อตั้ง กลุ่มสห+ภาพ Fotounited กล่าวว่า คนในสังคมมักจะแยกศิลปะกับวิทยาศาสตร์ออกจากกัน

"ภาพที่โชว์ในงานนี้ รูปเล็กไปหน่อย ถ้าเราทำรูปใหญ่ แล้วใส่แสงเข้าไปให้อลังการ มันจะสวยงามขนาดไหน เพราะการถ่ายภาพก็เป็นศิลปะอย่างหนึ่ง

ระยะชัดลึก สู่ ‘การพัฒนาที่ยั่งยืน’ SDGs ด้วยภาพถ่าย

อย่างไฟไหม้ ช่างภาพถ่ายออกมาได้สวยสะพรึง การถ่ายภาพเป็นศิลปะ มารับใช้เรื่องสิ่งแวดล้อมได้อย่างดีงามมาก สามารถดึงพวกที่ไม่สนใจให้มาสนใจได้ และทำให้ผู้ที่สนใจอย่างซีเรียสซอฟต์ลง

นาน ๆ จะมีเนื้อหาที่เป็นทั้งความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติ วิทยาศาสตร์ ประชากร สังคม ทุกสิ่งทุกอย่าง มานำเสนอด้วยภาพถ่าย

ระยะชัดลึก สู่ ‘การพัฒนาที่ยั่งยืน’ SDGs ด้วยภาพถ่าย Cr. Bangkok Tribune

ในฐานะครูใหญ่สห+ภาพ เราตั้งกลุ่มมาสิบกว่าปีแล้ว รวมพลังช่างภาพนำภาพถ่ายออกมารับใช้สังคม

ทำงานเพื่อสาธารณะ หาเงินช่วยแผ่นดินไหว น้ำท่วม บริการฟรีให้หอจดหมายเหตุ บริการให้จังหวัดต่าง ๆ และเปิดแหล่งท่องเที่ยวชุมชน

ระยะชัดลึก สู่ ‘การพัฒนาที่ยั่งยืน’ SDGs ด้วยภาพถ่าย Cr. Bangkok Tribune

ภาพถ่ายมีบทบาทสำคัญ ช่างภาพเป็นผู้ส่งสาร ไม่ต้องไปชูป้ายประท้วง ไม่ต้องเป็นนักวิชาการมาอภิปรายทุกสิ่งทุกอย่าง

อย่างเรื่องสิทธิการเข้าถึงสาธารณสุข นักวิชาการอธิบายแทบตาย แต่ช่างภาพมีรูปคนถือบัตรเอามาปิดหน้า คนก็อยากรู้แล้ว ต้องไปอ่านต่อในคำอธิบาย

ระยะชัดลึก สู่ ‘การพัฒนาที่ยั่งยืน’ SDGs ด้วยภาพถ่าย Cr. Bangkok Tribune

ถ้าไม่มีภาพถ่าย ประเด็นมันจะเลื่อนลอยในอากาศ ตอนนี้ฝีมือช่างภาพไทยไปไกลมาก น่าจะมาผนึกกำลังเป็นกลุ่ม

ถ้ามีหน่วยงานอะไรสักอย่างรับอุปถัมภ์ไปเลย จะดีมาก สมมติมีหน่วยงานหนึ่งบอกว่าต้องการภาพถ่ายสิ่งแวดล้อม ปัญหา SDG กี่ข้อในประเทศไทย ก็ทำให้ได้เลย

แต่ต้องออกาไนซ์ว่า จะจัด เอาไปนำเสนอยังไง ข้อมูลต้องพร้อม แล้วก็เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ รวมทั้งขายหรือประมูลระดมทุนเอาไปช่วยด้านสิ่งแวดล้อม"

ระยะชัดลึก สู่ ‘การพัฒนาที่ยั่งยืน’ SDGs ด้วยภาพถ่าย Cr. Kanok Shokjaratkul

  • ทั่วโลกมีการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่ประเทศไทยไม่มี

สายัณห์ ชื่นอุดมสวัสดิ์ บรรณาธิการภาพ โครงการ Photo Essay: SDGs The Depth of Field กล่าวว่า นิทรรศการนี้เกิดขึ้นจาก สำนักข่าว Bangkok Tribune ร่วมกับมูลนิธิ Konrad อยากนำเสนอเรื่อง SDG ที่ทั่วโลกมีมา7 ปีแล้ว แต่บ้านเราไม่มี

"นำมาสู่ไอเดียว่าเรามีภาพถ่าย เป็นสื่อที่สามารถเข้าใจได้ง่าย ก็เลยนำภาพถ่ายมาพูดคุยนำเสนอประเด็นหนัก ๆ เรามีบางสิ่งที่อยากพูดถึง

ระยะชัดลึก สู่ ‘การพัฒนาที่ยั่งยืน’ SDGs ด้วยภาพถ่าย

อยากนำเสนอมากกว่าสิ่งที่คนเคยรู้จักมาแล้ว SDG เป็นเรื่องเกี่ยวกับการพัฒนา ซึ่งการพัฒนาจะมีสองด้านเสมอ คือ มีคนได้ประโยชน์ กับคนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

ช่างภาพเราเป็นสายสารคดี สายข่าว สายฮิวแมนไรท์ เขามีประเด็นของเขา เช่น คุณบารมี ช่างภาพสัตว์ป่า พูดถึงเรื่องการเพิ่มประชากรสัตว์ เสือโคร่ง ช้าง กระทิง เพิ่มขึ้น

ระยะชัดลึก สู่ ‘การพัฒนาที่ยั่งยืน’ SDGs ด้วยภาพถ่าย

หรือ คุณภานุมาศ มีภาพน้ำมันรั่วที่ระยอง กับโรงงานสารเคมีระเบิด ตามไปถึงมูลนิธิที่ยกประเด็นนี้ขึ้นมา ภาพถ่ายเราเรียกกันว่าภาพนิ่ง แต่จริง ๆ มันไม่ได้นิ่ง มันนำพาเราไป

ภาพในนิทรรศการนี้มีหลายเรื่อง ความเท่าเทียม การเข้าถึงสุขภาพ ไม่ได้หมายถึงติดเชื้อแล้วไปหาหมอกินยาจบ

ระยะชัดลึก สู่ ‘การพัฒนาที่ยั่งยืน’ SDGs ด้วยภาพถ่าย Cr. Kanok Shokjaratkul

แต่สุขภาพหมายถึงการดูแลตัวเอง การอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบไหน แตกขยายออกไปเป็นเรื่องมลพิษ สารเคมี ผักมาจากไหน แรงงานต่างชาติอยู่กันยังไง

สถานการณ์ทางการเมืองก็ส่งผลกระทบต่อสาธารณสุข เช่น สามีเสียชีวิตจากความรุนแรงในภาคใต้ เมียและลูกต้องไปอยู่ในคอกแพะ หรือรูปคนรับจ้างฉีดยาฆ่าแมลง มีแผลเน่าที่ขา ภาพพาเราไป อย่างไม่แยกส่วน

ระยะชัดลึก สู่ ‘การพัฒนาที่ยั่งยืน’ SDGs ด้วยภาพถ่าย Cr. Kanok Shokjaratkul

  • ภาพถ่าย คือเรื่องจริง

บารมี เต็มบุญเกียรติ ช่างภาพสัตว์ป่า ผู้ผลิตรายการสารคดีโทรทัศน์ Full Frame ช่างภาพสุดขั้ว กล่าวว่า เมื่อได้รับการติดต่อก็ต้องเลือกภาพมาว่าอยากจะให้คนเห็นอะไร

"มีเรื่องงาสีเลือด นกชนหิน เมื่อก่อนมาเลย์ อินโดมีเยอะมาก ตอนนี้หมดแล้ว นักล่าเริ่มมาล่าในภาคใต้เราแล้วเพื่อเอางาไปแกะสลัก และเรื่องกวางผา ผมตามมาสิบปี จนรู้ว่ามันมีชีวิตอยู่ยังไงตามหน้าผา

ระยะชัดลึก สู่ ‘การพัฒนาที่ยั่งยืน’ SDGs ด้วยภาพถ่าย

ภาพถ่ายคือหลักฐาน บอกสิ่งที่เราอยากจะฟัง และสิ่งที่เราไม่อยากจะฟัง เราเพิ่มพื้นที่ป่าไม่ได้ แต่สัตว์ป่าเพิ่มขึ้น จะทำอย่างไร ผมถ่ายภาพเรื่องจริง บอกเล่าเรื่องราว

งานที่สะท้อนตัวตนของช่างภาพ ไม่ได้มาจากภาพเดียว แต่มาจากภาพชุด ภาพชุดสะท้อนเรื่องราวเดียวกัน แต่ต่างมิติ

สำหรับคนที่เป็นช่างภาพอยู่แล้ว ถ้าได้เห็นภาพในนิทรรศการนี้จะทำให้มีมุมมองกว้างขวางขึ้น ชัดเจนขึ้น หวังว่าจะมีงานอย่างนี้ออกมาให้คนทั่ว ๆ ไปได้เห็นมากขึ้น"

ระยะชัดลึก สู่ ‘การพัฒนาที่ยั่งยืน’ SDGs ด้วยภาพถ่าย Cr. Kanok Shokjaratkul

  • ภาพถ่าย ตั้งคำถามถึงการแก้ปัญหา

ภานุมาศ สงวนวงษ์ ผู้ก่อตั้ง และช่างภาพข่าว Thai News Pix กล่าวว่า ตอนที่ได้รับการติดต่อมาให้มาแสดงภาพถ่าย ก็มาดูว่า SDG ตรงกับของเราภาพไหน

"เรื่องการรั่วไหลของมลพิษ มีภาพเหตุการณ์ ไฟไหม้โรงงาน ตอนแรกไฟดับแล้ว และมีคนตาย ปรากฎว่าไฟยังไม่ดับ ต้องให้คนออกนอกพื้นที่ 5 กิโลเมตร

ระยะชัดลึก สู่ ‘การพัฒนาที่ยั่งยืน’ SDGs ด้วยภาพถ่าย

ในมุมช่างภาพข่าว นอกจากอุบัติเหตุ มันยังเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม สารพิษส่งผลกระทบกับเรายังไงบ้าง เราทุกคนกังวล เรามีหน้ากากกันแก๊ส เพราะไปม็อบบ่อย ก็ต้องเซฟตัวเอง

การเป็นช่างภาพข่าว ภาพที่ถ่ายต้องเล่าเรื่องได้ แต่ภาพข่าวสิ่งแวดล้อม ต้องทำให้คนรู้สึกได้ เราอยากให้เขาตั้งคำถามต่อ

น้ำมันรั่ว 1-2 วันในชายหาดก็หายไป แต่สิ่งที่อยู่ใต้ทะเล ในน้ำ สารพิษในอากาศ แล้วชีวิตของคนและสิ่งแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบ อีกกี่ปีมันจะกลับมาเหมือนเดิมอย่างไร"