'เติมเต็ม' แพลตฟอร์มเติมใจวัยเยาว์ ช่วยให้ใจไม่เปราะบาง

'เติมเต็ม' แพลตฟอร์มเติมใจวัยเยาว์ ช่วยให้ใจไม่เปราะบาง

สานพลัง พัฒนาแพลตฟอร์ม "เติมเต็ม" นวัตกรรมทางสังคมที่ช่วยพลิกโฉมคุณภาพชีวิตเด็กจากครอบครัวเปราะบาง มุ่งแก้ปัญหาพร้อมช่วยเหลือเชิงรุก ก่อนเข้าสู่ภาวะวิกฤติ

แม้ได้ชื่อว่าเป็นมหานครแห่งความเจริญของประเทศ แต่ "กรุงเทพมหานคร" เป็นเมืองหลวงที่กระจุกตัวทั้งโอกาสและปัญหาไปพร้อมกัน โดยเฉพาะศูนย์รวมของ เด็กเปราะบาง จำนวนไม่น้อยที่ต้องเผชิญกับความโดดเดี่ยวและปัญหาครอบครัว 

เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (สพร.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนานโยบาย (สวน.) ได้สานพลังร่วมเดินหน้าพัฒนาแพลตฟอร์ม "เติมเต็ม" อย่างแข็งขัน ด้วยเชื่อว่าจะเป็นอีกนวัตกรรมพลิกโฉมคุณภาพชีวิตเด็กจากครอบครัวเปราะบาง ซึ่งนอกจากการเปิดตัว "ศูนย์รังสรรค์นวัตกรรม (Innovation Sandbox)" ต้นแบบแพลตฟอร์มเติมเต็มแล้ว ภายในงานยังมีการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ "การจัดการร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อเติมเต็มคุณภาพชีวิตเด็กให้พัฒนาได้ตามศักยภาพ" อีกด้วย

\'เติมเต็ม\' แพลตฟอร์มเติมใจวัยเยาว์ ช่วยให้ใจไม่เปราะบาง

นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงจุดเด่นของแพลตฟอร์ม "เติมเต็ม" ว่า จะเป็นกลไกการจัดการความรู้ที่เป็นต้นแบบของระบบข่ายงานให้บริการทางสังคมร่วมกับชุมชน โดยทำงานบนแพลตฟอร์มดิจิทัล ซึ่งจะทำให้เกิด "ระบบและระเบียบวิธีการทำงาน" ในศูนย์รังสรรค์นวัตกรรมฯ ที่มีการทดลองและทดสอบในพื้นที่ชุมชนฟื้นนครร่มเกล้า ระยะ 4 โซน 10 เขตลาดกระบังมาแล้ว

"ในเฟสต่อไปจะดำเนินการทดสอบขยายผลให้ครอบคลุม 6 เขต ใน 6 โซน ที่มีความพร้อมของกรุงเทพมหานครในอีก 3 ปีข้างหน้า ก่อนจะนำใช้ให้ครอบคลุม 50 เขต 69 ศูนย์บริการสาธารณสุข 292 ศูนย์เด็กเล็ก 437 โรงเรียนสังกัด กทม. ในอีก 5 ปีต่อไป นอกจากนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีความสนใจจะบรรจุในแผน 5 ปี เป็นการจัดความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์กับ สพร. สสส. และ สวน. เพื่อทดสอบการปรับใช้แพลตฟอร์มเติมเต็มในจังหวัดต่างๆ ทั้ง 4 ภูมิภาค" นายชัชชาติ กล่าว

ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า เป็นอีกก้าวสำคัญของการคุ้มครองสิทธิและพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นต้นทางของการพัฒนาสุขภาพดีตลอดช่วงชีวิต (Lifelong Health) ตามพันธกิจของ สสส. ซึ่งการพัฒนานวัตกรรมระบบ "เติมเต็ม" ช่วยพลิกโฉมบริการเพื่อคุณภาพชีวิต เด็กเปราะบาง เป็นงานสำคัญที่ สสส. สานพลัง กทม. สพร. สวน. และ พม. ร่วมกันผลักดัน เพื่อรับมือกับสังคมที่ผันผวน (VUCA) เนื่องจากมีงานวิจัยและการลงพื้นที่พบว่า เด็กและเยาวชนไทยกำลังเผชิญภาวะเปราะบางของครอบครัวเพิ่มมากขึ้น แต่กลับยังขาดมาตรการ วิธีการ เครื่องมือในการจัดการแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะมาตรการเชิงรุกที่จะป้องกัน และคุ้มครองเด็กและครอบครัวที่เปราะบางก่อนเข้าสู่ภาวะวิกฤติ 

\'เติมเต็ม\' แพลตฟอร์มเติมใจวัยเยาว์ ช่วยให้ใจไม่เปราะบาง

"สำหรับการทดสอบระบบเติมเต็มในพื้นที่ทดลอง หรือ Innovation Sandbox เป็นการเชื่อมโยงผู้ให้บริการด้านสุขภาพ การศึกษา สวัสดิการสังคม เข้ามาจัดให้เกิดบริการร่วม (Shared Service) นำร่องในกรุงเทพมหานคร ก่อนที่จะถอดบทเรียนขยายผลสู่พื้นที่อื่นต่อไป" ดร.ประกาศิต กล่าว

ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล กล่าวว่า การมีประเทศที่ดีหมายความว่า ประชาชนทุกคนมีสมาร์ทไลฟ์ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ประเทศมีความทันสมัย การพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนด้วยระบบดิจิทัล โดยเฉพาะ กลุ่มเปราะบาง เป็นอีกภารกิจการขับเคลื่อนภายใต้แนวคิด รัฐบาลดิจิทัล 

"แนวคิดการออกแบบแพลตฟอร์มเติมเต็มคือ การแบ่งปันข้อมูลให้เกิดการเชื่อมต่อบริการต่างๆ ของหน่วยงานรัฐอย่างไร้รอยต่อ เพื่อให้ผู้จัดบริการทุกภาคส่วนร่วมแลกเปลี่ยนข่าวสารกับผู้รับบริการ และร่วมวางแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กในทุกมิติร่วมกัน ซึ่ง สพร. พร้อมสนับสนุนวิทยาการดิจิทัล ยกระดับแพลตฟอร์มเติมเต็มให้เป็นรูปแบบที่สมบูรณ์ต่อไป" ดร.สุพจน์ กล่าว

นพ.วิพุธ พูลเจริญ ผู้อำนวยการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนานโยบาย กล่าวว่า ความมุ่งหมายของแพลตฟอร์ม "เติมเต็ม" ที่มีเครื่องมือดอกไม้ 4 มิติ สำหรับสื่อความเข้าใจร่วมกันระหว่างเด็กและผู้ปกครอง กับศูนย์บริการสาธารณสุข นักสังคมสงเคราะห์ ครูศูนย์เด็กเล็ก ครูโรงเรียน ฝ่ายพัฒนาสังคมและสวัสดิการของเขต เพื่อให้ค้นพบและตระหนักในสถานการณ์ภัยคุกคามก่อนที่จะเกิดอันตรายต่อเด็ก และสามารถร่วมวางเป้าหมาย กำหนดแผนขั้นตอน พร้อมสร้างความเข้มแข็งให้ข่ายงานทางสังคมระดับชุมชน และสื่อข่าวสารในรูปข่าวกรอง (Intelligence) ให้กับการจัดข่ายบริการในระดับเขตให้มีการปรับปรุงคุณภาพเท่าทันภาวะคุกคามที่เปลี่ยนไปในอนาคต ตลอดจนสื่อสารข้อจำกัดเชิงระบบขึ้นไปสู่คณะกรรมการคุ้มครองเด็ก กทม. ให้สามารถปรับใช้ข่าวสาร ความรู้ และภูมิปัญญาจากประสบการณ์ในชุมชน เพื่อปรับนโยบายคุ้มครองเด็กให้มีประสิทธิภาพ เหมาะกับสถานการณ์ทางสังคมและเศรษฐกิจ 

\'เติมเต็ม\' แพลตฟอร์มเติมใจวัยเยาว์ ช่วยให้ใจไม่เปราะบาง