บุหรี่ไฟฟ้า มหันตภัยใหม่ใกล้ตัวนักสูบรุ่นเยาว์

บุหรี่ไฟฟ้า มหันตภัยใหม่ใกล้ตัวนักสูบรุ่นเยาว์

"บุหรี่ไฟฟ้า" ภัยร้ายใกล้ตัวนักสูบรุ่นเยาว์ ที่ผู้ใหญ่ไม่ควรมองข้าม ปัจจุบันมีการออกแบบรูปลักษณ์ กลิ่น ให้น่าสนใจมากขึ้น แต่โทษจากนิโคตินยังไม่ลด แถมส่งผลให้มีโอกาสติดได้มากกว่าเดิม

บ่อยครั้งที่เราอาจมองข้ามสิ่งเล็กๆ น้อยๆ อย่าง พวงกุญแจ ลิปสติก ปากกา นาฬิกา หรือตุ๊กตาที่ลูกพกพาอยู่จนลืมคิดไปว่าของเหล่านั้น อาจจะเป็น บุหรี่ไฟฟ้า ที่แปลงกายในรูปลักษณ์ใหม่ ที่ผู้ผลิตได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีดีไซน์แพ็กเกจจิงที่โดนใจ กลิ่น หรือรสชาติที่หลากหลาย เพื่อดึงดูดกลุ่มเยาวชน และการกระจายไปยังวงกว้าง ซึ่งผลจากการศึกษาทั้งในด้านข้อมูลส่วนวิชาการและจากทิศทางการทำตลาดของบุหรี่ไฟฟ้าตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทำให้พบความจริงที่ว่า วันนี้ลูกหลานของเราอาจกำลังถูกมอมเมาหรือคุกคามด้วยบุหรี่ไฟฟ้าอย่างไม่รู้ตัว

บุหรี่ไฟฟ้า มหันตภัยใหม่ใกล้ตัวนักสูบรุ่นเยาว์

เกมรุกบุหรี่ไฟฟ้าในฟิลิปปินส์

แรกเริ่มเดิมที หลายฝ่ายพยายามผลักดันการเข้ามาของ บุหรี่ไฟฟ้า ด้วยเหตุผลที่ว่าจะเป็นอีกทางเลือกที่ช่วยให้ผู้ที่สูบบุหรี่สามารถเลิกบุหรี่ได้ แต่กลับกลายเป็นว่า ได้กลุ่มเป้าหมายสำคัญอย่างกลุ่มนักสูบหน้าใหม่ หรือกลุ่มเยาวชนรุ่นใหม่

ซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้ ได้ถูกบิดเบือนโดยผู้ผลิตและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลส่วนหนึ่งได้มาจากเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในงานประชุมวิชาการ บุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 21 ที่จัดขึ้นโดยศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับกองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ควบคุมยาสูบ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2566 ผ่านมา เพื่อตอกย้ำว่า ปัญหาหรือสิ่งที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่นั้นไม่ได้เกิดเฉพาะในไทย แต่เกมโกงของผู้ผลิตและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้ากำลังแฝงตัวอยู่แทบทุกมุมโลก แม้ปัจจุบันมีงานวิจัยหลายชิ้นที่เสนอข้อมูลสอดคล้องกันว่า บุหรี่ไฟฟ้าทำให้เยาวชนสูบบุหรี่มากขึ้น แต่หลายฝ่ายก็ยังคงไม่เชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้าคือมหันตภัยใกล้ตัวเยาวชน บุหรี่ไฟฟ้า มหันตภัยใหม่ใกล้ตัวนักสูบรุ่นเยาว์

Dr. Dorotheo Ulyses ผู้อำนวยการ SEATCA จากฟิลิปปินส์ เผยถึงกลยุทธ์และความพยายามของธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้า กับการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าในฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะลูกค้าที่เป็นกลุ่มเยาวชนว่า กระบวนการด้าน การตลาดบุหรี่ไฟฟ้า มีการดำเนินการอย่างเป็นกระบวนการและในทุกช่องทาง นอกเหนือจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้า อาทิ การใช้รสและกลิ่นของผลไม้ หรือมาในรูปลักษณ์ขนมที่ดึงดูดใจและการจัดจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าในช่องทางออนไลน์ที่เข้าถึงง่าย ยังมีการผลักดันการลดการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าตั้งแต่ในระดับนโยบาย การเข้าถึงบุคลากรหรือหน่วยงานภาครัฐบางแห่ง ไปจนถึงการสร้างช่องทางประชาสัมพันธ์ รวมถึงการสื่อสารข้อมูลที่สร้างความบิดเบือนเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า โดยที่ผ่านมามีทั้งการแทรกแซงไปในวงการสื่อ โดยเฉพาะสื่อโซเชียลที่เข้าถึงตัวเยาวชนมากขึ้น อีกทั้งยังแทรกแซงการทำงานของฝ่ายที่ต้องการรณรงค์ให้มีการแบนผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าและ นิโคติน อย่างไม่ลดละ

Dr. Dorotheo ยังเปิดเผยต่อว่า มีผู้ผลิตบุหรี่ไฟฟ้าบางรายที่ยังแฝงมาในนามองค์กรรณรงค์ที่มีเป้าหมายสนับสนุนให้มีการแบนบุหรี่ไฟฟ้า ขณะเดียวกันความอ่อนแอส่วนหนึ่งเกิดจากการที่บุคลากรด้านสาธารณสุขหรือผู้ที่เคยทำงานด้านวิชาการบุหรี่เองก็หันไปเป็นกระบอกเสียงให้กับบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้า ที่ใช้กลยุทธ์สำคัญคือการให้เงินทุนสนับสนุนการทำงานวิจัย โดยพยายามนำเสนอข้อมูลขัดแย้งว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายน้อยกว่าหรือทดแทนบุหรี่จริงได้

ยิ่งไม่แบน ยิ่งเพิ่ม

รศ.ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ร่วมนำเสนอข้อมูลสถานการณ์และอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชนในประเทศต่างๆ ระหว่างประเทศที่แบนและไม่แบนบุหรี่ไฟฟ้า จากรายงานของ WHO ในปี 2021 ที่แสดงจำนวนประเทศที่ แบนบุหรี่ไฟฟ้า ทั่วโลกทั้งหมด 32 ประเทศ แต่จากการติดตามสถานการณ์และสำรวจพบว่า ในปัจจุบันมีประเทศแบนเพิ่มขึ้นกว่า 40 ประเทศทั่วโลก 

อย่างไรก็ดี เมื่อเจาะลึกด้านพฤติกรรมการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเยาวชน ในรายงาน Global Use Tobacco Survey สรุปว่าใน 75 ประเทศทั่วโลก สำรวจการใช้บุหรี่ไฟฟ้ากลุ่มอายุ 13-15 ปี พบว่ารู้จักบุหรี่ไฟฟ้า 56.7% และเคยสูบ 20% ส่วนปัจจุบันที่ยังสูบอยู่มี 10.9%

นอกจากนี้ มีการเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างประเทศที่แบนบุหรี่ไฟฟ้า 100% พบว่า อัตราผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้า 5.6% ขณะที่ประเทศไม่แบน แต่ใช้มาตรการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าทางใดทางหนึ่งมีอัตราผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าเฉลี่ย 13-15% หรือมากกว่าประเทศที่แบนสามเท่า รวมถึงมีอัตราการสูบในกลุ่มเยาวชนต่ำกว่า รวมถึงข้อมูลที่สะท้อนว่าการยกเลิกการแบนบุหรี่ไฟฟ้า ทำให้มีอัตรานักสูบเพิ่มขึ้นชัดเจน ยังพบข้อมูลนี้ในประเทศนิวซีแลนด์อีกด้วย

ในการสำรวจ International Tobacco Control Evaluation Program มีการเสนอผลการวิจัยเมื่อเดือนมีนาคม 2023 เป็นการเปรียบเทียบสถานการณ์ สูบบุหรี่ไฟฟ้า กลุ่มเยาวชนอายุ 16-19 ปี ในสามประเทศที่บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย อเมริกา อังกฤษ แคนาดา พบว่า มีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในอังกฤษ

"สำหรับประเภทบุหรี่ไฟฟ้าที่เด็กสูบมากที่สุดมีแนวโน้มเป็นบุหรี่ไฟฟ้าแบบ POT ที่น่ากลัวคือหลายคนไม่รู้ว่าคือบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงผลิตภัณฑ์ประเภทใช้แล้วทิ้งมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในทุกประเทศ ในบางประเทศมีการอ้างการมีอยู่ของบุหรี่ไฟฟ้าว่าเป็นตัวช่วยที่จะให้นักสูบหน้าเก่าหันมาเลิกบุหรี่ได้ แต่จริงๆ แล้ว วันนี้คนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าไม่ใช่ผู้ใหญ่ แต่เป็นกลุ่มเยาวชนและเด็กในวัยมัธยมปลาย ไปจนถึงมหาวิทยาลัย"

นอกจากนี้ ในความเป็นจริงการเสพติดบุหรี่ไฟฟ้ารุนแรงกว่าบุหรี่ธรรมดา โดยพิจารณาจากการที่นักสูบตื่นนอนตอนเช้าต้องรีบสูบบุหรี่ไฟฟ้าในระยะเวลาสั้นมากภายใน 5 นาที มากกว่าบุหรี่ธรรมดา

ทุกวันนี้มีเยาวชนหน้าใหม่ถึง 1 ใน 4 ไม่เคยสูบบุหรี่ธรรมดาหรือบุหรี่ประเภทอื่นมาก่อน แต่มาสูบบุหรี่ไฟฟ้า โดยกลุ่มนี้ยังมีอัตราเพิ่มขึ้น ที่สำคัญเด็กที่สูบไม่เคยมีประวัติสูบบุหรี่มาก่อนเข้ามาสูบบุหรี่มากขึ้น และยังมีโอกาสติดบุหรี่มากกว่าเด็กที่เคยสูบบุหรี่ธรรมดามาก่อน

"บุหรี่ไฟฟ้ามีอัตรา นิโคติน สูง ซึ่งยิ่งส่งผลให้มีโอกาสติดได้มากกว่าการสูบบุหรี่ธรรมดา โดยจากอัตราการสูบบุหรี่กลุ่มที่สูบบ่อยพบอัตราการสูบถี่มากกว่า 20 ครั้งต่อเดือน หรือสูบมากกว่าสิบครั้งต่อวัน ก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน รวมถึงการเริ่มสูบบุหรี่ไฟฟ้าครั้งแรกของวันหลังตื่นนอนในระยะเวลาสั้นกว่าบุหรี่ธรรมดา แสดงเห็นการติดบุหรี่ไฟฟ้ารุนแรงกว่าบุหรี่ธรรมดา" รศ.ดร.พญ.เริงฤดี กล่าว

ออสเตรเลียยิ่งสูบ ยิ่งอายุน้อย

ในประเทศออสเตรเลียสถานการณ์นักสูบบุหรี่ไฟฟ้าหน้าใหม่ ก็เป็นอีกหนึ่งความกังวลของหลายฝ่าย Asst. Prof. Becky Freeman จาก Faculty of Medicine and Health The University of Sydney มหาวิทยาลัยซิดนีย์ แชร์ประสบการณ์ว่า จากการสำรวจเกี่ยวกับสถานการณ์บุหรี่ไฟฟ้าในออสเตรเลีย ทำให้พบว่าออสเตรเลียกำลังเผชิญสถานการณ์เด็กเยาวชนที่มีอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจาก 2% เป็น 6% ครั้งแรกในรอบ 20 ปี ในกลุ่มอายุ 13-17 ปี แม้ไม่มีการผลิตบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศ แต่ปัจจุบันเด็กและเยาวชนกลับสามารถเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าได้จากทุกที่ทุกช่องทาง ทั้งผ่านเว็บไซต์ออนไลน์หรือโซเชียล รวมถึงการหาซื้อบุหรี่ไฟฟ้าจากร้านสะดวกซื้อใกล้บ้านก็ไม่ยากอย่างที่คิด ไม่นับรวมเด็กที่หันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้าที่ถูกชักชวนจากเพื่อนในโรงเรียน เป็นเรื่องปกติที่ครูสามารถพบอุปกรณ์บุหรี่ไฟฟ้าจากนักเรียนของตนเอง รวมถึงผู้ปกครองทั้งหลายที่อาจคาดไม่ถึงว่าบุหรี่ไฟฟ้าจะมาในรูปลักษณ์ "ของใช้พกพาของลูก" ไม่ว่าจะเป็นลิปสติก ตุ๊กตา สมาร์ทวอทช์ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังพบการแทรกแซงแคมเปญโฆษณาบุหรี่ไฟฟ้าบนเฟซบุ๊กที่แฝงมาโดยไม่ระบุผลิตภัณฑ์ว่าเป็นบุหรี่ แต่เมื่อมีการแจ้งให้แบนโฆษณาเหล่านั้น ก็จะมีโฆษณาตัวใหม่โผล่ขึ้นมาอีกในวันรุ่งขึ้นทันที ซึ่งปัจจุบันความพยายามของ บริษัทยาสูบ ในการโจมตีกฎหมายให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ เนื่องจากในออสเตรเลียมีการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า โดยผู้ที่ซื้อได้จะต้องมีใบสั่งจากแพทย์ ซึ่งแท็กติดของบริษัทบุหรี่ไฟฟ้าที่กล่าวอ้างว่า เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคถูกหลอกลวงจากบุหรี่ไฟฟ้าเถื่อนหรือปลอม
 

WHO ชวนสร้างแนวร่วมแบนบุหรี่ไฟฟ้า

ขณะที่ภาคขับเคลื่อนระดับโลกอย่างองค์การอนามัยโลก WHO โดย Jagdish Kaur จาก Regional Adviser, Tobacco Free Initiative WHO SEARO กล่าวเชิญชวนนานาประเทศเห็นความสำคัญในการรณรงค์ป้องกันการเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้า ปัจจุบันยังมีอีก 8-10 ประเทศสมาชิกที่ยังไม่มีมาตรการห้ามจำหน่ายบุหรี่ อย่างไรก็ดีเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ และอยากให้ทุกประเทศร่วมกันผลักดันมาตรการ ต่อต้านบุหรี่ไฟฟ้า และส่งเสริมให้ประชาชนหันมาเลิกบุหรี่ รวมถึงการช่วยเหลือลดผู้ได้รับผลกระทบจากบุหรี่ พร้อมหนุนการวิจัยศึกษาถึงโทษและพิษภัยของผลิตภัณฑ์ยาสูบเพื่อจะได้นำมาสู่มาตรการการควบคุมที่เข้มข้นขึ้น ทั้งเพื่อคุ้มครองลูกหลานเราไม่ให้เข้าสู่วังวนนักสูบที่ทำร้ายสุขภาพอีกต่อไป

ไทยแสดงจุดยืนไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า

ศ.พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ ประธานสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ กล่าวในพิธีปิดการประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 21 ว่า เสรีภาพของเด็กและเยาวชนเป็นหลักการที่สำคัญ แต่ไม่ควรถูกบริษัทผู้ผลิต บุหรี่ไฟฟ้า นำมาบิดเบือนหลอกล่อโดยการตลาดล่าเหยื่อให้เสพติดเป็นนักสูบหน้าใหม่ ที่สำคัญ ยังไม่มีหลักฐานงานวิจัยยืนยันว่าบุหรี่ไฟฟ้าช่วยเลิก นิโคติน แถมยังเป็นจุดเริ่มต้นในการเสพติดบุหรี่มวนหรือสารเสพติดประเภทอื่นในเด็กและเยาวชนต่อเนื่องตลอดชีวิต

บุหรี่ไฟฟ้า มหันตภัยใหม่ใกล้ตัวนักสูบรุ่นเยาว์

ศ.พญ.สมศรี กล่าวเพิ่มเติมว่า เครือข่ายควบคุมยาสูบทั่วประเทศเห็นตรงกันว่า การแก้ปัญหายาสูบไม่สามารถทำสำเร็จได้โดยบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง ดังนั้น จึงขอประกาศ "ปฏิญญา คนไทยไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า" ร่วมกัน 1) สนับสนุนให้คงกฎหมายห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า ขอให้ภาคการเมือง อุตสาหกรรม และพาณิชย์ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสุขภาพเยาวชนอนาคตของชาติจากบุหรี่ไฟฟ้ามากกว่าผลกำไรและภาษี และบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ไม่เรียกรับผลประโยชน์ โดยเข้าร่วมลงนามในพิธีสารว่าด้วยการขจัดการการค้าผลิตภัณฑ์ยาสูบผิดกฎหมายขององค์การอนามัยโลก 2) ส่งเสริมให้การไม่สูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าเป็นค่านิยมดูแลสุขภาพตนเองและผู้อื่น โดยเร่งรณรงค์ให้ประชาชนโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนรู้เท่าทันพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้า ผ่านทั้งระบบการศึกษา สนับสนุนให้บรรจุเป็นหลักสูตรการเรียนตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงอุดมศึกษา และช่องทางอื่นๆ เช่น สื่อออนไลน์ ทั้งนี้ เพื่อสุขภาวะของประชาชนไทยทุกเพศทุกวัยอย่างทั่วถึง บุหรี่ไฟฟ้า มหันตภัยใหม่ใกล้ตัวนักสูบรุ่นเยาว์