ลุ้น ‘คราฟต์เบียร์ไทย' รอวันถึงฝั่งฝัน แค่ ทลายกำแพงภาษี

ลุ้น ‘คราฟต์เบียร์ไทย' รอวันถึงฝั่งฝัน  แค่ ทลายกำแพงภาษี

เป็นที่ถกเถียงและพูดคุยกันมานาน ในเรื่อง ‘คราฟต์เบียร์ไทย’ ปัจจุบันมีประมาณ 40-50 แบรนด์ และมีแนวโน้มจะเติบโตขึ้นได้อีก ทว่าปัญหาคือ ผู้ผลิตรายย่อยไม่มีโอกาสแจ้งเกิดได้เลย เพราะกฏหมายไทยเอื้อประโยชน์ให้ผู้ลงทุนขนาดใหญ่มากกว่าผู้ประกอบรายย่อย

หากอยากผลิต คราฟต์เบียร์ ให้ถูกกฎหมาย ต้องไปขอใบอนุญาตจากกรมสรรพสามิต อาทิ ต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาทและมีเงื่อนไขอีกมากมาย

กฎหมายเหล่านี้ทำให้ผู้ผลิต คราฟต์เบียร์ไทย รายเล็กไม่มีโอกาสแจ้งเกิดในประเทศ รวมถึงปัญหากำแพงภาษีสรรพสามิตที่สูงมากสำหรับ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บางประเภท อาทิ

-ประเภทเบียร์ ปริมาณแอลกอฮอล์ประมาณ 4-7% ถูกเก็บภาษีสูงที่สุด 22%

-ประเภทสุราแช่ อย่างพวกสินค้า RTD ไวน์คูลเลอร์ ปริมาณแอลกอฮอล์ประมาณ4-10% ถูกจัดเก็บภาษี 10%

-ประเภทวิสกี้ ปริมาณแอลกอฮอล์ประมาณ 35-40% ถูกเก็บภาษี 20%

-ประเภทเหล้าขาว ปริมาณแอลกอฮอล์ 28-40% ถูกเก็บภาษี 2% เพราะเป็นเหล้าพื้นถิ่นที่ฝังรากอยู่กับวิถีชีวิตของผู้คนมานาน

-เครื่องดื่มที่ไม่มีปริมาณ แอลกอฮอล์ หรือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 0% แม้กระทั่งซอฟต์ดริงก์ เสียภาษี 14% บวกภาษีความหวานเพิ่มด้วย

‘คราฟเบียร์ไทย’ ไม่ด้อยกว่าชาติอื่น

ดร.วิชิต ซ้ายเกล้า เจ้าของ CHIT BEER  คราฟต์เบียร์ไทย บนเกาะเกร็ด เล่าถึง วัฒนธรรมการเมาของเราว่าไม่แพ้ชาติใดในโลก และคนไทยก็มีศักยภาพในการผลิตในการสร้างสรรค์ผลงานดีๆ

“ไม่จริงที่บอกว่า ถ้ามีคนทำ เบียร์คราฟต์ เยอะ จะทำให้เพิ่มจำนวนคนดื่มมากขึ้น เพราะคนที่ไม่ดื่ม ยังไงก็ไม่ดื่ม สำหรับคนดื่ม เขาบอกว่ามีทางเลือกน้อยไป เขาต้องการผลิตเบียร์ดีๆ และเบียร์ที่ดีดื่มแล้วตื่นเช้าต้องรู้สึกสดชื่น เขาต้องการให้สังคมมีทางเลือกในการดื่ม แต่ภาครัฐจะทำหน้าที่ควบคุม หรือสนับสนุน ก็ไม่แน่ชัด เพราะมาตรการในปัจจุบันเป็นการทำร้ายผู้ผลิตที่มีความคิดสร้างสรรค์มากกว่า

การเก็บภาษีควรมีเส้นแบ่งระหว่างสินค้า Luxury import และLuxury Domestic เพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรของไทยที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งโครงสร้างภาษีสรรพสามิตของไทยไม่ได้ส่งเสริมทางเลือก ภาครัฐไม่ได้ส่งเสริมให้คนไทยได้ใช้ศักยภาพ และความคิดสร้างสรรค์ในการเป็นเมกเกอร์ระดับโลก ขณะที่ในญี่ปุ่น ยุโรป อเมริกา ให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการตัวเล็กๆ”

ลุ้น ‘คราฟต์เบียร์ไทย\' รอวันถึงฝั่งฝัน  แค่ ทลายกำแพงภาษี

ดร.วิชิต ซ้ายเกล้า เจ้าของ CHIT BEER  คราฟต์เบียร์ไทยบนเกาะเกร็ด

ฝันไม่ไกล ขอดังเหมือนโซจู เกาหลี

หาก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย จะใช้ Soft Power เหมือนโซจู ของเกาหลี เพื่อทำให้ทั่วโลกรู้จักจะทำได้ไหม โบว์-ดวงพร ทรงวิศวะ  ผู้เชี่ยวชาญโภชนศาสตร์ มองว่า นางเอกซีรีย์เกาหลี ดื่มเหล้า แล้วดูน่ารัก ทว่าวัฒนธรรมบ้านเรามองว่าคนดื่มเหล้าเป็นคนไม่ดี นางเอกไทยจึงดื่มน้ำส้ม ซึ่งความจริงแล้ว วัฒนธรรมการดื่มเกิดขึ้นในทุกอารยธรรม

ราคาของสินค้าควรจะขึ้นอยู่กับความแพงของวัตถุดิบ และองค์ความรู้ กระบวนการผลิตไม่ควรแพงด้วยภาษี ในฐานะผู้บริโภคคิดว่า การแข่งขันในประเทศ น่าจะออกมาในรูปแบบการแข่งขันการผลิต มีความคิดสร้างสรรค์ ส่วนเรื่องภาษี รัฐบาลน่าจะเป็นผู้ดูแล

ลุ้น ‘คราฟต์เบียร์ไทย\' รอวันถึงฝั่งฝัน  แค่ ทลายกำแพงภาษี โบว์-ดวงพร ทรงวิศวะ  ผู้เชี่ยวชาญโภชนศาสตร์

“ตอนนี้แพงเพราะภาษี ของที่ไม่จำเป็นต้องแพง ก็แพง ไม่เปิดทางเลือกให้ผู้บริโภค ทำให้เราไม่สามารถเข้าถึงสินค้าได้หลากหลาย ขอเปรียบเทียบกับอาหาร ถ้าครอบครัวเดียว กินแต่กะปิอันดามัน ไม่เคยกินกะปิฝั่งอ่าวไทยเลย ไม่กินกะปิระยอง เราจะรู้ได้ไงว่ากะปิที่เรากินดีที่สุดในเมื่อไม่มีตัวเลือกอื่นให้เลือก”

โบว์มองว่าโครงสร้างทางภาษี ควรสนับสนุนผู้ผลิตรายย่อยภายในประเทศ เพื่อทำให้เกิดการแข่งขันการผลิตที่มีคุณภาพ

“คนจะดื่มอย่างมีสติ  เมาอย่างมีคุณภาพได้ ต้องดูที่วัตถุดิบ กระบวนการผลิต ถ้าเครื่องดื่มมีคุณภาพ คนดื่มจะไม่เป็นมะเร็ง หรือเป็นมะเร็งน้อยลง ต้องเข้าถึงเครื่องดื่มได้หลากหลาย และโครงสร้างภาษีควรสนับสนุนผู้ผลิตรายย่อยภายในประเทศ

การเก็บภาษีควรจะดูที่ผลชี้วัดต่อสุขภาพ ยกตัวอย่างถ้าเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ 40 % คุณจะดื่มได้กี่แก้ว ไวน์ที่มีแอลกอฮอล์ 13 -14 % ดื่มได้ 3 ขวดสบายๆ แต่ไม่สบายตรงที่น้ำตาลในไวน์เยอะ มีสารเคมีที่ตกค้างในองุ่นหรือเปล่าก็ไม่รู้ ในขณะที่เหล้ากลั่นชุมชนทำจากข้าว ดื่มไม่ถึงครึ่งขวดก็หลับแล้ว รัฐอาจต้องหาตัวชี้วัดเพิ่มเติมเพื่อใช้เก็บภาษี ”

ถ้าบอกว่า ใช้กำแพงภาษีเพื่อทำให้‘นักดื่มหน้าใหม่’ลดลง ‘โบว์-ดวงพร’มองว่า เป็นเป้าหมายที่เป็นไปไม่ได้ ควรเปิดพื้นที่ให้นักดื่มหน้าใหม่ ได้ดื่มอย่างเข้าใจ และปลอดภัย

"ยกตัวอย่างมหาวิทยาลัยในเมืองนอก ห้องอาหารมีตู้กดเบียร์ดราฟ นักศึกษาดื่มกับอาจารย์ พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน วัฒนธรรมการดื่มแอลกอฮอล์ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ไม่ได้ปิดกั้นด้วยภาษี และไม่ได้มีกฏหมายห้ามปรามเกี่ยวกับการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ แถมบางประเทศอย่าง ‘เกาหลี’ ยังส่งออกโซจู เป็น Soft Power อยากให้รัฐทบทวนใหม่ เกี่ยวกับการเก็บภาษี สนับสนุนสินค้าไทยประเภทแอลกอฮอล์ ระดับชุมชน อยากให้ภาครัฐมีความเข้าใจจริงๆ

“ตัวชี้วัด Hang Over ไม่ได้ใช้ปริมาณชี้วัดอย่างเดียว ถ้าเครื่องดื่มมีคุณภาพ ดื่มเยอะไปหน่อย ตื่นขึ้นมายังทำงานได้ไม่ต้องลาป่วย แต่ถ้าเครื่องดื่มคุณภาพไม่ดี จะทำให้เสียดุลทางการค้า เพราะว่าไม่สามารถไปทำงานได้ อาจจะเสี่ยงต่อตับแข็ง ตับเสื่อมเป็นมะเร็ง เร็วขึ้นเพราะคุณภาพแอลกอฮอล์ ไหนๆจะเมาแล้ว ก็ควรเมาอย่างมีคุณภาพ”

ลุ้น ‘คราฟต์เบียร์ไทย\' รอวันถึงฝั่งฝัน  แค่ ทลายกำแพงภาษี ร.ต. ประยุทธ เสตถาภิรมย์ ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานและการจัดเก็บภาษี 1 กรมสรรพสามิต 

ทางเลือกการบริโภค เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ?

ร.ต. ประยุทธ เสตถาภิรมย์ ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานและการจัดเก็บภาษี 1 กรมสรรพสามิต  กล่าวถึงการสอนคนรุ่นใหม่ดื่มอย่างมีสติ โดยไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพและสังคม ซึ่งมาตรการต่างๆ ที่รัฐออกมาเพื่อลดการดื่ม เช่น จำกัดเวลาในการซื้อ เพื่อทำให้คนดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์น้อยลง ไม่ใช่การแก้ปัญหา

“ในแง่การผลิตสุราเพื่อการค้า เราปลดล็อคทำให้คนที่จะเข้าสู่ธุรกิจเบียร์ก็เข้าได้ง่าย เปิดให้ผลิตสุราดื่มกินได้โดยไม่ต้องเข้าระบบ เป็นมาตรการผ่อนคลายทำให้ผู้ประกอบการสามารถขยับตัวได้ ปัจจุบันเรามีโรงงานสุราชุมชนทั่วประเทศประมาณ 2,000 แห่ง ภาครัฐก็จะสนับสนุนทางด้านธุรกิจ ไม่ว่ารายเล็ก รายกลาง รายใหญ่ให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน เราพยายามดูแลความสมดุลทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค”

ลุ้น ‘คราฟต์เบียร์ไทย\' รอวันถึงฝั่งฝัน  แค่ ทลายกำแพงภาษี ธนากร ท้วมเสงี่ยม ตัวแทนกลุ่มประชาชนเบียร์

ทางด้าน ธนากร ท้วมเสงี่ยม ตัวแทนกลุ่มประชาชนเบียร์ แสดงความคิดเห็นว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่า ประชาชนอายุเกิน 20 ปีอาจต้องการทดลองลิ้มรสเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือบางคนอายุไม่ถึง 20 ก็อยากลองดื่มแล้วก็เป็นได้ ในขณะที่คนที่ไม่ดื่มไม่อยากลองก็มีเช่นกัน

“ปัญหาก็คือ หากคนไทยสามารถผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อย่างคราฟต์เบียร์ได้อย่างอิสระมากกว่านี้ ก็จะทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือก ไม่ได้มองว่าจะดื่มกันมากขึ้น แต่มองว่าน่าจะมีความหลากหลายให้กับผู้บริโภคและไม่ปิดกั้นผู้ผลิตมากกว่า”

……………………………………………………………….

จากวงเสวนา ‘Hang Over ความเมาของเราไม่เท่ากัน’ จัดโดย The People  เมื่อวันจันทร์ ที่ 24 เมษายน 2566