สร้างสุขลดทุกข์ ต้อง Check up สุขภาพใจวัยทำงาน

สร้างสุขลดทุกข์ ต้อง Check up สุขภาพใจวัยทำงาน

สถานการณ์ด้านสุขภาพคนวัยทำงาน เป็นอีกเรื่องที่น่าห่วง เพราะเป็นกลุ่มประชากรที่ต้องแบกรับภาระหลายด้าน ทั้งเรื่องงาน ครอบครัว ปัญหาส่วนตัว ซึ่งนอกจากความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยทางกายแล้ว ยังเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคทางใจที่น่ากลัวตามมาด้วย

ในประเทศไทย "วัยทำงาน" เป็นประชากรกลุ่มใหญ่ประมาณ 2 ใน 3 ของประเทศ โดยคาดว่าน่าจะมีแรงงานในสถานประกอบการกว่า 15 ล้านคน ซึ่งคนกลุ่มนี้คือกำลังสำคัญในการนำพาเศรษฐกิจของประเทศให้เดินหน้าเติบโต หากแต่เรากลับพบว่า ประชากรที่มีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนประเทศกลุ่มนี้ มีจำนวนไม่น้อยที่ไม่เพียงต้องแบกรับภาระด้านการงานอันหนักหน่วง แถมยังต้องแบกรับภาระและปัญหาครอบครัวที่สะสมจนกลายเป็น "ความทุกข์" ไว้ในใจอีกด้วย

หมดไฟหรือใจวัยทำงาน

รู้หรือไม่ว่ากลุ่มวัยแรงงานของประเทศ โดยเฉพาะผู้ที่มีอาชีพใช้แรงงานมีสถิติฆ่าตัวตายมากที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มอาชีพอื่นๆ ถึง 37.50% (ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตปี 2561) ทว่าสถานการณ์ด้านสุขภาพใจคนวัยทำงานยิ่งถูกตอกย้ำซ้ำเติม เมื่อผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด ยิ่งส่งผลให้วัยแรงงานได้รับผลกระทบต่อสถานภาพทางเศรษฐกิจและจิตใจ ทั้งจากการงาน หนี้สิน มีความเครียด วิตกกังวล เหนื่อยล้าทางอารมณ์ รู้สึกหมดหวัง หมดพลังชีวิต เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคทางจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้า นำไปสู่การฆ่าตัวตาย 

สร้างสุขลดทุกข์ ต้อง Check up สุขภาพใจวัยทำงาน

จากข้อมูลสายด่วนสุขภาพจิต 1323 เมื่อเดือนมกราคม 2565 พบวัยแรงงานขอรับบริการเรื่องความเครียด วิตกกังวล ไม่มีความสุขในการทำงาน 392 ราย ของสายทั้งหมด 5,978 สาย สอดคล้องกับข้อมูลการลาออกของแรงงานในประเทศไทย ที่มีการขึ้นทะเบียนตนเป็นผู้ว่างงานตามระเบียบของ สำนักงานประกันสังคม ของประเทศไทย โดยกองบริหารข้อมูลตลาดแรงงาน กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เมื่อเดือนมกราคม 2565 พบว่า มีผู้ขึ้นทะเบียนว่างงาน 88,119 คน สาเหตุเกิดจากการลาออกด้วยตัวเองจากภาวะหมดไฟ ไม่มีความสุขในการทำงานถึง 77,143 คน หรือร้อยละ 87.54 สะท้อนได้ถึงการขาดวิธีจัดการกับปัญหาสุขภาพจิตของวัยแรงงาน

สมทบอีกข้อมูลจาก กรมสุขภาพจิต ในปี 2565 พบอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จในวัยทำงาน 9.43 ต่อแสนประชากร (3,650 คน) สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ ส่วนอัตราการพยายามฆ่าตัวตายในวัยทำงานอยู่ที่ 45.24 ต่อแสนประชากร (17,499 คน) ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศเล็กน้อย 

สัญญาณเหล่านี้ คือการกระตุ้นเตือนว่าถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนเราต้องร่วมใจกันลุกขึ้นมาป้องกันและแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าว ก่อนจะสายเกินแก้ไขได้

สร้างสุขลดทุกข์ ต้อง Check up สุขภาพใจวัยทำงาน

ปลุก Change Agent เสริมใจในที่ทำงาน

"สถานประกอบการ" คือที่ที่คนวัยทำงานใช้ชีวิตอยู่มากที่สุด ดังนั้นเพื่อช่วยให้สถานประกอบการเป็นกลไกสำคัญในการที่ช่วยให้พนักงานสามารถจัดการความเครียดหรือปัญหา ทั้งช่วยให้การดูแลสุขภาพจิตในองค์กรดีขึ้น ศูนย์สุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. จึงสานพลังกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ธนาคารแห่งประเทศไทย ศูนย์สุขภาพจิต และคณะอนุกรรมการสุขภาพจิตจังหวัด ดำเนินการโครงการ "สร้างเสริมศักยภาพของเจ้าหน้าที่ทรัพยากรบุคคลในการส่งเสริมสุขภาพจิตของแรงงานในสถานประกอบกิจการ" ขึ้น โดยเป้าหมายสำคัญคือ การ "ปั้น" ให้เจ้าหน้าที่ทรัพยากรบุคคลหรือ HR กลายเป็น Change Agent ด้านสุขภาพ สำหรับเพื่อนพนักงาน เพื่อส่งเสริมให้ปรับวิธีคิด โดยเป็นเพื่อนที่สามารถพูดคุยได้ เป็นกลุ่มคนที่เพื่อนพนักงานไว้ใจและเชื่อใจ

สร้างสุขลดทุกข์ ต้อง Check up สุขภาพใจวัยทำงาน

เดือนเพ็ญ ชาญณรงค์ ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 3 กล่าวว่า หลักสูตรหรือโปรแกรมดังกล่าว มุ่งเน้นตั้งแต่กระบวนการส่งเสริมให้สถานประกอบการเห็นความสำคัญของการตรวจสุขภาพทั้งด้านกายและจิต การอบรมให้แก่บุคลากรในฝ่ายทรัพยากรบุคคลเพื่อให้มีความรู้ด้านการดูแลและป้องกันปัญหาสุขภาพจิต เพื่อจัดการความเครียด มีสุขภาพจิตดี มีความเข้มแข็งทางจิตใจ มีพลังความหวังที่จะฝ่าข้ามวิกฤติได้ เมื่อผ่านการอบรมครั้งนี้ ทักษะใหม่ที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลจะได้รับคือ ความสามารถให้คำปรึกษาสุขภาพแบบองค์รวมแก่แรงงาน ครบทั้ง 3 ด้านคือ กาย ใจ และการเงิน 

"หลักสูตรนี้จะมีอยู่ 2 ส่วนคือ ส่งเสริมทักษะเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพกายและใจ โดยสุขภาพกาย ใช้ความรู้ในด้านการเปลี่ยนพฤติกรรมไปสร้างแรงจูงใจลดพฤติกรรมเสี่ยงต่อการนำไปสู่ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs ส่วนที่สองเป็นเรื่องการประเมินสุขภาพจิตแรงงาน การส่งเสริมให้ฝ่ายบุคลากรมีความรู้เรื่อง deep listening การให้คำปรึกษาเบื้องต้น สุดท้ายคือ สุขภาพการเงิน เป็นความรู้ที่ได้ความร่วมมือจากการธนาคารแห่งประเทศไทยที่มาแนะนำแนวทางการออม การบริการจัดการการเงินที่ทำให้ลดภาระและไม่เป็นหนี้ ซึ่งที่ผ่านมา ในด้านสุขภาพกาย เรายังเห็นค่าบีเอ็มไอของพนักงานโดยรวมที่น่าเป็นห่วงการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และในด้านสุขภาพจิตเองก็มีปัญหาไม่น้อย"

สร้างสุขลดทุกข์ ต้อง Check up สุขภาพใจวัยทำงาน

สำหรับโครงการฯ นี้จัดขึ้นนำร่องครั้งแรกในปีที่ผ่านมา และปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่ทรัพยากรบุคคลได้รับการอบรมหลักสูตรเจ้าหน้าที่จากสถานประกอบกิจการ 23 แห่งใน 8 เขตสุขภาพ รวมพนักงานกว่า 26,000 คน มีการจัดกิจกรรมสร้างสุขวัยทำงานและมีพนักงานเข้าร่วมแล้ว 2,110 คน ซึ่งผลลัพธ์เบื้องต้นก็คือ กลุ่มพนักงานสามารถส่งต่อความรู้ให้ครอบครัว ชุมชน อีกทั้งยังเพิ่มผลิตภาพให้สถานประกอบการและประเทศด้วย

ปั้น HR เป็นนักสร้างสุขลดทุกข์

กนกอร สุวรรณนิคม ตัวแทนทีมเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคล จากบริษัทเอ็นเอ็มบี-มินีแบ ไทย จำกัด หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการฯ ดังกล่าว เปิดเผยในฐานะผู้ประสานงานโครงการฯ ว่า เนื่องจาก บริษัทเอ็นเอ็มบี-มินีแบ ไทย จำกัด เป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีพนักงานกว่า 14,000 คน เรียกได้ว่ามีวัยแรงงานจำนวนมากระดับชุมชนขนาดใหญ่และยังมีความหลากหลาย การเผชิญปัญหาและความเครียดจึงเป็นสิ่งที่ยากที่จะไม่เกิดขึ้น เมื่อพบว่าเพื่อพนักงานอาจมีภาวะความเครียด ทำให้ฝ่ายทรัพยากรบุคคลตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ ซึ่งทางบริษัทฯ เริ่มจากมีการตรวจวัด BMI ประเมินสุขภาพใจ ผ่านแอปฯ MENTAL HEALTH CHECK IN และประเมินสุขภาพการเงิน ทำให้ได้ทราบว่าพนักงานมีปัญหาน้ำหนักเกินกว่า 50% มีภาวะเครียด 46% โดย 22% ยังเสี่ยงซึมเศร้า และการฆ่าตัวตาย 

สร้างสุขลดทุกข์ ต้อง Check up สุขภาพใจวัยทำงาน

"เราพบความเครียดมาจากหลายปัจจัย อาทิ ความเคร่งเครียดจากการทำงานในช่วงที่บริษัทฯ ต้องเร่งกำลังการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากสถานการณ์โควิดไปจนถึงปัญหาส่วนตัว อาทิ ปัญหาสุขภาพ ปัญหาการเงิน เรายังพบพนักงานมีปัญหาด้านหนี้สิน การเงินอ่อนแอกว่า 10%" กนกอร กล่าว

นอกเหนือจากการประเมินสุขภาพใจแล้ว กนกอร กล่าวต่อว่า ทางทีมฝ่ายทรัพยากรบุคคลยังให้คำปรึกษาเบื้องต้น มีการจัดอบรมให้ความรู้แก่พนักงานเรื่องการดูแลสุขภาพกาย การจัดการอารมณ์และความเครียด และการจัดการหนี้สินส่วนบุคคลไปแล้ว 2 รุ่น รวมพนักงานที่เข้าร่วมโครงการฯ 100 คน ทั้งยังช่วยประสานงาน ส่งต่อผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้พนักงานได้เข้าถึงการรักษาด้านสุขภาพจิตอย่างทันท่วงที ขณะเดียวกันก็ยังช่วยเป็นทีมเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้พลังกาย พลังใจ รวมทั้งเพิ่มความรู้ในการจัดการเงินและหนี้สิน แก่เพื่อนพนักงาน ซึ่งหลังเข้าร่วมโครงการฯ พนักงานยังส่งต่อความรู้ ความเข้าใจไปยังครอบครัวและบุคคลอื่นอีกด้วย

ทุกความเครียดแก้ได้ 

จรวยพร แก้วโก พนักงานแผนก Material Science Laboratories บริษัท บริษัทเอ็นเอ็มบี-มินีแบ ไทย จำกัด เธอเล่าถึงแรงจูงใจเข้าร่วมโครงการ เพราะสนใจอยากดูแลสุขภาพกายของตัวเอง เนื่องจากมีภาวะน้ำหนักเกิน และหลังทำแบบประเมินยังพบว่ามีปัญหาความเครียดสะสม จนมีโอกาสมีภาวะซึมเศร้า 

สร้างสุขลดทุกข์ ต้อง Check up สุขภาพใจวัยทำงาน

"หลังทำแบบประเมินพบว่า มีความเสี่ยงของความเครียด แต่น่าจะเครียดเรื่องงาน เรามีความกังวลใจ เนื่องจากช่วงนั้นงานค่อนข้างเร่งกำลังการผลิต แล้วเรามีบุคลากรในแผนกไม่เพียงพอ ซึ่งเราก็ปรึกษาหัวหน้างานให้เขาช่วยแก้ปัญหาให้ แต่อาจมีเครียดแฝง มีเครียดส่วนตัวเล็กน้อย จริงๆ ส่วนใหญ่ที่นี่มีพี่เลี้ยงที่ดูแล มีฝ่ายทรัพยากรบุคคลที่เราเข้าไปปรึกษาได้ และโชคดีที่เรามีกิจกรรมที่ทางฝ่าย HR ที่จัดให้พนักงาน เช่น ตีแบดมินตัน ชวนไปวิ่ง ทำบุญ และไม่ใช่แค่การออกกำลังกาย เขายังมีการให้ที่ปรึกษาทางการเงินมา ซึ่งเป็นเรื่องที่เราสนใจอยากวางแผนการเงิน ตอนหลังเราก็ดีขึ้น"

จรวยพร แนะนำทิ้งท้ายสำหรับเพื่อนคนทำงานที่อาจมีปัญหาแบบเธอว่า อันดับแรกคือ ต้องพยายามปล่อยวาง บางทีเราคิดมากๆ เราหาทางออกไม่ได้ อยากให้ปรึกษาคนอื่นบางทีเขาอาจมีวิธีคิดที่คาดไม่ถึง อย่าเก็บปัญหาไว้กับตัว

ดันกฎหมาย บังคับ "ตรวจสุขภาพจิตประจำปี"

นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวถึงแนวคิดการผลักดันให้มีการแก้กฎกระทรวงแรงงาน กำหนดให้จัดการตรวจสุขภาพประจำปีเป็นสวัสดิการ พบว่า แม้สถานประกอบการส่วนใหญ่หรือบริษัทขนาดใหญ่จะมีบริการตรวจสุขภาพทางเลือก แต่ในกรณีบริษัทขนาดเล็ก หรือกลุ่มเอสเอ็มอีอาจจะไม่ได้มีการดำเนินการหรือจัดสวัสดิการนี้ เพราะไม่มีกฎหมายบังคับ แต่อีกปัญหาหนึ่งที่ใหญ่กว่านั้นคือ ถึงแม้ว่าจะมีการตรวจสุขภาพประจำปี แต่ส่วนใหญ่จะตรวจแต่สุขภาพกาย แต่ไม่ได้มีการตรวจสุขภาพจิต ดังนั้นในการประชุมคณะกรรมการสุขภาพจิต ครั้งล่าสุด มีมติเรื่องสุขภาพจิตในสถานประกอบการ 2 ประเด็น คือ 1. การแก้กฎกระทรวงแรงงาน กำหนดให้จัดการตรวจสุขภาพประจำปีเป็นสวัสดิการ โดยตัดคำว่า "ทางเลือก" ออก เพื่อให้สถานประกอบการทุกแห่งทุกขนาด ต้องดำเนินการตามกฎ 2. กำหนดให้การตรวจสุขภาพประจำปี ต้องครอบคลุมเรื่องสุขภาพจิตด้วย 

"คณะกรรมการได้มีมติไปเมื่อเดือนธันวาคม ตอนนี้ก็อยู่ในระยะที่ต้องขับเคลื่อน เชื่อว่าการแก้ไขกฎกระทรวงจะสำเร็จภายในปีนี้แน่นอน" นพ.ยงยุทธ กล่าว

สร้างสุขลดทุกข์ ต้อง Check up สุขภาพใจวัยทำงาน

นพ.ยงยุทธ กล่าวต่อไปว่า ปัญหาแรงงานส่วนใหญ่ที่มีความเครียดในสถานประกอบการคือ เรื่องการเงิน ความเครียด และสัมพันธภาพ ดังนั้น ก้าวต่อไป เราอาจต้องส่งเสริม ให้มีองค์กรเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญทำหน้าที่ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิต เนื่องจากองค์กรส่วนใหญ่ไม่ได้ต้องการพึ่งพาราชการ เนื่องจากระบบบริการสุขภาพของรัฐมีภารกิจมากอยู่แล้ว แต่เขาต้องการให้มีระบบที่มีการรับรอง เช่น ส่งเสริมให้องค์กรเอกชนเข้ามาเป็นผู้รับคำปรึกษา โดยนักจิตวิทยา สำหรับผู้ที่เริ่มต้นมีปัญหาสุขภาพจิตเช่น กินเหล้า สูบบุหรี่ หรือว่ามีความเครียดสูง มีปัญหาในครอบครัว เป็นต้น

สุขภาพใจ ต้องสร้างก่อนซ่อม

ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า สสส. ดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพจิตประชาชน มุ่ง "สร้างเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตก่อนเจ็บป่วย" จึงเน้นการพัฒนาศักยภาพผู้นำการเปลี่ยนแปลง สร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมที่ตอบสนองต่อสถานการณ์สังคม ผลักดันนโยบายเน้นการเข้าถึงบริการพื้นฐาน รวมทั้งสื่อสารสาธารณะเพื่อสร้างความรอบรู้แก่ประชาชน 

"บทบาท สสส. เราเน้นการสร้างนำซ่อม ดังนั้นก่อนที่เราจะไปสู่ความเจ็บป่วยร้ายแรง การสร้างให้คนมีภูมิต้านทานต่อ ปัญหาสุขภาพจิต ปัญหาที่จะทำให้คนเกิด ภาวะซึมเศร้า ทำให้เขาสามารถที่จะแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นทางได้ และเมื่อไรที่เราพบภาวะแบบนี้ซ้ำๆ มีโอกาสที่จะกลายเป็น โรคซึมเศร้าสูงมาก สิ่งที่ต้องสร้างให้เขาคือ ทักษะการวินิจฉัยที่ว่า เขาเครียดจากอะไรมาเคลียร์แบบนั้นต้องแก้ปัญหาอย่างไรบ้าง เช่น การแก้ปัญหาสัมพันธภาพครอบครัว หนี้สินครัวเรือนในวัยแรงงานที่มีสูงมาก โครงการนี้เราโฟกัสไปที่พื้นที่นำร่อง 8 เขตสุขภาพจิต หลังเริ่มทำกับ 23 สถานประกอบการ เราได้นัก HR ที่เข้าใจในระดับองค์รวมมากกว่า 2,200 คน และสิ่งที่สะท้อนมาเห็นได้ชัดอย่างหนึ่งคือได้พบว่าพนักงานมีความใกล้ชิด HR มากขึ้น และทางฝ่าย HR ก็มีความเข้าใจพนักงานมากขึ้น" ชาติวุฒิ กล่าวทิ้งท้าย

สร้างสุขลดทุกข์ ต้อง Check up สุขภาพใจวัยทำงาน