‘โดนโกงออนไลน์’ ต้องทำอย่างไร ปัญหาใหญ่ที่รัฐต้องเร่งจัดการ

‘โดนโกงออนไลน์’ ต้องทำอย่างไร ปัญหาใหญ่ที่รัฐต้องเร่งจัดการ

การซื้อขายส่วนใหญ่เปลี่ยนมาอยู่บนมือถือ ปัญหาคน ‘โดนโกงออนไลน์’ ก็มีเพิ่มขึ้น ยิ่งปราบมิจฉาชีพไม่ได้ ความเดือดร้อนก็ตกอยู่กับประชาชน

การ ‘โดนโกงออนไลน์’ หลายคนไม่คิดว่าตัวเองจะโดน แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว จะต้องทำอย่างไร

เตือนกันอีกครั้ง ว่าก่อนซื้อของออนไลน์ต้องเช็คชื่อคนโกงทุกครั้ง ขณะนี้มีเว็บไซต์ตรวจสอบคนโกงออกมามากมาย แต่ไม่มีการรวมศูนย์ให้เป็นข้อมูลเดียวกัน

สังคมออนไลน์หลายกลุ่มมีรายชื่อคนโกง แต่ไม่ได้นำมารวมกันหรือประกาศให้ทราบ คนโกงก็ย้ายจากกลุ่มโน้นไปกลุ่มนี้  

ควรต้องมีศูนย์รวบรวมข้อมูลของมิจฉาชีพไว้เพื่อประกาศให้คนส่วนใหญ่ได้รับรู้และระวังกัน 

‘โดนโกงออนไลน์’ ต้องทำอย่างไร ปัญหาใหญ่ที่รัฐต้องเร่งจัดการ

ขณะที่มิจฉาชีพมีการปรับตัวอยู่เรื่อย ๆ หน่วยงานรัฐที่ดูแลประชาชนเรื่อง ‘โดนโกงออนไลน์’ ก็ต้องปรับตัวให้เร็วตาม หรือรู้เท่าทัน

  • โดนโกงออนไลน์ ต้องทำอย่างไร

1. ให้แคปหน้าจอทั้งหมด แล้วปรินท์ออกมาเป็นกระดาษ เขียนคำบรรยายกำกับว่าแต่ละภาพที่แคปออกมาคืออะไร เพื่อเป็นหลักฐาน ไปแจ้งความ ได้แก่

- ภาพโปรไฟล์ร้านค้า ภาพหน้าเฟสบุ๊ค ลิงค์ URL ของร้านค้านั้น

- ข้อความการซื้อขาย การพูดคุย ตั้งแต่แรกจนถึงสิ้นสุด

- รายละเอียดสินค้า (เช่น ซื้อมือถือ รุ่นอะไร สีอะไร ราคาเท่าไร)

- ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ บัญชีร้านค้า (ชื่อนามสกุล ชื่อร้านค้า เบอร์โทร เลขที่บัญชีของคนโกง)  

- หลักฐานการโอนเงิน สลิปการโอน ทั้งหมด (ถ่ายไว้สองชุด 1)มอบให้ตำรวจ 2) มอบให้ธนาคารที่ไปอายัดบัญชี

- สำเนาบัตรประชาชน เลขที่บัญชีและสมุดธนาคาร ของเราที่โอนไป

‘โดนโกงออนไลน์’ ต้องทำอย่างไร ปัญหาใหญ่ที่รัฐต้องเร่งจัดการ

2. เดินทางไปแจ้งความ สถานีตำรวจในท้องที่เกิดเหตุ หรือที่ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (TCSD) ณ ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ เว็บไซต์ tcsd.go.th โทร. 02-143-8447, 02-143-8763

ให้แจ้งความดำเนินคดี ไม่ใช่บันทึกประจำวัน และอายัดบัญชีคนโกง เราจะได้ใบแจ้งความและใบอายัดบัญชีไปให้ธนาคาร ให้ถ่ายเอกสารใบแจ้งความที่มีเลขที่เอกสารและตราครุฑเก็บไว้

หลังแจ้งความ ตำรวจจะออกหมายเรียกเจ้าของบัญชีมาสอบปากคำ ถ้ามาแล้วตกลงกันได้ ก็ไกล่เกลี่ยคืนเงินกัน ถ้าตกลงไม่ได้ ส่งสำนวนให้อัยการส่งฟ้องศาล

‘โดนโกงออนไลน์’ ต้องทำอย่างไร ปัญหาใหญ่ที่รัฐต้องเร่งจัดการ

3. เดินทางไปธนาคาร

นำใบแจ้งความ, ใบอายัดบัญชี, สมุดบัญชีต้นทาง, สำเนาบัตรประชาชน, สลิปการโอน ไปมอบให้กับธนาคาร ธนาคารจะแจ้งเจ้าของบัญชีให้โอนเงินคืน ไม่เช่นนั้นจะดำเนินคดี ข้อหาฉ้อโกง มีอายุความ 3 เดือน ตั้งแต่วันที่รู้ตัวผู้กระทำผิด หากรู้ว่าโดนโกงให้รีบแจ้งความภายใน 3 เดือน

4. ถ้ายังติดต่อไม่ได้ ไม่ยอมรับ ไม่มีความคืบหน้า ให้ติดต่อผู้ดูแลเว็บไซต์ที่ซื้อของ ส่งหลักฐานใบแจ้งความ หมายเลขกระทู้ username ให้เว็บไซต์ตรวจสอบ IP Address

‘โดนโกงออนไลน์’ ต้องทำอย่างไร ปัญหาใหญ่ที่รัฐต้องเร่งจัดการ

  • 18 กลโกงมิจฉาชีพ บนโลกออนไลน์

1) หลอกขายสินค้าออนไลน์ แต่ไม่ได้รับสินค้า / หรือได้รับสินค้าแต่ไม่ตรงตามโฆษณา

2) หลอกให้ทำงานเสริมออนไลน์ ที่ไม่มีอยู่จริง โดยหลอกลวงให้ กด LIKE กด SHARE เพิ่มยอดวิว แกล้งรับออเดอร์ ทำสต็อกสินค้า หลอกเอาเงินค้ำประกัน

3) เงินกู้ออนไลน์ (เงินกู้ทิพย์) ไม่ได้เงินจริง หลอกเอาข้อมูล เงินค้ำประกัน ค่าธรรมเนียม เลขที่บัญชีธนาคาร (ดอกเบี้ยโหด) กู้โดยไม่มีหลักค้ำประกัน ทวงหนี้คนใกล้ชิดให้ใช้หนี้ไม่มีหมด

4) ข่มขู่ให้เกิดความหวาดกลัว (Call Center) แจ้งว่าส่งพัสดุผิดกฎหมาย กระทำผิดกฎหมาย กฎหมายฟอกเงิน อ้างเป็นตำรวจ ให้โอนเงินโดยพลการ

5) หลอกลวงให้ลงทุนรูปแบบต่าง ๆ อ้างเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน ชักชวนให้ลงทุนในธุรกิจที่ไม่มีจริง ให้ผลตอบแทนสูง เช่น ธุรกิจน้ำมัน พลังงาน ทองคำ เงินดิจิทัล ตลาดหุ้น Forex ตลาดหลักทรัพย์ต่างชาติ  เกมออนไลน์ เป็นต้น

6) หลอกให้รักแล้วลงทุน ปลอมแปลง PROFILE เป็นบุคคลหน้าตาดี เข้ามาตีสนิทจาก APP หาคู่ /หรือบัญชีออนไลน์ สอนให้ลงทุน ใน APP ปลอม เทรดหุ้นปลอม เงินดิจิทัลปลอม สกุลเงินปลอม ทองคำทิพย์ 

7) หลอกให้รักแล้วโอนเงิน / หรือยืมเงิน ปลอมแปลง PROFILE เป็นบุคคลหน้าตาดี ตีสนิทหลอกให้รัก ส่งทรัพย์สินมาให้จากต่างประเทศ ลวงเงินค่าธรรรมเนียมต่าง ๆ หรือ หลอกให้โอนเงิน อ้างว่าจะคืนให้หลายเท่าตัว

8) ปลอม /หรือ HACK บัญชี LINE / Facebook แล้วมาหลอกยืมเงิน เพื่อให้ส่งข้อความขอยืมเงินจากเพื่อนเจ้าของบัญชีตัวจริงที่หลงเชื่อ

‘โดนโกงออนไลน์’ ต้องทำอย่างไร ปัญหาใหญ่ที่รัฐต้องเร่งจัดการ

9) แชร์ลูกโซ่ หลอกให้ร่วมลงทุนในธุรกิจที่ไม่มีอยู่จริง เน้นให้หาเครือข่าย สร้างรายได้จากการเพิ่มสมาชิก

10) พนันออนไลน์ โดยโฆษณาชวนเชื่อ หว่านล้อม ให้ค่าน้ำ (ค่าเสียเวลา) คืนให้แก่ผู้เล่น แจกสูตรการันตีผลตอบแทนที่ไม่มีจริง

11) หลอกให้ LOAD โปรแกรมควบคุมคอมพิวเตอร์ทางไกล (เพื่อขโมยข้อมูล) อ้างเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อถอนเงินจากบัญชี 

12) ส่ง QR Code หลอกให้โอนเงิน อ้างว่าจะคืนค่าสินค้า ให้สแกน QR Code โอนเงินให้แก่คนร้าย หรือให้กรอกข้อมูลบัญชีธนาคาร/รหัสผ่านเพื่อขโมยเงิน

13) ฉ้อโกงหลอกลวงว่าเป็นผู้โชคดีได้รับรางวัล ซื้อสินค้าราคาพิเศษ พักโรงแรมฟรี ต้องชำระค่าธรรมเนียม อ้างเป็นธนาคาร ไปรษณีย์ กรมศุลกากร โดยส่งลิงค์ (Link) ปลอม หลอกเอาข้อมูล เลขที่บัญชีธนาคาร รหัส Password 

14) โฆษณาเชิญชวนไปทำงานต่างประเทศ หลอกให้หลบหนีออกนอกประเทศ บังคับกักขังให้ทำงานผิดกฎหมาย ใช้แรงงานเยี่ยงทาส

15) หลอกลวงให้ถ่ายภาพโป๊เปลือย ลามก อนาจาร เพื่อใช้ข่มขู่เรียกเงิน

16) ยินยอมให้ผู้อื่นใช้บัญชีธนาคาร (บัญชีม้า) ฉ้อโกงประชาชน ฟอกเงิน

17) ข่าวปลอม (Fake News) แชร์ข่าว ข้อความลูกโซ่ทางไลน์

18) เรียกค่าไถ่ทางคอมพิวเตอร์ (Ransomware) Lock รหัส Files Folders ในคอมพิวเตอร์เรียกเงิน

  • จะปราบคนโกงต้องมีเครื่องมือที่ดี

จากการลงพื้นที่ ณ สถานีตำรวจแห่งหนึ่ง เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2566 ได้พูดคุยกับผู้เสียหายถูกโกงออนไลน์จากการซื้อมือถือแล้วไม่ส่งของมาให้ เสียเงินไป 5000 กว่าบาท เล่าว่า

"วันนี้มาแจ้งความดำเนินคดีกับคนโกงออนไลน์ให้ถึงที่สุด เพจนี้ตอนนี้ก็ยังขายของอยู่เหมือนเดิม ไม่มีใครรู้ว่าเขาเป็นมิจฉาชีพ ก็จะมีคนโดนหลอกอีกเรื่อย ๆ

มาถึงสน.แล้วเจ้าหน้าที่ให้สแกนคิวอาร์โค้ดกรอกแจ้งความออนไลน์ด้วยมือถือของเรา กรอกอยู่หลายรอบนานครึ่งชั่วโมงก็ไม่สำเร็จเพราะเซิร์ฟเวอร์ล่ม

เจ้าหน้าที่ก็ให้ไปกรอกกับคอมพิวเตอร์ในสน.แต่เซิร์ฟเวอร์ยังล่มเหมือนเดิม เจ้าหน้าที่จึงเขียนใบแจ้งความและใบอายัดบัญชีให้ไปติดต่อธนาคารเพื่ออายัดบัญชีคนโกงต่อไป

ระหว่างนั้นมีคนถูกโกงออนไลน์เข้ามาแจ้งความเยอะมาก เดินเข้ามาตลอด คิดว่าน่าจะมีศูนย์จัดการโกงออนไลน์ได้แล้ว และควรปรับปรุงเซิร์ฟเวอร์ด้วย

เพราะยังไงทุกคนที่มาเจ้าหน้าที่ก็ให้แจ้งความออนไลน์ทั้งหมด แต่ทำไม่ได้ เพราะเซิร์ฟเวอร์ล่ม เป็นความเดือดร้อนของประชาชน"

  • ก่อนซื้อของออนไลน์ ตรวจสอบคนโกงได้ที่

https://www.blacklistseller.com/

https://www.thecool.co.th/content/7900/checkblacklistseller

  • เช็คให้ชัวร์ก่อนโอนเงิน

1.ให้เช็คชื่อเพจ ชื่อเจ้าของบัญชีธนาคาร หรือ เลขบัญชีธนาคาร ได้ที่เว็บไซต์ https://www.chaladohn.com แม้ความแม่นยำไม่ถึง 100% เพราะมิจฉาชีพเปิดบัญชีใหม่ขึ้นมาเรื่อย ๆ ทำให้ไม่มีประวัติในฐานข้อมูล

2.ตรวจสอบความโปร่งใสของเพจเฟซบุ๊ก เข้าไปดูที่หมวด ‘เกี่ยวกับ’ ตามด้วยหัวข้อ ‘ความโปร่งใสของเพจ’ มิจฉาชีพจะไปซื้อเพจที่มียอดคนติดตามจำนวนมาก แล้วมาเปลี่ยนเป็นเพจร้านค้า

หากร้านค้าตั้งอยู่ในประเทศไทยแต่แอดมินหรือผู้ดูแลเพจอยู่ต่างประเทศ มีโอกาสสูงที่จะเป็นมิจฉาชีพ หรือถ้ามีประวัติเปลี่ยนชื่อเพจมาแล้วหลายชื่อ ก็ให้เลี่ยง

3.อย่ากดลิงค์ (Link) ที่ส่งมาให้กรอกบัญชีและรหัสผ่าน และระวังการสมัครงานปลอม หรือให้โอนเงินมาก่อนแล้วจะส่งสินค้ามาให้แพ็คหรือส่งงานไปให้ทำ

................

อ้างอิง : สํานักงานตํารวจแห่งชาติ