“ห่านคู่” เจน 3 คุณากร ธนสารสมบัติ ยุค “เสื้อยืดเพื่อความยั่งยืน”

“ห่านคู่” เจน 3 คุณากร ธนสารสมบัติ ยุค “เสื้อยืดเพื่อความยั่งยืน”

ทายาทแบรนด์เสื้อยืด “ห่านคู่” (Double Goose) ส่งไม้ต่อสู่เจน 3 คุณากร ธนสารสมบัติ ปรับตัวสู่ "เสื้อยืดเพื่อความยั่งยืน" ในยุค YUCA World (โลกที่เปลี่ยนแปลงเร็วและไม่แน่นอน)

คนไทยหลายคนมีเสื้อยืดตรา ห่านคู่ (Double Goose) อยู่ติดตู้ คุ้นเคยกันมาตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ ด้วยก่อตั้งมา 69 ปี

ปีนี้ คุณากร ธนสารสมบัติ ทายาทเจน 3 สืบทอดธุรกิจ “เสื้อยืดที่ต้องมีติดตู้” ในยุค YUCA World (โลกที่เปลี่ยนแปลงเร็วและผันผวนไม่แน่นอน) 

ในขณะเดียวกันก็ต้องบอก “รักษ์โลก” ไปกับคนเจนใหม่ยุคโลกร้อนด้วยแนวคิดสร้าง เสื้อยืดเพื่อความยั่งยืน หมุดหมายนี้จะเป็นไปได้ดังหวังหรือไม่ กรุงเทพธุรกิจ ชวนไปหาคำตอบ...

“ห่านคู่” เจน 3 คุณากร ธนสารสมบัติ ยุค “เสื้อยืดเพื่อความยั่งยืน”

  คุณากร ธนสารสมบัติ เจน 3 เสื้อยืดห่านคู่

เสื้อยืดตราห่านคู่ เหมือนต้องมีในตู้เสื้อผ้า อยู่คู่สังคมไทยมานาน

ห่านคู่ เป็นยี่ห้อของเสื้อยืดคอกลมและเสื้อกล้าม ก่อตั้งมากว่า 6 ทศวรรษ โดยคุณปู่ กับหุ้นส่วน มาจากเมืองจีนแบบเสื่อผืนหมอนใบ สร้างโรงงานเมื่อปี 1953 (พ.ศ.2496) ส่งต่อมาถึงรุ่นคุณพ่อ และรุ่นผม

ในแต่ละรุ่นมีแนวคิด มีความคิดสร้างสรรค์แตกต่างกันไป เช่น ยุคแรกเป็นรุ่นบุกเบิก สถานการณ์สมัยก่อนคือต้องอยู่ให้รอด รุ่นนั้นก็จะคิดว่าทำอย่างไรให้อยู่ได้

พอถึงรุ่นสองเป็นการขยับขยาย ด้วยทุนที่มีอยู่จะขยายออกไปอย่างไร พอมารุ่นผม มองว่าลูกค้าหลากหลายมาก เสื้อยืดขายไปแล้วหลายรุ่น พอถึงรุ่นเราจะมีสินค้า บริการ ให้คนแต่ละรุ่นแต่ละกลุ่มอย่างไร ต้องคิดต่างออกไปจากรุ่นก่อน และนำสิ่งดี ๆ ที่เรียนรู้จากแต่ละยุคมาใช้”

“ห่านคู่” เจน 3 คุณากร ธนสารสมบัติ ยุค “เสื้อยืดเพื่อความยั่งยืน”     คอลเลคชั่น Misfit ใช้เส้นด้ายรีไซเคิล

เมื่อธุรกิจดำเนินต่อไปถึงคนรุ่นสาม จะยากกว่ารุ่นก่อน ๆ แค่ไหน

“เป็นความท้าทายคนละอย่าง คู่แข่งเยอะขึ้น ต้องมองให้กว้าง หารูปแบบ แนวทาง แนวคิด มาตอบโจทย์ลูกค้าที่หลากหลายขึ้น ความยากคือเราต้องดีลกับคนหลาย ๆ รุ่น พร้อม ๆ กัน และยอมรับคำติ อีกทั้งมีความคิดที่แตกต่างกันมาก

ผมเป็นคนเจน X ที่ผ่านรูปแบบการเติบโตมาอย่างหนึ่ง คนเจน Y, Z, Alpha เขาก็โตมาอีกแบบหนึ่ง โดยเฉพาะช่วง 3-5 ปีมานี้ เทคโนโลยีไปเร็วมาก ผมถือเป็นรุ่นคอมพิวเตอร์รุ่นแรก ๆ ตอนนี้เด็กเขาโตมากับอินเตอร์เนท ความคล่องแคล่ว ข้อมูลที่เขามี ความเก่ง ความคิดสร้างสรรค์ เขามีเยอะ อยู่ที่เราจะเอาสิ่งที่เราเรียนรู้ในอดีตมาแมทช์กับเขาอย่างไร

 

“ห่านคู่” เจน 3 คุณากร ธนสารสมบัติ ยุค “เสื้อยืดเพื่อความยั่งยืน” ยุคนี้ต้องพูดเรื่องโลกร้อน

“ใช่ครับ คอลเลคชั่นล่าสุด Misfit เสื้อผ้าที่ดีต่อคนดีต่อโลก หัวใจของคอลเลคชั่นนี้คือ สร้างความตระหนักรู้และเห็นค่าของวัตถุดิบทุกชิ้นส่วน ไม่ว่าจะทำด้วยคนหรือเครื่องจักรก็สามารถผิดพลาดกันได้ ก่อให้เกิดวัตถุดิบที่ไม่ได้สมบูรณ์แบบทุกชิ้น สิ่งเหล่านี้เรามาทำการบ้านใหม่ ทำอย่างไรจะ reimagine เกิดชิ้นงานดี ๆ เพียงแค่มันไม่เข้ากัน

โปรเจคนี้คิดมาตั้งแต่ต้นปี 2565 ว่าอยากจะลดของเสียที่เราต้องส่งออกไปข้างนอก เราทิ้งออกไปคุณค่ามันก็หายไป เราเลยมาคุยกันว่าที่จริงของเสียจากการผลิตไม่ใช่ของเสียทั้งหมดทั้งชิ้น เราใช้คำว่า “เป็นสินค้าที่ไม่สมประกอบ” ไม่เข้าพวกกัน เช่น เวลาย้อมเสื้อแขนอาจไม่เท่ากัน หรือผ้าเป็นจุด มีรู เราก็คุยกับทีมงานว่าถ้าเราลดของเสีย ลดการทิ้ง เราก็ช่วยโลกได้

ในอนาคตผมมองว่าเป็นความยั่งยืนด้วย เราทำทีละก้าว เป็นก้าวเล็ก ๆ เราจะทำใหญ่ไปเลยไม่ได้ เลยเป็นโครงการเล็ก ๆ แล้วส่งต่อผู้บริโภค ต่อสังคม ลูกค้าใช้ได้จริง ซื้อหาได้ในราคาที่เหมาะสม ซึ่งถ้าผู้บริโภคซื้อใช้แล้วคิดว่าเหมาะสมเขาก็บอกต่อ สามารถสร้างผลกระทบในวงกว้างได้”

“ห่านคู่” เจน 3 คุณากร ธนสารสมบัติ ยุค “เสื้อยืดเพื่อความยั่งยืน”    Misfit

Misfit คือปักหมุดแฟชั่นแห่งความยั่งยืน

“ผมตั้งเป้าให้โตปีละ 1% แล้วค่อย ๆ เติบโตเป็น 2-3 จนถึง 10% พอไปถึงระดับนั้นแล้วคนจะเริ่มเชื่อ หันมามองสินค้าที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แล้วพอใช้กันมากขึ้นก็จะทำให้เกิดมูฟเม้นท์ในภาพรวมว่า ทุกคนกล้าที่จะผลิตสินค้าเหล่านี้ออกมาเพิ่มขึ้น

ประกอบด้วย 1.Misfit Solid อัพไซเคิลโดยแปรรูปผลิตภัณฑ์เดิมที่มีตำหนิ เศษผ้าชิ้นเล็ก ๆ มาออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยไม่ผ่านการฟอกย้อมสีอีก 2. Misfit Random (Mosaic) อัพไซเคิลด้วยวิธีการแปรรูปชิ้นผ้าที่ผิดพลาดจากกระบวนการย้อม การตัดเย็บ นำมาตัดต่อทำแพทช์เวิร์ค”

วัตถุดิบที่ไม่ใช้แล้วนำมาอัพไซเคิลสักกี่เปอร์เซ็นต์

“ประมาณ 1% แต่เราคิดว่าจำนวนน้อยแค่ไหนก็ยังดีกว่าเอาไปทิ้งเสียไปเปล่า ๆ เราเอามาทำให้เกิดคุณค่า และไม่ใช่ผ้าที่สูญเสียคุณค่าของมันไป แค่มันไม่สมประกอบเราเลยนำกลับมาประกอบใหม่และใช้งานได้จริง”

“ห่านคู่” เจน 3 คุณากร ธนสารสมบัติ ยุค “เสื้อยืดเพื่อความยั่งยืน”     แคมเปญนำเสื้อยืดใช้แล้วส่งคืนเพื่ออัพไซเคิล

ต้องลงทุนเพิ่มขนาดไหน

เสื้อยืดเพื่อความยั่งยืน มาจากแนวคิด sustainable ตอนนี้ทุกคนต้องทำแล้ว การลงทุนเราไม่ได้หวังผลตอบรับในทันที หากมองไป 3-5 ปี ถ้าไม่มีคนร่วมกันทำมันก็ไม่เกิดแน่นอน

การลงทุนเพิ่มได้แก่การคัดแยกสินค้า ตั้งแต่กระบวนการผลิตเลย แล้วใส่การคิดรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงการจัดเก็บ เอาสินค้าไปคัดแยก ไม่กระจัดกระจาย ไม่เช่นนั้นเวลาเอากลับมาอีกทีจะทำยากขึ้น

ปีหน้าเราจะลงทุนกับซัพพลายเชนพาร์ทเนอร์ของเราที่ทำเรื่องรีไซเคิล บางส่วนที่เราไม่สามารถอัพไซเคิลได้ อย่างผ้าที่เป็นรูไม่สามารถมาทำใหม่ได้ เราต้องเอาไปตีและปั่นเป็นเส้นด้ายใหม่ เราจึงต้องหาพาร์ทเนอร์ที่มีความสามารถด้านนี้ นำกลับมาเป็นเส้นด้ายแล้วมาทำเป็นเสื้อยืดใหม่อีกที

“ห่านคู่” เจน 3 คุณากร ธนสารสมบัติ ยุค “เสื้อยืดเพื่อความยั่งยืน”

พอตั้งเป้าว่าอัพไซเคิลเราก็ไม่อยากผ่านกระบวนการฟอกย้อมเลย จึงต้องมีเทคนิคเอาเส้นใยที่เรียกว่า “เวอร์จิ้นไฟเบอร์” หรือเส้นด้ายใหม่ที่มีสีใส่ลงไป

ปกติการทำเส้นใยรีไซเคิล จะไม่รีไซเคิล 100% เราใส่เข้ามาส่วนหนึ่ง อาจจะ 20, 30% เส้นใยรีไซเคิลมาใส่กับเส้นใยใหม่ เพราะเส้นใยรีไซเคิลเวลาเอาไปตีให้เป็นฝ้ายกลับมาใหม่ ความยาวของเส้นใยจะสั้นลง ปัญหาคือถ้าใส่ไปนาน ๆ จะเป็นขุย

เช่นตอนเราตีเกลียวเส้นด้าย ให้นึกถึงเชือกมนิลาเส้นใหญ่ ๆ กระบวนการคือต้องตีให้มันเป็นเส้น ถ้าเส้นมั้นสั้นก็จะปริออกจากกันง่าย ดังนั้นจึงเอาเส้นรีไซเคิล 100% ไม่ได้ ต้องเอาเส้นใหม่เข้าไปเสริม แต่การที่เราไม่ต้องเอาเส้นใหม่เข้าไปเสริมเยอะ นั่นหมายถึงเราสามารถเอาสิ่งที่คนทิ้งไปกลับมาเป็นวัตถุดิบใหม่ได้ ดีกว่าปล่อยให้ถูกฝังกลบ หรือทิ้งโดยไม่บริหารจัดการให้ดี

ปีหน้าเรามีโปรเจคติดตั้งโซล่าเซลล์ ที่โรงงานสมุทรสาคร ตั้งใจลงทุนในพลังงานสะอาด แม้ว่ายังต้องใช้พลังงานจากน้ำมัน แต่ถ้าลดการใช้ลงได้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างผลกระทบลดลง และคิดถึงการฟอกย้อมที่ใช้น้ำน้อยลง สีของผ้าจะออกนวล ๆ หรือเอิร์ธโทนหน่อย”

“ห่านคู่” เจน 3 คุณากร ธนสารสมบัติ ยุค “เสื้อยืดเพื่อความยั่งยืน” คุณสมบัติที่ดีของเสื้อยืด

“หัวใจสำคัญน่าจะเป็นวิธีที่ทำให้โปรดักอยู่ได้นานขึ้น ทนขึ้น จะช่วยได้มาก ทำให้ใช้ได้นานขึ้นเราก็ช่วยเรื่องของการทิ้ง เรื่องขยะ

การทำเรื่องยั่งยืนไม่ได้เริ่มจากการเอาเสื้อผ้าไปรีไซเคิลหรอก มันเริ่มจากการดีไซน์ตั้งแต่ต้นทางว่าจะออกแบบผลิตภัณฑ์อย่างไร ให้ผลิตภัณฑ์ที่เราใช้จบแล้วสามารถหมุนเวียนกลับสู่อีโคซิสเต็ม ให้เป็น circular economy

วัตถุดิบอุตสาหกรรมการผลิตเสื้อ ถ้านับแค่ 5 ปีที่ผ่านมานั้นมหาศาล ถ้าเราเอากลับมาใช้ใหม่ไม่เป็นก็กลายเป็น land fill ถ้าไม่เผาหรือเอาไปทำเชื้อเพลิงก็ต้องฝังกลบ เกิดมลภาวะอีก”

“ห่านคู่” เจน 3 คุณากร ธนสารสมบัติ ยุค “เสื้อยืดเพื่อความยั่งยืน”    แคมเปญส่งคืนเสื้อยืดใช้แล้วสู่ Circular economy

เสื้อยืดดี ๆ ใช้ได้นานทำให้คนซื้อน้อยลง คนผลิตก็ขายได้น้อยลง

“ถ้ามองในแง่คนใช้งานคือไม่ต้องเสียเงินอีก ไม่ต้องซื้อเพิ่ม ใช่...แต่ในอีกแง่หนึ่งคือ ลูกค้าซื้อเสื้อผ้าที่มีคุณค่า ใช้งานได้นาน ๆ เรามองว่ามันไม่ได้จบแค่เสื้อยืด แต่มองหาโอกาสทำอะไรได้มากกว่าเสื้อยืด เช่น โปรดักที่เป็น sustainable และการสร้าง circular economy ทำให้เกิดการหมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่ได้

ที่ผมคิดไว้อีกเรื่องคืออยากผลักดันให้ใช้วัตถุดิบธรรมชาติมากขึ้นด้วย ไทยมีเส้นใยกัญชง เส้นใยสับปะรด อยากส่งเสริมให้ผู้ผลิตเส้นด้ายมาลงทุนกับวัตถุดิบเหล่านี้ ให้ลูกค้าใช้งานได้จริง ตอนนี้สามารถผลิตเรยอน เทนเซล จากเส้นใยธรรมชาติ จากเปลือกไม้ต่าง ๆ แต่ต้องนำมาผสมกับเส้นใยฝ้าย ใช้เดี่ยว ๆ ไม่ได้ ผิวสัมผัสจะไม่ดี เหมือนเส้นใยจากขวดพลาสติกก็ต้องผสมเส้นใยจากฝ้าย ถ้าช่วยกันใช้กันมาก ๆ ในวงกว้างก็ได้ต้นทุนที่เหมาะสมต่อการผลิต”

“ห่านคู่” เจน 3 คุณากร ธนสารสมบัติ ยุค “เสื้อยืดเพื่อความยั่งยืน”    การเดินทางของเสื้อยืด

ทุกวันนี้ผู้ผลิตเสื้อผ้าใช้เส้นใยรีไซเคิลมากแค่ไหน

“ผมว่า 1% ทั่วโลกนะ ได้ขนาดนี้ก็เก่งแล้ว ปัญหาไม่ใช่การเลือกใช้เส้นใยรีไซเคิล แต่อยู่ที่ “การทิ้งไปในขั้นตอนสุดท้าย” เราไม่ได้คิดครบลูปว่า สุดท้ายเสื้อผ้าที่ไม่ใช้แล้วจะไปไหน จะไปเป็นผ้าเช็ดพื้น หรือไปบริจาค หรือส่งกลับมาที่เรา เราไม่ได้ออกแบบไว้

เรื่องนี้เป็นแนวคิดที่ผมกำลังคุยกับทีมงานว่า ถ้าทำให้ครบลูปต้องมีจุดรับเสื้อผ้าที่ใช้เสร็จแล้วกลับมา โดยเฉพาะถ้าเป็นเสื้อของเราเองเราจะรู้ว่าผลิตมายังไง การไปแยกส่วนนำกลับไปรีไซเคิลจะง่าย แต่ถ้าเรารับเสื้อจากที่อื่นก็จะยากหน่อย เรื่องนี้เป็นความยากของการรีไซเคิล เพราะทุกวันนี้เส้นใยบนเสื้อผ้า บ้างเป็นฝ้าย 100% บ้างผสม 80-20, 60-40 หรือบางอันผสมเรยอน เซลลูโลสอื่น ๆ ทีนี้คนนำมารีไซเคิลก็จะไม่รู้เลย

“ห่านคู่” เจน 3 คุณากร ธนสารสมบัติ ยุค “เสื้อยืดเพื่อความยั่งยืน”    คอลเลคชั่น Misfit

วิธีแก้ปัญหาจึงต้องเริ่มกระบวนการ traceability (การตรวจสอบย้อนกลับ) มากขึ้น กลับมาที่ผู้ผลิตว่าตอนเราออกแบบมาต้องให้ลูกค้ารู้ว่า มาจากเส้นใยผสมอะไรบ้าง คนที่เอากลับไปรีไซเคิลจะทำง่ายขึ้นและมากขึ้น จึงต้องออกแบบทั้งระบบ ทำต้นทางใหม่ บอกเส้นใยที่ป้ายและแชร์ข้อมูลได้ หลังจากใช้แล้วส่งไปรีไซเคิลถูกจุด อยากให้ร่วมมือกันทำ เหมือนจะทิ้งแบตเตอรี่ก็ต้องมีจุดทิ้งชัดเจน ลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม

ปลูกฝังคนไม่พอมันต้องมีระบบมารองรับด้วย ยกตัวอย่างไประเบิดภูเขามาทำปูน แต่พอไม่ใช้ทุบทิ้งก็ไปกองไว้ เหมือนเอาวัตถุดิบมาแปรรูป พอไม่ใช้ก็ทิ้งเป็นขยะ ไปทิ้งที่ชุมชนไหนเขาก็ไม่ต้องการ แล้วทำอย่างไรให้ขยะมันลดลง ผมว่าต้องเป็นวาระแห่งมนุษยชาติ”

คนหนึ่งควรมีเสื้อยืดกี่ตัวในตู้

“มีเท่าที่ตัวเองใช้ มีแค่ไหนก็ใช้แค่นั้น ให้คิดว่ามันคือเครื่องใช้ เราใช้ไปมันก็หมดสภาพไป เราไม่ต้องซื้อเก็บ เราซื้อมาก็ใช้ แต่รู้จักใช้อย่างฉลาด ผมว่าคนรุ่นใหม่อยากแต่งตัวง่าย ๆ ชอบแบบเรียบ ๆ เทรนด์เดี๋ยวนี้ เสื้อยืดตัว แจ็คเกตตัว ไปได้ทุกที่ ใส่ชุดเดียวทำทุกกิจกรรมเลย บางทีใส่เช้าจรดเย็น ไม่เหมือนเสื้อผ้าสมัยก่อนอาจเป็นเสื้อผ้าตามโอกาส สถานที่ แต่เดี๋ยวนี้คนเปิดใจรับเสื้อยืดใส่ไปทำงานได้ เรานำเสนอรูปแบบที่สามารถสวมใส่ในหลากหลายโอกาส”

ถ้าส่งต่อ “ห่านคู่” ถึงคนเจน 4 คิดว่าท้าทายยิ่งกว่าเจน 3 หรือไม่

“รุ่น 4 หรือยุคต่อ ๆ ไปผมว่ายาก เพราะโลกมันเปลี่ยนเร็วอย่างที่เรียกว่า “วูก้า” (VUCA World โลกเปลี่ยนเร็ว ผันผวน) มันมีความไม่แน่นอน ที่ว่ายากคือไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไหร่ วันนี้เรามองไปข้างหน้า แค่ 3 เดือน 6 เดือน ยังไม่รู้เลยว่าสถานการณ์โลกจะเป็นยังไง เป็นจุดเตือนสติว่าจงอยู่กับปัจจุบัน จงทำปัจจุบันให้ดีเพื่ออนาคตที่ดี

“ห่านคู่” เจน 3 คุณากร ธนสารสมบัติ ยุค “เสื้อยืดเพื่อความยั่งยืน” สมัยก่อนตอนคิดแผนงาน วางแผนกัน 5 ปี 10 ปี ตอนนี้พูดเลยว่าเปลี่ยนทุกวันจริง ๆ ถ้าคิดในหลักพุทธศาสนาคือความไม่ยั่งยืน

ปีนี้เราวางแนวทางเสื้อยืดเพื่อความยั่งยืน อยากให้ทุกคนช่วยกันเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยกันคนละนิด เริ่มทำตอนนี้ก็ส่งต่อรุ่นลูกรุ่นหลาน”