“รวมสาส์น 1977” นักทำ "พจนานุกรม" หนังสือคู่บ้านที่จากไปแบบไม่หวนกลับ

“รวมสาส์น 1977” นักทำ "พจนานุกรม" หนังสือคู่บ้านที่จากไปแบบไม่หวนกลับ

ฟัง “สำนักพิมพ์รวมสาส์น 1977” ผู้เชี่ยวชาญด้านการทำพจนานุกรม เล่าถึงความทรงจำของการผลิตพจนานุกรม ดิกชันเนอรี และหนังสือค้นหาความหมายหลายภาษา หมวดหนังสืออ้างอิงที่ครั้งหนึ่งนักเรียนไทยต้องมีทุกบ้าน กับความเปลี่ยนแปลงของธุรกิจและยุคสมัย

ถ้าคุณอายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไป คุณน่าจะจำความรู้สึกนี้ได้ วันที่ครูสอนภาษาแนะนำให้ค้นหาความหมายของคำศัพท์ และเราก็หยิบพจนานุกรมขึ้นมา ไล่เรียงตามตัวอักษรข้างหน้า ก่อนหยุดพิจารณาตรงคำที่เป็นเป็นเป้าหมาย

หรืออย่างตอนที่เลือกซื้อหนังสือใหม่ตอนรับการเปิดเทอม เราก็มักไม่ลืมที่จะหยิบหนังสืออ้างอิงอย่าง “ดิกชันเนอรี” ลงสู่ตะกร้า จะเป็นสายภาษาอย่างพจนานุกรมอังกฤษ-ไทย, ฝรั่งเศส-ไทย, จีน-ไทย, เยอรมัน-ไทย หรือเน้นคำศัพท์เฉพาะทางอย่างกฎหมาย, แพทย, วิศวกรรม และอีก ฯลฯ  ซึ่งทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นชื่อหนังสือที่เราน่าจะผ่านตากันมาสักครั้ง

พจนานุกรม คือประเภทหนังสือแรกๆ ที่หลายคนจดจำได้ แต่ไม่ว่าความทรงจำจะชัดเจนเพียงไรเราก็ต่างรู้ดีว่า ภูมิทัศน์ของหนังสือประเภทนี้เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นการมาของ Google , แอพพลิเคชั่นดิกชันเนอรีออนไลน์ รวมถึงการสแกนแปลคำศัพท์เพียงการเปิดกล้อง

ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเมื่อใด และความทรงจำว่าด้วยหนังสืออย่างพจนานุกรม ยังมีอะไรที่หลงเหลือบ้าง?

  • รวมสาส์น 1977 นักทำพจนานุกรมฉบับคนไทย

30-40 ปีที่แล้ว พจนานุกรมภาษาไทย รวมถึงพจนานุกรมภาษาต่างประเทศที่เราเรียกว่า “ดิกชันเนอรี” (Dictionary) คือหนังสือที่ห้องสมุดของทุกโรงเรียนต้องมี ขณะที่ตลาดผู้ผลิตก็มีทางเลือกหลากหลาย ทั้งแบบการซื้อลิขสิทธิ์จากต่างประเทศ การนำเข้ามาจำหน่ายแบบซื้อมาขายไป ถึงเช่นนั้นหนึ่งในสำนักพิมพ์ของไทยที่ผลิตพจนานุกรมด้วยตัวเอง คือ “สำนักพิมพ์ รวมสาส์น 1977

“รวมสาส์น 1977” นักทำ \"พจนานุกรม\" หนังสือคู่บ้านที่จากไปแบบไม่หวนกลับ

พจนานุกรม หลายเวอร์ชั่น หลายภาษาที่ผลิตโดยสำนักพิมพ์รวมสาส์น 1977

“ในยุคนั้น ช่วงประมาณ พ.ศ. 2529 หนังสือพจนานุกรมภาษาไทยมีพอสมควร ดิกชันเนอรีภาษาอังกฤษก็มีการนำเข้าจากต่างประเทศมาจำหน่าย จุดเริ่มต้นของเราเกิดจากอาจารย์เธียรชัย เอี่ยมวรเมธ ท่านมีความรู้ด้านภาษาจีนมาก เขียนหนังสือด้านจีนศึกษามาหลายเล่ม ท่านอยากทำพจนานุกรมที่เป็นภาษาจีนโดยคนไทย ไปชวนสำนักพิมพ์อื่นก็ไม่มีใครอยากทำ เพราะทำหนังสือพจนานุกรมมันยาก ต้องอาศัยความละเอียด แต่ท่านรู้จักกับคุณพ่อผม (บำรุง ทวีวัฒนสาร)  ท่านก็เลยให้สำนักพิมพ์รวมสาส์นช่วยผลิต จนเป็นพจนานุกรม จีน-ไทย เล่มแรก และก็เป็นจุดเริ่มต้นของการจับงานพจนานุกรมของสำนักพิมพ์”  ปิติ ทวีวัฒนสาร เจ้าของร้านหนังสือและสำนักพิมพ์รวมสาสน์ 1977 เล่าถึงที่มา

หลังจากพจนานุกรมจีนเล่มนั้นออกไป กระแสตอบรับถือว่าอยู่ในระดับดี โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือนักเรียนนักศึกษา และครอบครัวที่มีญาติผู้ใหญ่เป็นคนจีน ซึ่งอยากสื่อสารกับคนในครอบครัว หรือต้องการให้ลูกหลานเรียนภาษาจีนต่อ

ปิติ ทายาทสำนักพิมพ์รุ่นที่ 2 กล่าวว่า ยุคนั้นวิธีทำการตลาดของหนังสือคือการลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ภาษาจีนที่จำหน่ายในประเทศไทย รวมถึงการบอกปากต่อปากจากนักเรียนไทยผู้ที่เรียนภาษาจีน

“รวมสาส์น 1977” นักทำ \"พจนานุกรม\" หนังสือคู่บ้านที่จากไปแบบไม่หวนกลับ ปิติ ทวีวัฒนสาร เจ้าของร้านหนังสือและสำนักพิมพ์รวมสาส์น 1977

“เวลาอาก๋ง อาม่า อ่านหนังสือพิมพ์ เขาเห็นว่ามีพจนานุกรมจีน-ไทยด้วยนะ เขาก็บอกลูกหลาน เอ้า! ใครเรียนภาษาจีนอยู่ ไปซื้อติดบ้านไว้หน่อย หรือไม่ก็ อั๊วจะคุยกับหลาน ไม่รู้จะอธิบายภาษาไทยว่าอย่างไร ก็ซื้อไว้หน่อยสักเล่ม”

หลังจากพจนานุกรมจีน-ไทย ถูกตีพิมพ์ไป สำนักพิมพ์รวมสาส์นก็เป็นที่รู้จักในนามสำนักพิมพ์ที่ผลิตหนังสืออ้างอิง นำมาสู่การนำเสนอต้นฉบับของนักวิชาการในภาษาอื่นๆ เช่น พจนานุกรม ฝรั่งเศส-ไทย, เยอรมัน-ไทย รวมถึงภาษาอังกฤษ-ไทย หรือพจนานุกรมในรูปแบบภาษาเฉพาะ เช่น ศัพท์ภาษาอังกฤษของนักกฎหมาย, ภาษาอังกฤษด้านพฤกษศาสตร์”

“หลังจากท่านอาจารย์เถียรชัย ก็มีนักวิชาการท่านอื่นๆ ตามมา อย่าง ศ.ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม ท่านก็ทำพจนานุกรมที่เป็นภาษาเฉพาะ... คนเห็นว่าเราทำได้ ก็มาให้เราทำ เพราะสมัยนั้นการทำพจนานุกรมไม่ใช่เรื่องง่าย อย่างภาษาอังกฤษกว่าจะทำในหมวดตัว A จบ ก็ใช้เวลาไปมาก บางคนทำได้ครึ่งเดียวเลิก แต่เรามีพันธมิตรที่เป็นนักวิชาการที่ชำนาญ ทำให้ รวมสาส์นฯ รู้จักในนามของสำนักพิมพ์ที่ผลิตพจนานุกรมในแบบของคนไทย ซึ่งมีลิขสิทธิ์และซื้อลิขสิทธิ์ของคนไทย”

“ปกหนึ่ง ก็จะพิมพ์ประมาณ 3,000 เล่ม ใช้เวลา 2-3 ปีหมด ก็จะพิมพ์ขายใหม่ โดยเฉลี่ยถ้าเป็นภาษาฝรั่งเศส, เยอรมัน ก็จะพิมพ์ประมาณ 1-2 ครั้ง ถ้าเป็นภาษาอังกฤษนิยมขึ้นมาหน่อยก็จะ 3-4 ครั้ง ซึ่งก็ถือว่าไม่มากนะ แต่ก็อยู่ในระดับนี้เมื่อเทียบกับจำนวนนักเรียนในแต่ละปี แต่ถ้าถามว่าอะไรขายดีสุดก็คงจะเป็นพจนานุกรมจีน-ไทย ซึ่งวันนี้พิมพ์ไปแล้ว 36 ครั้ง มีคำไหนใหม่ ก็จะปรับปรุงไปเรื่อยๆ แต่เราก็จะยึดมั่นในการทำให้ละเอียดที่สุด สมบูรณ์ที่สุด ถ้าเจอคำผิดแม้แต่คำเดียว มันจะรู้สึกไม่ดีเลยนะ แต่ก็ต้องปล่อยไป ไว้รอพิมพ์ใหม่ถึงจะแก้ไขได้”

“รวมสาส์น 1977” นักทำ \"พจนานุกรม\" หนังสือคู่บ้านที่จากไปแบบไม่หวนกลับ “รวมสาส์น 1977” นักทำ \"พจนานุกรม\" หนังสือคู่บ้านที่จากไปแบบไม่หวนกลับ พจนานุกรมจีน-ไทย ซึ่งถูกพิมพ์ถึง 36 ครั้ง

  • ยุคโรยของหนังสือเล่ม และความทรงจำสีจาง

ถึงตรงนี้ มันก็เป็นไปตามพล็อตเรื่องของธุรกิจที่มีวงจรของการเติบโตและร่วงโรย เช่นเดียวกับหนังสืออย่างพจนานุกรม ที่ไม่ว่าจะเคยเป็นที่จดจำเช่นใด หากก็ต้องจากไปเพราะทางเลือกที่ดีกว่า ถูกกว่า และเข้าถึงไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้มากกว่า 

“ยอดขายค่อยๆลดลงมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงปี 2547-2549 ที่มี Talking-Dict (พจนานุกรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่ส่งเสียงได้) ช่วงนั้นเราก็พยายามปรับตัวนะ มีการผลิตเป็น CD ซึ่งผู้ใช้สามารถค้นความหมายศัพท์ได้ด้วยการเปิดโปรแกรม แล้วพิมพ์คีย์คำศัพท์ไป แต่ก็ไปไม่ได้ ขายได้แค่ 100 กว่าแผ่นเท่านั้นเอง เพราะเขาพกพาติดตัวไปก็ใช้งานไม่ได้อยู่ดี ต้องมีคอมพิวเตอร์ด้วย”

“รวมสาส์น 1977” นักทำ \"พจนานุกรม\" หนังสือคู่บ้านที่จากไปแบบไม่หวนกลับ

นั่นคือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และทำให้ความต้องการพจนานุกรมแบบเล่ม ล่มสลายไปกาลเวลา โดยปัจจุบันสำนักพิมพ์ไม่ได้สั่งพิมพ์พจนานุกรมใหม่มากว่า 20 ปีแล้ว ยกเว้นพจนานุกรมจีน-ไทย ที่ยังพอขายได้ และพิมพ์เป็นครั้งที่ 36 นั่นเพราะการค้นหาข้อมูลความหมายในภาษาจีนด้วยสื่ออินเทอร์เน็ตยังใช้เวลามากกว่าการเปิดหาในพจนานุกรม

“ศัพท์ภาษาจีน มันเยอะมาก มีการค้นหาที่ต่างจากภาษาอังกฤษ และดูในโทรศัพท์ยังไม่สะดวก ผู้ที่เรียนภาษาจีนก็อยากจะมีพจนานุกรมติดบ้านไว้สักเล่ม ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อเป็นรูปแบบการอ่าน เขาก็จะได้ใช้เวลาพิจารณา ได้เห็นคำที่อยู่ก่อนหน้าและตามหลัง ซึ่งก็จะได้อ่าน มีเวลาให้คิดและจดจำได้มากกว่าการหาใน Google”  

“รวมสาส์น 1977” นักทำ \"พจนานุกรม\" หนังสือคู่บ้านที่จากไปแบบไม่หวนกลับ “รวมสาส์น 1977” นักทำ \"พจนานุกรม\" หนังสือคู่บ้านที่จากไปแบบไม่หวนกลับ

“รวมสาส์น 1977” นักทำ \"พจนานุกรม\" หนังสือคู่บ้านที่จากไปแบบไม่หวนกลับ บรรยากาศสำนักพิมพ์และร้านหนังสือ รวมสาสน์ 1977 ย่านวังบูรพา ที่ยังเปิดทำการอยู่

เจ้าของสำนักพิมพ์รวมสาสน์ บอกว่า ธุรกิจหนังสือของครอบครัวเริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2500 (คศ.1957) ก่อนจะจดทะเบียนการค้าเป็นบริษัทเมื่อ ค.ศ. 1977 ซึ่งนับเป็นเวลากว่า 60 ปี โดยที่ทุกวันนี้ สำนักพิมพ์รวมสาส์นยังมีหน้าร้าน และจัดจำหน่ายหนังสือที่ยังมีลิขสิทธิ์ โดยเน้นหนังสืออ้างอิง สารคดี  นวนิยายไทยในยุคโบราณ แต่ก็ยอมรับว่าผู้อ่านที่แวะเวียนเข้ามาหน้าร้านลดลงมาหลายปีแล้ว

“เราก็พยายามเพิ่มช่องทางจำหน่าย ใน Shopee บ้าง เฟสบุ๊คบ้าง ในหน้าเว็ปบ้าง แต่ก็ต้องยอมรับว่าก็ไม่ได้มากมายนักเมื่อเทียบกับอดีต ที่ยังทำอยู่เพราะยังมีความรัก และก็ทำกันเล็กๆ ทั้งสถานที่ และ หนังสือก็เป็นสมบัติของสำนักพิมพ์ ไม่ได้มีต้นทุนที่สูงเหมือนกับสำนักพิมพ์ที่ตั้งใหม่”

“รวมสาส์น 1977” นักทำ \"พจนานุกรม\" หนังสือคู่บ้านที่จากไปแบบไม่หวนกลับ

“รวมสาส์น 1977” นักทำ \"พจนานุกรม\" หนังสือคู่บ้านที่จากไปแบบไม่หวนกลับ

“ถามว่าเสียดายใหม่ ก็เสียดาย เสียดายวิธีการเรียนรู้ วิธีที่ได้ค่อยๆ พิจารณา อย่างมีสมาธิและจดจำ อย่างถ้าเปิดพจนนานุกรม หรือ ดิกฯ กว่าจะเจอคำเป้าหมาย ก็ต้องผ่านตาอีกหลายคำ ซึ่งผู้เรียนก็ได้จดจำ และผ่านตาความรู้ตรงนั้น”

หากแต่เข้าใจดีว่า ช่วงเวลาของความนิยม และการเป็นหนังสือคู่บ้าน คู่ห้องสมุดโรงเรียน คงจากไปแบบไม่มีวันกลับ

ภาพ : ชวรินทร์ เผงสวัสดิ์