นางงาม-ร้องเพลง-ชกมวย ทางเปลี่ยน "ดิน" เป็น "ดาว" เมื่อต้นทุนเราไม่เท่ากัน

นางงาม-ร้องเพลง-ชกมวย  ทางเปลี่ยน "ดิน" เป็น "ดาว" เมื่อต้นทุนเราไม่เท่ากัน

สำรวจความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ผ่านเวทีประกวดร้องเพลง-นางงาม-ชกมวย ความบันเทิงและกิจกรรมที่ได้รับความนิยมมาทุกยุคทุกสมัย และเหตุใดจึงมีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ฝันว่า "สักวันฉันจะไปคว้าดาวดวงนั้น"

ไมค์ทองคำ, ไมค์ปลดหนี้, ชุมทางเสียงทอง, ร้องแลกไข่ และอีก ฯลฯ คือตัวอย่างรายการประกวดร้องเพลง ที่เราได้ยินบ่อยๆ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา

เช่นเดียวกับการแข่งขันชกมวย การประกวดนางงาม ทั้งที่เป็นเนื้อหาซึ่งถูกถ่ายทอดเป็นประจำผ่านโทรทัศน์ มีแฟนคลับติดตามเหนียวแน่นในสื่อออนไลน์ รวมไปถึงการประกวดแข่งขันอย่างไม่เป็นทางการ ในแต่ละจังหวัด เช่น การแข่งขันชกมวยในงานประจำปี การประกวดนางงามประจำจังหวัด ซึ่งแต่ละครั้งล้วนเป็นรายการประเภท “เรียกแขก”สร้างเรตติ้งให้กับผู้มาเที่ยวงานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

นางงาม-ร้องเพลง-ชกมวย  ทางเปลี่ยน \"ดิน\" เป็น \"ดาว\" เมื่อต้นทุนเราไม่เท่ากัน ภาพการเวทีประกวดสาวงาม อีกหนึ่งการประกวดที่กำลังได้รับความนิยมในสังคมไทย (ภาพ Nation Photo จากการประกวดรอบพรีลิมมินารี ในเวทีมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2019)

ทำไมการประกวดความสามารถเหล่านี้ถึงยังถูกสานต่อเรื่อยมา และมีที่ท่าจะมากขึ้นเรื่อยๆ?

  • จะไปเป็นดาวโดดเด่น

รายงาน “เจาะลึกรายการวาไรตี้ยอดนิยมทางโทรทัศน์” โดย กสทช. อธิบายว่า ความนิยมของกลุ่มรายการวาไรตี้ในแต่ละยุุคสมัยมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา โดยในยุุคเริ่มต้นกิจการโทรทัศน์ไทย ช่วงปี 2498-2525 รายการวาไรตี้แข่งขันตอบปัญหา หรือ Quiz Show เป็นรายการที่่ได้รับความนิยมในกลุ่มผู้ชมโทรทัศน์สููงที่สุด

จากนั้นรายการโทรทัศน์ก็เปลี่ยนไปตามยุคสมัย เช่น รายการทอล์คโชว์ เวทีวาที ในช่วงปี 2530  รายการเรียลลิตี้โชว์ เกมชีวิตในช่วงปี 2540 จนกระทั่งเข้าสู่ในยุคทีวีดิจิทัล ที่มีรายการวาไรตี้เป็นผู้ครองความนิยม

นางงาม-ร้องเพลง-ชกมวย  ทางเปลี่ยน \"ดิน\" เป็น \"ดาว\" เมื่อต้นทุนเราไม่เท่ากัน รวบรวมรายการที่ได้รับความนิยม (ภาพรายงาน “เจาะลึกรายการวาไรตี้ยอดนิยมทางโทรทัศน์” โดย กสทช.)

ยิ่งเฉพาะรายการวาไรตี้ประเภทรายการเพลง ถือเป็นรายการที่ได้รับความนิยมมาก ได้รับความนิยม โดยสถิติตั้งแต่ช่วงปี 2560-2564 พบรายการเพลงที่ครองเรตติ้งสูงสุดถึง 4 ปี ใน 5 ปีหลัง คือปี 2560 ที่รายการ The mask singer หน้ากากนักร้องได้เรตติ้งสูงสุด ปี 2561 รายการไมค์ทองคำ ปี 2563-2564 รายการเพลงชิงทุน มีเพียงช่วงปี 2562 ที่รายการมาสเตอร์เชฟ จูเนียร์ ประเทศไทย ชนะไป

วิเคราะห์กันว่า สาเหตุที่รายการประกวดร้องเพลงยังได้ไปต่อ และถูกผลิตใหม่เรื่อยๆ เป็นเพราะยัง “ขายได้” และมี “คนดู” โดยที่สาเหตุของ Demand (ความต้องการ) เช่นนี้ เป็นเพราะปัจจัยหลักๆ ได้แก่  1. รายการร้องเพลงดูสนุก ให้ความบันเทิงสอดคล้องกับรสนิยมคนไทย

2. การให้อารมณ์ร่วม (Emotional) เช่น ความยากลำบาก การฝ่าฝันอุปสรรคในชีวิตของผู้เข้าแข่งขัน ความน่ารักน่าเอ็นดูในกรณีถ้าผู้เข้าแข่งขันเป็นเด็ก ความคาดไม่ถึงของเสียงร้องที่ทรงพลังขัดกับบุคลิกท่าทาง ความเป็นคนบ้านเดียวกัน ฯลฯ

3. การเติมเต็มความฝัน (Dreams come true) หากผู้ชนะมีพื้นฐานในชีวิตที่ไม่ค่อยดีนัก เป็นคนชนบทที่ไม่คาดคิดว่าจะเข้ามาแข่งขันในเมือง

องค์ประกอบข้างต้น จึงทำให้การแข่งขันร้องเพลงไม่ต่างอะไรกับการเป็นบันได เพื่อเปลี่ยนจาก “ดิน”ให้เป็น "ดาว" เป็นทางลัดของความประสบความสำเร็จ ที่คนดูอยากเห็นและเชื่อมโยงถึงความสำเร็จของตัวเองในรูปแบบความบันเทิงที่เสพง่ายที่สุด

นางงาม-ร้องเพลง-ชกมวย  ทางเปลี่ยน \"ดิน\" เป็น \"ดาว\" เมื่อต้นทุนเราไม่เท่ากัน รายการไมค์ทองคำ หนึ่งในรายการประกวดร้องเพลงที่ได้รับความนิยมมากที่สุด (ภาพจากเฟสบุ๊ค ไมค์ทองคำ) 

วิทยานิพนธ์ “การสำรวจการประกวดร้องเพลงสมัยนิยม ระหว่างปี พ.ศ. 2519-2530 : กรณีศึกษาเวทีการประกวด นักร้องสมัครเล่นยอดเยี่ยมแห่งเอเชีย และเวทีการประกวดร้องเพลงของสยามกลการ มิวสิคฟาวเดชั่น” โดยสาขาวิชาสังคีตวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร อธิบายตอนหนึ่งว่า การประกวดร้องเพลงในประเทศไทยมีพัฒนาการปรากฏตามหลักฐานที่บันทึกไว้ชัดเจน มาตั้งแต่ พ.ศ.2480 โดยเริ่มจากการประกวดร้องเพลงในงานวัด และเริ่มพัฒนาต่อมาซึ่งมีหน่วยงานของภาครัฐให้การสนับสนุน จนกระทั่งการพัฒนาโดยภาคเอกชน ซึ่งทำให้การประกวดร้องเพลงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นกว่าในยุคก่อนหน้า

“ผู้คนอยากเป็นนักร้องและลงแข่งขันประกวด ซึ่งคำตอบหนึ่งคือความต้องการแสดงความสามารถที่ตนมี และอีกนัยหนึ่ง เวทีการประกวดมีส่วนในการสร้างนักร้องเหล่านี้ให้ได้ประสบผลสำเร็จ และผู้ประกอบการธุรกิจค่ายเพลง นำความสามารถที่ได้แสดงบนเวทีไปต่อยอดทางธุรกิจ” ส่วนหนึ่งของผลสรุปงานวิจัยสรุป

การเป็น “ดาวดวงนั้น” จึงเป็นความพิเศษ ที่จะไปสู่ความฝัน ไม่ต่างอะไรจากการเริ่มชกมวย  ซึ่งงานวิจัย “การพนันมวยเด็กในประเทศไทย Child Boxing Gambling in Thailand” สถาบันรามจิตติ สรุปไว้ตอนหนึ่งว่า ปัจจัยที่ทำให้เด็กต้องขึ้นสังเวียนมวยหนีไม่พ้นเรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งเด็กที่เลือกทางนี้แม้จะเป็นความเต็มใจหากแต่มีเรื่องเงินอยู่เบื้องหลัง ไม่ว่าจะเป็นเพื่อครอบครัว รวมทั้งเป็นค่าใช้จ่ายในการศึกษา ซึ่งเปรียบเสมือน “ดวงดาว” อีกดวงให้ได้ปีนป่าย

 ผศ.ดร.ธร ปีติดล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายว่า การให้ความสำคัญกับเวทีประกวดความสามารถเป็นส่วนหนึ่งที่เชื่อมโยงกับความเชื่อในสังคมแบบ Meritocracy (คุณธรรมนิยม) ซึ่งเชื่อว่า ความสำเร็จทางเศรษฐกิจหรือสังคมมาจากการมีความสามารถและศักยภาพส่วนตน ยอมรับว่าการมุ่งมั่นพยายามในระดับปัจเจกจะนำไปสู่การขยับฐานะได้

“ถ้าไม่ได้มองว่าพื้นที่เหล่านี้คือพื้นที่การโชว์ความสามารถ การที่เวทีแบบนี้มีมากในสังคมไทยอาจเป็นเพราะเราไม่มั่นใจว่าการขยับสถานะทางสังคมตามปกติจะเป็นจริงได้ เลยมองว่าการประกวดในเวทีเหล่านี้พึ่งพาและให้ความหวังกับคนได้มากกว่า ซึ่งลักษณะแบบนี้อาจเชื่อมโยงกับการเราเป็นประเทศที่สภาพสังคมปกติมีความเหลื่อมล้ำสูง”

นางงาม-ร้องเพลง-ชกมวย  ทางเปลี่ยน \"ดิน\" เป็น \"ดาว\" เมื่อต้นทุนเราไม่เท่ากัน นางงาม-ร้องเพลง-ชกมวย  ทางเปลี่ยน \"ดิน\" เป็น \"ดาว\" เมื่อต้นทุนเราไม่เท่ากัน

ภาพจากภาพยนตร์สารคดี Hurts Like Hell ที่สะท้อนวิถีชีวิตของนักมวยไทยซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่วัยเด็ก (ภาพจากเฟสบุ๊ค Netflix)

  • โอกาสแห่งการเลื่อนสถานะ

John R. P. French และ Bertram Raven นักทฤษฎีจิตวิทยาสังคม เสนอแนวคิดเกี่ยวกับอำนาจในบทความชื่อ The Bases of Social Power ว่า พื้นฐานของอำนาจที่ทำให้คนหนึ่งอยู่เหนืออีกคนมีทั้งหมด 6 รูปแบบ ได้แก่ อำนาจที่มาจากการบังคับหรือให้โทษได้ (Coercive power) อำนาจการให้รางวัล (Reward power) อํานาจตามกฎหมาย ตามตำแหน่งหน้าที่ (Legitimate power) อำนาจที่มาจากความรัก ความศรัทธา (Referent power) อำนาจจากความเชี่ยวชาญ (Expert Power) อำนาจที่เกิดมาจากการมีข้อมูลหรือการเข้าถึงข้อมูล (Informational power)

อธิบายง่ายๆว่า เวทีการประกวดความสามารถ และความสวยงาม ก็คือการเปลี่ยนอำนาจจาก “ความเชี่ยวชาญ” เพื่อแปลเปลี่ยนเป็นเกียรติยศ ความรักความชอบ และฐานะทางเศรษฐกิจ สู่อำนาจการให้รางวัล (เงิน)

เราจึงเห็นนักร้อง นักมวย นักกีฬา ศิลปิน หรืออีกสารพัดความสามารถ ที่มีเบื้องหลังฐานะทางสังคมที่ไม่ค่อยดีนัก แต่ก็ใช้ทักษะส่วนตัวเพื่อเปลี่ยนสถานะทางสังคมของตัวเอง และมีไม่น้อยที่ถีบตัวเองสู่ความร่ำรวย

เมื่อครั้งการประกวด มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ปี 2022   แอนนา เสืองามเอี่ยม หรือ “แอนนาเสือ” มิสยูนิเวิร์ส ปี 2022 เคยให้สัมภาษณ์ว่า พ่อของเธอมีอาชีพพนักงานเก็บขยะ ส่วนแม่เป็นพนักงานกวาดถนน เธอเติบโตมาท่ามกลางบรรยากาศในชุมชนแออัด

วันที่เธอได้รับตำแหน่งจึงไม่แปลกที่ใครๆ ก็พูดถึง เบื้องหลังครอบครัวเช่นนี้ และเป็นจุดเติมเต็มความฝันให้ผู้ชมทั่วประเทศว่าสักวันเราก็มีโอกาสขึ้นไปแสดงความสามารถบนเวทีเช่นนี้ได้

ไม่ว่าคุณจะเจอกับสถานการณ์อะไร จงเชื่อมั่นในตัวเอง แอนนาทำได้ ทุกคนก็ทำได้ค่ะ" แอนนา พูดตอนหนึ่งหลังรับรางวัลการประกวด

นางงาม-ร้องเพลง-ชกมวย  ทางเปลี่ยน \"ดิน\" เป็น \"ดาว\" เมื่อต้นทุนเราไม่เท่ากัน แอนนา เสืองามเอี่ยม ผู้ได้รับตำแหน่งมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2565

  • สังคมเหลื่อมล้ำ ไม่ใช่ใครก็ทำได้

แม้ ความใฝ่ฝันในเวทีประกวด จะเป็นส่วนหนึ่งของการยกระดับสถานะ แต่ก็ไม่ใช่ใครก็ได้ที่จะเป็นอย่างที่ “แอนนาเสือ” ให้กำลังใจ

แม้เวทีการประกวดจะเป็นพื้นที่ซึ่งได้รับความเชื่อมั่นว่าจะไต่เต้าระดับทางสังคมได้มากกว่า การไต่เต้าจากศึกษาและทำงานตามปกติ หากแต่ปัจจุบันการจำกัดทรัพยากรก็ทำให้ผู้ที่ “พร้อมกว่า” ได้เปรียบกว่าอยู่ดี

“ยกตัวอย่างจากแข่งขันร้องเพลง ภูมิหลังของผู้ชนะก็ค่อยๆเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ใครก็ได้ แต่เป็นคนที่มีความพร้อม ได้เรียนร้องเพลง ได้ฝึกทักษะอย่างถูกวิธี หรือถ้าเป็นการเล่นกีฬาบางประเภท ปัจจุบันผู้ที่จะมีทักษะที่ดี ก็ได้มาจากการฝึกซ้อมจากโค้ชมืออาชีพ ไม่ได้เป็นทักษะติดตัวแบบในอดีต” นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ให้ความเห็น

กรณีของ “แอนนาเสือ” จึงไม่ใช่ใครก็เป็นได้ และการเดินไปของการประกวดต่างๆ จึงมี “ความเหลื่อมล้ำ” เป็นแกนกลางหมุนสิ่งเหล่านี้ดำเนินไปอย่างเลี่ยงไม่ได้

โครงการวิจัยการวิจัยความเหลื่อมล้ำในระดับโลก: คําอธิบายว่าด้วยยชนชั้นและความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยร่วมสมัย โดยสกสว. อธิบายตอนหนึ่งว่า ชนชั้นแต่ละชนชั้นในสังคมไทย มีแนวโน้มผลิตซ้ำชนชั้นของตนเอง ถึงเช่นนั้น  ก็ยังมีกรณีศึกษาที่แสดงว่า มีการเลื่อนชนชั้นจากรุ่นพ่อแม่ และโอกาสทางการเลื่อนสถานะมี 4 ปัจจัยหลัก คือ โอกาสสะสมทุนทางเศรษฐกิจ ความสามารถเฉพาะตัว โอกาสทางการศึกษาโอกาสในการประกอบอาชีพ

บรรดาเวทีการประกวดที่กล่าวมาทั้งหมด คือ การใช้ความสามารถเฉพาะตัว และยิ่งเป็นทักษะเป็นที่ต้องการของตลาด ก็ย่อมมีโอกาสที่สะสมทุนและสามารถเลื่อนฐานะของตนเองเข้าสู่ชนชั้นที่สูงกว่าได้มากกว่า เร็วกว่า

ถึงเช่นนั้นก็มีงานสำรวจอีกมากที่บ่งบอกว่า ยังมีกลุ่มเปราะบาง ขาดโอกาสจำนวน 20 % ล่างสุดในประเทศไทย เปลี่ยนแปลงดีขึ้นน้อยมากในรอบสามทศวรรษที่ผ่านมา นั่นเพราะพวกเขาไม่สามารถเข้าถึงอาชีพที่ใช้ทักษะสูง วิชาชีพ ซึ่งจะนำไปสู่รายได้สูงและความมั่นคง แถมยังไม่มีความสามารถทางการร้องเพลงที่จะพาตัวเองเข้าสู่การประกวด

ต้องทนกับสถานะ ที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลงต่อไป เพราะต้นทุนที่เรามีมันไม่เท่ากัน

อ้างอิง : ารสำรวจการประกวดร้องเพลงสมัยนิยม ระหว่างปี พ.ศ. 2519-2530 : กรณีศึกษาเวทีการประกวดนักร้องสมัครเล่นยอดเยี่ยมแห่งเอเชีย และเวทีการประกวดร้องเพลงของสยามกลการ มิวสิคฟาวเดชั่น

เจาะลึกรายการฟังเพลงวาไรตี้ยอดนิยมโทรทัศน์ดิจิทัล

การพนันมวยเด็กในประเทศไทย Child Boxing Gambling in Thailand

สุดปัง "แอนนา เสืองามเอี่ยม" Miss Universe 2022 มงลงหัว เพราะตอบคำถาม แบบนี้ ?

รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการวิจัยการวิจัยความเหลื่อมล้ําในระดับโลก:  คําอธิบายว่าด้วยชนชั้นและความเหลื่อมล้ําในสังคมไทยร่วมสมัย

"French and Raven's bases of power" วิกิพีเดีย