โจ นักสืบหัวปลาหมึก ลายเส้น(การ์ตูน)ประหลาดๆ กับเส้นทางที่รักแล้วรักเลย

โจ นักสืบหัวปลาหมึก ลายเส้น(การ์ตูน)ประหลาดๆ กับเส้นทางที่รักแล้วรักเลย

สิ่งที่“โจ นักสืบหัวปลาหมึก”ทำ ไม่เหมือนนักวาดการ์ตูนทั่วไป นั่นก็คือ ความประหลาดเป็นเรื่องปกติ การผสมผสานสิ่งที่ไม่เหมือนกันและเข้ากันไม่ได้เลย แต่สามารถต่อยอดเป็นอย่างอื่นได้

ถ้าอยากเป็นนักวาดการ์ตูนต้องทำอย่างไร จะเป็นอาชีพที่ยั่งยืนได้จริงไหม เรื่องเหล่านี้คนที่ตอบคำถามได้ดีที่สุดคือ นักวาดการ์ตูน...

และนี่เป็นอีกเรื่องในงาน Sustainability 2022 ที่ผ่านมา เรื่องราวการวาดเส้นเป็นอาชีพ ซึ่งเด็กๆ ให้ความสนใจไม่ใช่น้อย  

เพราะคนพูดเป็นนักวาดการ์ตูนขวัญใจเด็กๆ สุทธิชาติ ศราภัยวานิช ที่หลายคนรู้จักในชืื่อ โจ นักสืบหัวปลาหมึก หรือ Joe The sea-cret agent  ซึ่งเป็นทั้งอาจารย์และหัวหน้าภาคและอาจารย์ประจำสาขาคอมพิวเตอร์อาร์ต คณะดิจิทัลอาร์ต มหาวิทยาลัยรังสิต

ลายเส้นประหลาดๆ  ไม่เหมือนใคร บางตัวคล้ายหนวดปลาหมึก หลายตััวคล้ายสัตว์ประหลาด ผลงานของอาจารย์โจที่นำมาโชว์ โดย เปิดประเด็นว่า 

“ผมไม่แน่ใจว่า เส้นทางการวาดรูปของผมจะเรียกว่ายั่งยืนได้หรือเปล่า”

หากฟังตั้งแต่ต้นจนจบ ก็จะรู้ว่าเขาไม่เคยทิ้งหรือหนีสิ่งที่รักไปทำอย่างอื่นเลย แต่เขาเชื่อมร้อย ต่อยอด แตกแขนงการ์ตูนไปสู่งานอื่นๆ ตั้งแต่เขียนการ์ตูนในนิตยสารKatch เมื่อนิตยสารล้มหายตายจาก ก็ทำเป็นหนังสือทำมือในรูปแบบการ์ตูน และยังเป็นอาจารย์สอนคณะดิจิทัลอาร์ต รวมถึงทำงานออกแบบสินค้าและโฆษณาที่มีทุกอย่างเป็นการ์ตูนในแบบของเขา

แบบนี้จะเรียกว่า ยั่งยืนหรือไม่ ....คำตอบอยู่ท้ายๆ เรื่อง

โจ นักสืบหัวปลาหมึก ลายเส้น(การ์ตูน)ประหลาดๆ กับเส้นทางที่รักแล้วรักเลย  

นักวาดการ์ตูน ที่ไม่ละทิ้งความฝัน

ถ้าไม่เลิกลา หรือทิ้งความฝันไปซะก่อน สิ่งที่ทำก็จะบังเกิดผล...

สมุดเรียนที่เต็มไปด้วยลายการ์ตูนตั้งแต่ประถม เวลาเรียนหนังสือต้องนั่งกลางห้อง ไม่นั่งหน้าห้องหรือหลังห้อง ก้มหน้าก้มตาดูหนังสือ(วาดการ์ตูน)

"ตอนนั้นมีบางวิชาที่ผมไม่รู้ว่าเรียนไปทำไม และเยอะขึ้นเรื่อยๆ เสาร์อาทิตย์ผมดูการ์ตูน ผมก็เอาสิ่งที่ผมดู มาวาดในหนังสือเรียน เวลาครูเดินมา ก็พลิกไปหน้าอื่น น้องสาวที่ใช้หนังสือเรียนต่อจากผม ใช้ต่อไม่ได้เลย ผมวาดแต่ตัวประหลาดวาดไว้ดูเล่น บางทีวาดสิบตัว ชอบสองตัว" 

นั่นทำให้เขาชัดเจนในเส้นทางศิลปะ เข้าเรียนที่คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเป็นเป้าหลักในชีวิต กระทั่งเริ่มทำงานในกองบรรณาธิการหนังสือการ์ตูน A-Comic ตอนนั้นไม่ได้เกี่ยวกับการวาดการ์ตูน จนมาทำกราฟิกที่โรงพิมพ์ “นิวไวเต็ก” หัดใช้โปรแกรมต่างๆ เพื่อออกแบบงานโฆษณา

และได้เขียนการ์ตูนในนิตยสาร Katch จากการชักชวนของบอย โกสิยพงษ์ และเป็นที่มาของ โจ หัวปลาหมึก “Joe the SEA-CRET Agent” และเพื่อนตัวประหลาด จนนิตยสารเลิกลา ก็ยังเขียนการ์ตูนให้ที่อื่น แล้วผันตัวมาเป็นอาจารย์ด้านศิลปะ แต่ก็ยังใช้การ์ตูนในงานอื่นๆ 

โจ นักสืบหัวปลาหมึก ลายเส้น(การ์ตูน)ประหลาดๆ กับเส้นทางที่รักแล้วรักเลย

เรื่องเล่าโจ หัวปลาหมึก

การวาดการ์ตูนของอาจารย์โจ เป็นเสมือนการบันทึกชีวิตแต่ละช่วงวัย ตอนทำงานด้านกราฟิก มีเวลาว่างก็วาด แล้วเก็บมาสะสมในสมุด และเพื่อนก็ชอบยืมไปดู

" มันแปลกดีมัง ผมก็ไม่ได้หวง ผมไม่ได้คิดว่าเป็นพอร์ต โพลิโอของผม แต่มันเหมือนไดอารี่ จุดเปลี่ยนที่ทำให้ได้เป็นนักวาดการ์ตูนคือ มีการ์ตูนตัวสีฟ้าเหมือนปลาหมึก ตาเดียว ผมวาดเล่นๆ พอดีสมุดเล่มนี้ไปถึงมือพี่บอย โกสิยพงษ์ที่กำลังจะตั้งบริษัททำนิิตยสาร และเขาชอบตัวการ์ตูนตัวนั้น

 พี่บอยชวนมาเขียนการ์ตูน ผมไม่รู้รายละเอียด แต่ผมก็ลาออกจากโรงพิมพ์ทันที ถ้าจังหวะนั้นผมไม่ได้เป็นนักเขียนการ์ตูน ก็จะไม่ได้ลองแล้ว ทุกคนจะมีจุดเปลี่ยนแบบนี้ครั้งหนึ่ง ตอนนั้นพี่บอยจะออกนิตยสาร Katch และในเล่มนี้มีการ์ตูนอยู่สามเรื่อง เรื่องที่ผมเขียนคือ  Joe the SEA-CRET Agent"

 ในยุคสมัยที่เทคโนโลยียังไม่ก้าวไกล อินเตอร์เน็ตยังไม่เฟื่องฟู เมื่อรักที่จะทำ อาจารย์โจไปเดินหาหนังสือสัตว์ทะเลของเด็กๆ มาหัดวาดตัวละครอื่นๆ 

"ผมสวนทางกับนักวาดการ์ตูนทั่วไป เวลาเขียนการ์ตูนพวกเขาจะคิดพล็อตเรื่องตัวละครก่อน แต่ผมวาดตัวละครการ์ตูนก่อน ค่อยเขียนบทบาทคาแรคเตอร์ ยกตัวอย่างผมมีตัวประหลาดๆ ปลาทะเลลึกใสๆ แต่เป็นใบ้ เป็นพนักงานเงินเดือนที่ใช้ชีวิตซ้ำซากจำเจ คำพูดประจำตัวคือ “หวัดดีเราเอง” เป็นคำพูดติดปากจากเพื่อนคนหนึ่งที่ผมเอามาใช้  

เพื่อนที่วาดการ์ตูนเก่งกว่าผม เคยบอกว่า ตัวการ์ตูนต้องมีหู ตา จมูก ปาก ครบ ซึ่งผมไม่เชื่อ ผมเขียนตัวประหลาดแสดงอารมณ์ไม่มีอะไรถูกกฎเกณฑ์ของตัวละครเลย แต่ผู้อ่านของผมก็ไม่เคยมีปัญหากับตัวละคร"

การ์ตูนเป็นศาสตร์ที่มีภาษาของมันเอง การเลือกวาดลงในแต่ละช่อง เป็นศาสตร์ที่อาจารย์โจต้องทำความเข้าใจ แรกๆ เขาเคยใช้เวลาหนึ่งเดือนเต็มๆ ไม่ทำอย่างอื่นเลย เขียนการ์ตูนอย่างเดียว 30 หน้า

“น้องๆ อยากเขียนการ์ตูนไม่ต้องไปเรียนที่ไหน ลองเขียนที่บ้าน ใช่ที่สุดคือตัวเรา ผมเรียนรู้การเขียนการ์ตูนทุกอย่าง บางอย่างผมก็เอามาสอน ถ้าเทียบกับมาตรฐานปกติ ก็ไม่ได้มาตรฐาน สุดท้ายผมก็ได้ทำอย่างที่อยากเป็น”อาจารย์โจ แนะ

โจ นักสืบหัวปลาหมึก ลายเส้น(การ์ตูน)ประหลาดๆ กับเส้นทางที่รักแล้วรักเลย การ์ตูนJoe the SEA-CRET Agent

สิ่งที่เขาไม่เหมือนเพื่อนๆ นักวาดการ์ตูนคือ ความประหลาดเป็นเรื่องปกติ  การผสมผสานสิ่งที่ไม่เหมืือนกันและเข้ากันไม่ได้เลย นั่่นไม่ใช่ปัญหา 

"บางคนก็จะมีกำแพง ถ้าจะเอาอันนี้ผสมกับอันนั้น มันไม่ได้ ผมไม่เคยมีปัญหา ผมเคยเขียนการ์ตูนโลกในอนาคต เมื่อน้ำในโลกแห้งสัตว์น้ำจึงต้องวิวัฒนาการอยู่บนบก รูปร่างเหมือนมนุษย์ หัวเป็นสัตว์น้ำ 

จึงไม่ใช่เรื่องแปลก หากการ์ตูนของอาจารย์โจจะผสมความรุนแรงกับมุขตลกเข้าด้วยกัน ซึ่งการทำงานศิลปะแบบนี้ ทำให้เขามีโอกาสทดลอง

เพราะความกล้าที่จะทำอะไรไม่เหมือนใคร เมื่อนิตยสาร Katch  เลิกลา เขารวบรวมเพื่อนๆ ทำหนังสือการ์ตูนทำมือ โดยปัจจุบันมีสำนักพิมพ์หัวปลาหมึก เพราะเป็นชื่อที่คนจดจำชื่อ

“ตอนที่ธุรกิจสิ่งพิมพ์ย่ำแย่ ถ้าถามว่าผมอยากเปลี่ยนรูปแบบการเขียนการ์ตูนให้เข้าถึงง่ายขึ้นหรือน่ารักขึ้นไหม...ผมคงไม่ทำ ผมทำไม่ได้ การ์ตูนผมต้องเป็นแบบนี้”

โจ นักสืบหัวปลาหมึก ลายเส้น(การ์ตูน)ประหลาดๆ กับเส้นทางที่รักแล้วรักเลย

การ์ตูนเชื่อมร้อยเป็นอาชีพ

เมื่อเพื่อนชักชวนมาเป็นอาจารย์สอนศิลปะ แรกๆ เขาไม่มั่นใจนัก และไม่คิดว่าจะอยู่ในอาชีพนี้ได้นาน แต่ปัจจุบันย่างปีที่ 10 และยังเป็นหัวหน้าภาควิชาด้วย

 "ผมสอนหนังสือครั้งแรก ผมล้มเหลว พูดจาไม่รู้เรื่อง ผมสาบานในใจว่า ชีวิตนี้จะไม่เป็นอาจารย์ แต่คนก็ชอบเชิญไปสอน พอถึงจุดหนึ่ง วงการการ์ตูนตกต่ำ ผมมาเป็นอาจารย์ประจำ สิ่งที่ผมอยากบอกคือ เพราะคนเราชอบคิดว่า เรามีสิ่งที่ทำได้ดีอย่างเดียว แต่บางทีเราลืมมองไปว่าสิ่งที่เราไม่ชอบ เราก็ทำได้ดี

ช่วงเป็นอาจารย์ก็มีโอกาสเขียนลงในนิตยสาร BOOM ซึ่งผมเองก็ไม่เคยคิดว่ามันจะเจ๊ง และช่วงนี้ผมไม่ค่อยมีเวลาเขียนการ์ตูนใหม่ๆ แต่ก็ได้ทำงานออกแบบให้สินค้าแบรนด์จากการ์ตูนผม ทั้งแผ่นเสียง สเก็ตบอร์ด ขนมขบเคี้ยว หรืองานโฆษณา และล่าสุดแบรนด์เกรย์ฮาวด์ก็อยากได้ตัวละครการ์ตูนของผม เพราะผมทำให้ตัวละครผมมีมูลค่าต่อเนื่อง ทั้งๆ ที่ผิดหลักการออกแบบการ์ตูนทั้งหมด"

และคำถามที่เขาเปิดประเด็นไว้ว่า 

“ผมไม่รู้ว่าสิ่งที่ผมทำ ยั่งยืนหรือเปล่า "

ประโยคนี้ถูกขยายความว่า "เพราะผมดื้อที่จะทำ ทั้งๆ ที่การ์ตูนผมไม่ตอบโจทย์ตลาด แต่ความดื้อแบบนี้ ต้องถามตัวเองตลอดเวลาว่า เราต้องพัฒนาอะไรอย่างไร และบางทีความดื้อที่จะพัฒนาสิ่งที่เราทำ อาจเกี่ยวข้องกับความยั่งยืนก็เป็นได้"

โจ นักสืบหัวปลาหมึก ลายเส้น(การ์ตูน)ประหลาดๆ กับเส้นทางที่รักแล้วรักเลย