เปิดบ้าน-ประวัติ “พระยามไหสวรรย์” ขุนนางหัวใจฝั่งธนฯ ผู้เสนอตัด ถ.เจริญนคร

เปิดบ้าน-ประวัติ “พระยามไหสวรรย์” ขุนนางหัวใจฝั่งธนฯ ผู้เสนอตัด ถ.เจริญนคร

เปิดเรือนและประวัติ พระยามไหสวรรย์ (กอ สมบัติศิริ) หนึ่งมือเศรษฐกิจคนสำคัญของชาติ เจ้าของเรือน "บ้านพระยา" ห้องอาหารไทยแห่งใหม่ของโรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ

บ้านพระยา เป็นชื่อเรียกติดปากชาวบ้านร้านตลาดย่านฝั่งธนบุรีตั้งแต่พ.ศ.2440 สมัยธนบุรียังมีสถานะเป็น “เมือง” ชาวบ้านย่านนั้นเรียกบ้านหลังนี้ตามบรรดาศักดิ์ผู้เป็นเจ้าของเรือน นั่นก็คือ พระยามไหสวรรย์ มีลักษณะเป็นเรือนไม้ปลูกอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งตรงข้าม โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ พอดิบพอดี

พ.ศ.2565 “บ้านพระยา” หรือ Baan Phraya พร้อมเปิดบ้านและเปิดครัวต้อนรับผู้มาเยือนในฐานะ “ห้องอาหารไทย” แห่งใหม่ของโรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ

“เราไม่ได้เปลี่ยนแปลงบ้านของท่านเลย ระแนงไม้ตรงระเบียงนี้ยังเหมือนเดิม แต่เราทาสีใหม่โดยใช้โทนสีใกล้เคียงที่สุดกับสีเดิมของบ้านท่าน” ปทมา เลิศวิทยาสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสาร โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ กล่าวพร้อมกับชี้ให้ชมระแนงไม้ของ บ้านพระยา และว่า สิ่งที่เพิ่มมาตรงระเบียงนี้มีเพียง “กันสาด” เพื่อใช้งานบังแดดและบังฝน

“ในอดีตเวลายามเย็น พระยามไหสวรรย์นั่งตรงนี้และเล่นดนตรีไทย ท่านเป็นนักดนตรี ตั้งวงดนตรีไทยชื่อ ‘วงหนุ่มน้อย’ ถือเป็นช่วงเวลาย่อยอาหารและสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว”

เปิดบ้าน-ประวัติ “พระยามไหสวรรย์” ขุนนางหัวใจฝั่งธนฯ ผู้เสนอตัด ถ.เจริญนคร ระเบียงหน้าเรือนและระแนงไม้ดั้งเดิม บริเวณที่พระยามไหสวรรย์และ “วงหนุ่มน้อย” นั่งบรรรเลงดนตรีไทยหลังรับประทานอาหาร

ตัวบ้านของ "บ้านพระยา" มีลักษณะเป็น เรือนไม้ 2 หลังเชื่อมถึงกัน มีใต้ถุนเรือน เรือนด้านหลังเป็นห้องรับประทานอาหาร เรือนด้านหน้าหรือเรือนฝั่งแม่น้ำเป็นเรือนนอนและระเบียงอเนกประสงค์

หน้าเรือนและหลังคาตกแต่งคล้าย “เรือนขนมปังขิง” ที่ขุนนางและคหบดีในสมัย “รัชกาลที่ 5” นิยมปลูกเรือน แต่ไม่พบบันทึกแน่ชัดถึงรูปแบบสถาปัตยกรรมและปีที่สร้าง

เปิดบ้าน-ประวัติ “พระยามไหสวรรย์” ขุนนางหัวใจฝั่งธนฯ ผู้เสนอตัด ถ.เจริญนคร พระยามไหสวรรย์รับเสด็จรัชกาลที่ 9 ที่วัดเศวตฉัตรฯ และภาพของท่านในปี 2510 ที่บ้านพระยา

ต้นตระกูลพระยามไหสวรรย์เป็นคนจีนโพ้นทะเล เมื่อมาถึงแผ่นดินสยามได้ให้กำเนิดทายาทหลายรุ่น โดยในสมัยรัชกาลที่ 5 บิดาพระยามไหสวรรย์ คือนาย “ฉาย แซ่ตั้ง” เข้ารับราชการเป็นนายอากรสุรา มีตำแหน่งเป็น “นายอากรฉาย”

ต่อมา รัชกาลที่ 6 พระราชทานนามสกุล "สมบัติศิริ" ให้กับลูกพี่ลูกน้องพระยามไหสวรรย์ซึ่งรับราชการอยู่ก่อน พระยามไหสวรรย์ซึ่งมีนามเดิมว่า “กอ แซ่ตั้ง” จึงมีชื่อต่อมาว่า กอ สมบัติศิริ

บิดาพระยามไหสวรรย์มีบุตร-ธิดารวม 5 คน หนึ่งในห้าคนนี้ต่อมามีทายาทซึ่งสมรสกับท่านผู้หญิงเลอศักดิ์ (เศรษฐบุตร)

“ในวัยเด็ก พระยามไหสวรรย์เคยถูกส่งตัวให้ญาตินำไปเลี้ยงดูที่พิษณุโลก ญาติคนนั้นทำมาค้าขาย ท่านก็ได้เรียนรู้การค้าขาย เมื่อบิดาเสียชีวิต ก็ได้กลับเข้ามาเรียนต่อที่โรงเรียนอัสสัมชัญ” ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสาร โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ กล่าวถึงประวัติชีวิตวัยเด็กของ พระยามไหสวรรย์ (กอ สมบัติศิริ) จากการสืบค้นข้อมูลในห้องสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคลังสารสนเทศของสถาบันนิติบัญญัติ

เปิดบ้าน-ประวัติ “พระยามไหสวรรย์” ขุนนางหัวใจฝั่งธนฯ ผู้เสนอตัด ถ.เจริญนคร สาเรือน ช่องลม พื้นไม้กระดานดั้งเดิมตั้งแต่แรกสร้างเรือน "บ้านพระยา"

พระยามไหสวรรย์ รับราชการใน “กรมเจ้าท่า” เป็นที่แรก ทำงานดีมากชื่อเสียงเลื่องลือ ตรวจสอบบัญชีเก่ง งบดุลใครทำมาผิดตรวจแก้เจอได้หมด เจ้าฟ้าที่ดูแลกรมต่างๆ แย่งตัวเพื่อมาช่วยทำเอกสาร

เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็น "นายกเทศมนตรีเมืองธนบุรี" ได้ทุ่มเทดำเนินการพัฒนาฝั่งธนบุรีให้มีความเจริญ โดยในปีพ.ศ.2482 ท่านได้ริเริ่มโครงการก่อสร้างถนนแบบตะวันตกเป็นถนนคอนกรีตที่ทันสมัย กว้าง 30 เมตร

เมื่อสร้างถนนเสร็จ ท่านได้ขอให้กระทรวงมหาดไทยตั้งชื่อถนน ในชั้นแรกกระทรวงมหาดไทยจะตั้งชื่อถนนว่า “ถนนมไหสวรรย์” ตามราชทินนามของท่าน

แต่ “พระยามไหสวรรย์” ขอให้ใช้ชื่อถนน เจริญนคร เพื่อล้อกับชื่อถนน “เจริญกรุง” ที่อยู่ในแนวขนานกันทางฝั่งพระนคร

ต่อมาเมื่อมีการถนนตัดใหม่เชื่อม "ถนนเจริญนคร" กับ "ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน" กระทรวงมหาดไทยจึงตั้งชื่อถนนเส้นนี้ว่า ถนนมไหสวรรย์ เพื่อเป็นเกียรติแก่ท่าน

เปิดบ้าน-ประวัติ “พระยามไหสวรรย์” ขุนนางหัวใจฝั่งธนฯ ผู้เสนอตัด ถ.เจริญนคร ชานบ้านก่อนเข้าเรือนด้านหลัง ปัจจุบันเป็นที่รับรองก่อนเข้าห้องอาหาร “บ้านพระยา”

“หลายครั้งท่านขออนุญาตลาออก แต่ก็ถูกเรียกกลับมารับราขการใหม่ บางครั้งท่านก็ปฏิเสธตำแหน่ง แต่สุดท้ายก็ต้องรับ ซึ่งท่านเก่งการค้าขาย ประเทศไทยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เศรษฐกิจประเทศแย่ เปรียบได้กับช่วงต้มยำกุ้ง ช่วงนั้นผลิตผลการเกษตรของไทยขายไม่ได้ เกลือที่เคยขายต่างประเทศ เขาไม่ซื้อ เกิดการบอยคอตทางการค้า เขาไปซื้อเกลือซื้อข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านเรา เศรษฐกิจจึงเป็นขาลง

พระยามไหสวรรย์แต่งคณะเดินทางไปต่างประเทศ ไปเจรจากับญี่ปุ่นและประเทศอื่นๆ เพื่อให้เขากลับมาซื้อเกลือและข้าวจากประเทศเรา ชูข้อดีของเกลือเรา ถ้าดูประวัติศาสตร์ไทยด้านเศรษฐกิจ ท่านเป็นคนหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญมากเมื่อเศรษฐกิจเราตกต่ำแล้วช่วยฟื้นฟูกลับมาให้การค้าขายระหว่างประเทศไปต่อได้” ปทมา กล่าวจากข้อมูลที่ได้ค้นพบ

เปิดบ้าน-ประวัติ “พระยามไหสวรรย์” ขุนนางหัวใจฝั่งธนฯ ผู้เสนอตัด ถ.เจริญนคร พระยามไหสวรรย์เปิด "บ้านพระยา" ต้อนรับบุคคลเข้าอวยพรวันเกิดครบ 80 ปี

พระยามไหสวรรย์ (กอ สมบัติศิริ) สมรส 3 ครั้ง กับนางเอื้อ ถึงแก่กรรมเมื่อมีบุตร, คุณหญิงหลุย (สกุลเดิม บุนนาค) และ คุณหญิงเลื่อน (สกุลเดิม ตันตริยานนท์)

บ้านพระยา เป็นบ้านที่พระยามไหสวรรย์ใช้ชีวิตอยู่กับ คุณหญิงเลื่อน มไหสวรรย์ บ้านหลังนี้เป็นเสมือนห้องรับประทานอาหารของชนชั้นสูงทั้งไทยและต่างชาติ เจ้าของบ้านจัดเลี้ยงอาหารค่ำรับรองแขกเหรื่อต่างๆ เป็นประจำสม่ำเสมอ เนื่องจาก คุณหญิงเลื่อน มีชื่อเสียงในเรื่องการทำอาหาร

ความจริง คุณหญิงเลื่อน หาได้มีฝีมือเฉพาะการครัว แต่ยังเป็นสตรีผู้มีทักษะและไหวพริบทางการค้าอย่างน่าอัศจรรย์

ร้อยปีก่อน ลูกสาวในครอบครัวพ่อค้าชาวจีนมักไม่ได้รับการสนับสนุนให้เรียนหนังสือ คุณหญิงเลื่อนก็ไม่ได้เรียนหนังสือเช่นกัน เธอหัดเขียนหัดอ่านโดยนั่งฟังเพื่อนอ่านหนังสือสอบ

เปิดบ้าน-ประวัติ “พระยามไหสวรรย์” ขุนนางหัวใจฝั่งธนฯ ผู้เสนอตัด ถ.เจริญนคร บ้านพระยา พ.ศ.2565

ความรู้ความสามารถของ "คุณหญิงเลื่อน" ได้รับการพิสูจน์ในเวลาต่อมา เมื่อบิดามอบหมายให้คุณหญิงดำเนินธุรกิจและดูแลเรือขนสินค้าของตระกูล สืบทอดกิจการได้อย่างรุ่งเรือง

ไม่เพียงแต่ปากท้องครอบครัว คุณหญิงเลื่อนยังมีเมตตาไปถึงชาวสวนชาวไร่รอบเรือน บ้านไหนขายผลผลิตไม่ได้ ไม่มีพ่อค้ารับซื้อ หากนำมาขอความช่วยเหลือที่ “บ้านพระยา” คุณหญิงก็รับซื้อไว้ทั้งหมด

โดยเฉพาะในช่วง “สงครามมหาเอเชียบูรพา” คุณหญิงเลื่อน มองการณ์ไกล ถ้าปล่อยให้ญี่ปุ่นยึดเรือขนส่งสินค้าไปหมด คนไทยจะอดอยากยิ่งกว่าเดิม จึงลอบตกลงนำเรือขนส่งสินค้าบางส่วนให้รัฐบาลไทยเพื่อให้มีเรือขนข้าวและเกลือระหว่างกรุงเทพฯ กับเมืองที่ปลูกข้าวทางตอนเหนือของแม่น้ำเจ้าพระยา

เปิดบ้าน-ประวัติ “พระยามไหสวรรย์” ขุนนางหัวใจฝั่งธนฯ ผู้เสนอตัด ถ.เจริญนคร ภายในเรือนด้านหลัง เคยเป็นที่จัดเลี้ยงรับรองแขกชั้นผู้ใหญ่ทั้งในและต่างประเทศ โครงบ้านดั้งเดิมทั้งหมด แม้แต่กระจกสีเขียวมรกตที่บานประตู

พระยามไหสวรรย์ เกิดเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2430 ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2518 สิริอายุรวมได้ 88 ปี รับราชการครั้งแรกตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จนสุดท้ายดำรงตำแหน่ง “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์” ในสมัย รัชกาลที่ 9

ปัจจุบันเรือนไม้งามน่ารักหลังนี้อยู่ในครอบครองของทายาทพระยามไหสวรรย์ ในปีพ.ศ.2529 โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ เช่าและปรับพื้นที่บางส่วนของ “บ้านพระยา” เป็นโรงเรียนสอนทำอาหารไทย (OHAP) ซึ่งเป็นโรงเรียนสอนทำอาหารไทยแห่งแรกในประเทศไทย

และในปีพ.ศ.2565 บ้านพระยา ต้อนรับผู้มาเยือนในฐานะ “ห้องอาหารไทย” แห่งใหม่ ของโรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ

บ้านเก่าที่ยังทรงคุณค่าทั้งประโยชน์ใช้สอยและเรื่องราวเจ้าของเรือน

ภาพ : ศุกร์ภมร เฮงประภากร

เปิดบ้าน-ประวัติ “พระยามไหสวรรย์” ขุนนางหัวใจฝั่งธนฯ ผู้เสนอตัด ถ.เจริญนคร ชานบ้านของเรือนด้านหน้าริมแม่น้ำเจ้าพระยา

เปิดบ้าน-ประวัติ “พระยามไหสวรรย์” ขุนนางหัวใจฝั่งธนฯ ผู้เสนอตัด ถ.เจริญนคร พื้นที่เรือนด้านหลังของ "บ้านพระยา" 

เปิดบ้าน-ประวัติ “พระยามไหสวรรย์” ขุนนางหัวใจฝั่งธนฯ ผู้เสนอตัด ถ.เจริญนคร จัดที่นั่งรับประทานอาหารได้ตามจำนวนผู้จอง

เปิดบ้าน-ประวัติ “พระยามไหสวรรย์” ขุนนางหัวใจฝั่งธนฯ ผู้เสนอตัด ถ.เจริญนคร ความสวยงามของหลังคา ระเบียงบ้าน อายุกว่าร้อยปีของ "บ้านพระยา"