พัชร อุ่นแสงจันทร์ จากช่างภาพอีโรติกสู่งานถ่ายภาพ "ปลากัด" เพื่อเกษตรกร

พัชร อุ่นแสงจันทร์ จากช่างภาพอีโรติกสู่งานถ่ายภาพ "ปลากัด" เพื่อเกษตรกร

เปิดเทคนิคการถ่ายภาพ “ปลากัด” พัชร อุ่นแสงจันทร์ จากช่างภาพอีโรติกอาร์ตสู่งานถ่ายภาพเพื่อเกษตรกรร่วมชาติ ผู้ถ่ายภาพ "ปลากัดไทย" จัดทำหนังสือสำคัญระดับชาติ 2 เล่ม

คณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อต้นปี 2562 เห็นชอบให้ ปลากัด หรือ ปลากัดไทย (Siamese fighting fish) เป็น สัตว์น้ำประจำชาติ ตามหนังสือเสนอพิจารณาของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมง ที่ยื่นไว้ปลายปี 2560 หลังความฮือฮาที่เกษตรกรไทยสามารถเพาะพันธุ์ ปลากัดลายธงชาติ ได้สำเร็จ โดยกรมประมง ได้จัดทำ หนังสือ "ปลากัดสัตว์น้ำประจำชาติ" ขึ้นมาเป็นหลักฐานประกอบ

ขณะที่ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี มีความเห็นจัดทำ สมุดบันทึกปลากัดสัตว์น้ำประจำชาติไทย เพื่อมอบเป็นของขวัญไปยังสถานทูตทั่วโลกและถวายแด่พระราชวงศ์ต่างๆ

ภาพถ่ายปลากัดอันสวยงาม ชัดเจนด้วยรายละเอียดบนตัวปลาซึ่งปกติมีความยาวลำตัวเพียง 5-7 เซนติเมตร สีสันไม่ผิดเพี้ยน ที่ปรากฏอยู่ในหนังสือ “ปลากัดสัตว์น้ำประจำชาติ” และ “สมุดบันทึกปลากัดสัตว์น้ำประจำชาติไทย” เป็นผลงานการถ่ายภาพโดย พัชร อุ่นแสงจันทร์ อดีตนักร้องกลางคืน 

แม้เส้นทางการเป็นช่างภาพเริ่มต้นจากศูนย์ แต่ประสบการณ์งานถ่ายภาพไม่ธรรมดา พัชรได้รับคำเชิญจาก ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก ให้จัดแสดงผลงานภาพถ่ายเดี่ยวชุดปลากัดครั้งแรกของเขาเองในนิทรรศการชื่อ The Tail Stories เมื่อปี 2564

พัชร อุ่นแสงจันทร์ จากช่างภาพอีโรติกสู่งานถ่ายภาพ \"ปลากัด\" เพื่อเกษตรกร พัชร อุ่นแสงจันทร์ กับนิทรรศการ The Tail Stories

พัชร อุ่นแสงจันทร์ หรือ “ไบร์ท” สอบเข้าศึกษาต่อได้ที่คณะสังคมศาสตร์ สาขาวิชารัฐศาสตร์ เนื่องจากไป “รับน้อง” ผิดวัน จึงได้เพื่อนสนิทเป็นนิสิตคณะมนุษยศาสตร์ เอกดนตรี จุดเริ่มต้นของการเล่นดนตรีและการถ่ายรูป

ชีวิตผจญภัยตั้งแต่อายุ 19 ด้วยการทำงานเสริมเป็นนักร้องกลางคืนเมื่อ 15 ปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงที่ “กล้องดิจิทัล” เริ่มเข้ามามีบทบาทในตลาดกล้องถ่ายรูปเมืองไทย ไบร์ทเป็นคนหนึ่งที่ลองซื้อกล้องดิจิทัลมาลอง เริ่มจากถ่ายเพื่อน ถ่ายนางแบบพริตตี้ที่ทำงานอยู่ในผับ ไปจนถึงสาย “อันเดอร์กราวน์” ต้นแบบ OnlyFans ยุคนี้

“ไบร์ทอยู่สายถ่ายผู้หญิงมาตลอด เทาๆ ถ่ายโปรไฟล์ ถ่ายแบบโอนลี่แฟนส์ มีมานานมากแล้ว แต่เมื่อก่อนเป็นกลุ่มเฉพาะ ไม่ค่อยเปิดในบ้านเรา จะมีนายทุนไต้หวันกับแถบยุโรปเข้ามา โยนเงินให้ก้อนหนึ่ง ดึงเด็กจากอ่างจากเลาจน์ไปถ่าย ถ่ายเสร็จคุณเอาการ์ดไปเลย เราก็รับตังค์กลับบ้าน” พัชร เล่าประสบการณ์งานถ่ายรูปในช่วงเริ่มต้น

พัชร อุ่นแสงจันทร์ จากช่างภาพอีโรติกสู่งานถ่ายภาพ \"ปลากัด\" เพื่อเกษตรกร หนังสือ “ปลากัดสัตว์น้ำประจำชาติ”

ถ่ายรูปอยู่ 1 ปี เขามีโอกาสเข้าเวิร์คช็อปกับ Antoine d’Agata ช่างภาพชาวฝรั่งเศส สังกัด Magnum Photos สำนักงานภาพข่าวระดับโลก ในโปรเจคคัดเลือกช่างภาพอายุต่ำกว่า 30 ปีทั่วเอเชียไปร่วมทำเวิร์คช็อปถ่ายภาพที่เมืองเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา ซึ่งตอนนั้นกำลังมีปัญหาเรื่องทางขึ้น “เขาพระวิหาร” อีกครั้งกับไทย

“วันแรกถ่ายรูปเขาพระวิหารกลับมา อาจารย์อังตวนดูรูปที่ไบรท์ถ่ายได้ 4-5 ใบ โยนทิ้งถังขยะหมดเลย วันที่สองวันที่สามก็ทำอีก เราก็เก็บคำถามไว้ในใจ พอวันที่ 4 แกถามว่ารู้มั้ยที่ทำแบบนี้เพราะอะไร ผมก็ตอบว่า ไม่รู้ แต่คุณคงมีเหตุผลของคุณ

เขาบอกว่าใช่ ถ้าคุณยังรับความกดดันแค่นี้ไม่ได้ คุณเป็นช่างภาพไม่ได้หรอก บางทีต่อให้คุณไปรอคอย แต่ไม่ได้ภาพกลับมา คุณทำอะไรไม่ได้จริงๆ เขาสอนเรื่องความอดทนให้เราตั้งแต่ตอนนั้น หัวใจของการเป็นช่างภาพคือความอดทน การรอคอย

เขาอยากพิสูจน์เราก่อน ถ้าคุณทำได้ เขาถึงจะเอาอะไรใส่หัวคุณ คุณต้องเป็นน้ำไม่เต็มแก้ว ตรงนั้นเหมือนเป็นการปรับพื้นฐานเราใหม่หมดเลย เพราะเราเพิ่งอายุ 19

พัชร อุ่นแสงจันทร์ จากช่างภาพอีโรติกสู่งานถ่ายภาพ \"ปลากัด\" เพื่อเกษตรกร ภาพถ่ายปลากัด ผลงานโดย ไบร์ท-พัชร

แล้วเขาก็ให้โจทย์มาอีก ถ้าคุณอยากเก่งไว คุณควรเลือกสายที่คุณจะไป และอีกห้าปีสิบปีไม่เกินนั้น คุณจะอยู่ในสายงานนั้นแล้ว ไวกว่าคนอื่น

ไบร์ทก็บอกเขาว่า แต่ยังมีอีกหลายอย่างที่เรายังไม่รู้ เขาบอกว่าใช่ แต่ถ้าคุณจะไปไล่เก็บ ต้องใช้เวลากี่ปีกว่าจะเก็บหมด นั่นเป็นจุดประกายที่ทำให้ไบร์ทข้ามสายถ่ายภาพไปมา ไปอยู่อีเวนต์บ้าง ข่าวบ้าง นิตยสารบ้าง แล้วทั้งหมดทั้งมวลนี้มาใช้กับการถ่ายปลา”

ในเวลา 13 ปี พัชร อุ่นแสงจันทร์ ผ่านงานถ่ายภาพมาแล้วทั้งงานอันเดอร์กราวน์ นิตยสารแฟชั่น กีฬาความเร็ว ท่องเที่ยว เครื่องนุ่งห่มสิ่งทอ เก็ตตี้อิมเมจส์ รอยเตอร์ส จนมาถึงการถ่ายภาพปลา

พัชร อุ่นแสงจันทร์ จากช่างภาพอีโรติกสู่งานถ่ายภาพ \"ปลากัด\" เพื่อเกษตรกร ภาพปลากัดหน้าตรง

  • จุดเริ่มต้นการถ่ายภาพ “ปลากัด”

พัชรเล่าว่า วันหนึ่งเริ่มรู้สึกอิ่มตัวกับงานถ่ายรูปแบบมีโจทย์และมอบหมายให้ทำ ประกอบกับช่วงนั้นเริ่มมีคนนิยมถ่ายรูปปลากัด ทำให้เขารู้สึกอยากท้าทายตัวเองบ้าง จึงซื้อปลากัดมาลองถ่ายรูป 2 ตัว

หลังโพสต์ภาพในเฟซบุ๊ก มีคนแชร์ไปเป็นพัน คือ “รูปปลากัดหน้าตรง” ซึ่งยังไม่เคยมีใครถ่ายปลาหน้าตรงแบบนั้น จนไปเข้าตารองอธิบดีกรมประมงในขณะนั้น กำลังผลักดันให้ “ปลากัด” เป็น สัตว์น้ำประจำชาติ 

"เข้าล็อคพอดี ท่านติดต่อมาขอใช้รูป ตอนแรกก็เสนอค่าใข้จ่าย แต่เรายินดีช่วยเหลือ อย่างน้อยเราก็เอาความสามารถมาใช้ หลังจากนั้นทำให้ไบร์ทถ่ายรูปปลากัดจริงจัง

บางทีนักวิทยาศาสตร์ถ่ายรูปไม่เป็น ท่านรู้ลักษณะปลา ตรงนี้คืออะไร มีอวัยวะอะไรบ้าง แต่มันเล็ก เวลาเขาส่องต้องเป็นปลาที่ตายไปแล้ว แต่กล้องที่ไบร์ทใช้ ความขยายสูง ถ่ายมาเห็นเหงือก เห็นอวัยวะต่างๆ ซึ่งเอาไปใช้งานในหนังสือได้ และสีเราตรง เพราะเรารู้วิธีจัดการสี พอสีตรงปั๊บ เขาก็ไม่มีอะไรต้องห่วง ไม่ต้องไดคัท เพราะเรารู้วิธีถ่ายให้ฉากขาวหรือดำ เอาไปใช้ได้ทันที จบงานถ่ายก็ 95 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือแค่ลบฝุ่นนิดหน่อย”

หลังจากผลงานหนังสือ “ปลากัดสัตว์น้ำประจำชาติ” ของกรมประมง ก็มีโปรเจค “สมุดบันทึกปลากัดสัตว์น้ำประจำชาติไทย” ตามมาด้วย “แสตมป์ชุดปลากัดสัตว์น้ำประจำชาติไทย” ของบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด เป็นภาพปลากัดลายธงชาติและปลากัดสีทอง ในปี 2563

พัชร อุ่นแสงจันทร์ จากช่างภาพอีโรติกสู่งานถ่ายภาพ \"ปลากัด\" เพื่อเกษตรกร แสตมป์ชุดปลากัดสัตว์น้ำประจำชาติไทย

  • เปิดเทคนิคการถ่ายภาพปลากัด

พัชร กล่าวว่า ต้องนำความรู้ทั้งหมดเกี่ยวกับการถ่ายภาพมาใช้ เหตุผลเดียวคือ “สั่งปลาไม่ได้เหมือนสั่งนางแบบ” มีแต่ศึกษา พฤติกรรมปลา เท่านั้นจึงจะถ่ายภาพได้ ในการถ่ายรูปปลาแต่ละครั้ง เขาใช้เวลาขลุกอยู่กับปลาอย่างน้อย 6 ชั่วโมง

“ปลาบังคับไม่ได้ สั่งไม่ได้ ไม่เหมือนนางแบบ เราสั่งให้ขยับได้ แต่สั่งปลาไม่ได้ เราจึงต้องสังเกตพฤติกรรมว่าเขาว่ายซ้ายหรือว่ายขวา ตอบสนองต่อสิ่งเร้าอะไรบ้าง แสง ความเย็น

ไบร์ทจัดไฟในสตูดิโอถ่ายปลาเหมือนถ่ายนางแบบ แต่ต้องลดขนาดลง ไฟนำบางทียังเปิดไม่ได้เลย เพราะเขาตกใจกับแสง เราก็ต้องค่อยๆ ปรับแสงให้เขาคุ้น เพราะเกษตรกรเลี้ยงเขาในที่มืด มาอยู่กับเราต้องสว่าง เพื่อที่เราทำงานได้ เขาก็ตกใจ เวลาทำงานเราเปิดแอร์ แต่ปลาบางตัวไม่ชอบที่เย็น เราต้องเรียนรู้แล้วปรับกระบวนการนานมาก

เวลาถ่ายรูป ไบร์ทจะมีโหลสองใบ น้ำเหมือนกัน สภาวะแวดล้อมเหมือนกัน พอใส่ปลาลงไป รอให้เขาพักน้ำก่อน 15 นาที หรือครึ่งชั่วโมง หรืออาจนานกว่านั้น เราก็จะสังเกตดูว่าเขาร่าเริงไหม เล่นน้ำไหม บางตัวหงอย เราก็ต้องรอจนกว่าเขาจะฟื้น เขาถึงจะทำงานได้ บางตัวลงไปปุ๊บบู๊เลยก็มี

สมมุติจะถ่ายปลาสีแดง ไบร์ทจะเอาปลามา 4-6 ตัว มานั่งดูพฤติกรรม ต่อให้สีสวยหมด ลายสวยหมด เป๊ะเหมือนกันหมด แต่ว่ายไม่เหมือนกันแน่นอน พฤติกรรมปลาไม่เหมือนกัน เราจะเลือกตัวที่เราทำงานง่ายที่สุด สิบนาทีเสร็จ ห้านาทีเสร็จยิ่งดี ซึ่งมันยาก ถือว่าโชคดีถ้าได้ปลาแบบนั้นมา บางตัวสีสวยมากหางสวยลักษณะดี แต่หงอยไม่ว่ายก็มี”

พัชร อุ่นแสงจันทร์ จากช่างภาพอีโรติกสู่งานถ่ายภาพ \"ปลากัด\" เพื่อเกษตรกร ภาพถ่ายปลากัด 2 ตัวในพื้นที่เดียวกัน

  • เทคนิคการถ่ายภาพปลากัด 2 ตัว

หลังท้าทายความสามารถในการถ่ายภาพ ปลากัด จนผลงานเป็นที่ประจักษ์ระดับชาติ พัชรท้าท้ายตัวเองต่อไปด้วยการ ถ่ายภาพปลากัด 2 ตัวในพื้นที่เดียวกันเวลาเดียวกัน เป็นที่มาของ The Tail Stories นิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของเขา

“ทุกคนชอบถามเหมือนกันว่ากัดกันไหม ถ้าปล่อยไว้กัดครับ กัดกันเละเทะเลย แต่ว่าจังหวะก่อนที่เขาจะกัดกัน เขาเรียก เทียบปลา ปลาจะว่ายคู่กัน จะดูว่าตัวนี้สู้ไหม ตัวนี้เป็นมิตรไหม ตัวไหนยอมจะหุบหางไปอยู่ริมตู้ ก็ไม่ได้รูป แต่จังหวะก่อนที่เขาจะสู้กัน คือจังหวะที่ได้

ไบร์ทจะใส่ปลาลงไปในโหลพร้อมกัน 2 ตัว ถ้าตัวใดตัวหนึ่งลงไปก่อน ปลาจะมีเหมือนฟีโรโมน (pheromone) เขาจะปล่อยออกมาในน้ำ แสดงความเป็นเจ้าของอาณาเขต ถ้าตัวอื่นเข้ามากูกัด

ถ้าลงสองตัวพร้อมกัน จะมีความงงของมันอยู่ เจอหน้ากันก็จะขู่กัน จะสำรวจพื้นที่ จนมันชินพร้อมสู้ จังหวะนั้นครับ มีเวลาไม่เกินนาทีที่จะถ่ายช่วงปลาเล่นกันก่อนจะกัดกัน เราแยกปลาทัน เราจะไม่ปล่อยให้ปลากัดกัน คือปลาที่เอามาถ่าย ยิ่งสวยก็ยิ่งแพง ปลากัดลายธงชาตินั่นคือห้าหมื่นบาท”

พัชร อุ่นแสงจันทร์ จากช่างภาพอีโรติกสู่งานถ่ายภาพ \"ปลากัด\" เพื่อเกษตรกร ภาพถ่ายปลากัดลายธงชาติ 2 ตัวในพื้นที่เดียวกัน

  • ใช้เวลาซื้อใจเกษตรกร

พัชรให้ความเห็นว่าการถ่ายภาพปลากัดสองตัวไม่ใช่เรื่องยาก แต่ที่ยากกว่าคือ กว่าจะได้ปลากัดลายธงชาติหางยาว 1 ตัว หนึ่งปีมี 1 ตัว เป็น “ปลาหลุด” มาเป๊ะๆ ไม่สามารถเพาะพันธุ์ได้ เพราะ “เลือดยังไม่นิ่ง”

“เกษตรกรเราไม่ได้จบ engineering physics หรือ genetic engineering เขาแค่คิดว่าจะทำยังไงให้ปลาได้สีแบบนี้ กว่าเขาจะทำได้ ใช้เวลา 5-6 ปี กว่าจะหลุดมาหนึ่งตัว และกว่าจะได้ตัวสวยเป๊ะๆ 1 ตัว ก็ใช้เวลาอีกนาน

เป็นจังหวะที่ดีที่ไบร์ทได้ถ่าย ปลาธงชาติ 2 ตัว อาจไม่สวยที่สุดเป๊ะที่สุด แต่อยู่ในช่วงเวลาเดียวกันและเราถ่ายเก็บไว้ได้ เพราะฉะนั้นมันจะไม่มีอีกแล้ว มันยากมาก อยู่ที่เราอีก ว่าจะถ่ายยังไงให้สวยและปลาช้ำน้อย

ในการทำนิทรรศการ The Tail Stories ไบร์ทใช้เวลาซื้อใจเกษตรกรนานมาก เพราะเขาไม่รู้ว่าเราเป็นใคร เราจะเอาปลาเขาไปขายหรือเปล่า พันธุ์ปลาเขาจะหลุดไหม เราต้องเข้าไปคุยกับเขาเอง พิสูจน์ให้เขาเห็นว่าเราทำอะไร งานเราออกไป ปลาคุณก็ได้”

พัชร อุ่นแสงจันทร์ จากช่างภาพอีโรติกสู่งานถ่ายภาพ \"ปลากัด\" เพื่อเกษตรกร ภาพถ่ายปลากัด ผลงานโดย ไบร์ท-พัชร

  • ปลากัดเปลี่ยนชีวิต

ย้อนกลับไปในงาน ‘ประมงน้อมเกล้า ปี 2562’ กรมประมงสรรหา ปลากัดสีทอง 10 สายพันธุ์ ให้พัชรถ่ายภาพ เพื่อจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในปีมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และนำรายได้จากการประมูลภาพถ่ายปลากัดสีทอง ร่วมสมทบทุนมูลนิธิจุฬาภรณ์

“ถึงวันงาน มีผู้ชายคนหนึ่งมายืนอยู่หน้ารูปปลานานมาก ไบร์ทก็เดินไปหาเขา เขาพูดว่า คุณไบร์ทใช่มั้ย ขอบคุณมากครับ เขาเป็นเจ้าของปลาตัวนี้ เขามีอาชีพเป็นชาวนา งานว่างเขาคือเพาะปลากัด เอาปลาที่ช้อนได้ตามทุ่งนามาพัฒนาให้เป็นสีทองจากปลากัดตัวดำๆ เขาบอกว่า ชีวิตนี้เขาคงทำอะไรไม่ได้แบบนี้ คือเขาเพาะปลาได้ แต่ถ่ายรูปแบบนี้ไม่ได้ แล้วเขาจำได้ว่านี่คือปลาเขา ตัวที่สวยที่สุดที่เขามี กรมประมงขอไป เขาขายได้ตัวหนึ่งพันถึงพันห้า แต่นี่มันสร้างประโยชน์มากกว่านั้น เงินที่ประมูลภาพไปก็ช่วยชีวิตคน เขาบอกมันเป็นความภาคภูมิใจ จับมือคุยกันน้ำตาซึม เป็นจุดเริ่มต้นให้เราทำต่อ

เมื่อก่อนถ่ายปลา ไบร์ทไม่รู้ทำเพื่ออะไร พิสูจน์ตัวเองมั้ง อยากสนุก ทุกวันนี้ทุกงานเกี่ยวกับปลาที่เราทำไป มันส่งผลต่อเกษตรกรจริงๆ มีคนถามเอาปลามาจากไหน ไบร์ทบอกไป วันรุ่งขึ้นมีออร์เดอร์ปลามาเป็นร้อยตัว เขาคือได้คุณภาพชีวิต

พัชร อุ่นแสงจันทร์ จากช่างภาพอีโรติกสู่งานถ่ายภาพ \"ปลากัด\" เพื่อเกษตรกร ภาพถ่ายปลากัด ผลงานโดย ไบร์ท-พัชร

เราใช้เวลาซื้อใจเกษตรกรนานมาก แต่ตอนนี้ถ้าเขามีอะไรเด็ดๆ จะบอกคุณไบร์ทผมมีปลา จะส่งไปให้ถ่าย ปีหนึ่งผมจะไปหาเกษตรกรทีหนึ่ง ลงใต้บ้าง ขึ้นเหนือบ้าง แต่ละภูมิภาคจะมีปลาเก่งของเขา ภาคใต้น้ำดี สงขลา น้ำบาดาลเป็นน้ำกร่อยหน่อย สารอาหารก็จะเยอะ เขาเลี้ยงปลากัดจากน้ำบาดาล ปลาก็จะสีสดสีสวย

นครปฐม เป็นเมืองหลวงปลากัดนะครับ เป็นปลาอีกแบบ มีเกษตรกรที่เลี้ยงปลากัดน่าจะเป็น 100 ล้านแบน เลี้ยงในขวดเหล้าแบน คือเป็นร้อยล้านตัว อยากได้ปลาสวยๆ ก็ต้องไปนครปฐม เพียงแต่ว่าเราเข้าไปซื้อไม่ได้ เพราะเขาไม่รู้ว่าเราเป็นใคร เขาจะไม่ขาย กรมประมงเป็นคนพาไบร์ทไป

ไบร์ทจะไม่เพาะปลา ห้ามเด็ดขาด เราไม่รู้เกษตรกรคนไหนหวงสายพันธุ์หรืออะไรยังไงบ้าง เราไม่อยากให้เขาว่าเราจะเอาปลาเขาไปเพาะพันธุ์ ถ้าเขาเอาปลาท็อปๆ มาให้ถ่ายรูป แน่นอนหลักหมื่น แรกๆ ไบร์ทจะซื้อเขานะ เขาบอกไม่เป็นไรคุณไบร์ท มีสองอย่างคือ อย่าปล่อยให้หลุด ถ้าตายก็ไม่เป็นไร ถ่ายมาให้เขาดูว่าตายจริงๆ เราทำงานเสร็จก็เอาไปคืนเขา

สมมุติปลาคอกหนึ่งออกมา 200 ตัว จะมีตัวสวยๆ ที่เขาเรียก ‘หัวคอก’ ไม่เกิน 10 ตัว ในสิบตัวนี้มีตัวท็อปๆ อีกตัวสองตัว ซึ่งเขาเอามาให้เราถ่ายรูปทำหนังสือ”

พัชร อุ่นแสงจันทร์ จากช่างภาพอีโรติกสู่งานถ่ายภาพ \"ปลากัด\" เพื่อเกษตรกร ภาพกราฟิกเครื่องบินลายปลากัดไทย

  • ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์

ด้วยความหลงใหลในความสวยงามของปลากัดไทย อยากขยายความงามนี้ให้แพร่หลายในวงกว้าง ให้ทุกคนรู้ว่า “ปลากัดไทย” เป็นสัตว์น้ำประจำชาติ พัชรจึงนำผลงานภาพถ่ายปลากัดของเขาต่อยอดเป็น ผลิตภัณฑ์แนวไลฟ์สไตล์ ภายใต้แบรนด์ Luna Garden เริ่มจากทำผ้าพันคอเนื้อผ้าระดับ silk satin spandex พิมพ์ลายหางปลากัดอันพลิ้วไหว วางจำหน่ายที่ไอคอนสยาม ถูกใจแฟชั่นนิสต้า สินค้าล็อตแรกจำหน่ายหมดไปอย่างรวดเร็ว ตามมาด้วยผลิตภัณฑ์ประเภทถุงผ้าแคนวาส รองเท้าแตะ ร่ม เสื้อ แก้วน้ำเนื้อสเตนเลส ติดตามได้ที่ เฟซบุ๊ก LUNA Garden

ด้วยความละเอียดระดับกล้องฮาสเซลบลาด (Hasselblad) ที่ใช้ถ่ายภาพปลากัด พัชรยังคิดไกลต่อไปถึงการพิมพ์ลายลงบนเซรามิกแล้วเรียงต่อกันเป็น วอลล์อาร์ต ขนาดใหญ่สำหรับตกแต่งผนังอาคาร ทำภาพตกแต่งขบวน รถไฟไทย เรือใบ เรือยอชต์ แม้แต่ตกแต่ง ลำตัวเครื่องบิน เป็นลายปลากัดไทย ให้ปลากัดไทยขึ้นไปว่ายบนผืนฟ้า ก็น่าสนใจไม่น้อย

“คนรู้จักปลากัดมากขึ้น เกษตรกรก็ได้ด้วย” เป็นสิ่งที่ ไบร์ท พัชร อุ่นแสงจันทร์ คิดในวันนี้

: credit photo :
เว็บไซต์ไบร์ทพัชร
ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก

พัชร อุ่นแสงจันทร์ จากช่างภาพอีโรติกสู่งานถ่ายภาพ \"ปลากัด\" เพื่อเกษตรกร

ภาพถ่ายปลากัด ผลงานโดย ไบร์ท-พัชร

พัชร อุ่นแสงจันทร์ จากช่างภาพอีโรติกสู่งานถ่ายภาพ \"ปลากัด\" เพื่อเกษตรกร ภาพถ่ายปลากัด ผลงานโดย ไบร์ท-พัชร

พัชร อุ่นแสงจันทร์ จากช่างภาพอีโรติกสู่งานถ่ายภาพ \"ปลากัด\" เพื่อเกษตรกร นิทรรศการ  The Tail Stories เมื่อปี 2564

พัชร อุ่นแสงจันทร์ จากช่างภาพอีโรติกสู่งานถ่ายภาพ \"ปลากัด\" เพื่อเกษตรกร ร่มลายปลากัดไทย

พัชร อุ่นแสงจันทร์ จากช่างภาพอีโรติกสู่งานถ่ายภาพ \"ปลากัด\" เพื่อเกษตรกร แนวคิดรถไฟไทยลายปลากัดไทย

พัชร อุ่นแสงจันทร์ จากช่างภาพอีโรติกสู่งานถ่ายภาพ \"ปลากัด\" เพื่อเกษตรกร

ผ้าพันคอลายปลากัด

พัชร อุ่นแสงจันทร์ จากช่างภาพอีโรติกสู่งานถ่ายภาพ \"ปลากัด\" เพื่อเกษตรกร รองเท้าแตะลายปลากัด