ปีนี้ใครจะเป็น'ราย'ต่อไป? เทคโอเวอร์ 'Specialty Coffee'

ปีนี้ใครจะเป็น'ราย'ต่อไป? เทคโอเวอร์ 'Specialty Coffee'

ย้อนรอย 12 ปี กลุ่มทุนยักษ์ข้ามชาติเล็งเป้าเทคโอเวอร์แบรนด์กาแฟพิเศษอิสระ สยายปีกตลาดกาแฟพร้อมดื่มคุณภาพสูง (Specialty RTD)

หลังจากธุรกิจร้านกาแฟพิเศษ (Specialty Coffee) ในตลาดสหรัฐอเมริกา เริ่มเข้าสู่ยุคเฟื่องฟูในทศวรรษ 1980-1990 แบรนด์กาแฟอิสระเหล่านี่ซึ่งส่วนใหญ่ทำทั้งธุรกิจคั่วกาแฟคุณภาพสูงและมีหน้าร้านสำหรับขายเครื่องดื่มกาแฟ ก็เริ่มตกเป็นเป้าหมายการไล่ล่าซื้อกิจการจากทั้งบริษัทขนาดใหญ่ใน-นอกภาคอุตสาหกรรมกาแฟ เนื่องจากเป็นธุรกิจดาวรุ่งพุ่งแรง ยอดขายเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทุกปี ใคร ๆ ก็อยากกระโดดเข้าไปมีส่วนร่วมในสนามแข่งขันนี้

ปลายปีก่อน มีข่าวใหญ่ระดับบิ๊กดีลของวงการกาแฟพิเศษเกิดขึ้น เมื่อ 'โชบานิ' (Chobani) แบรนด์ผู้ผลิตโยเกิร์ตชื่อดัง ที่มีฮามดิ อุลุคาย่า เป็นซีอีโอและผู้ก่อตั้ง เข้าซื้อกิจการ 'ลา โคลอมบ์' (La Colombe) แบรนด์กาแฟพิเศษระดับไฮเอนด์ซึ่งมีออฟฟิศใหญ่อยู่ที่ฟิลาเดลเฟีย ตั้งเป้าบุกตลาดกาแฟพร้อมดื่มที่ใช้เมล็ดกาแฟคุณภาพสูง หรือ Specialty RTD

เมื่อพิจารณาจากเงื่อนเวลา ดีลนี้ถือว่ามีความน่าสนใจยิ่งนัก

เพราะ 'เคอริก ด็อกเตอร์ เป๊ปเปอร์' (Keurig Dr Pepper) บริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มและเครื่องชงกาแฟชั้นแนวหน้าในอเมริกาเหนือ เพิ่งเข้าซื้อหุ้นใหญ่ 30% ในลา โคลอมบ์ ไปเมื่อกลางปี จากนั้นทั้งสองฝ่ายตกลงเตรียมนำเมล็ดกาแฟคุณภาพสูงมาจำหน่ายในรูปแคปซูลกาแฟ K-cup  ส่งสัญญาณพร้อมเปิดศึกกับ'สตาร์บัคส์' (Starbucks) ที่เป็นรายใหญ่อยู่ในตลาดกาแฟเซ็กเมนท์นี้ แต่พอถึงปลายปี กลายเป็นว่า ลา โคลอมบ์ กลับตกไปเป็นกิจการของโชบานิ

ผู้เขียนมั่นใจว่า กรณีโชบานิ เทคโอเวอร์กิจการลา โคลอมบ์ ไม่ใช่ปรากฎการณ์ 'สุดท้าย' ที่สั่นสะเทือนแบรนด์กาแฟพิเศษอิสระ เชื่อว่าปีนี้จะมีความเคลื่อนไหวอีก เมื่อพิจารณาจากมูลค่าตลาดที่อยู่ในระดับสูงของตลาดกาแฟพร้อมดื่ม และการขยายตัวที่ยังคงไปได้ดีของเซ็กเมนท์กาแฟพิเศษ

ปีนี้ใครจะเป็น\'ราย\'ต่อไป? เทคโอเวอร์ \'Specialty Coffee\' เจเอบี โฮลดิ้ง กลุ่มการค้าเยอรมนี เข้าเทคโอเวอร์พีตส์ คอฟฟี่ แบรนด์กาแฟพิเศษของสหรัฐอเมริกา ในปี 2012  (ภาพ : facebook.com/peets)

บทความนี้จึงอยากชวนท่านผู้อ่านย้อนเวลาหาอดีต ไปดูกันว่าใน 12 ปีที่ผ่านมา บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ทั้งในและนอกอุตสาหกรรมกาแฟทุ่มเงินฮุบกิจการบริษัทกาแฟพิเศษอิสระแห่งไหนกันบ้าง มีรายการไหนบ้างที่เป็น 'บิ๊กดีล' ระดับโลก พอเป็นข่าวก็สั่นสะเทือนไปทั่วทั้งวงการ

@ ปี 2012

'เจเอบี โฮลดิ้ง'(JAB Holding) กลุ่มการค้ายักษ์ใหญ่จากเยอรมนี เข้าเทคโอเวอร์กิจการ 'พีตส์ คอฟฟี่' (Peet’s Coffee) หนึ่งในบริษัทผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมกาแฟพิเศษในสหรัฐอเมริกา วงเงิน 977.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปีถัดมา เจเอบีฯ ยังทุ่มเงิน 9,800 ซื้อแบรนด์กาแฟสัญชาติดัทช์อย่าง 'ดาวเออร์ เอ็กเบิร์กส์' (Douwe Egberts) ก่อนนำไปผนวกเข้ากับธุรกิจกาแฟของมอนเดลีซ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเป็นบริษัทใหม่ชื่อ 'ยาคอบส์ ดาวเออร์ เอ็กเบิร์กส์' หรือเจดีอี

ปลายปีเดียวกันนี้ เจเอบี โฮลดิ้ง จ่ายเงิน 340 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซื้อเชนร้านกาแฟในสหรัฐ 'คาริบู คอฟฟี่' (Caribou Coffee)

กลุ่มการค้าเยอรมันรายนี้ 'จัดทัพ' แบรนด์เครื่องดื่มในพอร์ตอีกครั้ง ปี 2019 นำพีตส์ คอฟฟี่ ไปควบรวมเข้ากับยาคอบส์ ดาวเออร์ฯ และธุรกิจกาแฟอื่น ๆ ในเครือ ตั้งเป็น 'เจดีอี พีตส์' บริษัทลูกผสมดัทช์-อเมริกัน บริหารธุรกิจกาแฟ-ชาในพอร์ตของเจเอบีฯ เช่น ยาคอบส์ คอฟฟี่, มอคโคน่า, แมกซ์เวลล์ เฮาส์ และโอลด์ ทาวน์ ไวท์ คอฟฟี่ รวมทั้งแบรนด์เครื่องชงกาแฟระบบซิงเกิ้ลยูชที่ชื่อว่าแทสซิโม่

ปีนี้ใครจะเป็น\'ราย\'ต่อไป? เทคโอเวอร์ \'Specialty Coffee\' ปี 2017 บลู บอทเทิ่ล คอฟฟี่  แบรนด์กาแฟพิเศษจากแคลิฟอร์เนีย ขายหุ้น 70% ให้บริษัทเนสท์เล่  (ภาพ : Changyoung Koh on Unsplash)

@  ปี 2015

พีตส์ คอฟฟี่ ธุรกิจกาแฟในเครือเจเอบี โฮลดิ้ง เข้าไปถือหุ้นใหญ่ใน 'อินเทลลิเจ้นท์เซีย คอฟฟี่' (Intelligentsia Coffee) แบรนด์กาแฟจากชิคาโก้ หนึ่งในผู้เล่นรายสำคัญในตลาดกาแฟพิเศษ พร้อมซื้อกิจการเชนกาแฟพิเศษสหรัฐอีกราย คือ 'สตัมป์ทาวน์ คอฟฟี่ โรสเตอร์ส'(Stumptown Coffee Roasters) ในวงเงินที่ไม่เปิดเผย โดยสตัมป์ทาวน์ฯ นั้น โด่งดังกับกาแฟผสมนมบรรจุขวด และเป็นเจ้าแรกที่ทำกาแฟโคลด์บรูว์บรรจุขวดออกสู่ตลาด

นอกจากนั้น เจเอบี โฮลดิ้ง ที่มีครอบครัวรีแมนแห่งเยอรมันเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ยังควักเงิน 13,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซื้อกิจการ 'เคอริก กรีน เม้าเท่น' ต่อมา เคอริกฯ เข้าถือสิทธิ์กิจการ ดร. เป๊ปเปอร์ แน็ปเปิล กรุ๊ป ในปี 2018 เป็นต้นกำเนิดของบริษัท เคอริก ด็อกเตอร์ เป๊ปเปอร์ ในปัจจุบัน

ปีนี้ใครจะเป็น\'ราย\'ต่อไป? เทคโอเวอร์ \'Specialty Coffee\' ลาวาซซา ผู้ผลิตเครื่องชงกาแฟยักษ์ใหญ่อิตาลี เทคโอเวอร์แบรนด์กาแฟพรีเมี่ยม 3 แห่งรวดในฝรั่งเศส ,เดนมาร์ค และแคนาดา ในปี 2017  (ภาพ : facebook.com/Lavazza)

@  ปี 2017

'ลาวาซซา' (Lavazza) ผู้ผลิตเครื่องชงกาแฟยักษ์ใหญ่จากอิตาลี เทคโอเวอร์กิจการแบรนด์กาแฟพรีเมี่ยม 3 แห่งรวด ใน 3 ประเทศ ได้แก่ คาร์ท นัวร์ ของฝรั่งเศส, เมอร์ริลด์ ของเดนมาร์ค และคิกกิ้ง ฮอร์ส ของแคนาดา

'บลู บอทเทิ่ล คอฟฟี่' (Blue Bottle Coffee) แบรนด์กาแฟพิเศษจากแคลิฟอร์เนียซึ่งมีเครือข่ายร้านทั้งในสหรัฐและญี่ปุ่น ตกลงขายหุ้น 70% ให้บริษัท 'เนสท์เล่'  วงเงิน 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสินค้าเรือธงที่ได้รับความนิยมสูงของบลู บอทเทิ่ลฯ ก็คือ กาแฟโคลด์บรูว์บรรจุกระป๋อง

ในปีเดียวกัน บิ๊กเนมวงการอาหารและเครื่องดื่มจากแดนสวิส ยังเข้าไปถือหุ้นใหญ่ใน 'คาเมเลียน โคลด์ บรูว์' แบรนด์กาแฟสกัดเย็นแบบออร์แกนิคสัญชาติสหรัฐ ก่อนที่ในอีก 5 ปีต่อมา เนสท์เล่ได้ตัดสินใจขายคาเมเลียนฯ ให้กับบริษัผลิตอาหารและเครื่องดื่มรายหนึ่ง

ปีนี้ใครจะเป็น\'ราย\'ต่อไป? เทคโอเวอร์ \'Specialty Coffee\' โคคา-โคลา ยักษ์ใหญ่ธุรกิจน้ำดำ ทุ่มเงิน 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซื้อกิจการเชนร้านกาแฟอังกฤษ คอสต้า คอฟฟี่  ในปี 2019  (ภาพ : facebook.com/CostaCoffee)

@ 2018

เจเอบี โฮลดิ้ง เก็บธุรกิจกาแฟเข้าพอร์ตอีกราย คราวนี้ จ่ายเงินประมาณ 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซื้อกิจการเชนร้านกาแฟและเบเกอรี่ชั้นนำของอังกฤษ 'เพรท ตะ มองเช' (Pret A Manger)

@ 2019

หนึ่งในบิ๊กดีลประจำปี  'โคคา-โคลา' (Coca-Cola) ยักษ์ใหญ่ในธุรกิจน้ำดำ ระเบิดศึกตลาดกาแฟระดับโลก ทุ่มเงิน 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เข้าซื้อกิจการ 'คอสต้า คอฟฟี่' (Costa Coffee) เชนร้านกาแฟดังสัญชาติอังกฤษ กระโจนเข้าสู่บริษัทเครื่องดื่มเต็มรูปแบบ โฟกัสไปที่ตลาดกาแฟพร้อมดื่ม หรือ RTD หลังจากผลิตเฉพาะเครื่องดื่มน้ำอัดลมมาตลอด

ปีนี้ใครจะเป็น\'ราย\'ต่อไป? เทคโอเวอร์ \'Specialty Coffee\' เมลิตต้า กรุ๊ป ยักษ์ใหญ่ธุรกิจกาแฟครบวงจรจากเยอรมนี เข้าถือหุ้น 70% ใน คอร์สิโน คอร์สินี่ แบรนด์กาแฟอิตาลี ในปี 2021  (ภาพ : facebook.com/Melitta)

@ 2021

โคคา-โคลา เอชบีซี ธุรกิจในเครือโคคา-โคลา ซื้อหุุ้นสัดส่วน 30% ใน 'คัฟเฟ่  เวิร์กนาโน่' (Caffè Vergnano) หนึ่งในโรงคั่วกาแฟเก่าแก่ที่สุดของอิตาลี

ปลายปีเดียวกัน 'เมลิตต้า กรุ๊ป' (Melitta Group) ยักษ์ใหญ่ธุรกิจกาแฟครบวงจรจากเยอรมนี เข้าถือหุ้น 70% ใน 'คอร์สิโน คอร์สินี่' (Corsino Corsini) แบรนด์กาแฟอิตาลีจากเมืองอาเรสโซในทัสคานี

ปีนี้ใครจะเป็น\'ราย\'ต่อไป? เทคโอเวอร์ \'Specialty Coffee\' สตาร์บัคส์ ตกลงขายกิจการเบสท์ คอฟฟี่ แบรนด์กาแฟในซีแอตเทิล ให้กับบริษัทเนสท์เล่ ในปี 2022  (ภาพ : nestle.com)

@ 2022

'สตาร์บัคส์' (Starbucks) เชนร้านกาแฟหมายเลขหนึ่งจากสหรัฐ ตกลงขายแบรนด์กาแฟในซีแอตเทิล 'เบสท์ คอฟฟี่' (Best Coffee) ให้กับบริษัทเนสท์เล่ หลังจากกำเงิน 72 ล้านดอลลาร์ ไปซื้อกิจการมาในปี 2003

บริษัทในเครือของ 'โอแลม กรุ๊ป' (Olam Group) แห่งสิงคโปร์ ควักเงิน 117 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เข้าครอบครองกิจการ 'คลับ คอฟฟี่' โรงคั่วกาแฟขนาดใหญ่ที่สุดในแคนาดา ที่นอกจากทำกาแฟแล้วยังผลิตแพคเกจจิ้งอีกด้วย

ลาวาซซา จากอิตาลี เทคโอเวอร์ 'แม็กซี่คอฟฟี่' แบรนด์กาแฟฝรั่งเศส เสริมแกร่งธุรกิจกาแฟในแดนน้ำหอม และขยายฐานเข้าสู่ตลาดอี-คอมเมิร์ซ

ปีนี้ใครจะเป็น\'ราย\'ต่อไป? เทคโอเวอร์ \'Specialty Coffee\' ปลายปี 2023 โชบานิ บริษัทผลิตโยเกิร์ตดัง ซื้อกิจการ ลา โคลอมบ์ หวังรุกเข้าสู่ธุรกิจกาแฟพิเศษแบบพร้อมดื่ม  (ภาพ : Chobani)

@ 2023

ช่วงกลางปี  'เคอริก ด็อกเตอร์ เป๊ปเปอร์' บริษัทในเครือเจเอบี โฮลดิ้ง  ซื้อหุ้นจำนวน 33% วงเงินกว่า 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ใน 'ลา โคลอมบ์'  ร้านและโรงคั่วกาแฟพิเศษสหรัฐ เตรียมขยายฐานตลาดกาแฟพร้อมดื่ม เล็งเปิดสายการผลิตและจำหน่ายกาแฟแคปซูล 'K-cup' ภายใต้แบรนด์ลา โคลอมบ์ ในตลาดอเมริกาเหนือ

กระนั้น ฮามดิ อุลุคาย่า เศรษฐีเจ้าของธุรกิจโยเกิร์ตสำเร็จรูปสไตล์กรีกยี่ห้อ 'โชโบนิ' ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อยู่ในลา โคลอมบ์ หลังไล่ซื้อหุ้นมาตั้งแต่ปี 2015

ปลายปีเดียวกัน โชบานิ ตัดสินใจเข้าถือสิทธิกิจการลา โคลอมบ์ ในวงเงิน 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หวังรุกเข้าสู่ธุรกิจใหม่ ๆ อย่างตลาดกาแฟพิเศษแบบพร้อมดื่ม โดยส่วนหนึ่งของข้อตกลง เคอริกฯ จะเปลี่ยนสัดส่วนการถือหุ้น 33% ในบริษัทลา โคลอมบ์ ให้เป็นหุ้นในโชบานิ พร้อมสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของโชบานิ ที่มีแผนใช้ลา โคลอมบ์ เป็นหัวหอกบุกตลาดกาแฟ RTD

ชัดเจนว่าการซื้อกิจการหรือเทคโอเวอร์ธุรกิจกาแฟพิเศษระดับบิ๊กดีลทั้งในอเมริกาเหนือ, ยุโรป และเอเชียที่รวมถึงเมืองไทยเราด้วย ไม่ใช่ปรากฏการณ์ใหม่ เกิดเป็นกระแสมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว ทว่านับจากดีลแรกที่เริ่มจากค.ศ. 2012 เป็นต้นมา จวบจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุดยั้งลง

เพียงแต่ระยะแรก ๆ โฟกัสไปที่โรงคั่วและร้านกาแฟพิเศษที่มีเมล็ดกาแฟคุณภาพสูง แต่ระยะหลัง ๆ เล็งเป้าไปยังธุรกิจที่มีสายการผลิตกาแฟพร้อมดื่มแบบที่ใช้เมล็ดกาแฟพิเศษ พ่วงเข้าไปด้วย

ในปีนี้ ก็ยังเป็นที่สงสัยกันว่า ใครจะเป็น 'ราย' ต่อไปทั้ง 'ผู้ซื้อ' และ 'ผู้ถูกซื้อ' ซึ่งนอกเหนือจากตลาดกาแฟระหว่างประเทศแล้ว จับตาเซ็กเมนท์ธุรกิจร้านกาแฟพิเศษบ้านเราไว้ให้ดี ๆ นะ ฟันธงว่าจะมีดีลใหม่ ๆ ออกมาให้สะเทือนวงการกันแน่

...........................

เขียนโดย : ชาลี วาระดี