สุพจน์ ธูปแพ ‘ทุเรียนนนท์’ ที่แพงเพราะดูแลยิ่งกว่าลูก...

สุพจน์ ธูปแพ ‘ทุเรียนนนท์’ ที่แพงเพราะดูแลยิ่งกว่าลูก...

‘ทุเรียนนนท์’ ราคาเริ่มต้นกิโลละ 1 พันบาท ถ้าทุเรียนก้านยาว กิโลละ 5 พันบาท แพงจริงแต่ก็มีคนซื้อ ทำไมทุเรียนนนท์แพง ประธาน 'ชมรมอนุรักษ์ทุเรียนนนท์' สุพจน์ ธูปแพ มีเรื่องเล่า

ในฐานะ ประธานชมรมอนุรักษ์และฟื้นฟูทุเรียน จังหวัดนนทุบรี สุพจน์ ธูปแพ ที่ควบตำแหน่ง ปราชญ์ทุเรียน ให้ข้อมูลว่า

“ทำไมทุเรียนนนท์แพง เพราะชาวสวนต้องดูแลเอาใจใส่มาก ประคบประหงมยิ่งกว่าลูก”

ทุเรียน ราชินีผลไม้ไทย เป็นผลไม้ที่อ่อนไหวง่าย เปราะบางต่อสภาพดินฟ้าอากาศ ไม่ว่าน้ำท่วม ฝนแล้ง ปัญหาน้ำเค็ม น้ำด้อยคุณภาพ ส่งผลกระทบถึงผลผลิตทุเรียนนนท์ ที่มีไม่พอขาย

สุพจน์ ธูปแพ ‘ทุเรียนนนท์’ ที่แพงเพราะดูแลยิ่งกว่าลูก...    ทุเรียนนนท์

“ปีนี้ ผลผลิตทุเรียนนนท์ ถ้ารวมทั้งจังหวัดประมาณ 9,000 ลูก ผลผลิตออกมากราวเดือนเมษายน-พฤษภาคม”

ประธานชมรมอนุรักษ์ทุเรียนนนท์เล่า ในงาน บุฟเฟ่ต์ทุเรียน ที่เพิ่งจัดเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ สยามพารากอน

“มาออกงานบุฟเฟ่ต์ทุเรียน แต่ทุเรียนนนท์ไม่รวมอยู่ในบุฟเฟ่ต์ เนื่องจากราคาสูง ผลผลิตมีไม่มาก แต่เรานำมาจำหน่ายในงาน ซึ่งคนให้ความสนใจพอสมควร”

สุพจน์ ธูปแพ ‘ทุเรียนนนท์’ ที่แพงเพราะดูแลยิ่งกว่าลูก...     ทุเรียนนนท์ ในงานบุฟเฟ่ต์ทุเรียน สยามพารากอน

คำว่า ทุเรียนนนท์ คนรักทุเรียนให้ความหมายว่า

“ทุเรียนนนท์ ตอกย้ำถึงผลไม้ไทยที่ปลูกในพื้นที่ที่มีดินทับถมแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฝั่ง สมัยก่อนคนเมืองนนท์ปลูกทุเรียนกันทั้งนั้น กระทรวงวัฒนธรรม ให้ใบประกาศว่าการปลูกทุเรียนนนท์ เป็นมรดกทางวัฒนธรรม และรักษาอัตลักษณ์ผลไม้ทุเรียนนนท์ด้วย

ทุเรียนนนท์ ได้จีไอ (GI ข้อบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์) แต่การกำหนดนั้นยังไม่ลงลึกไปว่า ลักษณะเฉพาะของทุเรียนนนท์มีอะไรบ้าง

“ตอนนี้จึงมีสวนทุเรียนเกิดใหม่ซึ่งไม่อยู่ในเขตลุ่มแม่น้ำไปขอจีไอ ผมกำลังติดตามการผลสรุปว่าจะเข้าข่ายคุณลักษณะอย่างไร

สุพจน์ ธูปแพ ‘ทุเรียนนนท์’ ที่แพงเพราะดูแลยิ่งกว่าลูก...

ทุเรียนนนท์ เราปลูกกันมาเป็นร้อยปีแล้ว ตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นย่าผม ผมเพิ่งมาทำสวนทีหลัง แต่ก่อนมีสวนที่อำเภอบางใหญ่ แต่ทิ้งรกรากไปจากน้ำท่วม มาเริ่มปลูกทุเรียนใหม่เมื่อปี 2555-56 พอปี 59 น้ำท่วมใหญ่ น้ำเค็มเข้าสวนล่ม

มาปลูกใหม่อีกทีปี 2562 มี 4 ไร่ 3 งาน ปีนี้เพิ่งให้ผลผลิต ยังมีไม่ถึง 100 ลูก ปีแรกกินเองอย่างเดียว ทุเรียนเริ่มออกเรียกว่าทุเรียนสาว จะไส้ตันบ้าง เปลือกหนาบ้าง เลยไม่กล้านำออกขาย ทุเรียนอร่อยที่สุดต้อง 6-7 ปีขึ้นไป คือฉีกง่าย แต่ทุเรียนปีต่อไปก็อร่อยเหมือนกัน”

สุพจน์ ธูปแพ ‘ทุเรียนนนท์’ ที่แพงเพราะดูแลยิ่งกว่าลูก...

นนทบุรี เป็นเมืองริมแม่น้ำเจ้าพระยา ผลกระทบของสายน้ำส่งผลต่อชาวสวนทุเรียนมานานแล้ว และเมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยน ผลกระทบในบางปีก็รุนแรงขึ้น การตั้งกลุ่มชมรมอนุรักษ์ทุเรียน ช่วยให้ความรู้เรื่องการดูแลทุเรียน และการปรับสภาพพื้นที่เพื่อต่อสู้กับอุปสรรคน้ำท่วม น้ำเค็ม

“ตอนนี้ชาวสวนในพื้นที่รวมกลุ่มกันได้ประมาณ 2,100 ไร่ ไม่ถึงร้อยครอบครัว อำเภอเมืองมีมากสุดพันกว่าไร่ รองลงมาเป็นบางใหญ่ บางกรวย บางบัวทอง

ชมรมก่อตั้งเมื่อปี 2554 ก่อนน้ำท่วม ผมเป็นประธานชมรม ตอนนั้นลุงสวัสดิ์ เป็นสมัยหนึ่ง จากนั้นผมรับหน้าที่ตลอด

จะเป็นสมาชิกชมรมต้องมีความตั้งใจอนุรักษ์และปลูกทุเรียนบ้าง ตอนแรกกำหนดไว้ว่าต้องมีอย่างน้อย 2 ไร่ ตอนนี้กำลังแก้ข้อบังคับว่าใครก็ได้ที่เข้าชมรมเพื่อการอนุรักษ์ทุเรียนนนท์อย่างแท้จริง มีจุดประสงค์เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ แลกเปลี่ยนกัน และอนุรักษ์ทุเรียนเมืองนนท์”

สุพจน์ ธูปแพ ‘ทุเรียนนนท์’ ที่แพงเพราะดูแลยิ่งกว่าลูก...

ประธานชมรมคนรักทุเรียนนนท์ บอกว่า ทุเรียนต้องดูแลเหมือนลูก

“ชาวสวนทุเรียนพบเจออุปสรรคตลอด เพราะเราอยู่ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยา ปีที่แล้วจมไป 3-4 เจ้า กำลังจะมีลูกด้วย เสียดายมาก

แค่น้ำท่วม 2 คืน ใบร่วงตายเลย ทุเรียนเปราะบางมาก ไม่ชอบน้ำแฉะน้ำท่วม ที่สวนผมให้ปุ๋ยคอก ปรับไม่ให้ปุ๋ยเม็ดเลย ให้ปุ๋ยพวกขี้วัว ขี้ค้างคาว กับฉีดฮอร์โมนยาฆ่าแมลงใช้น้ำส้มควันไม้ เป็นสารอินทรีย์ ยังไม่ถึงขั้นออร์แกนิค”

คนอนุรักษ์ทุเรียนให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า

ทุเรียนนนท์ มีร้อยกว่าสายพันธุ์ เนื่องจากน้ำท่วมใหญ่ปี 54 เราก็รวมกลุ่มกันตัดยอดแล้วไปเสียบที่ชุมพร เพราะมันจมน้ำหมด และสมเด็จพระเทพฯ ทรงให้คำชี้แนะ เลยสามารถนำสายพันธุ์ทุเรียนไปฝากไว้ที่ศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืช จังหวัดจันทบุรี เพื่อรักษาสายพันธุ์ไว้

สุพจน์ ธูปแพ ‘ทุเรียนนนท์’ ที่แพงเพราะดูแลยิ่งกว่าลูก... ทั้งสายพันธุ์เบา เช่น รวง ชะนี กระดุม เม็ดในยายปราง และสายพันธุ์หนัก เช่น ก้านยาว หมอนทอง ลูกกบที่มีเป็นสิบกว่าชนิด กำปั่น เพื่ออนุรักษ์สายพันธุ์ไว้”

ตอนนี้ผลผลิตออกแล้ว แต่รสชาตินั้นคนรักทุเรียนนนท์บอกว่า สู้ทุเรียนนนท์ไม่ได้เพราะปลูกในพื้นที่แตกต่างกัน

“ทุเรียนนนท์ ตอนนี้หมอนทองถือว่ามีมากสุด เพราะแข็งแรง โตง่าย ต้านทานโรคได้ดี แตกต่างจากที่อื่นเล็กน้อย ดูตรงเปลือกจะมีสีน้ำตาลเข้มกว่า เปลือกไม่หนา ลูกก็ไม่ค่อยใหญ่เท่าไหร่”

ราคาขายก็แตกต่างคือ หมอนทองกิโลละพันห้า ก้านยาวกิโลละห้าพัน ทำไมทุเรียนนนท์แพง ชาวสวนทุเรียนบอกว่า

“เพราะการดูแลรักษา ถ้าไม่เจอปัญหาน้ำท่วม น้ำเค็ม และผลผลิตออกมามาก ผมก็คิดว่าอยากให้ราคาต่ำลงกว่านี้นิดหน่อย แต่ตอนนี้ชาวสวนทุเรียนขายได้และผู้บริโภคต้องการอยู่

เช่นคนจีนมาซื้อที่สวน มาจองเลย ติดชื่อเอาไว้ บางทีก็เวียนมาดูว่าลูกที่จองไว้โตขนาดไหนแล้ว เป็นการท่องเที่ยวในสวนด้วย”

สุพจน์ ธูปแพ ‘ทุเรียนนนท์’ ที่แพงเพราะดูแลยิ่งกว่าลูก...

คุณสุพจน์ บอกว่า ทุกวันนี้คนจีน (ที่อยู่ในไทย) เป็นนักจองทุเรียน แต่ละรุ่นไม่พอขาย โดยเฉพาะก้านยาว ที่แพงเพราะมีน้อย

ราคาก็เป็นแรงจูงใจให้ชาวสวนมีกำลังให้เราสู้ รู้ว่าปัญหาอะไรบ้าง เช่น น้ำท่วมก็ทำรั้วป้องกัน น้ำคุณภาพไม่ดีจากมลภาวะก็ใช้น้ำประปารด ที่สวนผมค่าน้ำเดือนละ 8 พัน น้ำเค็มจะมาช่วงฤดูร้อน ตั้งแต่มกรา-กุมภา-มีนา หรือบางปีน้ำเค็มมาน้ำจากเหนือไม่สามารถระบายได้ รัฐจะช่วยเปิดประตูน้ำจากเขื่อนเพื่อช่วยผลักดันน้ำเค็ม

การแก้ไขปัญหาภาครัฐช่วยอยู่แล้ว เช่น ช่วยกันปิดทางต้นน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา ผลักดันมาทางคลองบางกอกน้อย เพราะเขตนนท์มีคลองเล็กคลองน้อย ก็ต้อนดันไม่ให้น้ำเค็มผ่านเข้ามา แต่บางทีพอปิดแล้วน้ำก็ยังทะลุเข้ามาได้ สู้ลำบากเหมือนกัน”

สุพจน์ ธูปแพ ‘ทุเรียนนนท์’ ที่แพงเพราะดูแลยิ่งกว่าลูก...

น้ำเค็มและคุณภาพน้ำเสียจากมลภาวะ ยังเป็นปัญหาเกือบทุกปี ทำอย่างไร

“มีเครื่องกรองน้ำช่วยบำบัดน้ำ มีเครื่องวัดค่าความเค็มต้องไม่เกิน 0.35 หรือถ้าสังเกตเห็นใบร่วง ใบไหม้ แสดงว่าเจอน้ำเค็มก็ตายเลย

ทุเรียนเป็นไม้ผลเปราะบาง มีรากที่อ่อน น้ำเค็มและน้ำท่วมประจำปีเป็นเรื่องใหญ่มาก หน้าน้ำปีที่แล้วเราก็สู้กัน เรียงกระสบทรายตั้งไว้ ทำคันดินกั้นไว้สูง ๆ ชมรมช่วยบรรเทา ร่วมมือกันทำแนวป้องกัน หน่วยงานท้องถิ่นเตรียมกระสอบทรายไว้เรียงตั้งเป็นชั้น ๆ พอไหว น้ำท่วมองค์กรท้องถิ่นช่วยได้ระดับหนึ่ง แต่น้ำเค็มกับน้ำเสียเป็นปัญหาใหญ่”

สุพจน์ ธูปแพ ‘ทุเรียนนนท์’ ที่แพงเพราะดูแลยิ่งกว่าลูก... ทุเรียนนนท์ อยู่คู่เมืองนนท์ ปลูกมาเป็นร้อยปี แล้วคนยุคก่อนต่อสู้กับปัญหาน้ำอย่างไร

“สมัยโบราณน้ำยังไม่ค่อยมา น้ำท่วมปี 54 หนักสุดอย่างที่ไม่เคยเจอมาก่อน ปี 38 ว่าน้ำเยอะแล้ว สวนผมล่มสลายปี 38 พอเจอปี 54 คือหมดเกลี้ยงเลย

สมัยก่อนน้ำท่วมจริงแต่ไม่เยอะเท่ายุคนี้ สมัยนี้มีถนนขวาง บ้านจัดสรร ขวางทางน้ำหมด ระบบนิเวศเปลี่ยนด้วย”

ปลูกทุเรียนต้องสู้กับปัญหาน้ำ แต่เมื่อผลผลิตออกขายได้ราคาดี จึงน่าจะเป็นแรงจูงใจให้เกิดสวนรุ่นใหม่ ๆ หรือคนรุ่นลูกหลานสืบทอดปลูกทุเรียนต่อไป

สุพจน์ ธูปแพ ‘ทุเรียนนนท์’ ที่แพงเพราะดูแลยิ่งกว่าลูก... “ยากตรงที่จะทำสวนทุเรียนต้องใช้เงินลงทุนเป็นแสนเป็นล้าน ปัญหาคือลูกหลานไม่ทำกันแล้ว รุ่นผมก็เริ่มมีอายุทำไม่ไหวแล้ว อีกอย่างต้องมีความรู้ การรดน้ำ ให้ปุ๋ย การเอาใจใส่

แม้กระทั่งการตัดทุเรียน ต้องตัดพอดี หลังจากดอกบานแล้ว 110-120 วัน ต้องเป๊ะ ดูที่ขั้ว และการให้น้ำช่วงนี้จะต้องให้พอดี ให้มากไปไส้จะซึม เป็นงานที่ละเอียด การให้ปุ๋ยให้ยาต้องมีจังหวะในการดูแล”

ส่วนการตลาดทุเรียนนนท์ แทบไม่ต้องทำอะไรมาก เพิ่มช่องทางขายผ่านออนไลน์

“ราคาตอนนี้เป็นมาตรฐาน ทุเรียนนนท์สายพันธุ์อื่นไม่ต่ำกว่าพัน บางสวนอาจให้ต่ำกว่าหน่อยเขาขายตามความพอใจ จริง ๆ แล้วแทบไม่ต้องหาตลาดเพราะขายหมดก่อน

คนจีนชอบก้านยาวมากสุด ชอบเนื้อสุก เขามารับจากสวน บางทีให้เราแกะเนื้อให้ และรับประกันด้วยว่า ถ้าเสียแม้แต่เม็ดเดียวเราคืนเงิน บอกกับสมาชิกในชมรมไว้ว่าเป็นข้อตกลงเด็ดขาดเลย ถ้าใครไม่คืนเงินต้องรับผิดชอบ เป็นข้อสัญญาต่อกัน

บางสวนก็มีคืนครับ บางสวนก็บอกกับผู้ซื้อว่า เอาไว้ปีหน้าใช้แทน ลูกค้าก็ยินดี

ตอนนี้เป้าหมายในอนาคตคือพัฒนาคุณภาพ ต่อด้วยการเพิ่มผลผลิต ใครมีที่ว่างให้ปลูกทุเรียนเพื่อออกสู่ตลาดมากขึ้น พร้อมเชื่อมโยงสู่ออนไลน์ เพราะเรามีเรื่องเล่าของทุเรียนนนท์

สุพจน์ ธูปแพ ‘ทุเรียนนนท์’ ที่แพงเพราะดูแลยิ่งกว่าลูก...

ผมว่าทุเรียนนนท์ราคาจะถูกลงก็เป็นไปได้ ถ้าผลผลิตมากขึ้น หรือทุเรียนจังหวัดอื่นมีผลผลิตมาก ผู้บริโภคมีทางเลือกมาก แต่เนื่องจากคนยังชอบทุเรียนนนท์อยู่ ถึงแพงก็ซื้อ”

ราคาผลผลิตจูงใจให้อยากเป็นชาวสวนทุเรียน แต่กว่าผลผลิตจะออกพร้อมขายต้องใช้เวลาหลายปี ระหว่างนั้นรายได้มาจากไหน ชาวสวนทุเรียนบอกว่า

“ต้องปลูกพืชผสมผสาน เช่น ปลูกชะพลู พริกไทยให้เกาะต้นทองหลาง ใบบัวบก ผักกูด ชะอม กล้วยหอม กล้วยเล็บมือนาง กล้วยพันธุ์มะลิอ่อง ปลูกสับหว่าง กล้วยน้ำว้าไม่ได้เพราะรากมันไปไกลจะไปแย่งอาหาร ปลูกผักเป็นรายได้แทน ชาวสวนทุเรียนต้องขยันถึงมีรายได้ หรือมีอาชีพอื่นรองรับ

สุพจน์ ธูปแพ ‘ทุเรียนนนท์’ ที่แพงเพราะดูแลยิ่งกว่าลูก... เมื่อตัดผลผลิตขายแล้วก็ต้องดูแลสวน บำรุงรักษาต้นให้ดี ให้ปุ๋ย ฉีดฮอร์โมน รดน้ำ ยกเว้นหน้าฝน ถ้าดินแห้งต้องรดน้ำแล้ว ต้องดูแลตลอด”

ในขณะเดียวกัน ประธานชมรมอนุรักษ์ทุเรียนนนท์ บอกว่า กำลังทำโครงการรักษาสายพันธุ์ทุเรียนนนท์ พร้อมอนุรักษ์ผลไม้เมืองนนท์ ไปด้วยกัน

“จังหวัดนนท์ ทำโครงการปลูกทุเรียนนนท์ถวายสมเด็จพระเทพฯ และทำโครงการปลูกอนุรักษ์ผลไม้เมืองนนท์ ที่สวมสมเด็จย่า อ.ปากเกร็ด รักษาทุเรียนทุกสายพันธุ์ และผลไม้เมืองนนท์ เช่น กระท้อน ละมุด มะไฟ มะม่วงเขียวเสวย อกร่อง ทุเรียนพื้นบ้านนนท์

สุพจน์ ธูปแพ ‘ทุเรียนนนท์’ ที่แพงเพราะดูแลยิ่งกว่าลูก...    สุพจน์ ธูปแพ ประธานชมรมอนุรักษ์และฟื้นฟูทุเรียน จังหวัดนนทบุรี

เปลือกทุเรียนก็มีหน่วยงานส่งเสริมอาชีพ จัดอบรมทำเตาเผาถ่าน ใช้เปลือกทุเรียนเป็นถ่าน กำลังเริ่มทำ คนสมัยก่อนทิ้งลงร่องหรือตากแห้งมันก็เป็นปุ๋ย ตอนนี้เอาเปลือกทุเรียนไปรีไซเคิลได้”

หมายเหตุ ภาพบางส่วนจาก FB: ชมรมอนุรักษ์ทุเรียนนนท์อำเภอบางกรวย