‘ไซยาไนด์’ ในแอปเปิ้ลและลูกแพร์ และพิษจากพืชผัก

‘ไซยาไนด์’ ในแอปเปิ้ลและลูกแพร์ และพิษจากพืชผัก

ผักผลไม้มี ‘สารพิษ’ อยู่ตามธรรมชาติ พบในเนื้อ เปลือก ราก ลำต้น ใบ และเมล็ด โดยเฉพาะ ‘ไซยาไนด์’ แต่เราไม่ได้กินเปลือกและเมล็ดในผลไม้อยู่แล้ว และไม่กินผักบางชนิดที่ไม่ปรุงสุก จึงวางใจได้ว่าจะไม่ได้รับสารพิษ

ไซยาไนด์ (Cyanide) เป็นสารพิษที่กินแล้วถึงตาย ผลไม้ประเภท stone fruit ที่มีเมล็ดเดียวแข็งเหมือนหิน และในเมล็ดเล็ก ๆ ของ แอปเปิ้ลและลูกแพร์ มีไซยาไนด์เล็กน้อย 

แต่เราไม่กินเมล็ดอยู่แล้ว ไม่กินเปลือกมันฝรั่ง, มันสำปะหลังดิบ ไม่กินเห็ดสีสวย ฯลฯ อีกทั้งไซยาไนด์ในเมล็ดผลไม้มีปริมาณน้อย ดังนั้นเราจะไม่ได้รับสารพิษ-วางใจได้ แต่ควรเรียนรู้ไว้บ้าง...

 

‘ไซยาไนด์’ ในแอปเปิ้ลและลูกแพร์ และพิษจากพืชผัก

    สลัดลูกพีชที่ไม่ควรกินเมล็ดกับผักสด (Cr.realfoodtesco.com)

พิษของไซยาไนด์ : ยับยั้งการทำงานของเซลล์ ทำให้เซลล์นำออกซิเจนไปใช้ไม่ได้ เป็นสารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมสกัดแร่ ผลิตกระดาษ, พลาสติก, หนังเทียม พบในภาวะก๊าซไม่มีสี (Hydrogen Cyanide) หรือในรูปของผลึกหรือผงสีขาว เช่น โซเดียม ไซยาไนด์และโพแทสเซียม ไซยาไนด์ ที่ใช้ในการชุบโลหะ การสังเคราะห์สารเคมี ฯลฯ

‘ไซยาไนด์’ ในแอปเปิ้ลและลูกแพร์ และพิษจากพืชผัก    ถั่วลิมา (Lima beans, butter beans) ต้องปรุงสุกก่อนกิน ปลอดไซยาไนด์

ไซยาไนด์ในคดีฆาตกรรม : ในนิยายของ อกาธา คริสตี้ นักสืบชาวเบลเยี่ยม แอร์คูล ปัวโรต์ มักพบสาเหตุการตายจาก ไซยาไนด์ (ผู้แปลใช้คำว่า สารหนู) ซึ่งในต้นยุคศตวรรษที่ 19 การสืบหาหลักฐานต้องใช้เวลา ฆาตกรจึงมีเวลาหลบหนี อีกทั้งจงใจวางแผนลวงให้ดูเหมือนตายด้วยโรคหัวใจ ตายโรคปัจจุบันทันด่วน จนถึงฆ่าตัวตายเอง

ไซยาไนด์เป็นคลาสสิกฆาตกรรม จะตายได้ต้องกินในปริมาณ 100 มก.ขึ้นไป (ขึ้นอยู่กับน้ำหนักและสภาพร่างกาย) แรกใช้ในสงครามโลกครั้งที่ 1 ในรูปของก๊าซ (Hydrogen Cyanide) เป็นอาวุธเคมีที่ใช้ฆ่าคนมาก ๆ เช่น นาซีใช้ในการสังหารหมู่เชลย ในยุค 1980s ก็มีบันทึกการใช้ไซยาไนด์ในสงครามอิหร่าน-อิรัก

‘ไซยาไนด์’ ในแอปเปิ้ลและลูกแพร์ และพิษจากพืชผัก     เมล็ดแอปเปิ้ลมีไซยาไนด์แต่ปริมาณน้อยมาก (Cr.WallpaperAbyss)

ไซยาไนด์ในผลไม้

แอปเปิ้ลและลูกแพร์ แม้ไม่ใช่ผลไม้ประเภท stone fruit แต่เมล็ดของผลไม้สองชนิดนี้มีสารอะมิกดาลิน (Amygdalin) ซึ่งเมื่อเข้าไปในร่างกาย แบคทีเรียในลำไส้จะย่อยสารตัวนี้แล้วปล่อยไฮโดรเจนไซยาไนด์ออกมา

แต่ปริมาณไซยาไนด์ในเมล็ดแอปเปิ้ลมีน้อย (และเมล็ดก็เล็กมาก) ถ้าแอปเปิ้ล 1 ลูก น้ำหนักประมาณครึ่งกิโลฯ ถ้ากินจนได้รับไซยาไนด์จนถึงแก่ชีวิต ต้องกินแกนกลางที่มีเมล็ดฝังอยู่ราว 200 เมล็ด แอปเปิ้ลขนาดกลาง 1 ลูก มี 5-8 เมล็ด จึงต้องกินแอปเปิ้ล 40 ลูก

‘ไซยาไนด์’ ในแอปเปิ้ลและลูกแพร์ และพิษจากพืชผัก     แอพริคอทเป็น stone fruit (Cr.LUM3N on Unsplash) 

 

‘ไซยาไนด์’ ในแอปเปิ้ลและลูกแพร์ และพิษจากพืชผัก    stone fruit (Cr.simplyrecipes pic.by Karishma Pradhan)

ลูกพีช เนคทารีน แอพริคอท เชอร์รี่ และพลัม ผลไม้ประเภท stone fruit มีไฮเดรเจน ไซยาไนด์ ที่แม้จะผ่านความร้อนก็ไม่สูญสลาย แต่ไม่ต้องกลัวเพราะต้องกินปริมาณมากจริง ๆ จากรายงานของ The National Institute of Health ให้ข้อมูลว่า ในคนปกติ น้ำหนัก 150 ปอนด์ ถ้ากินจนได้รับสารพิษไซยาไนด์ ต้องกินปริมาณ 703 มก. ต่อวัน

ในเมล็ดแอพริคอท มีไฮโดรเจน ไซยาไนด์ 432 มก. ต่อ 1 ออนซ์ หรือราว 18 เมล็ด เมล็ดลูกพีชมี 204 มก. และเมล็ดเชอร์รี่มี 200 มก. ถ้ากินเข้าไปจนเป็นอันตรายถึงชีวิตต้องกินเมล็ดแอพริคอทราว 50 เมล็ด

หรือใครเผลอกินเข้าไปก็ไม่ต้องกังวล เพราะต้องกินอย่างมากมาย อีกอย่างผลไม้ประเภท stone fruit เมล็ดแข็งขนาดนั้น จะคิดกินก็ยาก เคี้ยวก็ยาก

‘ไซยาไนด์’ ในแอปเปิ้ลและลูกแพร์ และพิษจากพืชผัก    เมล็ดในลูกแพร์ (Cr.freepik.com)

น้ำมันเมล็ดแอปเปิ้ลมีไซยาไนด์หรือไม่ : น้ำมันจากเมล็ดแอปเปิ้ล (apple seed oil) แปลกแต่จริง มีไซยาไนด์แต่น้อยมาก และทุกวันนี้เราใช้น้ำมันจากเมล็ดแอปเปิ้ลในอุตสาหกรรมความงาม ทำน้ำหอม ครีมนวดผม ครีมบำรุงผิว แถมมีสารต้านอนุมูลอิสระ มีสารต้านเชื้อแบคทีเรียและยีสต์บางชนิด

‘ไซยาไนด์’ ในแอปเปิ้ลและลูกแพร์ และพิษจากพืชผัก    ไม่กินมันสำปะหลังดิบ (Cr.easyanddelish.com)

หน่อไม้ดิบ : มีสารไซยาไนด์ตามธรรมชาติ ซึ่งปริมาณพิษจะลดลงได้โดยผ่านความร้อน ด้วยการเผาหรือต้ม หากเข้าสู่ร่างกายในปริมาณน้อย ร่างกายสามารถขับออกมาทางปัสสาวะ แต่ถ้าได้รับปริมาณมาก สารไซยาไนด์จะไปจับตัวกับสารในเม็ดเลือดแทนที่ออกซิเจน จะทำให้เกิดอาการขาดออกซิเจน อาจหมดสติจนถึงเสียชีวิต

กรมวิชาการแพทย์ แนะให้ต้มอย่างน้อย 10 นาที ขจัดสารพิษได้ 90%

มันสำปะหลังดิบ ถั่วลิมา มีไฮเดรเจน ไซยาไนด์ ซึ่งเป็นพืชผักที่เราไม่กินดิบอยู่แล้ว

‘ไซยาไนด์’ ในแอปเปิ้ลและลูกแพร์ และพิษจากพืชผัก    รูบาร์บกินเฉพาะก้าน ไม่กินใบ (Cr.healthjade.com)

สารพิษอื่น ๆ ในพืช

ใบต้นรูบาร์บ : มีกรดออกซาลิก (Oxalic acid) นิยมกินก้านสีแดง ๆ หรือประดับสวยบนค็อกเทล และทำพายรูบาร์บ แต่ใบมีสารพิษตามธรรมชาติที่ใช้ในอุตสาหกรรมฟอกย้อม เผลอกินเข้าไปปากคอจะร้อนไหม้ หรือทำให้อาเจียน การปรุงให้สุกไม่ทำให้สารพิษหมดไป

แต่ไม่ต้องกลัว จากการศึกษาของ Hampshire College รายงานว่า ต้องกินใบรูปบาร์บ (Rhubarb) ปริมาณมากราว 10 ปอนด์ (4.5 กิโลฯ) ต่อครั้ง พิษถึงจะสำแดง

ผักพื้นบ้านไทย : ที่มีกรดออกซาลิกมาก เช่น ใบชะพลู ยอดพริกชี้ฟ้า ผักชีฝรั่ง ใบกระเจี๊ยบ ใบยอ ฯลฯ ถ้ากินหมุนเวียนในปริมาณพอดี ๆ ไม่เป็นอันตราย

‘ไซยาไนด์’ ในแอปเปิ้ลและลูกแพร์ และพิษจากพืชผัก     ห้ามกินมันฝรั่งที่เปลือกเป็นสีเขียว (Cr.sciencephoto.com)

มันฝรั่งเปลือกสีเขียว : มีสารโซลานีน (Solanine) ตามธรรมชาติ มีฤทธิ์คล้ายยาฆ่าแมลง ถ้าเห็นเปลือกเป็นสีเขียวและเริ่มมีรากงอก ห้ามกิน หรือกินเข้าไปแล้วรู้สึกขมก็ไม่ควรกิน อันตรายต่อร่างกายคืออาเจียน เวียนหัว ท้องร่วง อาการเกี่ยวกับโรคหัวใจ

แต่ต้องกินเยอะเกิน 100 ปอนด์ต่อครั้ง ซึ่งเราก็รู้กันอยู่ว่า ถ้าเห็นเปลือกเป็นสีเขียวต้องทิ้ง

‘ไซยาไนด์’ ในแอปเปิ้ลและลูกแพร์ และพิษจากพืชผัก      ไม่กินเมล็ดในแอปเปิ้ล แพร์ แอพริคอท เนคทารีน (Cr.freepik.com)

พืชผักอื่น ๆ มีสารพิษตามธรรมชาติอยู่แล้ว ซึ่งเรารู้กันอยู่ เช่น ไม่กินถั่วอัลมอนด์ดิบ ไม่กินถั่วแดงดิบ ถั่วลิมาดิบ เปลือกและเนื้อของมันสำปะหลัง, เปลือกมันฝรั่ง เห็ดบางชนิด ผักบางชนิดต้องปรุงให้สุกก่อนกิน เช่น มะเขือม่วง พืชตระกูลกะหล่ำ เช่น กะหล่ำดาว ดอกกะหล่ำ

รวมถึงพิษใน ปลาปักเป้า ถ้าไม่แน่ใจในฝีมือเชือดของเชฟก็ไม่ควรวางใจ

อ้างอิง : healthline.com, bonappetit.com