หมอวิเคราะห์อาการ 'เอส กันตพงศ์' วูบหมดสติ เกิดอะไรขึ้นและจะฟื้นได้แค่ไหน

หมอวิเคราะห์อาการ 'เอส กันตพงศ์' วูบหมดสติ เกิดอะไรขึ้นและจะฟื้นได้แค่ไหน

นพ.​ธนีย์ ธนียวัน อาจารย์แพทย์อยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา วิเคราะห์อาการ เอส กันตพงศ์ บำรุงรักษ์ ว่าเกิดอะไรขึ้น และจะฟื้นได้แค่ไหน หลังนักแสดงและพิธีกรคนดังได้เกิดอาการวูบหมดสติและหัวใจหยุดเต้นกลางงานอีเวนท์ดีเบต

นพ.​ธนีย์ ธนียวัน อาจารย์แพทย์อยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นผู้เชี่ยวชาญโรคปอด วิกฤตบำบัด และการปลูกถ่ายปอด วิเคราะห์อาการ เอส กันตพงศ์ บำรุงรักษ์ ที่ได้เกิดอาการวูบหมดสติและหัวใจหยุดเต้นกลางงานอีเวนท์ดีเบตเลือกตั้งตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา 

สำหรับอาการ เอส กันตพงศ์ ล่าสุดซึ่งยังอยู่ในขั้นวิกฤติ และต้องดูอาการอย่างใกล้ชิดวันต่อวันโดยแพทย์ระบุว่า นักแสดงและพิธีกรคนดังมีอาการหัวใจอักเสบ

นพ.​ธนีย์ ได้ทำคลิปผ่านช่องยูทูป Doctor Tany "วิเคราะห์กรณีของ เอส กันตพงศ์ เกิดอะไรขึ้น จะฟื้นได้แค่ไหน" ซึ่งทางคุณหมอระบุว่า ผู้ที่ไม่เคยมีอาการอะไรมาก่อน อายุ 36 ปี แล้วอยู่ๆหัวใจเต้นผิดปกติ และจากการวูบหมดสติ ตนคิดว่า ต้องเป็นการเต้นผิดปกติของหัวใจค่อนข้างที่จะ 100%

สำหรับผู้ที่ไม่เคยมีโรคประจำตัวอะไรมาก่อน คาดว่า เป็นหัวใจห้องล่างเต้นเร็วผิดปกติ ทำให้เลือดไม่สามารถบีบออกไปได้ เลือดค้างหัวใจ ไม่สามารถไปเลี้ยงอวัยวะอื่นๆได้ โดยเฉพาะสมอง จึงเกิดอาการหมดสติขึ้น ในการช่วยเหลือชีวิต นอกจากการปั๊มหัวใจ เพื่อให้มีเลือดไปเลี้ยงสมองได้ จะต้องมีการช็อกไฟฟ้าเพื่อให้หัวใจกลับมาเต้นด้วยจังหวะปกติ

ทำไมจู่ๆหัวใจถึงเต้นผิดปกติ? 

นพ.​ธนีย์ ระบุว่า หัวใจเต้นผิดปกติ เกิดขึ้นได้ด้วยสาเหตุหลายๆอย่าง มีทั้งที่เป็นมาแต่เกิดแต่ไม่รู้ตัว ไม่มอาการอะไรนำมาทั้งสิ้น แล้วมาเกิดอาการตอนอายุในช่วงนี้ และยังมีสาเหตุอื่นๆอีกซึ่งหมอได้ยินคำว่า "หัวใจอักเสบ" ที่เจอบ่อยสุดเกิดจากไวรัส เช่น ไข้หวัดใหญ่ และไวรัสอื่นๆซึ่งบางครั้งอาจจะมีอาการนำมาก่อน แต่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยสนใจอาการพวกนั้น เช่น อ่อนเพลีย แน่นหน้าอก บางคนอาจคิดว่าเพราะทำงานเหนื่อยเกินไป บางคนอาจจะคิดว่าตัวเองเป็นกรดไหลย้อน กินข้าวไม่ตรงเวลา เป็นต้น 

ข้อสงสัยเกี่ยวกับวัคซีนโควิด?

สำหรับคนสงสัยว่าเกิดจากวัคซีนโควิดหรือไม่นั้น ซึ่ง วัคซีนโควิด-19 ที่ทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้ ไม่ได้เกิดหลังจากการฉีดวัคซีนนานขนาดนี้ เคสของคุณเอส หมอไม่แน่ใจว่าคุณเอสฉีดวัคซีนไปเมื่อไหร่ แต่เท่าที่ตามข่าวน่าจะมีการฉีดวัคซีนไปนานมากๆแล้ว เรื่องของกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ จะเกิดขึ้นได้หลังฉีดวัคซีนไม่เกิน 6 สัปดาห์ และจากรายงานเคสทั้งหมดที่ตนเคยอ่านมาที่เกี่ยวข้องกับกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากวัคซีนโควิด ระบุว่า ไม่มีเคสไหนที่มีอาการหนักถึงขั้นเสียชีวิตสักคนเดียว เรื่องนี้หมอจึงคิดว่าเรื่องนี้ ไม่น่าเกี่ยว

ระหว่างทางนำผู้ป่วยส่ง รพ.ก่อนถึงมือหมอ

เรื่องนี้คุณหมอระบุว่า แน่นอนว่าระหว่างทางจะต้องมีการปั๊มหัวใจ ซึ่งอาจทำให้มีการบาดเจ็บกล้ามเนื้อหัวใจได้ และหัวใจที่บาดเจ็บจะมีการปล่อยเอนไซม์ออกมาจากหัวใจ ซึ่งบางครั้งเราใช้บอกว่าหัวใจมีปัญหา มีการอักเสบ แต่มันไม่สามารถบอกได้ว่าเอนไซม์ออกมาเพราะเราปั๊มหัวใจ หรือมันมีอาการอักเสบอยู่ตั้งแต่แรก ซึ่งส่วนตัวหมอไม่มีข้อมูล จึงไม่สามารถบอกได้ว่าหัวใจอักเสบจริงหรือไม่

ถ้าจริง อาจจะมีอย่างอื่น เช่น ไวรัส เข้าไปติดในหัวใจก่อน อย่างโควิดไวรัสก็ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้มากกว่าตัววัคซีนเสียอีก ถ้ามันอักเสบก็อาจมีค่าการอักเสบในเลือดสูงขึ้น ก็จะตรวจค่าต่างๆ ที่พอบอกได้ว่ามีการอักเสบของหัวใจและทั่วร่างกาย ซึ่งก็ต้องใช้ร่วมกับเอนไซม์ที่ออกมาจากหัวใจด้วยเช่นกันในการบอก แต่เอนไซม์ก็อาจจะออกมาจากการปั๊มได้ จึงไม่สามารถวิเคราะห์ได้มากไปกว่านี้ เนื่องจากไม่มีข้อมูล

แล้วจะตื่นหรือเปล่า ผลต่อไปจะเป็นอย่างไร? 

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ลำบากมากอย่างหนึ่ง ซึ่งหมอจะขอแยกประเด็นเป็น 2-3 อย่าง 

1.เรื่องที่เกี่ยวข้องกับ สมอง คือ ถ้าคนเรา สมองตาย คือ ตาย สมองมันมีก้านสมองและมีตัวสมองใหญ่อยู่ด้านบน ก้านสมองทำหน้าที่พื้นฐานในการดำรงชีพ เช่น การหายใจ การควบคุมความดันโลหิตในร่ายกาย หากก้านสมองไม่ทำงาน แปลว่าคนๆนั้นเสียชีวิต เรื่องนี้ตนคิดว่าเขาอาจจะมีการตรวจแล้ว ซึ่งอาจจะไม่ใช่ภาวะนี้

2.ภาวะเจ้าชายนิทรา ซึ่งหลายๆคนอาจจะเคยได้ยินภาวะนี้ เป็นภาวะที่นอนเฉยๆอาการคงที่ แต่ไม่มีการตอบสนองอะไรเท่าไหร่ คือบางทีอาจจะลืมตาขึ้นมาบ้าง แต่ไม่มีการตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมต่างๆเลย ซึ่งกลุ่มนี้ก้านสมองยังคงทำงานอยู่ แต่ว่าด้านบนไม่รับรู้ คือตื่นแต่ไม่สามารถตอบสนองหรือรับรู้อะไรได้เลย

3.ภาวะรับรู้เล็กๆน้อยๆเป็นบางครั้ง ภาวะนี้อาจจะคล้ายกับภาวะเจ้าชายนิทรา ซึ่งอาจจะรับรู้บ้าง เช่น ถามว่าเจ็บไหมให้ยกนิ้วโป้ง ซึ่งเขาอาจจะยกนิ้วโป้งได้ทุกครั้ง แต่ที่เหลือไม่ตอบสนองอะไรอื่นๆเลย

เมื่อถามว่า 2 ภาวะนี้ มีอันไหนที่มีโอกาสฟื้นขึ้นมาเป็นปกติมากที่สุด 

กรณีคุณเอส ซึ่งมีข้อมูลที่ค่อนข้างจำกัด ก็ยังไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นอย่างที่หมอพูดหรือไม่ แต่จากอาการล่าสุด ระบุว่า ยังไม่รู้ตัวซึ่งถือว่านานแล้ว ซึ่งโดยทั่วไปถ้า 2 อาทิตย์เป็นอย่างไร ก็มักจะเป็นอย่างนั้นแล้ว 

อีกกรณีหนึ่ง ซึ่งอาจจะเคยได้ยินคือ กรณีที่สมองขาดออกซิเจน คือสิ่งที่เราจะทำและเขาดีขึ้นได้ มันจะเกิดขึ้นใน 3 เดือนเสมอ ส่วนใหญ่หมอพอจะประเมินได้ในช่วง 3 วันแรกหลังจากที่ทำให้ตัวคนไข้อุ่นขึ้นมา และใน 1 อาทิตย์แรกจะบอกได้ว่า เฮ้ย..ไม่น่าจะดี แต่ถ้าคนไหนยังไม่เชื่อว่าจะไม่ดี หรืออยากจะลองต่อไปว่ามีโอกาสดีขึ้นได้ไหม คือถ้าที่ 3 เดือนแล้วเป็นอย่างไร ส่วนมากก็จะเป็นอย่างนั้นไปตลอด ไม่เคยมีเคสไหนที่ 3 เดือน เช่น 3 เดือนพูดได้แล้วเดือนที่ 4 พูดได้ กรณีแบบนี้ไม่มี ถ้า 3 เดือนยังพูดไม่ได้ ยังเคลื่อนไหวไม่ได้ ยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ก็แปลว่าจะเป็นอย่างนั้นไปตลอด 

นี่คือเคส กรณีที่เกิดจากการหัวใจหยุดเต้น และสมองขาดออกซิเจน ซึ่งหมอไม่แน่ใจว่าคุณเอสเป็นกรณีแบบไหน แต่หมอขอเป็นกำลังใจให้ ไม่ว่าจะเป็นแบบไหนเราก็ต้องดูกันต่อไป ซึ่งหมอก็คิดว่า การรักษา หรือการคุยก็ทำอย่างเหมาะสมที่สุด